.

Jan 26, 2009

ตัวแบบการวิเคราะห์ภาวะผู้นำฯ






ตัวแบบการวิเคราะห์ภาวะผู้นำ จากแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับภาวะผู้นำโดยแสดงถึงความคาดหวังต่อการสร้างปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่(Paradigm Shift) โดยใช้หลักแนวคิด Paradigm Shift และทฤษฎีระบบ (System Theory) ของ David Easton

*กรณีศึกษาวิเคราะห์ภาวะผู้นำแห่งตนเอง*
เราสามารถแบ่งกลุ่มผู้นำตามลักษณะแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับผู้นำได้เป็น 4 กลุ่มดังนี้
  1. กลุ่มทฤษฎีลักษณะเด่นของผู้นำ เน้นศึกษาที่คุณลักษณะส่วนตัวของผู้นำ
  2. กลุ่มทฤษฎีพฤติกรรมของผู้นำ เน้นศึกษาที่พฤติกรรมของผู้นำต่อผู้ตาม
  3. กลุ่มทฤษฎีผู้นำตามสถานการณ์ เน้นศึกษาที่ความเหมาะสมระหว่างพฤติกรรมของผู้นำต่อสถานการณ์
  4. กลุ่มทฤษฎีผู้นำการเปลี่ยนแปลง เน้นศึกษาที่คุณภาพของผู้นำในด้านการสร้างวิสัยทัศน์ การสร้างแรงบันดาลใจ และการสร้างพลังให้เกิดในผู้ตาม
กลุ่มที่ 1 กลุ่มทฤษฎีลักษณะเด่นของผู้นำ (Leadership Traits) มีแนวคิดโดยสังเกตดูลักษณะเด่นที่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มว่าเป็นผู้นำ ซึ่งอาจสรุปได้ดังนี้
- มีพลัง ความมุ่งมั่นสูง
- มีความเชื่อมั่นในตนเอง
- มีความคิดสร้างสรรค์
- มีความคิด สติปัญญาเฉียบคม
- มีความรู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรเป็นอย่างดี
- มีความสามารถในการจูงใจคน
- มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์
- มีความซื่อสัตย์และโปร่งใส
กลุ่มที่ 2 กลุ่มทฤษฎีพฤติกรรมของผู้นำ (Leadership Behaviors) มีแนวคิดว่าพฤติกรรมที่ดี หรือพฤติกรรมแห่งความสำเร็จของผู้นำมีอะไรบ้าง โดยพฤติกรรมเหล่านี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ

1.พฤติกรรมที่มุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวกับงาน (Task-related Issues) และพฤติกรรมที่มุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวกับงาน ครอบคลุมในเรื่องการบริหารจัดการต่างๆ เช่น การวางแผน การจัดรูปองค์กร และการอำนวยการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือผู้ตามมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร

