.

Dec 31, 2009

อิทธิพลของ "ความคิด" ต่อแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

ความคิดเกิดจากการทำงานของสมองในการก่อรูป (Formulate) ขึ้นในมโนคติ (mind) ทำงานผ่านระบบการรับรู้ทางจิต (cognitive system)โดยความคิดจะทำหน้าที่แยกแยะการกระทำและความรู้สึกผ่านกระบวนการทางความคิดซึ่งจะนำไปสู่พฤติกรรมที่ตอบสนองต่อสถานการณ์นั้นๆ


ความหมายของการคิด

การคิดคือ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับข้อมูล เริ่มจากการนำข้อมูลหลาย ๆ ส่วนที่ได้รับมา จัดกระบวนการเพื่อใช้ในการแก้ปัญหา เพื่อได้ข้อสรุปที่สมเหตุสมผลในการประกอบการตัดสินใจ

สมองทำให้เราคิดได้ ทำให้มนุษย์มีความฉลาด สามารถใช้เหตุผล วินิจฉัย สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ เซลสมองสามารถที่จะเก็บข้อมูล แปรข้อมูลที่เข้ามาเป็นกระแสไฟฟ้า แล้วเก็บไว้เป็นประสบการณ์เข้าไปในสมอง สมองสามารถนำข้อมูลต่าง ๆ ทั้งข้อมูลดิบและข้อมูลที่ผ่านการคิดใคร่ครวญแล้ว มาเก็บไว้เป็นตัวแบบ (Model) หรือโครงสร้างความรู้ในรูปของมโนทัศน์ (Concept) เหมือนเราเก็บข้อมูลไว้ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งเราสามารถเรียกขึ้นมาใช้ได้ในอนาคต


ความสำคัญของการคิด

1. การคิดกำหนดความเป็นตัวเรา(Being) เราคิดอย่างไร เราจะเป็นเช่นนั้น และความเป็นตัวเราจะเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของเรา (Living) ซึ่งจะทำให้เราแสดงออกเป็นการพูด (Speaking) การเขียน (Writing) การกระทำ (Doing) และการแสดงอากัปกิริยาต่าง ๆ (Behaving)

2. การคิดเป็นพื้นฐานที่แสดงออกมาของสติปัญญาและความเข้าใจ การคิดสามารถปรับปรุงสิ่งเดิมที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ทำให้เกิดความคิดที่หลากหลายมากมายได้อีกทั้งยังสามารถนำความคิดเหล่านั้นมาเชื่อมโยงกันจนเกิดเป็นความคิดใหม่ได้อีก

3. การคิดเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจ เนื่องจากความคิดมากมายที่กระทบเข้ามาในสมองของเรา จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการตัดสินใจ

4. การคิดนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่าง ๆ ของโลก หรืออาจกล่าวได้ว่าการคิดของมนุษย์คือพลังในการเปลี่ยนแปลงโลกจากอดีตสู่ปัจจุบัน

5. การคิดสร้างความสามารถในการแข่งขันในสังคมแห่งความรู้ มนุษย์ใช้ความได้เปรียบเชิงการแข่งขันโดยอาศัยความรู้ในการสร้างกลยุทธ์เหนือคู่แข่ง


ประเภทของการคิด

1. การคิดเชิงกลยุทธ์ การคิดเชิงกลยุทธ์เป็นเรื่องที่จำเป็น จริง ๆแล้วความคิดทั้ง 10 มิติ เป็นการใช้ตลอดเวลา และจำเป็นต้องใช้ในอนาคต สำหรับอันดับแรกเป็นการคิดเชิงกลยุทธ์ ผู้บริหารเป็นคนชี้ขาด คือ คนที่นำในองค์กร คนแรกที่ต้องพบปัญหา คนแรกที่ตัดสินว่าจะไปซ้ายหรือไปขวา ฉะนั้นการคิดเชิงกลยุทธ์เปลี่ยนมาก สถานการณ์เปลี่ยนตลอดเวลา และมีทรัพยากรจำกัด บุคลากรก็มีจำกัด สถานการณ์ปัจจุบันไม่สามารถแก้ปัญหาตามเคยชินได้ ฉะนั้นการคิดเชิงกลยุทธ์จึงมีความจำเป็น การคิดเชิงกลยุทธ์เป็นการวางแผนอนาคตเพื่อการตัดสินใจในอนาคต มี 2 วิธีที่จะเผชิญในอนาคต วิธีหนึ่งที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น เดินไปเรื่อย ๆ ชีวิตนี้ปล่อยไปตามเวรตามกรรม ตามสภาวะแวดล้อม ตายเอาดาบหน้า อีกวิธีหนึ่ง คือท่านไม่สามารถรู้อนาคตได้ เราคิดไปก่อนแล้วเราวางแผนไว้ แต่สิ่งนั้นเกิดขึ้นและต้องตัดสินใจ วันนี้ นักวิชาการอีกคนหนึ่งนายไมเคิลบอกว่า ขบวนการคิดเชิงกลยุทธ์ เป็นการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยการจัดสรรทรัพยากรตั้งแต่วันนี้ เพราะฉะนั้นผู้บริหารต้องกำหนดแนวทางที่ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขและทรัพยากรที่จำกัด ภายใต้การเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง โดยการที่บรรลุตามเป้าหมายต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุม การประเมินความได้เปรียบและเสียเปรียบของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและการคาดการณ์ของอนาคต การเลือกกลยุทธ์เป็นสิ่งสำคัญมากในการประสบความสำเร็จ

2. การคิดเชิงอนาคต เป็นการคาดการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างมีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม ประกอบด้วย 6 หลักสำคัญดังนี้

    1. หลักการมองอย่างองค์รวม (Holistic Approach) ต้องมองทุกด้านที่เกี่ยวข้องกัน
    2. หลักความต่อเนื่อง (Continuity) ต้องคาดการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์กัน
    3. หลักความสัมพันธ์เชิงเหตุผล (Causal Relationship) เป็นหลักของความคิดแบบมีความสัมพันธ์อย่างมีเหตุผล
    4. หลักการอุปมา (Analogy) โดยยึดหลักว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่าง ๆในโลกล้วนมีแบบแผนมีระบบ
    5. หลักการจินตนาการ(Imagination) เป็นการใช้หลักจินตนาการ ในการวาดภาพอนาคตอย่างท้าทาย โดยต้องประกอบไปด้วยหลักเหตุผล เพื่อที่จะให้การจินตนาการนั้นๆ ไม่ไร้หลักการ
    6. หลักดุลยภาพ (Equilibrium) มีหลักสำคัญคือหากมีการเสียสมดุลย์เกิดขึ้นระบบก็จะพยายามปรับให้เกิดความสมดุลย์แก่ตัวเอง

3. การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative thinking) ความคิดสร้างสรรค์ คือ กระบวนการคิดของสมองซึ่งมีความสามารถในการคิดได้หลากหลายและแปลกใหม่จากเดิม โดยสามารถนำไปประยุกต์ทฤษฎี หรือหลักการได้อย่างรอบคอบและมีความถูกต้อง จนนำไปสู่การคิดค้นและสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่แปลกใหม่หรือรูปแบบความคิดใหม่

โดยมีหลักการที่สำคัญคือ

1. ควรฝึกถามคำถามที่กระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ ๆ

2. จงอย่าละทิ้งความคิดใด ๆจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไร้ประโยชน์

3. การพัฒนาทางเทคนิคช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

4. การคิดเชิงวิพากษ์ หมายถึงความตั้งใจพิจารณาตัดสินเรื่องใดๆ โดยไม่คล้อยตามข้อเสนอ ไม่ด่วนสรุป และให้มีการตั้งคำถามท้าท้ายหรือโต้แย้งสมมุติฐาน โดยพยายามเปิดกว้างความคิดออกไปสู่ความแตกต่างในด้านต่าง ๆมากขึ้น เพื่อให้ได้ประโยชน์มากกว่าเดิม

5.การคิดเชิงบูรณาการ เป็นการคิดแบบไม่แยกส่วน คิดแบบแกนหลักที่เหมาะสมครบถ้วนทุกมุมมอง โดยการแก้ปัญหาแบบไม่แยกส่วน หลักการคิดเชิงบูรณาการคือ

ตั้งแกนหลัก---->หาความสัมพันธ์----->วิพากษ์เพื่อเกิดการบูรณาการ

6. การคิดเชิงวิเคราะห์ เป็นการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน เพื่อจำแนกค้นหาสิ่งที่เกิดขึ้น หาเหตุเพื่อทราบผล แห่งที่มาที่ไป หลักการคิดเชิงวิเคราะห์ประกอบด้วย

1. หาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลของข้อมูลที่ได้รับ

2. ใช้หลักการตั้งคำถาม

3. ใช้หลักการแยกแยะความจริง เช่น

· แยกแยะระหว่าง ความจริง (truth) กับความเชื่อ (belief)

· แยกแยะโดยจำกฎขั้วตรงข้าม (the principle of contradiction)

· แยกแยะระหว่างข้อเท็จจริง (facts) กับข้อคิดเห็น (opinions)

7. การคิดเชิงสังเคราะห์ เป็นทักษะที่ล้ำลึกกว่าการวิเคราะห์ เพราะเป็นการนำสิ่งต่างๆที่เราวิเคราะห์ หรือทำการแยกแยะเพื่อทำการศึกษา ทำให้เกิดองค์ความรู้ เกิดมุมมองที่ชัดเจนลึกซึ้ง และสามารถนำไปใช้ได้เหนือกว่าระดับการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นการช่วยในการเรียนรู้ข้อมูลและทักษะใหม่ๆ ที่สำคัญ โดยนำมาผนวกกับทักษะเดิมหรือความรู้เดิมที่มีอยู่ ก่อให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ เป็นการต่อยอดทางความรู้ก่อให้เกิดปัญญาแบบบูรณาการ เกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้นจากเดิม และสามารถอธิบายต่อให้กับผู้อื่นได้อย่างครบถ้วนชัดเจน ตรงประเด็น


ประโยชน์ที่ได้จากการคิดเชิงสังเคราะห์คือ

1. เปิดประสบการณ์ ให้ได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลรูปแบบใหม่
2. ฝึกมองทุกสิ่งทุกอย่างโดยเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน พยายามหาความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างมีเหตุมีผล
3. ฝึกตีประเด็นช่วยคิดให้ชัดเจน ไม่คิดคลุมเครือ ฝึกจับประเด็นจากบทความที่ได้อ่าน ทั้งจากหนังสือ หรือสิ่งต่างๆ ที่ได้ดู ได้ฟังมา
4. ฝึกแยกแยะข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็น เพื่อให้ข้อมูลที่สังเคราะห์ได้นั้นมีความเป็นกลางมากที่สุด

8. การคิดเชิงประยุกต์ หมายถึง ความสามารถที่มีอยู่เดิมมาปรับใช้ในบริบทใหม่ คล้าย ๆกับนำต้นไม้ เช่น นำต้นยางจากภาคใต้ไปปลูกภาคเหนือ ภาคอีสาน ต้นยางไม่เปลี่ยนแปลงแต่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงเป็นเหมือนว่าเรานำกรอบ วิธีการหรือหลักเกณฑ์ต่าง ๆที่มีอยู่นั้น นำมาประยุกต์พวกนี้เกิดจากการคิดว่า เหล่านี้นำมาประยุกต์ใช้ได้ไหม เกิดผลดีผลเสียอย่างไร นำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่ หลักการคิดเชิงประยุกต์ประกอบด้วย

1. ใช้หลักการทดแทนคุณสมบัติหลัก

2. ใช้หลักปรับสิ่งเดิมให้เข้ากับสถานการณ์

3. ใช้หลักการหาสิ่งทดแทน

9.การคิดเชิงระบบ หมายถึงการคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มองภาพรวมที่เป็นระบบ และมีส่วนประกอบย่อยๆ โดยอาศัยการคิดใด รูปแบบโดยตรง และโดยทางอ้อม โดยเป็นการคิดที่มีความเข้าใจ เชื่อมโยง มีความเชื่อในทฤษฎีระบบเป็นพื้นฐานในสมอง คนปกติมีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบในสรรพสิ่งที่อยู่ในในโลกที่สอดคล้องกับทฤษฎีระบบอยู่แล้ว เพียงแต่ความสามารถในการทำได้ดีในระดับความเข็มข้นของระบบแตกต่างกัน


ประโยชน์ของการคิดเชิงระบบ

1.ช่วยให้เกิดความคิดเพื่อพัฒนาองค์การในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.ประสานงานร่วมกับบุคคลอื่นให้เป็นไปตามกระบวนการ และระบบการบริหารงานภายใน

3.สามารถแก้ปัญหา ตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.แก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในองค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5.เพื่อมองเห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับระบบภายในองค์การ ที่เกิดขึ้น

เป็นระบบ เชื่อมโยงติดต่อกัน และสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


แก่นของการคิดเชิงระบบ


1.มองเห็นความสัมพันธ์กันและกัน ไม่ใช่มองเหตุผลเป็นเส้นตรงต่อๆ กันไปเท่านั้น

2.มองเห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่มองสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น


เทคนิคการคิดเชิงระบบ

1. ยอมรับตนเองและเปลี่ยนใจตนเองให้ได้ว่าตนคือส่วนประกอบที่สำคัญที่เชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ

2. ฝึกการมองภาพรวมแทนสิ่งเล็กๆ แล้วค่อยมองย้อนกลับ

3. เข้าใจธรรมชาติของระบบ และทุกสรรพสิ่งในโลกล้วนเป็นระบบสัมพันธ์กัน

4. มองเห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลง และปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อระบบ

5. มองเห็นวัฏจักรของเหตุปัจจัย (Circles of Causality ) และการส่งผลย้อนกลับ

6. เปิดอิสระในเรื่องการคิด ไม่ตีกรอบ ครอบงำความคิดคนอื่น

7. ส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกคนเกิดแรงร่วมในการสร้างความสัมพันธ์

8. ฝึกการแก้ปัญหาที่สาเหตุแท้แก้ที่อาการเกิดปัญหา

9. ยึดหลักการเรียนรู้ในองค์การเป็นส่วนประกอบคือ การเป็นนายตนเอง ลบความเชื่อฝังใจแต่อดีต สร้างความใฝ่ฝันถึงอนาคตร่วมกัน (Shared Vision ) และฝึกการเรียนรู้ของทีม


การขยายขอบเขตการคิด เป็นการขยายมุมมอง 5 ด้านดังนี้

1. การมององค์รวม ( Holistic view ) เป็นการมองให้ครบทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น พิจารณาว่าเรื่องนั้นเกี่ยวกับใครบ้าง เกี่ยวข้องอย่างไร อะไรเป็นสาเหตุ ผลกระทบเกี่ยวเนื่องที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง


2. มองสหวิทยาการ คือ การมองหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน เป็นการคิดเชิงบูรณาการ พยายามคิดออกนอกกรอบ พยายามเชื่อมโยงกับแกนหลักของเรื่องที่ต้องการหาคำตอบ เพื่อการมองเรื่องดังกล่าวชัดเจนขึ้น


3. มองอย่างอุปมาอุปนัย เป็นการมองขยายกรอบความคิด เป็นการเปิดโอกาสให้สมองได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ในการเรียนรู้ และทำความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยใช้เหตุผลแบบอุปนัย (inductive thinking) หรือใช้กรอบความรู้ที่ได้พิสูจน์แล้วมาตอบ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการคิดเชิงบูรณาการ


4. มองประสานขั้วตรงกันข้าม เป็นการมองแนวคิดหนึ่งปฏิเสธแนวคิดหนึ่ง หรือเชื่อว่าแนวคิดหนึ่งเป็นจริง แนวคิดที่เหลือเป็นเท็จ โดยเปิดใจข้ามสะพานเชื่อมขั้นคิดตรงกันข้าม หรือสร้างดุลยภาพ ทำให้เกิดความพอดี


5. มองทุกฝ่ายชนะ WIN-WIN ครอบคลุมความพอใจทุกฝ่าย ซึ่งเป็นการขยายกรอบความคิดจากวิธีแก้ปัญหาทั่วไป ปกติการแก้ปัญหาคือ การกำหนดทางเลือก


จากการกล่าวถึงเรื่องการคิดและประโยชน์ของการคิดรูปแบบต่างๆ ข้างต้น เมื่อนำพิจารณาเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ปฎิเสธไม่ได้ที่ทำให้เราเห็นมุมมองในการเชื่อมโยงระบบของความคิดในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำจุดดีหรือประโยชน์มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ กล่าวคือการที่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมทำให้ธุรกิจมีการแข่งขันกันด้วยเงินทุน เครื่องจักร และความสามารถในการผลิต ธุรกิจที่ไม่มีกำลังเพียงพอสำหรับการผลิตแบบ Mass Production เพื่อลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด จึงขาดโอกาสในการแข่งขัน ขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันนั้นไม่ได้ต้องการเพียงสินค้าที่ตอบสนองความต้องการทางกายภาพเท่านั้นความคิดจึงกลายเป็นทุนในรูปแบบใหม่ ที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจที่เล็กกว่ามีความสามารถในการแข่งขันได้อย่างเปิดกว้างมากขึ้น


จากการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันของ World Economic Forum พบว่า สหรัฐอเมริกาได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความสามารถทางการแข่งขัน สูงสุดเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน โดยมีปัจจัยที่สำคัญคือ การมีสาธารณูปโภคทางความคิดที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างนวัตกรรม ซึ่งหมายรวมถึงความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาคการศึกษาในการศึกษาวิจัย พัฒนา และผลักดันเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง

มาดูคำกล่าวของกรีน สแปนเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่น่าสนใจกันค่ะ เขากล่าวไว้ว่า ...

Create, Analyze, Transform Information and Interact Effectively with Others/ การเติบโตของผลผลิตทางความคิดจะนำไปสู่ความต้องการแรงงานที่ไม่ได้มีเพียง ความรู้ทางด้านเทคนิค แต่เป็นแรงงานที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์ วิเคราะห์ ใช้ประโยชน์จากข้อมูล และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อลัน กรีนสแปน อดีตผู้ว่าการธนาคารสหรัฐ

, 1997 มหาวิทยาลัยคอนเนคติกัต


จากคำกล่าวข้างต้น กรีน สแปน ได้กล่าวถึงแนวคิดและความสำคัญของผลผลิตทางความคิด (Conceptual Output) ว่าเป็นสิ่งที่นำไปสู่นโยบายการลดปริมาณงานทางด้านเทคนิคและการผลิตภายในประเทศ พร้อมทั้งการกระจายงานที่ไม่เกิดมูลค่าทางความคิดเหล่านั้นไปสู่ประเทศอื่นๆ โดยเชื่อว่า การเก็บแต่งานที่ใช้มันสมองไว้ในประเทศ จะนำไปสู่การสร้างผลผลิตที่ดีที่สุดสำหรับเศรษฐกิจของสหรัฐในอนาคต!

โดยเขาอธิบายว่า การเก็บรักษางานที่ใช้ความคิดนั้นให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่างานจากแรงงานในประเทศ และการส่งงานที่ใช้แรงงานและงานด้านเทคนิคไปให้คนอื่นทำนั้นจะ ยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างรายได้ของประชากรสหรัฐกับประเทศอื่นๆ ห่างกันยิ่งขึ้น เนื่องจากงานที่ใช้ ความคิดนั้นก่อให้เกิดผลตอบแทนที่สูงกว่า อีกทั้งงานจำนวนมากยังได้รับการปกป้องโดยกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย ดังคำกล่าวของนักเขียน Charles Handy ที่ว่า ปัญญาคือรูปแบบใหม่ของทรัพย์สิน” (Intelligence is the new form of property.)


ขณะที่ UNCTAD ได้ให้คำนิยามของเศรษฐกิจบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ไว้ว่าเป็น แนว คิดที่พูดถึงศักยภาพในการใช้สินทรัพย์ทางความคิดสร้างสรรค์ (creative assets) เพื่อพัฒนาและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เอื้อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และเพิ่มยอดการส่งออก ขณะเดียวกัน ก็ยังรวมถึงการมีส่วนร่วมทางสังคม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วย นอกจากนี้ UNCTAD ยังได้ให้คำจำกัดความของอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ว่าเป็น วงจร ของการสร้างสรรค์ การผลิต และการจำหน่ายสินค้าและบริการที่มีปัจจัยหลักคือความคิดสร้างสรรค์และทุนทาง ปัญญา (intellectual capital)” **


ปัจจุบันการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศพัฒนาแล้วในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การจ้างงานและการพัฒนาโครงสร้างทางสังคม โดยอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาสูงสุด ในวงจรการค้าโลกในขณะนี้ ด้วยอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยระหว่างปี 2001-2005 ที่สูงถึง 8.7% และตัวเลขการส่งออกกว่า 424.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลปี 2005)


ขณะเดียวกันรัฐบาลต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนาก็กำลังอยู่ในช่วงการเริ่มต้นโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยมีจีนเป็นผู้นำที่น่าจับตามองในฐานะผู้ผลิตและส่งออกสินค้าที่ เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์รายใหญ่ของโลก


ประเด็นที่น่าจับตาจะเห็นว่า แม้ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ต่างก็มีวัตถุดิบที่สำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมและบุคลากรที่มีศักยภาพทางความคิดสร้างสรรค์ (creative talent) แต่อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ของประเทศกำลังพัฒนาก็คือ ความอ่อนแอของนโยบายรัฐบาลและโครงสร้างทางการค้าของโลกที่ยังขาดความเท่าเทียม

ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทย ควรมุ่งเน้นให้สำความสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์(Creative Economy) และต้องไม่ลืมว่า ยิ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งควรต้องผลักดันเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังมากขึ้นด้วย เนื่องจากทรัพย์สินทางปัญญาคือปัจจัยที่สำคัญในการสร้างรายได้ที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์โดยตรง.

Dec 21, 2009

เขตการค้าเสรี (FTA) และมาตรการรองรับของไทย

เขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) คือการที่กลุ่มประเทศได้ทำข้อตกลงที่จะทำการค้าแบบเสรี โดยมีเงื่อนไขข้อกำหนดในการละเว้นการเก็บภาษีศุลกากร การจำกัดโควตา รวมถึงการให้สิทธิพิเศษ แก่สินค้าส่วนใหญ่ที่กลุ่มประเทศทำการค้าขายระหว่างกัน สำหรับประเทศไทยได้มีการจัดทำ FTA ฉบับแรกขึ้นในปี พ.ศ. 2535 โดยขณะนั้นมีชื่อเรียกว่า ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area) หรือ AFTA


เขตการค้าเสรี (FTA)


FTA เป็นความตกลงระหว่าง 2 ประเทศขึ้นไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อให้เกิดการค้าเสรีระหว่างกัน ปัจจุบันประเทศต่างๆ ก็ได้ขยายขอบเขตของ FTA ให้ครอบคลุมการค้าด้านบริการ เช่น บริการท่องเที่ยว การรักษา พยาบาล การสื่อสาร การขนส่ง ฯลฯ พร้อมกับความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วย

วัตถุประสงค์ของ FTA


FTA สะท้อนแนวคิดสำคัญทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่า "ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศจะเกิดขึ้นสูงสุดเมื่อประเทศต่างๆ ผลิตสินค้าที่ตนมีต้นทุนในการผลิตต่ำที่สุดเมื่อเปรียบ เทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วนำสินค้าเหล่านั้นมาค้าขายแลกเปลี่ยนกัน" ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ประโยชน์สูงสุดดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น หากยังมีการเก็บภาษีขาเข้าและมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ ซึ่งส่งผลบิดเบือนราคาที่แท้จริงของสินค้า และทำให้การค้าขายไม่เป็นไปอย่างเสรีและมีประสิทธิภาพ
FTA ถือเป็นเครื่องมือทางการค้าสำคัญที่ประเทศต่างๆ สามารถใช้เพื่อขยายโอกาสในการค้า สร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาให้แก่สินค้าของตน เนื่องจากสินค้าที่ผลิตใน FTA จะถูกเก็บภาษีขาเข้าในอัตราที่ต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิก FTA จึงทำให้สินค้าที่ผลิตภายในกลุ่มได้ เปรียบในด้านราคากว่าสินค้าจากประเทศนอกกลุ่ม

ลักษณะสำคัญของ FTA


FTA จะมีรูปแบบเป็นอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับประเทศคู่สัญญา FTA จะตกลงกัน ไม่มีกฎเกณฑ์กำหนดตายตัวว่า FTA จะต้องมีลักษณะอย่างไร แต่ทุก FTA จะมีลักษณะพื้นฐานที่เหมือนกันอยู่ 3 ประการ คือ

1. มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และไม่สร้างอุปสรรคทางการค้าเพิ่มต่อประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิก (No fortress effects)
2. ครอบคลุมการค้าระหว่างประเทศมากพอ (Substantial coverage) ซึ่งเป็นกติกาที่ WTO กำหนดไว้เพื่อปกป้องและป้องกันผลกระทบของ FTA ที่จะมีต่อประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิกของ FTA นั้นๆ
3. มีตารางการลดภาษีหรือเปิดเสรีที่ประเทศคู่สัญญา FTA เจรจากันว่าจะลดภาษีให้แก่กันในสินค้าใดบ้าง จะลดอย่างไร และจะใช้ระยะเวลายาวนานเท่าไรในการลด

หลักเกณฑ์ในการทำ FTA ของไทย

ไทยมีหลักเกณฑ์ในการจัดทำ FTA ดังนี้

1. การจัดทำความตกลง FTA ควรทำในกรอบกว้าง (Comprehensive) ครอบคลุมการเปิดเสรีทั้งด้านการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน รวมทั้งมาตรการทางการค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measure: NTM) เช่น การกำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้า และมาตรการโควต้า และการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ
2. การจัดทำความตกลง FTA ต้องสอดคล้องกับกฎของ WTO ซึ่งมีเงื่อนไขให้การเปิดเสรีต้องครอบคลุมการค้าสินค้าและบริการอย่างมากพอ (Substantial coverage) มี ความโปร่งใส และเปิดให้สมาชิกอื่นๆ ตรวจสอบความตกลงได้
3. การจัดทำความตกลง FTA ต้องมีความยืดหยุ่น (Flexibility) สอดคล้องกับระดับการพัฒนาของประเทศคู่เจรจาเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย พร้อมกับยึดหลักการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ (Reciprocity) และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยคำนึงถึงสถานะของไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้มีเวลาในการปรับตัวนานกว่า หรือมีภาระผูกพันน้อยกว่า
4. การจัดทำความตกลง FTA ควรมีมาตรการป้องกันผลกระทบของการเปิดเสรีต่ออุตสาหกรรมภายใน เช่น มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาด (Anti-dumping Measures: AD) มาตรการต่อต้านการอุดหนุน (Counter-vailing Duties: CVD) มาตรการปกป้อง (Safeguards) รวมทั้งกำหนดกลไกการยุติข้อพิพาททางการค้าอย่างเป็นธรรม

การเจรจา FTA ของไทย

ปัจจุบันไทยทำ FTA กับ 8 ประเทศ ได้แก่ จีน นิวซีแลนด์ บาห์เรน ญี่ปุ่น เปรู สหรัฐฯ อินเดีย และออสเตรเลีย และกับ 1 กลุ่มเศรษฐกิจ BIMST-EC โดยเหตุผลเพื่อรักษาสถานภาพและศักยภาพในการส่งออกของไทยโดยการขยายโอกาสในการส่งออก และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยทั้งในตลาดสำคัญในปัจจุบัน (เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อาเซียน) และตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ (เช่น จีน อินเดีย ออสเตรเลีย BIMST-EC) นอกจากนี้ ไทยยังจัดทำ FTA กับประเทศที่จะเป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาค (Gateway) อื่นๆ ของโลก (เช่น บาห์เรน เปรู) และอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในการเจรจา FTA กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) เม็กซิโก เกาหลีและกลุ่มประเทศ Mercosur

สาระสำคัญของ FTA ที่ไทยดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน มีดังนี้