2.พฤติกรรมที่มุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวกับคน (People-related Issues) พฤติกรรมที่ผู้นำสร้างความสัมพันธ์อันดี ความเชื่อถือ ไว้วางใจซึ่งกันและกัน (mutual trust) ให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใต้บังคับบัญชา การรับฟังความคิดเห็นของผู้ตาม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความสามารถของผู้นำในการบริหารคนนั้นเอง
พฤติกรรมใน 2 กลุ่มนี้อาจแบ่งได้เป็น 2 มิติของพฤติกรรมผู้นำ มิติที่เกี่ยวกับการบริหารงาน หรือการมุ่งเน้นงาน และมิติที่เกี่ยวกับการบริหารคน หรือการมุ่งเน้นคน ซึ่งบนพื้นฐานของมิติทั้งสองนี้ นักวิจัยศึกษาภาวะผู้นำในกลุ่มทฤษฎีพฤติกรรมผู้นำนี้ได้จำแนกผู้นำโดยใช้เมตริกซ์ 2 มิตินี้ ที่เรียกว่าตะแกรงการจัดการ” (หรือ Managerial Grid; ผู้พัฒนาเครื่องมือนี้คือ Robert Blake และJane Srygley Mouton จาก มหาวิทยาลัยรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา) ซึ่งสามารถจำแนกผู้นำเป็น 7 แบบหลักดังนี้
1. ผู้นำสู่ความถดถอย (Impoverished Leader) เป็นผู้นำที่ไม่ให้ความสนใจกับทั้งงาน และคน มักจะปล่อยให้กลุ่มตัดสินใจกันเอง และแสดงความสนใจแต่เพียงเล็กน้อยในกระบวนการทำงาน หรือผลลัพธ์
2.ผู้นำใช้อำนาจหน้าที่-การสนองตอบ (Authority-Compliance Leader) เป็นผู้นำที่แสดงความสนใจในงานสูง แต่ไม่ค่อยให้ความสนใจในด้านคน มักจะตัดสินใจในเรื่องต่างๆด้วยตนเองทั้งหมด บัญชาการลูกน้อง โดยคาดหวังว่าลูกน้องจะเชื่อฟังและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
3. ผู้นำสโมสรกีฬา-สังคม (Country Club Leader) เป็นผู้นำที่แสดงความสนใจเอาใจใส่ในเรื่องของคนอย่างยิ่ง แต่ไม่สนใจในเรื่องงานเท่าใด เป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี อบอุ่น หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และแสวงหาความประสานสอดคล้องของคนในกลุ่ม
4. ผู้นำใช้พระเดชพระคุณ (Paternalistic Leader) เป็นผู้นำที่ผสมผสานกันระหว่าง ผู้นำแบบที่ 2 และ 3 คือใช้ตัวตนเป็นที่ตั้ง ยึดมั่นในประสบการณ์ของตนเป็นสำคัญ มุ่งหวังให้ลูกน้องทำงานให้ เชื่อถือ และรับฟังตน ด้วยความเคารพยำเกรง
5. ผู้นำรักษาสมดุลย (Middle-of-the-Road Leader) เป็นผู้นำประเภทไม่ยอมผูกมัดตัวเองกับเรื่องใดๆ แต่จะเน้นการรักษาสมดุลย์ระหว่างคนกับงาน ไม่เน้นการดำเนินการที่เป็นเลิศ เพียงแค่การดำเนินการที่อยู่ในขั้นดีพอใช้ก็พึงพอใจแล้ว
6. ผู้นำทีมงาน (Team Leader) เป็นผู้นำที่เชื่อในความสำเร็จของการดำเนินงานที่เป็นเลิศ และดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายโดยการสร้างทีมงานที่ประกอบด้วยสมาชิกที่ยอมผูกมัดตัวเองกับความสำเร็จขององค์กร มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน พึ่งพาอาศัยกัน เคารพและไว้วางใจซึ่งกันและกัน
7. ผู้นำนักแสวงหาโอกาส (Opportunistic Leader) เป็นผู้นำที่มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตน สามารถปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพ และพฤติกรรมให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ เพื่อความสำเร็จส่วนตัว ผู้นำในลักษณะนี้เป็นผู้นำแบบนักการเมืองบางคนที่ยึดถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้งมากกว่าอุดมการณ์

กลุ่มที่ 3 กลุ่มทฤษฎีผู้นำตามสถานการณ์ (Situational Leadership)
มีแนวคิดว่าภาวะผู้นำที่ดีนั้นผู้นำจะต้องมีพฤติกรรมที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ปัจจัย หรือตัวแปรที่ก่อให้เกิดสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เช่น สถานภาพความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับกลุ่มผู้ใต้บังคับบัญชา ลักษณะโครงสร้างของงาน อำนาจตามหน้าที่ของผู้นำ และความพร้อมในด้านความสามารถ และประสบการณ์ของผู้ใต้บังคับบัญชาในการดำเนินงาน จากทฤษฎีนี้ได้ข้อเสนอแนะในเรื่องของพฤติกรรมของผู้นำที่เหมาะสม ส่งผลให้ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานในสถานการณ์ต่างๆ เช่น
- ในสถานการณ์ที่ลูกน้องมีความพร้อมในการดำเนินงานต่ำมาก คือไม่เก่ง และขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ผู้นำควรให้ทิศทางในการดำเนินงานที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจง มอบงานที่ไม่ยากเกินความสามารถให้ลูกน้องทำ และกำกับดูแลการทำงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นการบริหารงานแบบมุ่งงาน
-ในสถานการณ์ที่ลูกน้องมีความพร้อมต่ำ แต่มีความเชื่อมั่นในตนเอง ผู้นำควรเพียงแค่อธิบายทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน และสร้างบรรยากาศในการเอื้ออำนวยและสนับสนุนการทำงาน พร้อมติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นการบริหารแบบมุ่งงาน และมุ่งความสัมพันธ์ในทีมงานควบคู่กันไป
-ในสถานการณ์ที่ลูกน้องเก่ง แต่ไม่เต็มใจ หรือขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ผู้นำควรเน้นให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมกันคิดตัดสินใจเกี่ยวกับการกำหนดทิศทางการดำเนินงาน และให้อิสระในการทำงาน ซึ่งเป็นการบริหารงานแบบมุ่งเน้นความสัมพันธ์ในทีมมาก
- ในสถานการณ์ที่ลูกน้องเก่งและเต็มใจในการทำงาน ผู้นำไว้วางใจให้กลุ่มได้ตัดสินใจ และมอบหมายความรับผิดชอบให้ดำเนินงานอย่างอิสระ โดยติดตามการทำงานเป็นระยะ
ภาวะผู้นำตามสถานการณ์ต่างๆนี้อาจแบ่งเป็นประเภทได้เป็น ภาวะผู้นำแบบชี้นำ (Directive Leadership) ภาวะผู้นำแบบสนับสนุน (Supportive Leadership) ภาวะผู้นำแบบมุ่งความสำเร็จ (Achievement-Oriented Leadership) และภาวะผู้นำแบบมีส่วนร่วม (Participative Leadership) ผู้นำที่เก่งต้องรู้ว่าเมื่อใด ในสถานการณ์เช่นใดจึงจะนำทีม