1. ไทยกับจีนได้ลงนามกรอบความตกลง FTA แล้ว ภายใต้ในกรอบความตกลง ASEAN -จีน โดยดำเนินการร่วมกับจีนยกเลิกภาษีระหว่างกันก่อน (Early Harvest) ในสินค้าในพิกัด 07-08 (ผักและผลไม้) ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2546 และร่วมกับประเทศ ASEANและจีนที่จะลดภาษีสินค้าในพิกัด 01-08 (ได้แก่ สัตว์มีชีวิต ประมง ธัญพืช ผักและผลไม้) ให้เหลือ 0% ในปี 2547-2549 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ส่วนสินค้าที่เหลือ รวมทั้งการค้าบริการ การลงทุน และกฎระเบียบต่างๆ จะเจรจาให้เสร็จภายในสิ้นปี 2547 เพื่อที่จะเป็น FTA โดยสมบูรณ์ภายในปี 2553
2. ไทยกับนิวซีแลนด์ จากผลของการศึกษาร่วมกันที่ชี้ให้เห็นว่าไทยกับนิวซีแลนด์จะได้รับผลประโยชน์จากการจัดทำ FTA ทั้งสองฝ่ายจึงได้เริ่มการเจรจาเมื่อเดือนมิถุนายน 2547 ณ ประเทศนิวซีแลนด์ โดยสามารถกำหนดกรอบและขอบเขตการเจรจาได้ในหลายเรื่อง และคาดว่าจะสามารถสรุปผลการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในในเดือนพฤศจิกายน 2547
3. ไทยกับบาห์เรน ได้ลงนามกรอบความตกลงเมื่อเดือนธันวาคม 2545 ที่ครอบคลุมการค้าสินค้า บริการ การลงทุน โดยในชั้นนี้ได้มีความตกลง Early Harvest ใน 626 รายการ ที่จะลดภาษีเหลือ 0% ภายในปี 2005 สำหรับสินค้าที่เหลือคาดว่าจะเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปี 2547 เพื่อที่จะลดภาษีให้เหลือ 0% ภายในปี 2010
3. ไทยกับญี่ปุ่น หลังจากที่ไทยกับญี่ปุ่น ได้ศึกษาหารือความเป็นไปได้ในการทำ FTA มาตั้งแต่ปี 2545 ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มการเจรจาในต้นปี 2547 ที่ครอบคลุมทั้งการเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ การลงทุน และความร่วมมือในสาขาต่างๆ และจะยึดรูปแบบความตกลงว่าด้วยหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นกับสิงคโปร์เป็นตัวอย่างในการทำความตกลง และพิจารณาสาขาที่เป็นปัญหาน้อยที่สุดก่อน
4. ไทยและเปรู ได้ลงนามกรอบความตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดทำ FTA เมื่อตุลาคม 2546 โดยคาดว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จภายใน 2547 เพื่อที่จะสามารถเป็น FTA ได้ภายในปี 2558
5. ไทยและสหรัฐฯ ได้ตกลงการจัดทำ FTA เมื่อเดือนตุลาคม 2546 และได้มีการเจรจารอบแรกเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน 2547 ณ มลรัฐฮาวาย โดยเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลเบื้องต้นในเรื่องต่างๆ ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการเจรจา 6-8 ครั้ง เพื่อที่จะให้การเจรจาเสร็จสิ้น ภายในปลายปี 2548 หรือต้นปี 2549
6. ไทยกับอินเดีย ได้ลงนามกรอบความตกลง ไทย-อินเดีย เมื่อ 9 ตุลาคม 2546 ซึ่งครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ การลงทุน และการลดอุปสรรค โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะลดภาษีล่วงหน้า (Early Harvest) ใน 82 รายการสินค้าก่อน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 ให้เหลือ 0% ในปี 2549 และดำเนินการเจรจาลดภาษีรายการอื่นๆ ต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถเป็น FTA ได้ภายในปี 2010
7. ไทยกับออสเตรเลีย ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลง FTA แล้วเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2004 ณ ประเทศออสเตรเลีย และความตกลงนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2005 เป็นต้นไป
8. BIMSTEC ประเทศสมาชิก BIMST-EC ได้ ลงนามกรอบความตกลงเขตการค้าเสรีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ณ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งครอบคลุมการค้าสินค้า บริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่จะลดภาษีเหลือ 0% ภายในปี 2015

ผลกระทบของ FTA: มุมมองผู้บริโภค

FTA จะช่วยลดภาษีขาเข้า ทำให้ราคาสินค้านำเข้าถูกลง ถือเป็นการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนทางอ้อม พูดง่ายๆ ก็คือด้วยเงินจำนวนเท่าเดิมผู้บริโภคสามารถจับจ่ายซื้อสินค้านำเข้าได้เป็นจำนวนมากขึ้น ทั้งการลดภาษีนำเข้ายังช่วยกดดันให้ราคาสินค้าชนิดเดียวกันหรือสินค้าที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ที่ผลิตในประเทศลดราคาลงด้วยอันเป็นผลมาจากการแข่งขันที่สูงขึ้น นอกจากนี้ การลดภาษีศุลกากรยังทำให้มีการนำเข้าสินค้าชนิดใหม่ๆที่ยังไม่เคยมีการนำเข้ามาก่อนเพราะเจอกำแพงภาษีในอดีตด้วย ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชนอีกทาง

ผลกระทบของ FTA: มุมมองผู้ผลิต
FTA จะเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ส่งออก ลดภาระผู้ประกอบการที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าและเพิ่มการแข่งขันภายในประเทศ ในมุมมองของผู้ผลิตส่วนหนึ่งจะสามารถผลิตและส่งออกสินค้าได้มากขึ้นเนื่องจากภาษีขาเข้าของประเทศคู่สัญญา FTA ลดลง สินค้าบางอย่างที่ไม่เคยส่งออกเนื่องจากต่างชาติตั้งกำแพงภาษีก็จะเริ่มส่งออกได้ ผู้ผลิตอีกกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จาก FTA คือ กลุ่มที่มีการนำเข้าวัตถุดิบเครื่องยนต์เครื่องจักรเข้ามาเพื่อใช้ในการผลิตสินค้า เพราะ FTA จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าของผู้ประกอบ การเหล่านี้และเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ผลิตสามารถนำเข้าได้จากหลายแหล่งมากขึ้น ส่งผลให้สามารถขายสินค้าได้ในราคาที่ถูกลง ถือเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาให้แก่ผู้ผลิต อย่างไรก็ดี จะมีผู้ผลิตอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีคือกลุ่มของผู้ผลิตสินค้าเพื่อขายในประเทศซึ่งจะต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่ราคาถูกลงทำให้ต้องมีการปรับตัวรับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น ดังนั้น FTA ในมุมมองที่เป็นกลางก็คือโอกาสที่มาพร้อมกับการแข่งขัน ซึ่งผู้ที่จะได้ประโยชน์ คือ ผู้ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่า และใช้โอกาสที่เปิดขึ้นได้มากกว่า

ไทยควรเร่งปรับมาตรการเพื่อการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเสรี ดังนี้

ผลประโยชน์จาก FTA จะเกิดขึ้นสูงสุดเมื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันในการเจรจาจัดทำ FTA และเตรียมการ รองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นเอกภาพระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตัวแทนภาคธุรกิจ และสมาคมผู้ประกอบการ รวมทั้งนักวิชาการ และองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐได้ร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อเตรียมมาตรการรองรับการเปิดเสรีและได้เร่งดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างความพร้อมในด้านต่างๆ ดังนี้

1. จัดตั้งคณะติดตามประเมินผลการเจรจา และเสนอแนะมาตรการรองรับต่างๆ
2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้การค้ามีความคล่องตัวขึ้น เช่น ปรับปรุงระบบและลดขั้นตอนพิธีการทางศุลกากร และการให้บริการของภาครัฐ เป็นต้น
3. กำหนดมาตรฐานสินค้าในประเทศและมาตรฐาน นำเข้าทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่จำเป็นเพื่อปกป้องผู้ผลิตและผู้บริโภคในประเทศ
4. สร้างระบบเตือนภัยเพื่อป้องกันผลกระทบอย่าง ฉับพลันและรุนแรงต่ออุตสาหกรรมภายในจากการทำ FTA เช่น หากมีการนำเข้ามากจนอาจเกิดผลกระทบต่อการผลิตภายใน ประเทศ
5. ปฏิรูปการศึกษา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิตและสาขาบริการที่ไทยมีศักยภาพ
6. พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ให้เข้มแข็ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการใช้ประโยชน์จาก FTA
7.เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจของประชาชนทั่วไปเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จาก FTA ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น จัดสัมมนา และ workshop เป็นต้น
8. ขยายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ไทยสามารถได้รับประโยชน์สูงสุดจากการจัดทำ FTA เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต พัฒนารูปแบบ คุณภาพและมาตรฐานสินค้า พร้อมทั้งบุคลากร และฝีมือแรงงาน เพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา และขยายช่องทางการตลาดในเชิงรุก

Nov 28, 2009

ทฤษฎีความโกลาหล (Chaos Theory) กับความไร้ระเบียบของสถานการณ์บ้านเมือง

ภาพจาก en.wikipedia.org


โดย ภัทรษมน รัตนางกูร

การที่ปัจจัยทางการเมืองถือเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลและมีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เสถียรภาพทางการเมืองจึงมีความสำคัญเนื่องจากหากประเทศใดมีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคงต่อเนื่องปราศจากสงคราม จะส่งผลให้นักธุรกิจ นักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ เกิดความมั่นใจกล้าลงทุน ระบบเศรษฐกิจเกิดการจ้างงาน เศรษฐกิจเกิดการพัฒนาอย่างเต็มที่ กระทั่งผู้นำประเทศและการบริหารจัดการต่างก็เป็นปัจจัยที่สำคัญในการผลักดัน กำหนดนโยบายบริหารจัดการ กำหนดกลยุทธ์ ให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทฤษฎีความโกลาหล (Chaos Theory)

บริบทของทฤษฎีความโกลาหลกล่าวได้ดังนี้
ความโกลาหลในทฤษฎีความโกลาหล ก็คือ ปรากฏการณ์ที่ดูเหมือนว่าเกิดขึ้นอย่างสะเปะสะปะ (random) แต่ที่จริงแล้วแฝงไปด้วยความเป็นระเบียบ (order) ตัวอย่างของระบบที่แสดงความโกลาหลคือ เครื่องสร้างเลขสุ่มเทียม (psuedo-random number generator) ในเครื่องคอมพิวเตอร์จากงานจำลองสถานการณ์จริง(simulation) การที่คอมพิวเตอร์สามารถสร้างเลขสุ่ม (random number) ซึ่งอาจดูเหมือนการเกิดของตัวเลขสุ่มไม่มีแบบแผนเพราะเป็นเพียงเลขสุ่มเทียม (psuedo-random number) ซึ่งต่างจากเลขสุ่มแท้ที่เกิดจากการทอดลูกเต๋า เพราะเลขสุ่มของคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นจากโปรแกรม ง่าย ๆ เช่น X(n+1) = c X (n) mod m โดยที่ X(n) คือเลขสุ่มครั้งที่ n ส่วน c และ m เป็นเลขจำนวนเต็ม และ mod หมายถึงการหารเลขจำนวนเต็มแล้วเอาเฉพาะเศษ เช่น 5 mod 3 จะได้ 2 (5 หาร 3 เหลือเศษ 2)

ประโยชน์ของทฤษฎีความโกลาหลมีดังต่อไปนี้

1. ใช้ในการวิเคราะห์ระบบและทำนายอนาคต
โดยแนวคิดของทฤษฎีความโกลาหลแห่งสถาบันวิจัยซานตาเฟ (santafe Research Institute) ในสหรัฐอเมริกา ได้มีการประยุกต์แนวนี้ได้แก่ การทำนายความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak load) ในแต่ละวันของบริษัทไฟฟ้า หรือปริมาณความต้องการใช้น้ำในแต่ละวัน (ซึ่งประยุกต์ใช้จริงที่บริษัทเมเดนฉะในญี่ปุ่น) และการพยากรณ์อากาศซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้หนึ่งที่ทำให้เกิดศาสตร์แห่งความโกลาหลเองด้วย

2. ใช้ในการสร้างระบบโกลาหล
มีผู้เชื่อว่า ในธรรมชาติ ความโกลาหลเป็นสิ่งสากลมากกว่าและดีกว่าระเบียบแบบง่าย ๆเช่น การที่บริษัทมัทสึชิตะยังใช้ทฤษฎีโกลาหลควบคุมหัวฉีดของเครื่องล้างจาน ซึ่งพบว่าสามารถล้างจานได้สะอาดโดยประหยัดน้ำได้กว่าเครื่องล้างจานแบบอื่นๆ ทั้งนี้เพราะเส้นทางการเคลื่อนที่ของหัวฉีดที่ดูเหมือนไร้ระเบียบทำให้ครอบ คลุมพื้นที่ได้ดีกว่าการเคลื่อนที่ตามแบบแผนปกติ

3. ใช้ในการควบคุม
-สร้างความเสถียรให้กับระบบ
ตัวอย่างของการประยุกต์ใช้ตามแนวความคิดนี้ได้แก่ การที่องค์การนาสา (NASA) สามารถควบคุมยานอวกาศ ISEE-3 ให้ลอยไปสู่ดาวหางที่ต้องการสำรวจได้โดยใช้เชื้อเพลิงเพียงเล็กน้อย

ประพจน์โดยสรุปของ ทฤษฎีความโกลาหล (chaos theory) มีดังต่อไปนี้
ระบบที่แสดงความโกลาหลจะต้องประกอบไปด้วยลักษณะดังต่อไปนี้

1. มีคุณสมบัติแบบไม่เป็นเชิงเส้น (nonlinearly) คุณสมบัติแบบไม่เป็นเชิงเส้นสามารถนิยามได้ว่าตรงกันข้ามกับ คุณสมบัติแบบเชิงเส้น โดยที่ฟังก์ชัน f จะมีคุณสมบัติเชิงเส้นก็ต่อเมื่อ f(x+y) = f(x)+f(y) นั่น ก็คือ ในระบบแบบไม่เป็นเชิงเส้น ผลลัพธ์จากการรวมกันของส่วนย่อยจะไม่เท่ากับผลรวมของทั้งหมดนั่นเอง และการที่ระบบโกลาหลจำเป็นต้องเป็นระบบที่ไม่เป็นเชิงเส้นก็ไม่ได้หมายถึง ระบบที่ไม่เป็นเชิงเส้นทุกๆ ระบบจะเป็นระบบโกลาหลด้วยเสมอไป

2. ไม่ใช่เกิดแบบสุ่ม (คือเป็น
deterministic ไม่ใช่ probabilistic) หรือเรียกได้ว่าในระบบโกลาหล เหตุการณ์ทั้งหลายมักเกิดขึ้นภายใต้กฎเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว โดยเพื่อป้องกันความสับสนระหว่าง ความโกลาหล และ การสุ่ม จึงมีการเรียก chaos ว่า deterministic chaos

3. ไวต่อสภาวะเริ่มต้น
(sensitivity to initial conditions) คือการเริ่มต้นที่ต่างกันเพียงนิดเดียวอาจส่งผลให้บั้นปลายต่างกันมาก จึงนิยมยกตัวอย่างของ ผลกระทบผีเสื้อ(butterfly effect) ซึ่ง หมายถึงการที่ผีเสื้อกระพือปีกในที่แห่งหนึ่ง แล้วส่งผลทำให้ฝนตกในที่ที่ห่างไกลออกไป ในสัปดาห์ต่อมา ตัวอย่างที่ชัดเจนของการไวต่อสภาวะเริ่มต้นคือ การขยายผลลัพท์ให้ความแตกต่างรวดเร็วขึ้นของเลขยกกำลัง (exponential) นั่นเอง

4. ไม่สามารถทำนายล่วงหน้าในระยะยาวได้ (
long-term prediction is impossible) การศึกษาทฤษฎีความโกลาหลมีความสำคัญก็เพราะเชื่อว่า ระบบในธรรมชาติ โดยมากมีลักษณะโกลาหล ทั้งๆ ในความเป็นจริงยังไม่มีวิธีการที่แน่นอนชัดเจน ในการตัดสินว่าระบบใดระบบหนึ่งเป็นระบบโกลาหลหรือไม่ด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ตามระบบโกลาหลได้สร้างผลกระทบอันยิ่งใหญ่แก่วงการวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นการหักล้าง ความเชื่อของ Laplace ที่กล่าวไว้ว่า การรู้สภาพตั้งต้นที่ดีมากพอ จะทำให้สามารถทำนายอนาคตของเอกภพทั้งเอกภพได้

การประยุกต์ใช้ทฤษฎีความโกลาหลกับสังคมไทย

การประยุกต์ทฤษฎีความโกลาหลในสังคมไทย เป็นการประยุกต์ที่แตกต่างกับวงการวิชาการของโลกโดยสิ้นเชิง เนื่องจากไม่พบการประยุกต์ในด้านวิทยาศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์เลย พบเพียงการอธิบายในด้านสังคม โดยการประยุกต์ใช้ทฤษฎีเป็นไปอย่างหละหลวม คือเป็นการหยิบเอาเฉพาะแนวความคิดบางอย่างในทฤษฎีไปจับกับสิ่งที่ต้องการศึกษา เช่นระบบการเมือง ที่ใช้เพียงภาษาของทฤษฎีที่ใช้สื่อในสิ่งที่ต้องการจะสื่อ ออกมาในรูปแบบใหม่โดยที่ผู้ฟังฟังแล้วอาจแค่รู้สึกแปลกใหม่ หรือทำให้ฉงนสงสัยเท่านั้น มีเฉพาะแนวคิดที่่น่าสนใจเรื่องเรื่อง จุดคานงัดของสังคมซึ่งทฤษฎีความโกลาหลช่วยชี้ให้เห็นว่า ในระบบที่ไวต่อสภาวะตั้งต้นนั้น การกระทำเพียงเล็กน้อยอาจเกิดสะเทือนมากได้ เหมือนกับผลกระทบผีเสื้อ หรือเหมือนกับการงัดเบาๆ คานก็อาจเคลื่อนไหวได้ หากเราสามารถรู้ว่า จุดคานงัดดังกล่าวนั้นอยู่ที่ไหน แนวความคิดนี้จึงเป็นการประกาศถึงศักยภาพของปัจเจกชน ในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น เพราะผลการกระทำของปัจเจกชนคนเดียว แม้เป็นเหมือนการกระพือปีกของผีเสื้อตัวเล็ก ๆ ก็ยังมีโอกาสทำให้ฝนตกได้

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าแนวคิด
Chaos Theory กับสถานการสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นเพียงการสื่อในลักษณะใช้ภาษาทั่วๆ ไปโดยไม่มีการอ้างอิงหลักทฤษฎีโกลาหลแต่อย่างใด เนื่องจากทฤษฎีความโกลาหลมีประเด็นที่ชัดเจนคือ ธรรมชาติมีความซับซ้อนเกินกว่าการคิดแบบเชิงเส้นจะสามารถทำความเข้าใจได้ขณะที่ทฤษฎีความโกลาหลไม่ได้ให้อ้างอิงหรือระบุ ถึงวิธีการจัดการกับสังคมที่เป็นรูปธรรม มีแค่การกล่าวถึงความสำคัญของการมองแบบไม่เป็นเชิงเส้น ไม่เป็นกลไก หรือเรียกว่ามองแบบองค์รวมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

กล่าวถึง Chaos Theory กับสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองไทยได้ดังนี้

ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางสังคมครั้งใหญ่ทฤษฎีเดิมที่เคยใช้ได้ผล เริ่มมีความผิดพลาดยอมรับไม่ได้ ดังนั้นขุมกำลังทั้งหลายที่อยู่ในเวทีการต่อสู้ที่คาดเดาไม่ได้นี้ จะต้องพยายามค้นหา ทฤษฎีใหม่ที่ใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์ได้แม่นยำกว่าทฤษฏีเดิม เพื่อนำไปสู่การกำหนด กลยุทธ์ที่ถูกต้องเหนือกว่าฝ่ายตรงข้าม อันจะนำไปสู่ชัยชนะในท้ายที่สุด

จากบทความของหนังสือพิมพ์มติชน ได้มีการอ้างอิงที่น่าสนใจไปถึง การวางแผนของพรรคประชาธิปัตย์หลายปีก่อน เพื่อประยุกต์ใช้ Chaos Theory มาเป็นกลยุทธ์เพื่อสู้กับพรรคไทยรักไทย โดยเน้นไปที่การ สร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในสังคม ด้วยการยกปมการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลขึ้นมาขยายฉายซ้ำ ซึ่งหากพรรคประชาธิปัตย์หรือฝ่ายอื่นๆได้ประยุกต์ใช้แนวทางนี้จริงๆ ก็จะพบว่า Chaos Theory ที่ผู้ใช้คาดหวังว่าจะทำลายพรรคไทยรักไทยนั้น ในที่สุดกลับทำให้เกิดผลเป็นขุมกำลัง เสื้อแดงและขุมกำลังอื่นๆที่ควบคุมไม่ได้ออกลูกออกหลานเต็มไปหมดและส่วนหนึ่งได้กลับมากระทบ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งกำลังถูก Chaos Theory สั่นคลอนอยู่ในขณะนี้

หากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย กลุ่มคนเสื้อแดง หรือกลุ่มมือที่มองไม่เห็นที่ซ่อนตัวอยู่ ต้องการที่จะได้รับชัยชนะในช่วง Chaos Theory ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระเบียบใหม่ (New Order) ย่อมต้องทำการศึกษา ประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของสังคมไทยและสังคมโลกอย่างรอบด้าน เพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในภาพอนาคต (Scenario) ที่สังคมไทยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระเบียบใหม่ (New Order)

การกำหนด
กลยุทธ์เพื่อรับมือกับภาวะ Chaos Theory จึงไม่ใช่เพียงการสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในสังคม เพื่อทำให้ประชาชนเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามเพียงอย่างเดียว เพราะในภาวะ Chaos Theory ที่ซับซ้อนนั้น การกระทำเพื่อมุ่งหวังผลทางตรง อาจนำไปสู่ผลทางอ้อม ซึ่งท้ายสุดอาจย้อนกลับมาทำร้ายผู้กระทำได้
แม้จะมีการนำ Chaos Theory มาใช้เปรียบเทียบกับสถานการณ์ความวุ่นวายของบ้านเมืองที่กำลังประสบอยู่ จุดอ่อนแห่งการประยุกต์ใช้บ่งชัดคือเป็นการมองภาพเพียงแค่องค์รวมหลวมๆ ที่สื่อว่า สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้เป็นบรรยากาศที่ช่างไร้ระเบียบ ไร้หลักการ ยากที่จะทำนาย (Unpredictable)” โดยลืมมองไปว่า การต่อสู้ช่วงชิงทางการเมืองในทุกยุคทุกสมัยก็ล้วนแต่มีความไร้ระเบียบเกิดขึ้นเป็นระยะ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ Chaos Theory มาจับก็สามารถอธิบายได้ กรณีปัจจุบันมติชนพยายามสื่อว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความวุ่นวายโกลาหลที่เกิดขึ้นแบบธรรมดาทั่วไปที่ท้ายสุดเหตุการณ์จะกลับเข้าสู่ระเบียบเดิม (Old Order) แต่กรณีนี้มุ่งจับประเด็นเน้นไปที่ภาวะไร้ระเบียบ ที่จะไม่หวนกลับไปสู่สถานะเดิม (Old Order) แต่จะนำไปสู่ระเบียบใหม่ (New Order) ที่จะผุดบังเกิดขึ้นมาภายหลังภาวะไร้ระเบียบ(Chaos) สิ้นสุดลงนั่นเอง

*การแก้ไขปัญหาประเทศไทยได้อย่างเป็นระบบในการกำหนดกลยุทธ์ที่ดีที่สุด ในการตอบโต้กับภาวะ Chaos Theory กับปัจจัยทางการเมืองที่เกิดขึ้นจึงควรกระทำดังนี้

1. พิจารณาสถานการณ์แบบองค์รวมโดยใส่ สถานการณ์จำลอง (Scenario)” เพื่อเป็นตัวแทนภาพอนาคต ในการกำหนดกลยุทธ์ที่เหนือกว่าฝ่ายตรงข้ามที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ไปวันๆ
กรณีตัวอย่างการที่กลุ่มเสื้อแดงรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนที่มีทีท่าจะขยายใหญ่โต เป็นปึกแผ่นขึ้นทุกวันนั้น ความชัดเจนคือแสดงให้เห็นถึงเป็นความยินยอมพร้อมใจ ไม่ได้เกิดจากถูกหลอกลวงมาเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเกิดขึ้นเป็นเวลานานและมีการขยายกลุ่มก้อนใหญ่โตขึ้นทุกวัน จึงเป็นสิ่งชี้ชัดว่าเป็นเพราะอดีตนายกฯ ทักษิณมีนโยบายที่เข้าถึงในการแก้ปัญหาได้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มคนเสื้อแดง ฉะนั้นการมุ่งพยายามจัดการเพียงอดีตนายกฯทักษิณ จึงไม่ใช่ประเด็นในการแก้ปัญหาความวุ่นวายการแบ่งเป็นฝักฝ่ายของคนในสังคมอย่างแน่นอนที่สุด

2. ใส่ใจปรากฎการณ์ขนาดเล็กที่เคยมองข้ามไป
Chaos Theory มักให้ความสำคัญกับปรากฎการณ์เล็กๆ ที่อาจพลิกเปลี่ยนสถานการณ์ใหญ่ไปสู่ทิศทางใหม่โดยไม่คาดฝัน เนื่องเพราะในสถานการณ์ Chaos นั้น กฎเกณฑ์เดิมล้วนแต่ถูกทำลายลง ดังนั้นจึงเปิดช่องว่างให้กับปรากฎการณ์เล็กๆได้มีบทบาทสำคัญต่อสถานการณ์ใหญ่ได้

3. ใช้มุมมองใหม่ๆในการประเมินมิตรและศัตรู

การที่ Chaos Theory ทำลายกฎเกณฑ์เดิม ดังนั้นมิตรและศัตรู ก็อาจเปลี่ยนข้างย้ายขั้วได้ซึ่งค่อนข้างซับซ้อนกว่าปกติ ดังนั้นหากใครสามารถมองเห็น Scenario ที่ จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ย่อมสามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวทั้งการประสานมิตรและสร้างศัตรูได้แม่นยำกว่าคนอื่น ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์ที่ดีกว่าได้

กล่าวโดยสรุป Chaos Theory สามารถอธิบายภาวะเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ ที่กฎเกณฑ์เดิมได้ถูกทำลายลง ดังนั้นหากต้องการชัยชนะจะต้องมองเห็นช่องว่างระหว่างกฎเกณฑ์เดิมกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่กฎเกณฑ์ใหม่ ภายใต้ภาวะใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้น เพื่อกำหนดกลยุทธ์ให้สอดคล้องและแม่นยำที่สุดนั่นเอง


Nov 27, 2009

วิเคราะห์ศักยภาพทางสังคมไทยสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ในการปรับโครงสร้างเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ



การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯมีขนาดใหญ่เกือบจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่เกิดขึ้นจึงมีขนาดใหญ่กว่าที่คาดคิด เม็ดเงินที่อัดฉีด เข้าไปในการแก้ไขปัญหามีสภาพที่เรียกว่า ถมเท่าไหร่ ก็ไม่เต็ม ซึ่งเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเกือบ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯหรือกว่า 33 ล้านล้านบาท ตั้งแต่เดือน พ.ค. ปี 2550 เป็นต้นมา จากผลการขาดทุนอย่างมโหฬารของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่งในสหรัฐฯ ที่จำต้องตัดสินใจเลิกจ้าง พนักงานของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในสาขาต่างๆทั่วโลกมากกว่า 20,000 คน ในฐานะที่เป็นผู้ปล่อยกู้สินเชื่อซ้อนสินเชื่อ โดยวิธีการนำสินเชื่อนั้นเข้าสู่ระบบ การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์(Securitization) อีกหลายทอด

สถานการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นสภาพเศรษฐกิจของครัวเรือนอเมริกันที่เต็มไปด้วยการกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อการใช้จ่าย ไม่ใช่เพื่อการผลิต จึงเป็นที่คาดการณ์ว่าไม่นานหลังจากที่สินเชื่อด้อยคุณภาพหรือคุณภาพต่ำ เหล่านี้ต้องกลายเป็นหนี้สูญหรือหนี้ที่ไม่สามารถชำระได้ สิ่งที่จะตามมา ให้เห็นในลำดับต่อไปก็คือสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ก็จะไม่สามารถชำระหนี้ ได้ด้วยเช่นเดียวกับสินเชื่อเช่าซื้อรถที่จะตามมา