กลุ่มที่ 4 กลุ่มทฤษฎีผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Leadership)
องค์กรปัจจุบันควรต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเพื่อยกระดับการดำเนินงานขององค์กรให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่สูงขึ้น ดังนั้นผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคคลในองค์กรจำนวนมากได้ดำเนินงานอย่างเต็มความสามารถและยกระดับการปฏิบัติงานให้สูงขึ้น เพื่อเป็นการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนาองค์กรให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่สูงขึ้น จะเรียกว่าผู้นำการปฏิรูป (Transformational Leaders) ซึ่งคุณสมบัติพิเศษของผู้นำการปฏิรูปได้ 6 ประการดังนี้
- วิสัยทัศน์ (vision) คือมีความคิดและความสามารถในการหยั่งรู้ทิศทาง สร้างวิสัยทัศน์องค์กร และสื่อความหมายของวิสัยทัศน์สู่ผู้ใต้บังคับบัญชา สู่การปฏิบัติ
- คาริสมา (charisma) คือความเก่ง ดี มีเสน่ห์ของผู้นำ ที่สามารถจูงใจคน ให้เกิดความกระตือรือร้น ศรัทธา ในการที่จะร่วมทำงานด้วยความมุ่งมั่นเต็มที่
- การแสดงนัยของความเป็นเลิศ (symbolism) คือการจัดการค้นหาบุคคลที่ดีเด่น และให้รางวัล เพื่อเป็นการจูงใจให้มุ่งมั่น ทำงานด้วยความเป็นเลิศ
- การเอื้ออำนาจ (empowerment) คือมอบหมายงานที่ท้าทายให้ผู้ใต้บังคับบัญชาความรับผิดชอบดำเนินงานเพื่อให้โอกาสได้พัฒนาตนเอง โดยผู้นำเฝ้าติดตาม สนับสนุน อำนวยความสะดวก
- การกระตุ้นภูมิปัญญาให้เกิดขึ้น (intellectual stimulation) คือกระตุ้นให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้เรียนรู้ในงานอย่างถ่องแท้จากการที่ใส่ใจในการทำงาน คิดแก้ไขปรับปรุงงานอยู่ตลอดเวลา จนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญในงาน และเกิดเป็นภูมิปัญญา
- ความสัตย์ซื่อถือมั่น (Integrity) คือมีความซื่อสัตย์ น่าเชื่อถือไว้วางใจ

การวิเคราะห์ภาวะผู้นำของตนเอง
เนื่องจากเพื่อความแน่ใจว่าตนเองจัดอยู่ในผู้นำแบบไหน ดิฉันจึงวิเคราะห์ตนเองโดยแยกเป็นข้อดีข้อด้อยของตนดังต่อไปนี้