ความเสียหายยังคงส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ การลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกไม่เฉพาะแต่ในดัชนีหุ้นสหรัฐฯ แต่ยังลามถึงตลาดหุ้นในยุโรปและเอเชียที่ต่างก็ร่วงลงอย่างรุนแรงด้วย เพราะไม่เพียงแต่กองทุนซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคาร และสถาบันการเงิน จะเทขายหุ้นออกมาอย่างหนัก เพื่อนำเงินที่ได้ไปชดเชยผลการขาดทุนในสินเชื่อซับไพร์มเท่านั้น แต่หลายกองทุนในตะวันออกกลาง ยุโรป และเอเชีย ยังต้องระดมเม็ดเงินเท่าที่จะหาได้จากสินค้าคอมมอดิตี้เหล่านี้เพื่อนำไปพยุงฐานะของกิจการที่เป็นตัวจักรสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ให้ต้องลากเอาระบบเศรษฐกิจของประเทศตนกระเทือนไปด้วย

กรณีประเทศไทยแม้ระบบการเงินของไทยจะหลีกเลี่ยงผลกระทบโดยตรงของวิกฤตซับไพรม์ได้ แต่ประเทศไทยซึ่งพึ่งพิงการส่งออกสินค้าและบริการอย่างมากก็ถูกกระทบอย่างรุนแรงโดยอ้อมจากวิกฤตนี้ เนื่องจากวิกฤตนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำและการค้าระหว่างประเทศลดลง การส่งออกและระบบเศรษฐกิจไทยจึงประสบปัญหาอย่างหนัก ดังเห็นได้จากในไตรมาสที่ 1-3 ของปี 2551 การส่งออกขยายตัวมากกว่าร้อยละ 20 แต่ในไตรมาสที่ 4 การส่งออกหดตัวถึงร้อยละ 9.4 และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ติดลบร้อยละ 4.2 ทำให้ตัวเลขการเติบโตทั้งปีอยู่ที่เพียงร้อยละ 2.6 ซึ่งต่ำกว่าประมาณการ ความเสียหายชัดเจนขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2552 เมื่อการส่งออกหดตัวถึงร้อยละ 20 และ GDP ติดลบร้อยละ 7.1 ซึ่งเป็นความตกต่ำในระดับใกล้เคียงกับที่เกิดขึ้นในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับแนวโน้มการเติบโตของระบบเศรษฐกิจและการค้าในระดับโลกและระดับภูมิภาค ในขณะที่มีสัญญาณเป็นครั้งคราวว่าเศรษฐกิจของประเทศตะวันตกอาจจะเริ่มถึงจุดต่ำสุดในอนาคตที่ไม่ไกลนัก แต่การมองโลก ในแง่ดีเกินไปก็ดูจะประมาท ในกรณีวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แม้เศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุดแล้วแต่ปัญหาก็ยังไม่จบสิ้น กล่าวคือ เศรษฐกิจไทยดิ่งไปถึงจุดต่ำสุดในห้าถึงหกไตรมาสนับจากเริ่มเกิดวิกฤต แต่ต้องใช้เวลาถึงห้าปีก่อนที่ GDP จะกลับมาอยู่ในระดับก่อนวิกฤต ส่วนการลดลงของอัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั้น กว่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 10 ต้องใช้เวลาถึงประมาณแปดปีด้วยกัน

วิกฤติปัจจุบันอาจจะจัดการได้ยากกว่าวิกฤตในปี 2540 เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วไม่ได้รับผลกระทบมากนักในช่วงของวิกฤตปี 2540 (ยกเว้นญี่ปุ่นซึ่งมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับส่วนอื่นๆ ของเอเชียตะวันออกอย่างแนบแน่น) ดังนั้นจึงมีอุปสงค์ต่อสินค้าส่งออกจากเอเชียตะวันออกที่เพิ่มขึ้นได้ แต่วิกฤตปัจจุบันแตกต่างไป โดยนำไปสู่การหดตัวของอุปสงค์ของสินค้าส่งออกไปทั่วโลก สถานการณ์นี้กระทบต่อตัวแบบการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีการส่งออกเป็นตัวนำของเอเชียตะวันออก

ดังนั้นการแก้วิกฤตปัจจุบันอย่างยั่งยืนเกี่ยวพันไม่แต่เพียงกับการกำกับดูแลทางการเงินให้เข้มแข็งขึ้นในทุกหนแห่ง แต่รวมถึงการมีกลไกที่ดีขึ้นเพื่อป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจของโลกดังที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งการแก้ปัญหาความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจของโลกที่ฝังรากลึกนั้นต้องอาศัยเวลา เนื่องจากหลายประเทศหรือหลายกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่

กระทั่งสหรัฐอเมริกายังต้องบริโภคและนำเข้าให้น้อยลง และต้องส่งออกมากขึ้น ขณะที่เอเชียตะวันออกและคู่ค้าที่สำคัญอื่นๆ ของสหรัฐอเมริกาจะต้องกระทำในทางตรงกันข้าม ด้วยเหตุนี้ย่อมทำให้ต้องมีการปรับตัวในระดับผู้ประกอบการและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในระดับจุลภาคด้วย เช่นการฝึกอบรมแรงงานให้สามารถเปลี่ยนไปทำงานในภาคเศรษฐกิจใหม่ได้ รวมถึงการแก้ปัญหาความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจของโลกอาจต้องรวมถึงการปรับค่าของเงินสกุลสำคัญๆ ซึ่งย่อมสร้างผลกระทบต่อประเทศต่างๆ อย่างมากมาย

ในระยะสั้นประเทศต่างๆ ได้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจขนานใหญ่เพื่อพยุงเศรษฐกิจในภาวะที่การส่งออกหดตัวลง ส่วนในระยะปานกลางจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยประเทศแถบเอเชียตะวันออกจำเป็นต้องพึ่งการส่งออกให้น้อยลงและเสริมด้วยอุปสงค์อื่นๆ จากภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรเพิ่มการลงทุนในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เพราะภาคเอกชนยังคงต้องอ่อนแอไปอีกระยะหนึ่ง

ซึ่งการพัฒนาโดยใช้การลงทุนและอุปสงค์อื่นๆ ภายในประเทศให้มากขึ้นนี้ยังต้อง ระวังไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูง คล้ายกับที่ได้เกิดขึ้นก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 อีกด้วย ต้องดูแลไม่ให้เกิดการลงทุนที่เกินตัว รวมทั้งต้องพิจารณาคุณภาพของการลงทุนให้เหมาะสม เพราะประเทศไทยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีอยู่มากมายในอดีตที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ริเริ่มโดยภาครัฐล้มเหลวมาหลายโครงการ

นอกจากนี้ ยังมียุทธศาสตร์อื่นๆ ที่จะช่วยเสริมการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนในภาวะที่การส่งออกมีบทบาทน้อยลงในอนาคต โดยยุทธศาสตร์หลักๆ ได้แก่

1. การยกระดับประสิทธิภาพในการผลิตรวม

การยกระดับประสิทธิภาพในการผลิตรวมหมายถึงการเพิ่มผลผลิตโดยใช้ปัจจัยการผลิตเท่าเดิม ซึ่งถ้าทำได้จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างความเติบโตให้สมดุลมากขึ้นและสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในระยะยาว ในเรื่องนี้ประเทศไทยยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงอีกมากเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ โดยเฉพาะในสองเรื่องได้แก่

  • การยกระดับทุนมนุษย์ด้วยการพัฒนาการศึกษาและการฝึกอบรม และ
  • การยกระดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะสามารถนำเอาไปใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์

2. การพัฒนาโครงข่ายการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ

คือการเพิ่มสัดส่วนของการผลิตสินค้าต่างๆ ที่ผลิตได้ภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะอุปสงค์ต่อสินค้าขั้นกลาง การดำเนินการนี้ไม่ได้ต้องการส่งเสริมการกีดกันสินค้านำเข้า แต่เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประเทศมีฐานการผลิตที่หลากหลายและลงลึกมากขึ้น โดยจะต้องพัฒนาเครือข่ายของกลุ่มอุตสาหกรรมภายในประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้องและต้องจัดเตรียมระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ

ประเด็นสำคัญของการลดการนำเข้าสินค้าขั้นกลางคือ การเพิ่มความสามารถในการผลิตของผู้ผลิตภายในประเทศเพื่อให้ผู้ผลิตเหล่านี้สามารถเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมต่างๆ ได้มากขึ้นเรื่อยๆ

จากกรณีตัวอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ ในช่วงต้นอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่เป็นเพียงแค่การประกอบชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศ ต่อมาจึงค่อยมีการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ภายในประเทศมากขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตภายในประเทศยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์จนได้มาตรฐานสากล โดยในปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงด้วยการมีส่วนประกอบที่ผลิตภายในประเทศมาก และชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศก็สามารถส่งออกไปขายในต่างประเทศได้ด้วย

3. การลดสัดส่วนการใช้พลังงาน

สัดส่วนของพลังงานที่นำเข้าเพิ่มขึ้นจากต่ำกว่าร้อยละ 4 ของ GDP ในปี 2541 เป็นร้อยละ 12 ถึง 14 ของ GDP ในปี 2549-2551 ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจึงตกอยู่ในภาวะเปราะบางอย่างมากเมื่อราคาพลังงานสูงขึ้น

โดยการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าการไม่มีแหล่งพลังงานในประเทศอย่างเพียงพอ โดยรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นอนาคตที่สดใสสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยในอนาคตอันใกล้

4. ปัจจัยอื่นในการปรับโครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจ

การกระจายรายได้นับเป็นประเด็นปัญหาใหญ่มาก ความเหลื่อมล้ำที่สูงนั้นส่งผลให้ตลาดภายในประเทศมีขนาดเล็ก เนื่องจากความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ในหมู่คนรวยเพียง20% ของประชากรทั้งประเทศ โดยหากมีการแก้ปัญหาการกระจายรายได้ได้สำเร็จ จะทำให้เขนาดของตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้นรวมถึงการเติบโตเกิดความสมดุลมากขึ้นด้วย

มาตรการในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้มีหลายประการ เช่น

  • มาตรการทางด้านการคลัง
  • นโยบายสินเชื่อรายย่อย
  • การบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรมฯลฯ

นอกจากจะช่วยเพิ่มการบริโภคในประเทศแล้ว สิ่งสำคัญที่จะเกิดตามมาจากการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันคือ สามารถช่วยลดการแยกขั้ว-แบ่งสีทางการเมืองที่กำลังเป็นสาเหตุสำคัญในการ ทำลายเศรษฐกิจและการเมืองไทยที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงขณะนี้ได้อีกด้วย

Nov 26, 2009

ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน

โดย ภัทรษมน รัตนางกูร


การที่ประเทศต่างๆ เร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสาเหตุเพราะต้องการยกระดับมาตรฐานการครองชีพ (Standard of Living) และความเป็นอยู่ของประชาชน (Well being) ให้ดีขึ้น ขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจต่างก็มีจุดหมายเพื่อต้องการเพิ่มระดับรายได้ประชาชาติในอัตราที่สูงกว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากการพัฒนาประเทศจะเป็นไปได้มาก-น้อยเพียงใดต่างก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ

การพัฒนาเศรษฐกิจ (Economics Development)

คือกระบวนการที่ก่อให้เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องในระยะเวลาที่นานพอที่จะทำให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพทางสังคมโดยมุ่งเน้นเพื่อยกระดับการดำรงชีพของประเทศให้สูงขึ้น ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่แท้จริงต่อบุคคล (per capita real income) ในระยะเวลาที่ยาวนานพอเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างเสมอภาคเกิดมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนโดยส่วนรวมที่ดีขึ้นกว่าเดิม
โดยประกอบด้วยองค์ประกอบดังนี้
1. มีความเจริญทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในระดับสูง
2. ความเจริญทางเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3. มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางสังคมที่เหมาะสม การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นการวิเคราะห์ในระยะยาวที่มุ่งให้อุปทานรวม (Aggregate Supply) สูงขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ผลผลิตของระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น มีการใช้ทรัพยากรหรือการจ้างงานภายในประเทศเพิ่มขึ้น
จุดประสงค์ของการพัฒนาเศรษฐกิจ
ทุกประเทศในโลกต้องการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้สูงขึ้น ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องการรักษามาตรฐานการครองชีพที่ดีและความมั่งคั่งของประเทศไว้ ประเทศกำลังพัฒนาต้องการยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนและเพิ่มความมั่งคั่งของประเทศให้เทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว สามารถสรุปถึงจุดมุ่งหมายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ดังนี้
1.เพื่อให้รายได้ประชาชาติของประเทศเพิ่มขึ้น โดยใช้มาตรการและนโยบายต่างๆ ส่งเสริมการออม การลงทุน การผลิต ซึ่งแสดงถึง สภาพความเป็นอยู่และฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศที่ดีขึ้น
2. เพื่อให้การจ้างงานอยู่ในระดับสูง การว่างงานจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดังนั้น รัฐบาลต้องหาวิธีการส่งเสริมการลงทุนในประเทศเพื่อให้เกิดการจ้างงาน ประชาชนในประเทศมีงานทำ กระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ
3. สร้างและรักษาเสถียรภาพระดับราคาสินค้าในประเทศ หมายถึง การควบคุมภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เนื่องจากประชากรที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศขยายตัว ปริมาณเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะเกิดเงินเฟ้อภายในประเทศสูง รัฐบาลจึงต้องหาวิธีควบคุมภาวะเงินเฟ้อโดยใช้นโยบายการเงินและการคลัง
4. กระจายรายได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจเจริญเติบโตเต็มที่แต่ผลของการพัฒนาไม่กระจายสู่คนหมู่มากถือว่าเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่สมบูรณ์ ต้องมีการกระจายรายได้ กระจายความมั่งคั่งสู่ประชาชนภายในประเทศให้เท่าเทียมกันเพื่อให้ช่องว่างของรายได้น้อยลง

ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจ
ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคือการขยายกำลังการผลิตสินค้าและบริการโดยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของทรัพยากร ปัจจัยการผลิต และประสิทธิภาพในการผลิตซึ่งมีผลทำให้ผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้น (Real GNP) และรายได้ที่แท้จริงต่อบุคคล (Real GNP per capita) สูงขึ้น
ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นกระบวนการแห่งการเจริญและพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สม่ำเสมอเป็นเวลานาน ซึ่งมีผลทำให้รายได้ที่แท้จริงต่อบุคคลสูงขึ้นและเกิดการกระจายรายได้อย่างเสมอภาค ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน ดำรงชีวิตได้อย่างสบาย มีคุณค่าและอิสรภาพในด้านต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม ระบบการเมือง ทัศนคติ การบริหาร การศึกษาและค่านิยมทางสังคมให้เหมาะสม โดยอาศัยอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GNP Growth Rate) เป็นเครื่องวัดการพัฒนาเศรษฐกิจ
เป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมี 5 ประการคือ
1. การมีรายได้และมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น
2. การกระจายรายได้ดีขึ้น
3. การมีงานทำ
4. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และ
5. การควบคุมการเกิดมลภาวะเป็นพิษ

การพัฒนาเศรษฐกิจมีแนวคิดที่สำคัญดังต่อไปนี้
1. การเติบโตแบบสมดุล (Balanced Growth) เป็นการลงทุนพร้อมกันทุกส่วนในระบบเศรษฐกิจของประเทศเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงทั้งระบบ เนื่องจากอุตสาหกรรมหนึ่งจะก่อให้เกิดตลาด และเป็นที่มาของอุปทานของอุตสาหกรรมอื่นๆ และควรส่งเสริมให้มีการค้าระหว่างประเทศเพื่อขยายตลาด
2. การเติบโตแบบขาดดุล (Unbalanced Growth) เป็นการลงทุนเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการพึ่งพิงระหว่างกันสูง ทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่การพัฒนาจะกระจุกตัวส่งผลให้การกระจายรายได้ไม่กว้างขวาง
3. การพัฒนาแบบสมดุล (Balanced Development) เป็นการพัฒนาทั้งในเชิงปริมาณ คุณภาพ และความเป็นธรรมในสังคมควบคู่กันไป ทำให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการกระจายรายได้และการกระจายการพัฒนาไปสู่ส่วนภูมิภาค ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
การพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development) เป็นการพัฒนาที่รักษาความสมดุลทั้งในด้านตัวคน สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ และความเป็นธรรมในสังคมควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ ใช้ทรัพยากรสนองความต้องการในปัจจุบันโดยไม่ทำลายความสามารถในการใช้ทรัพยากรของคนในรุ่นหลัง

แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

ารเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยภายหลังใช้แผนพัฒนาฯ นับได้ว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงจากภาคเกษตรกรรมโดยเฉพาะการส่งออกข้าวเป็นรายได้หลักของประเทศ (Strong Rice Economy) เป็นการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (Exported Growth) ซึ่งประเทศไทยได้เปรียบในการผลิตในด้านแรงงาน ต้นทุนการผลิตต่ำ ส่งผลให้ได้เปรียบในการผลิตสามารถแข่งขันในตลาดโลกโดยตั้งแต่ประเทศไทยมีการใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 จนถึงปัจจุบัน โครงสร้างและระบบเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก สามารถสรุปถึงผลการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาได้ดังนี้
1.ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและปัญหาการกระจายรายได้
โครงสร้างการผลิตได้เปลี่ยนจากภาคเกษตรกรรมเป็นภาคอุตสาหกรรม ผลิตเพื่อการส่งออก การเปิดการค้าเสรีและการลงทุน ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็วแต่การขยายตัวไม่สม่ำเสมอ อุตสาหกรรมกระจุกตัวเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ เกิดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้
2.ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและปัญหาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
ต้นเหตุแห่งการขยายตัวของผลิตภัณฑ์หรือการผลิตประชาชาติทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมซึ่งจำเป็นต้องใช้ปัจจัยการผลิตจำนวนมากรวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด ทำให้เกิดการบุกรุกที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ ผลที่ตามมาคือ ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมและหมดไปอย่างรวดเร็ว
3.ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและปัญหาการว่างงาน
ในระยะที่ผ่านมา รัฐบาลและประชาชนใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีค่านิยมการใช้สินค้าจากต่างประเทศ การพัฒนาประเทศพึ่งพาเงินทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศจำนวนมาก เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ไทยขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว
4.ปัญหาการแข่งขันและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย
การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนทำให้การแข่งขันระหว่างประเทศรุนแรงขึ้น นอกจากต้นทุนการผลิตที่ทำให้ไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศแล้ว ประเด็นที่สำคัญยังประกอบไปด้วยนโยบายและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศ ขณะที่ภาวะการณ์ในปัจจุบันขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากสาเหตุของต้นทุนทางด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ประเทศต้องมีการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น ได้มาตรฐานสากล

การพัฒนาประเทศ (National Development)
การพัฒนาประเทศคือการพัฒนาเศรษฐกิจ ให้มีขีดความสามารถในการผลิต และการแข่งขันสูงขึ้น การพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศ การพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม การพัฒนาทางด้านจิตใจ รวมทั้งการพัฒนาชนบทให้เป็นระบบและเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ ที่กล่าวนี้คือความสำคัญ และแนวทางในการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยมุ่งเน้นให้มีเกิดการพัฒนาในทุกๆด้านเพื่อเพิ่มศักยภาพดังต่อไปนี้
1. การพัฒนาเกษตรกรรม เป็นเกษตรกรรมที่แรรูปเป็นผลผลิตที่ทุกชนชาตินำไปใช้ได้เช่นมันสำประหลังอัด เม็ดทำแป้งผงไปปรุงอาหารที่เป็นต้องการของทั่วโลกทำให้เป็นสำเร็จรูปเพื่อเพิ่ม มูลค่าในตัวสินค้านั้นๆ
2.อุตสาหกรรม ส่งเสริมการศึกษาในรบบการคำนวณ-ภาษาต่างประเทศ เพื่อการติดต่อกับประเทศอื่นๆทั่วโลกเพื่อการค้าการลงทุนการคำนวณนั้นเหมาะ กับด้านวิศวกรรม ด้านการเงิน ระบบวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ชีววิทยา เกิดจากการคำนวณ ดังนั้นควรปรับปรุงการศึกษาเร่งแก้ไขให้มีประสิทธิ์ภาพ อย่างถูกต้องเพื่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สรุปได้ว่าการแปรรูปนั้นจะมีประสิทธิผลในด้านอุตสหกรรมลกการพึ่งหา เทคโนโลยีของต่างชาติในด้านวิศวกรรม เทคโนโลยี ดังนั้นไทยจึงไม่สมควร แพ้ อเมริกันและญี่ปุ่นอย่างแน่นอน
3.ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนไทย ส่งเสริมให้มีกฎหมายที่ครอบคุมเหมาะสมกับความยุติธรรมในสังคม ป้องกันและปราบปรามปัญหาในสังคม ส่งเสริมการศึกษาให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศถ้าไทยเป็นประเทศอุ ตสหกรรมนั้นการเปลี่ยนแปลงการศึกษาและจริยธรรมคุณธรรมคือศาสนาให้มีความสอด คล้องกับเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม
4.พัฒนาบุคคลระดับประเทศ ให้มีความสามารถในด้านการเมือง การติดต่อการบริหารประเทศ รวมทั้งจริยธรรมแห่งชั้นชั้นปกครองให้เหมาะสม
5.พัฒนาระบบกองทัพ บก เรือ อากาศ ให้เข้มแข็งน่าเกรงขาม เพื่อป้องปรามประเทศที่เป็นอัธพาลและเพื่อการติดต่อเจรจาด้านต่างๆให้ดู ประเทศเราน่าเกรงขาม และเพื่อเป็นศักยภาพในการป้องกันประเทศซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นใรระบบทหาร อย่างที่อเมริกันติดต่อกับประเทศอื่นๆอย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาประเทศประกอบไปด้วยปัจจัยที่สำคัญดังนี้
1.ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ คือ ทุน ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรมนุษย์ ผู้ประกอบการ และเทคโนโลยี
1.1 ทุน (Capital) ทุนถือเป็นปัจจัยสำคัญ เป็นกุญแจนำไปสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญของการพัฒนาก็คือ การกระจายการลงทุนไปให้กว้างและเป็นไปอย่างเพียงพอ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
1.2 ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources) ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมีประโยชน์ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่ดิน แร่ธาตุ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยมนุษย์ใช้ทรัพยากรเหล่านี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ หากประเทศใดมีทรัพยากรมาก จะทำให้ประเทศนั้นๆ มีโอกาสพัฒนาได้มาก แต่ก็ต้องรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเพียงพอ นำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการพัฒนาที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องจะทำให้ประเทศนั้นๆ สามารถมีทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
1.2.1 ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น จาการทที่ประชาชนรัฐบาลได้มีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ต่อทางเศรษฐกิจ
1.2.2 ทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยพื้นฐานต่อการพัฒนาด้าน การเกษตร การอุตสาหกรรม การบริการ การท่องเที่ยว ทำให้เกิดรายได้ทั้งจากภาคการผลิตโดยตรง และด้านการบริการ
1.2.3 การนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ที่ก่อให้เกิดรายได้ เช่นการขุดน้ำมัน ก๊าชธรรมชาติ แร่ธาตุต่างๆ นำมาใช้ประโยชน์ทดแทนการนำเข้าและยังสามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้ ทำให้เกิดรายได้มาพัฒนาประเทศ
1.2.4 ทรัพยากรธรรมชาติ สามารถนำมาใช้สร้างโรงงานพลังงานไฟฟ้า ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการบริโภคของประชาชน เช่น การนำแร่ธาตุ ถ่านหิน แก็สธรรมชาติ น้ำมันและพลังงานน้ำ
1.2.5 ทรัพยากรธรรมชาติ เช่าป่าไม้ แหล่งน้ำ ทะเล น้ำตก ภูเขา เป็นต้นใช้เป็นที่พักผ่อน และเป็นแหล่งท่องเที่ยว สามารถเป็นรายได้มาพัฒนาประเทศได้
1.2.6 ใช้ในการคมนาคมขนส่ง เช่น ทะเล แม่น้ำ ลำคลอง สามารถใช้ลำเลียงการขนส่งทางวัตถุดิบ สินค้า และการเดินทางสัญจรของประชาชน สนับสนุนการค้าขายเพื่อพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ
1.3 ทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศโดยเน้นให้เห็นถึง ประสิทธิภาพ และคุณค่าของประชากรเป็นหลักการศึกษาประชากร ครอบคลุมไปถึง เพศ อายุ ระดับการศึกษา สภาพการทำงาน ภาวะเจริญพันธุ์ อัตราการเกิด อัตราการตาย และอัตราการย้ายถิ่น เป็นต้น คุณภาพของประชาชน เป็นหน่วยผลิตที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ และพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว
1.4 ผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ถือเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ ที่มีผลต่อการผลิตภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการจึงมีหน้าที่ และบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง
หน้าที่ เป็นผู้ตัดสินใจเลือกการผลิตสินค้าและบริการว่าจะผลิตอะไร จำนวนเท่าไร จะเลือกปัจจัยในในการผลิต เป็นผู้เลือกเทคโนโลยีให้เหมาะสมในการผลิต การขยายตลาดสินค้าและการบริการ เป็นผู้รับภาระความเสี่ยงภัย และความไม่แน่นอนต่างๆที่เกิดขึ้นจากการลงทุน ผู้ประกอบการมีหน้าที่ดังกล่าวเพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.5 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและการบริการเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการจ้างงาน การกระจายรายได้ โครงสร้างตลาด การค้าและการลงทุน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลง เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
2. ปัจจัยทางการเมือง
ปัจจัยทางการเมืองเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ และมีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ แนวความคิดทางการเมือง หรือปรัชญาทางการเมืองมีหลายรูปแบบ แต่ละแบบต่างมีอิทธิพลต่อทางเศรษฐกิจและธุรกิจแตกต่างกัน เช่นระบบการเมืองแบบสังคมนิยม เสรีนิยมหรือ คอมมิวนิสต์ เป็นต้น นอกจากนี้แนวนโยบายเศรษฐกิจย่อมมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ หรือเปลี่ยนแปลงไปได้พายใต้กรอบการเมืองด้วยกันเช่นเสถียรภาพทางการเมือง รูปแบบการปกครอง และการบริหารจัดการอธิบายได้ดังนี้
2.1 เสถียรภาพทางการเมือง ประเทศที่สงบสุข ปราศจากภัยสงคราม ระบบการเมือง
ในประเทศดำเนินไปอย่างเรียบร้อยอย่างต่อเนื่อง ประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมือง จะทำให้ประชาชน นักธุรกิจ นักลงทุน มีความมั่นใจการประกอบอาชีพ รัฐบาลสามารถวางนโยบายและกำหนดมาตรการทุกๆ ด้านในการพัฒนาได้เต็มที่
2.2 รูปแบบการปกครอง มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เช่น ระบบคอมมิวนิสต์ ระบบสังคมนิยม ระบบเสรีนิยม เป็นต้น ระบบการปกครองไม่ว่าระบบใด หากผู้ปกครองประเทศ ขาดความรับผิดชอบ ไม่ซื่อสัตย์ ขาดวิสัยทัศน์ มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ก็ไม่สามารถนำพาประเทศให้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจได้ ดังนั้นในการพัฒนาประเทศต้องเป็นผู้บริหารประเทศต้องมีความตั้งใจจริง มีความสามารถระดมความคิด ความร่วมมือ
ร่วมใจ จากประชาชนในประเทศ เพื่อให้ประเทศประสบสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม
2.3 การบริหารจัดการ ผู้ปกครองประเทศ นอกจากควรมีวิสัยทัศน์แล้ว การวางแผนกลยุทธ์ กำหนดนโยบายแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว การบริหารจัดการบ้านเมืองให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างสังคม และบริหารจัดการให้การเมืองดำเนินไปได้อย่างมีเสถียรภาพ
3. ปัจจัยทางสังคม ได้แก่ ค่านิยม ความสัมพันธ์ของบุคคล ครอบครัว ชนชั้นทางสังคม ศาสนาและวัฒนธรรม
ค่านิยมเป็นสิ่งที่คนสนใจที่ปรารถนาที่จะได้ จะเป็น หรือแนวทางการดำเนินชีวิตซึ่งมีค่านิยมหลายแบบเช่น ค่านิยมทางสังคม จิตวิทยา ได้แก่ เชื่อฟังผู้ใหญ่ รักสันโดษ ค่านิยมทางจริยธรรม ที่ เชื่อในศาสนา กฎแห่งกรรม ยึดความเมตตา ค่านิยมทางการเมือง ได้แก่ ยึดหลักการปกครองตามระบบประชาธิปไตย ยึดถือความต้องการของประชาชน ความสัมพันธ์ของบุคคล บุคคลยอมมีสมาชิกภาพ เป็นส่วนหนึ่งของสังคมมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องผูกพันกับกลุ่มที่ตนเองเป็นสมาชิก ครอบครัวถือว่าเป็นสถาบันที่เล็กที่สุด ครอบครัวมีส่วนปลูกฝังค่านิยมให้กับสมาชิกในครอบครัว ให้มีเหตุผล กล้าคิด กล้าตัดสินใจ ซื่อสัตย์ และอื่นๆ จึงถือว่าเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และชนชั้นทางสังคม ศาสนาและวัฒนธรรม ก็ถือว่ามีอิทธิพลต่อบุคคลมากด้วยคำสอนและธรรมเนียมปฏิบัติในศาสนาต่างๆ มีข้อปฏิบัติ และสิ่งปลูกฝังความเชื่อ ค่านิยมให้กับบุคคล เป็นเครื่องกระตุ้น หรือขัดขวางต่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้