ข้อดี
  1. Influence ดิฉันคิดว่าตนมีอิทธิพลต่อเพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา สามารถโน้มน้าว ให้ทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ เช่นการบริหารงานที่ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระตือรือร้นที่จะสร้างผลงานให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
  2. Accountability มักมีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายและมีการวางแผนงานอย่างรอบคอบ รับผิดชอบ commitment ที่ให้ไว้ในแผนงาน เนื่องจาก action plan ย่อมมีผลกระทบกับแผนกอื่น หากไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่ใกล้เคียงตามแผนงานที่วางไว้
  3. Priorities การจัดลำดับความสำคัญของงาน (First Things First)เนื่องจากลักษณะงานที่ทำต้องอาศัยความเหมาะสมของเวลา ทั้งนี้เพื่อการแข่งขันให้ทันหรือนำคู่แข่ง
  4. Integrity ดิฉันยึดมั่นในความซื่อสัตย์และความมีศักดิ์ศรีมาโดยตลอด ดังนั้นผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้ร่วมงานจึงเกิดความไว้วางใจ และที่สำคัญคือต้องการเป็นเยี่ยงอย่างแก่ลูกน้อง เนื่องจากงานบริหารงานขายที่มีการจ่ายค่าคอมมิชชั่น หากผู้นำทุจริต ไม่ซื่อสัตย์ ความเสียหายจะเกิดตามมาอย่างมหาศาลต่อองค์กร
  5. Change การเปลี่ยนแปลงทีมงานพัฒนาให้ทันโลกร่วมสมัย กล้าคิดใหม่ เริ่มใหม่ รวมถึงพิสูจน์ให้เห็นจริงในสิ่งที่ตนได้ริเริ่มว่าสามารถบรรลุผลได้จริงเต็มประสิทธิภาพ ตามแนวทางการทำงานใหม่ๆ ช่องทางและวิธีการใหม่ๆ ในการสื่อสารกับลูกค้า และเน้นย้ำในเรื่องการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ (Ever forward) ซึ่งคิดว่าผู้นำจะต้องกล้าคิด กล้าทำ กล้าเริ่ม แม้จะดูเป็นเรื่องยากแต่หากเราไม่เลือกทำเรื่องยากเราจะไม่สามารถทำเรื่องยากกว่าได้เลย เนื่องจากงานด้านบริหารงานขาย ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ที่แหวกแนวเป็นสำคัญ และต้องถูกใจลูกค้าควบคู่ไปด้วย
  6. People ดิฉันสามารถนำคน และสร้างทีมงานที่เข้มแข็ง เนื่องจากการบริหารงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบอยู่นั้นจำเป็นต้องอาศัยเครือข่าย การต้องพบเจอผู้ร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาที่หลากหลาย แตกต่างกันทั้งบุคลิกลักษณะ นิสัยใจคอ ดังนั้น "การนำ" จึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญ เช่นเดียวกับการที่เราจะเลือกเดินตามใคร ย่อมต้องพิจารณาถึงความปลอดภัยและความเป็นไปได้ต่อความสำเร็จที่มุ่งหวัง
  7. Vision ดิฉันคิดว่าตนมีวิสัยทัศน์ที่มีพลังและมีทิศทางชัดเจน ทำให้ได้รับการยอมรับจากผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้ร่วมงาน มีจินตนาการ มีการคาดการณ์ค่อนข้างแม่นยำ และมีไอเดียกว้างไกล
  8. Self-discipline ดิฉันเคารพในข้อระเบียบ-วินัยเป็นสำคัญ เนื่องจากทำให้สามารถบังคับตัวเองให้อยู่ในกรอบที่ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อต้องการเป็นแบบอย่างที่ดีอันจะส่งผลถึงการได้รับการยอมรับจากผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้ร่วมงาน
  9. Participate ดิฉันเปิดใจรับฟังความคิดเห็นผู้อื่นเสมอ การให้ความสำคัญต่อทรัพยากรบุคคล ถือเป็นเรื่องสำคัญ ทุกคนมีสิทธิ์ออกความคิดเห็น การกลั่นกรองเพื่อการนำไปใช้เป็นอีกขึ้นตอนที่สำคัญ ภายหลังจากรวบรวมความคิดเห็นจากผู้ร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา สิ่งเหล่านี้ทำให้การทำงานเป็นทีมมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกิดความสามัคคีอย่างมั่นคงแก่ทีมงาน
  10. Competency ศักยภาพในการทำงานเป็นสิ่งที่ดิฉันมุ่งเน้นมาโดยตลอด ดังนั้นจึงทำให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ บนรากฐานของความอดทน ไม่ย่อท้อต่อความเหน็ดเหนื่อยใดๆ