โดยสามารถสรุปปัญหาของการพัฒนาประเทศที่ประสบอยู่ในปัจจุบันได้ดังนี้
1. ความไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ความเป็นประชาธิปไตยเป็นรูปแบบใด ต้องดูลักษณะการเมือง การปกครองในประเทศนั้น เช่นเสรีประชาธิปไตยเป็นแบบที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ปัจเจกชนทั้งการเมืองและเศรษฐกิจสังคมนิยมประชาธิปไตย
เป็นแบบที่ให้สิทธิแก่ปัจเจกชนมีสิทธิอิสระเสรีในการเลือกผู้ปกครองตามความต้องการของตน ส่วนทางด้าน
เศรษฐกิจรัฐเข้ามาแทรกแซง เพื่อความเป็นธรรมของผู้ด้อยโอกาส ประชาธิปไตยนำวิถีเป็นลักษณะการปกครองที่รัฐควบคุมการเมืองและเศรษฐกิจในสภาพของการเมืองการปกครองของไทยจะต้องเป็นลักษณะเฉพาะ.เนื่องจากเรามีพุทธศาสนาและมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปัจจุบันสภาพที่เป็นอยู่ คือ
    1. การปกครองในระดับท้องถิ่นยังไม่ได้รับการพัฒนา การบริหารการปกครองยังถูกควบคุมโดยระบบราชการ
      วิธีการยังไม่ยอมรับในแนวคิดที่ว่า ประชาชนเป็นผู้รู้ดีถึงความต้องการ
    2. การปกครองยังยึดศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง การบริหารการปกครองชอบใช้วิธีของเผด็จการ เช่น การสั่งปิด
      หนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นวิธีการที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย
    3. การเลือกตั้งยังมีการซื้อสิทธิขายเสียง ประชาชนถูกชี้นำโดยอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจ การเลือกตัวแทนเพื่อไปทำหน้าที่ในการบริหารหรือตรารัฐธรรมนูญยังไม่เกิดจากตัวแทนปวงชนอย่างแท้จริง
*ประชาธิปไตยที่แท้จริงประชาชนจะต้องมีความรู้สึกว่าได้ถูกปกครองน้อยที่สุด

2. การพัฒนาระบบเศรษฐกิจเสรี
ระบบการค้าเสรีเป็นเครื่องมือของรัฐในการเปิดโอกาสให้บุคคลแข่งขันความรู้ความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการ แต่สิ่งที่พบคือในปัจจุบันคือโอกาสความเท่าเทียมของประชาชนไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุน ข้อมูลข่าวสาร การผลิตสินค้าจะตกอยู่กับผู้ที่มีทุนมาก มีโอกาสดี ดังนั้นจะผูกขาดการผลิตสินค้า การตั้งราคาผลสะท้อนเกิดขึ้นที่ผู้บริโภค คือ
ประชาชนส่วนใหญ่ ต้องซื้อในราคาที่กำหนดขณะที่คุณภาพของสินค้าไม่ดีเพียงพอ

3. ปัญหาสังคม
แผนพัฒนาประเทศที่ผ่านมามุ่งเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจให้ความสำคัญน้อยในด้านการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และการศึกษา ปัญหาที่ตามมา คือ ปัญหาโสเภณี การขูดรีดแรงงาน อาชญากรรม

4. ปัญหาการยอมรับจากนานาชาติ
แนวคิดในการลงทุนของประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ยอมรับนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลเผด็จการ* เพราะการลงทุนจะขาดความมั่นคง ดังนั้นการกำหนดบทบาทและท่าทีทางการทูตกับนานาชาติต้องกระทำอย่าง
ชาญฉลาด สร้างมโนทัศน์ที่ดีต่อประเทศต่าง ๆ ในโลก

5. ความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ
ในภาวะที่กำลังพัฒนาประชาธิปไตย กองทัพจะต้องประคับประคองการปกครองระบอบประชาธิปไตยรักษาความมั่นคงในประเทศ ขณะที่ทั่วโลกมีการแข่งขันทางเทคโนโลยี โดยเป็นที่ยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศที่เจริญแล้วสามารถดูดเอาทรัพยากรธรรมชาติจากประเทศที่ด้อยพัฒนาดังนั้นโอกาสความเสียเปรียบด้านดุลการค้า และฐานทางเศรษฐกิจของประเทศย่อมจะมีผลกระทบด้านความมั่นคงปลอดภัยของชาติจึงเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประเทศโดยตรง

แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ
แนวโน้มโดยภาพรวมของการพัฒนาเศรษฐกิจจากการคาดหมายของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี 2537 เศรษฐกิจจะขยายตัวสูงร้อยละ 8.2 ปัจจัยที่เป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจเคลื่อนตัวมากจากปัจจัยภายในคือ ประชาชนมีกำลังซื้อสูงมากกว่าปีที่ผ่านมา ในด้านการลงทุนในภาคเอกชนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลได้เน้นการกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาคการส่งสินค้าออกต่างประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรม ผลผลิตทางการเกษตรจะเพิ่มขึ้น ที่กล่าวมาแล้วเป็นภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศไทย


วิธีการในการพัฒนาเศรษฐกิจ
ในอนาคตวิธีการที่จะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยคือ
1.สร้างงานสร้างอาชีพในชนบทเพิ่มรายได้แก่คนในชนบทและเน้นการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
2. กระจายการพัฒนาเมืองศูนย์กลางไปสู่ภูมิภาค การพัฒนาเมืองศูนย์กลางในภูมิภาคทำให้เกิดงาน อาชีพ และรายได้รวมทั้งการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
3. การผลิตภาคเกษตร ต้องให้สอดคล้องกับภาวะการตลาด และการอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าในอนาคต
4. พัฒนาความร่วมมือระหว่างกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ในภูมิภาคอาเซียน APEC (Asian Pacific Economic cooperation) กลุ่มการค้าเสรีอาเซียน AFTA (Asian Free Trade Area) และกลุ่มการค้าเสรีอเมริกาเหนือ NAFTA (North American.Free Trade Area) ภาครัฐจะต้องดำเนินนโยบายให้ชัดเจน.เพื่อผลประโยชน์และการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งการส่งเสริมการผลิตสินค้า เพื่อให้สามารถแข่งขันกับกลุ่มประเทศต่าง ๆ ได้
5. ส่งเสริมการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า

การพัฒนาความสมดุลของสิ่งแวดล้อม
ผลจากแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมามีความไม่สมดุลการพัฒนาเน้นไปในด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงทำให้เกิดปัญหาตามมา โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม จะเห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติถูกนำมาใช้ เพื่อให้สนองการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เช่น ป่าไม้ แร่ การนำทรัพยากรมาใช้ ขาดการวางแผนในด้านปริมาณและการทดแทนแนวทางที่จะพัฒนาความสมดุลของสิ่งแวดล้อม การแก้ไขพวกมลพิษต่าง ๆ การตัดไม้ทำลายป่าดำเนินการดังนี้
    1. สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
    2. จัดควบคุมดูแลให้สามารถปฏิบัติตามแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แผนจัดอุทยานแห่งชาติ เขตป่าสงวน
      พันธุ์สัตว์ป่า ป่าชายเลน แหล่งปะการัง
    3. ลดความขัดแย้งของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การทำแผนเขตพื้นที่ทำเกลือสินเธาว์ กำหนดเขตพัฒนา
      ทรัพยากรแร่ในเขตป่าสงวน
    4. จัดตั้งระบบข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การให้เกิดความเสมอภาคในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
      เช่น ปรับอัตราการใช้น้ำสำหรับภาคเอกชน และผู้ใช้น้ำในชลประทาน

การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความสัมพันธ์กับสภาพชีวิตของคนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการ ความหมายของการพัฒนาเทคโนโลย ีคือ การพัฒนา
กำลังความสามารถทางเทคโนโลยีให้สูงขึ้นจนถึงระดับสามารถพึ่งตนเองได้

แนวทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทยจะต้องดำเนินการดังนี้
    1. ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับงานเทคโนโลยีที่เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศชาติ เช่นการศึกษาเทคโนโลยีในการพัฒนาพันธุ์พืชทางการเกษตร หรือพันธุ์สัตว์เศรษฐกิจ
    2. พัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือจะต้องมีแผนในการพัฒนาคนให้มีความรู้ ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยผลิตนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
    3. ต้องมีการร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
    4. พัฒนาความพร้อมของชุมชนให้สามารถใช้ผลวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและการเกษตรได้อย่างเหมาะสม
    5. การรับเทคโนโลยีใหม่ต้องกลมกลืนเทคโนโลยีเก่า คือชุมชนจะต้องมีพื้นฐานความรู้ในเรื่องนั้นด้วย เช่นเทคโนโลยีในการผลิตซีเมนต์บล็อกในการก่อสร้าง ผู้ที่จะรับเทคโนโลยีจะต้องมีพื้นฐานในเรื่องนี้เป็นอย่างดี

การพัฒนาจิตใจและพฤติกรรม
การพัฒนาจะต้องให้มีความสมดุลตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกิดความไม่สมดุลในระยะที่ผ่านมา จะเน้นด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่วนด้านสังคมและจิตใจและพฤติกรรมไม่เด่นชัด การพัฒนาความเจริญทางวัตถุต้องควบคู่กับความเจริญด้านจิตใจ ยิ่งความเจริญทางเทคโนโลยีมากเท่าไร สังคมสับสนมากขึ้น ภาวะทางด้านจิตใจจะสับสนมากขึ้น

แนวทางการพัฒนาจิตใจและพฤติกรรมมีดังนี้
    1. ส่งเสริมให้บ้าน วัด โรงเรียน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรม มีบทบาทในการพัฒนาจิตใจมากขึ้น
    2. ส่ง เสริม และให้ความสำคัญต่อสถาบันครอบครัว ให้มีบทบาทในการสร้างความรักความอบอุ่น รวมทั้งการปลูกฝังพฤติกรรมอันดีงามแก่สมาชิกในครอบครัว
    3. จัดสวัสดิการสำหรับผู้ด้อยโอกาส ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ทางเศรษฐกิจ เช่น การจัดสวัสดิการสงเคราะห์ การให้ทุนอุดหนุน การช่วยเหลือให้แก่ผู้ทุพพลภาพ รวมทั้งการสร้างโอกาสแก่ชีวิตสำหรับบุคคลเหล่านั้น
    4. ประสานงานระหว่างรัฐกับชุมชน จัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ในรูปแบบการสาธารณสุข การประชาสัมพันธ์ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาด้านความเป็นอยู่

การพัฒนาชนบท
ปี 2524 รัฐบาลได้กำหนดนโยบายการพัฒนาชนบทให้ยึดถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน โดยเน้นการทำงานร่วมกัน ระหว่าง 4 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย
และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

หลักการสำคัญในการพัฒนาชนบท
การพัฒนาชนบทคือการเพิ่มขีดความสามารถของประชาชนในการ ช่วยเหลือตนเอง และ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้านตนเอง โดยเน้นหลักการ ดังนี้
      1. ให้ความสำคัญพื้นที่ยากจนเป็นหลัก
      2. พัฒนาการกินอยู่ รวมทั้งการให้บริการพื้นฐานแก่ประชาชนในเขตยากจน เช่น ด้านสาธารณสุข การศึกษา
      3. พัฒนาให้ประชาชนรู้จักการพึ่งตนเอง
      4. ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
แนวทางการพัฒนาชนบท...เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดช่องว่างของความแตกต่าง ระหว่างชนบท
กับในเมือง การพัฒนาชนบทมีแนวทางดังนี้
      1. พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในชนบทจะต้องให้ความรู้ ให้การศึกษาฝึกอบรม วิชาชีพเฉพาะ โดยเน้นด้านเฉพาะ
        บุคคล กลุ่มคน... และความสัมพันธ์ของกลุ่มในชนบท เป็นการพัฒนาที่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาคุณภาพ
        ชีวิตให้ดีขึ้น
      2. การพัฒนาระบบบริหารการพัฒนาชนบท การพัฒนาชนบทจะได้ผลจะต้องพัฒนาแบบบริหารการพัฒนาชนบท
        โดยเน้นระบบความร่วมมือกันทุกหน่วยงาน ทุกระดับให้ประสานกัน เช่น จากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และจัด ระบบการทำงานที่เสริมสร้างการช่วยเหลือตนเอง
      3. พัฒนาระบบสื่อสารเพื่อการพัฒนาชนบท ... หลักสำคัญในการพัฒนาการสื่อสารเพื่อการพัฒนาชนบท คือ การให้ข่าวสารที่ถูกต้องและการสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้น

โดยสามารถสรุปแนวทางการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนได้ดังนี้
จากบริบทแห่งการเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกาภิวัตน์ที่รวดเร็วและสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่เหมาะสม โดยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างของระบบต่างๆ ภายในประเทศให้มีศักยภาพ แข่งขันได้ในกระแสโลกาภิวัตน์ และสร้างฐานความรู้ให้เป็นภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างรู้เท่าทัน ควบคู่ไปกับการกระจายการพัฒนาที่เป็นธรรม และเสริมสร้างความเท่าเทียมกันของกลุ่มคนในสังคม และความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น พร้อมทั้งฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้คงความ สมบูรณ์เป็นรากฐานการพัฒนาที่มั่นคง และเป็นฐานการดำรงวิถีชีวิตของชุมชนและสังคมไทย ตลอดจนการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศทุกระดับ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่มั่นคงและยั่งยืน สามารถดำรงอยู่ในประชาคมโลก ได้อย่างมีเกียรติภูมิและมีศักดิ์ศรี โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญดังต่อไปนี้

1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับ
1.1 การพัฒนาคนให้มีคุณธรรมนำความรู้ เกิดภูมิคุ้มกัน โดยพัฒนาจิตใจควบคู่กับการพัฒนาการเรียนรู้ของคนทุกกลุ่มทุกวัยตลอดชีวิต เริ่มตั้งแต่วัยเด็กให้มีความรู้พื้นฐานเข้มแข็ง มีทักษะชีวิต พัฒนาสมรรถนะ ทักษะของกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการ พร้อมก้าวสู่โลกของการทำงานและการแข่งขันอย่างมีคุณภาพ สร้างและพัฒนากำลังคนที่เป็นเลิศโดยเฉพาะในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและองค์ ความรู้ ส่งเสริมให้คนไทยเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จัดการองค์ความรู้ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้สมัยใหม่ตั้งแต่ระดับ ชุมชนถึงประเทศ สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
1.2 การเสริมสร้างสุขภาวะคนไทยให้มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ เน้นการพัฒนาระบบสุขภาพอย่างครบวงจร มุ่งการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน การฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ เสริมสร้างคนไทยให้มีความมั่นคงทางอาหารและการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ลด ละ เลิกพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ
1.3 การเสริมสร้างคนไทยให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข มุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคนในสังคมบนฐานของความมีเหตุมีผล ดำรงชีวิตอย่างมั่นคงทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน พัฒนาระบบการคุ้มครองทางเศรษฐกิจและสังคมที่หลากหลายและครอบคลุมทั่วถึง สร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน ส่งเสริมการดำรงชีวิตที่มีความปลอดภัย น่าอยู่ บนพื้นฐานของความยุติธรรมในสังคม เสริมสร้างกระบวนการยุติธรรมแบบบูรณาการและการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ควบคู่กับการเสริมสร้างจิตสำนึกด้านสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง และความตระหนักถึงคุณค่าและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพื่อลดความขัดแย้ง

2. ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมให้เป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศ ให้ความสำคัญกับ
2.1 การบริหารจัดการกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง ด้วยการส่งเสริมการรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำในรูปแบบที่หลากหลาย และจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตามความพร้อมของชุมชน มีกระบวนการจัดการองค์ความรู้และระบบการเรียนรู้ของชุมชนอย่างเป็นขั้นตอน มีเครือข่ายการเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกชุมชน มีกระบวนการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถ พัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนในการนำไปสู่การพึ่งตนเอง รวมทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชนพร้อมเผชิญการเปลี่ยนแปลง
2.2 การสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจชุมชน ด้วยการบูรณาการกระบวนการผลิตบนฐานศักยภาพ และความเข้มแข็งของชุมชนอย่างสมดุล เน้นการผลิตเพื่อการบริโภคอย่างพอเพียงภายในชุมชน สนับสนุนให้ชุมชนมีการรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์ กลุ่มอาชีพ สนับสนุนการนำภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้ในการสร้างสรรค์คุณค่าของ สินค้าและบริการและสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการลงทุนสร้างอาชีพและราย ได้ที่มีการจัดสรรประโยชน์อย่างเป็นธรรมแก่ชุมชน ส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างเครือข่ายองค์กรชุมชนกับองค์กรปกครองส่วนท้อง ถิ่น รวมทั้งสร้างระบบบ่มเพาะวิสาหกิจชุมชนควบคู่กับการพัฒนาความรู้ด้านการ จัดการ การตลาด และทักษะในการประกอบอาชีพ
2.3 การเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการอยู่ร่วมกันกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง แวดล้อมอย่างสันติและเกื้อกูล ด้วยการส่งเสริมสิทธิชุมชนและกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสงวนอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา ใช้ประโยชน์และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ รวมทั้งการสร้างกลไกในการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใน ท้องถิ่น

3. ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน ให้ความสำคัญกับ
3.1 การปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพและคุณค่าของสินค้าและบริการบนฐาน ความรู้และความเป็นไทย โดยปรับโครงสร้างภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการที่ใช้กระบวนการพัฒนาคลัสเตอร์และห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งเครือข่ายชุมชนบนรากฐานของความรู้สมัยใหม่ ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมไทย และความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างสินค้าที่มีคุณภาพและมูลค่าสูง มีตราสินค้าเป็นที่ยอมรับของตลาด รวมทั้งสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ ตลอดจนการบริหารองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ การปฏิรูปองค์กร การปรับปรุงกฎระเบียบ และพัฒนาระบบมาตรฐานในด้านต่างๆ รวมทั้งการดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศให้สนับสนุนการปรับโครงสร้างการ ผลิต และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
3.2 การสร้างภูมิคุ้มกันของระบบเศรษฐกิจ โดยการบริหารเศรษฐกิจส่วนรวมอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรักษาเสถียรภาพทาง เศรษฐกิจให้มั่นคงและสนับสนุนการปรับโครงสร้างการผลิตโดยการระดมทุนไปสู่ภาค การผลิตที่มีประสิทธิภาพ พัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพบนหลักการบริหารจัดการ ที่ดี เพื่อให้การใช้ทรัพยากรเกิดประสิทธิภาพและสวัสดิการสูงสุดแก่ประเทศการส่ง เสริมการออมอย่างเป็นระบบเพื่อเป็นแหล่งระดมทุนและเป็นหลักประกันในชีวิตของ ประชาชน และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกเพื่อ ลดการพึ่งพิงการนำเข้าพลังงานและประหยัดเงินตราต่างประเทศ
3.3 การสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและการกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนา อย่างเป็นธรรม โดยส่งเสริมการแข่งขันการประกอบธุรกิจในระบบอย่างเสรี เป็นธรรม และป้องกันการผูกขาด กระจายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ภูมิภาคอย่างสมดุลและเป็นธรรม ให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง เพียงพอ และสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพและความครอบคลุมของการให้บริการของระบบการเงินฐานรากให้ สามารถสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการพัฒนาองค์กรการเงินชุมชนให้เข้มแข็ง รวมทั้งดำเนินนโยบายการคลังเพื่อส่งเสริมการกระจายรายได้ โดยกระจายอำนาจการจัดเก็บภาษี การจัดทำงบประมาณและการเบิกจ่าย และการก่อหนี้ภายใต้กรอบการรักษาวินัยทางการคลังสู่ท้องถิ่น

4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพและการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับ
4.1 การรักษาฐานทรัพยากรและความสมดุลของระบบนิเวศ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ โดยพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสร้างองค์ความรู้ ส่งเสริมสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ตลอดจนพัฒนาระบบการจัดการร่วมเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ โดยให้ความสำคัญกับการกำหนดเขต และการจัดการเชิงพื้นที่ภายใต้การจัดทำข้อตกลงกับชุมชนท้องถิ่นในการดูแล ทรัพยากรธรรมชาติหลัก ได้แก่ ดิน น้ำ ป่าไม้ ทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ทรัพยากรแร่ รวมถึงการมีมาตรการหยุดใช้ทรัพยากรที่สำคัญที่ถูกทำลายสูงเป็นการชั่วคราว และการสร้างกลไกแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี รวมทั้งการพัฒนาระบบการจัดการและการป้องกันภัยพิบัติ
4.2 การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการปรับแบบแผนการผลิตและพฤติกรรมการบริโภคไปสู่การผลิตและการบริโภคที่ ยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบต่อฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดนโยบายสาธารณะ และใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ทั้งด้านการเงินและการคลัง รวมทั้งการสร้างตลาดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการเพื่อลดมลพิษและควบคุมกิจกรรมที่จะ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต โดยผลักดันให้เกิดระบบประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ระบบประเมินผลกระทบทางสังคมและสุขภาพในโครงการพัฒนาของรัฐ หรือที่รัฐอนุมัติให้เอกชนดำเนินการ ควบคู่กับการยกระดับขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนในการ บริหารจัดการสิ่งแวดล้อมตลอดจนมีกลไกกำหนดจุดยืนต่อพันธกรณีและข้อตกลง ระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม
4.3 การพัฒนาคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางสำคัญ เริ่มจากการจัดการองค์ความรู้และสร้างภูมิคุ้มกัน การคุ้มครองทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพจากการคุกคามภายนอก โดยเฉพาะจากพันธกรณีระหว่างประเทศ สร้างระบบการคุ้มครองสิทธิชุมชน และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม ส่งเสริมการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพในการสร้างความมั่นคงของภาคเศรษฐกิจ ท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถและสร้างนวัตกรรมจากทรัพยากรชีวภาพที่เป็น เอกลักษณ์ของประเทศ

5.ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศ มุ่งเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคมอย่างยั่งยืนโดยให้ความสำคัญกับ
5.1 การเสริมสร้าง และพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลให้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำเนิน ชีวิตในสังคมไทย โดยสร้างกระบวนการเรียนรู้ ปลูกฝังจิตสำนึก ค่านิยมวัฒนธรรมประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลแก่เยาวชน และประชาชนทุกระดับ อย่างต่อเนื่องจริงจัง พร้อมทั้งพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ในสังคมทุกระดับเพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม ตลอดจนวางรากฐานกระบวนการประชาธิปไตยโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และเพิ่มประสิทธิภาพกลไกและกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการเมืองให้ เข้มแข็งและเป็นอิสระมากขึ้น
5.2 เสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนให้สามารถเข้าร่วมในการบริหารจัดการ ประเทศ โดยส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวและรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันให้ เข้มแข็ง ส่งเสริมให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม และร่วมในกระบวนการบริหารจัดการประเทศให้เกิดความเป็นธรรมและความโปร่งใสใน การพัฒนาประเทศ เสริมสร้างความเข้มแข็ง และสร้างเครือข่ายการทำงานของกลไกตรวจสอบภาคประชาชน เพื่อติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจของภาครัฐได้อย่างเข้มแข็งมีประสิทธิภาพ
5.3 สร้างภาคราชการที่มีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล เน้นการบริการแทนการกำกับควบคุม และทำงานร่วมกับหุ้นส่วนการพัฒนา เน้นการพัฒนาประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการปฏิบัติภารกิจด้วยการปรับบทบาท โครงสร้างและกลไกการบริหารจัดการภาครัฐและรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย ลดการบังคับควบคุม คำนึงถึงความต้องการของประชาชนและทำงานร่วมกับหุ้นส่วนการพัฒนา เพิ่มบทบาทภาคเอกชนในกิจการของรัฐและรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและ คุณภาพการให้บริการสาธารณะ และลดภาระการลงทุนของภาครัฐ ตลอดจนพัฒนากลไกการกำกับดูแลที่เข้มแข็งเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม โปร่งใส โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการปลูกฝังจิตสำนึกข้าราชการให้เห็นความสำคัญและยึด มั่นในหลักธรรมาภิบาล และยึด/ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างเคร่งครัด
5.4 การกระจายอำนาจการบริหารจัดการประเทศสู่ภูมิภาค ท้องถิ่น และชุมชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพัฒนาศักยภาพ และกระจายอำนาจการตัดสินใจให้ท้องถิ่นมีบทบาทสามารถรับผิดชอบในการบริหารจัด บริการสาธารณะ ตลอดจนแก้ไขปัญหาที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และสามารถสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
5.5 ส่งเสริมภาคธุรกิจเอกชนให้เกิดความเข้มแข็ง สุจริต และมีธรรมาภิบาล โดยมีมาตรการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจเอกชนทั้งที่จดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ และธุรกิจเอกชนทั่วไปเป็น บรรษัทภิบาลเพิ่มมากขึ้น สร้างจิตสำนึกในการประกอบธุรกิจอย่างซื่อสัตย์ ยุติธรรมต่อผู้บริโภค และเป็นธรรมกับธุรกิจคู่แข่ง พร้อมทั้งยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม แบ่งบันผลประโยชน์คืนสู่สาธารณะ ตลอดจนสนับสนุนสถาบันวิชาชีพธุรกิจประเภทต่างๆ ให้มีบทบาทในการสร้างธรรมาภิบาลแก่ภาคธุรกิจมากขึ้น
5.6 การปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบ และขั้นตอน กระบวนการเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสร้างความสมดุลในการจัดสรร ประโยชน์จากการพัฒนา ด้วยการเปิดโอกาสให้ภาคีและกลุ่มต่างๆ มีส่วนร่วมในการเสนอแนะและตรากฎหมายเพื่อประสานประโยชน์ของภาคส่วนต่างๆ ให้เสมอภาคและมีความสมดุล โดยการปฏิรูปกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ลดการใช้ดุลพินิจของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งของกลไกการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กและผู้ประกอบการใหม่
5.7 การรักษาและเสริมสร้างความมั่นคงเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการประเทศสู่ ดุลยภาพและความยั่งยืน โดยการพัฒนาศักยภาพ บทบาท และภารกิจของหน่วยงานด้านการป้องกันประเทศ ความมั่นคง และการรักษาความสงบเรียบร้อย ให้มีประสิทธิภาพมีความพร้อมในการป้องกันประเทศและตอบสนองต่อภัยคุกคามในทุก รูปแบบสถานการณ์ได้ฉับไว พร้อมทั้งผนึกพลังร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ดำเนินการป้องกันและพัฒนาประเทศให้สามารถพิทักษ์รักษาเอกราช สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์ของชาติ และการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งสามารถสร้างความมั่นคงของประชาชนและสังคมให้มีความอยู่รอดปลอดภัยโดย ยึดหลักธรรมาภิบาลในทุกระดับ

Total Pageviews