  11. Communication สื่อสารได้ดีชัดเจนและรวดเร็ว มีกาลเทศะและเลือกใช้วิธีการสื่อสารที่เหมาะสม เนื่องจากการสื่อสารคือปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จ หากการสื่อสารล่าช้า ไม่ชัดเจนหรือผิดพลาด จะส่งผลให้งานขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผล
  12. ไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ ยึดมั่นในหลักเหตุผลเป็นสำคัญ
  13. ทำงานภายใต้ความกดดันได้ดี เนื่องจากดิฉันยึดคติประจำใจจงทำงานท่ามกลางสิ่งขาดแคลน" -พระราชรำรัส ร.9 ดังนั้นจึงชอบที่จะเลือกทำงานที่ยาก งานที่มีอุปสรรคเยอะๆ เนื่องจากคิดว่าการทำงานยากคือการท้าทายทางความคิด เมื่อคิดเยอะในหลากหลายตรรกะ จากนั้นจึงนำมากลั่นกรองประมวลผล แล้วเลือกแนวทางที่ดีที่สุดมาใช้ในการวางแผนล่วงหน้า ตามลำดับขั้นตอน ขณะที่งานง่าย ไม่ทำให้เราเกิดทักษะหรือการพัฒนาใดๆทั้งสิ้น เพราะเป็นการทำในแบบเดิมๆ ที่ทราบอยู่แล้ว ไม่ต้องคิดใหม่ พัฒนาใหม่
  14. ตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อมหรือเห็นแก่ความสัมพันธ์ส่วนตัว เข้าลักษณะเปิดเผย ตรงไปตรงมา แต่ไม่ก้าวร้าว คำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลเป็นสำคัญ
ข้อด้อย
  1. บางครั้งตนให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ส่วนตัว มากกว่าประสิทธิภาพในตัวบุคคล เช่นการที่สนิทสนมกับผู้ใต้บังคับบัญชาคนหนึ่งเป็นพิเศษ จึงได้มอบหมายงานหรือช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ก่อน ซึ่งถือเป็นการเห็นแก่ความสัมพันธ์ส่วนตัว ฉะนั้นอาจทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาคนอื่นมองว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรม ซึ่งจะส่งผลถึงการเหลื่อมล้ำและเป็นบ่อเกิดของความไม่สามัคคีในทีมงาน
  2. บางครั้งภาวะอารมณ์ไม่มั่นคงอ่อนไหวตามสิ่งเร้าที่เข้ามากระทบได้ง่าย
  3. มุ่งมั่นในการทำงานโดยไม่ควบคุมให้เกิดความสมดุลด้านร่างกาย ส่งผลให้สุขภาพทรุดโทรม เกิดโรคภัยไข้เจ็บ อันมีสาเหตุจากความเครียดในการทำงาน
  4. Neutrality ยังขาดความเป็นกลางในบางครั้ง
  5. Personal Touch ไม่สามารถสร้างความประทับใจส่วนตัวกับทุกๆคนได้
  6. Driving Change ไม่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน
  7. บางกรณีไม่ยอมจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง มุ่งเน้นหลักเหตุผล เพียงด้านเดียวไม่พิจารณาความน่าจะเป็น
  8. มีสมาธิในการทำงานสูง แต่มักจัดการเป็นเรื่องๆ เมื่อเปลี่ยนเรื่องไปแล้วจะจำเรื่องที่ผ่านมาไม่ค่อยได้เนื่องจากเรื่องเยอะ คิดเรื่องใหม่ต่อ โดยไม่นำเรื่องเก่ากลับมาคิดอีก
จากาการวิเคราะห์ตนเองนั้นดิฉันคิดว่าตนเองจัดอยู่ในภาวะผู้นำเชิงสถานการณ์ กล่าวคือในสถานการณ์ที่ลูกน้องมีความพร้อมต่ำ แต่มีความเชื่อมั่นในตนเองเป็นพื้นฐานนั้น ดิฉันในฐานะผู้นำก็เพียงแค่อธิบายทิศทางที่ชัดเจนและสร้างบรรยากาศ เพื่อสนับสนุนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ พร้อมทั้งติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งแนวการบริหารแบบมุ่งเน้นไปที่งานพร้อมๆกับมุ่งความสัมพันธ์ในทีมงานควบคู่กันไปด้วย
สำหรับความคาดหวังในบทบาทกับการพัฒนาภาวะผู้นำของตนเพื่อสร้างปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ (Paradigm Shift) ไปสู่ลักษณะผู้นำยุคใหม่ที่จะสามารถพัฒนาองค์กรทางสังคมตนเองและของชาติให้ประสบความสำเร็จในยุคโลกาภิวัตน์อันเต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิง การเรียนรู้สิ่งต่างๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ผู้นำสมัยใหม่ควรจะต้องฝึกฝนตนเองให้มีทักษะทางความคิด ซึ่งทักษะความคิดที่ดีที่สุดสำหรับผู้นำก็คือ ความคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking)เพื่อจะได้ใช้ประกอบกับความรู้ที่มี ในการคิดหาทางแก้ไขปัญหาและ หาแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับทีมงานหรือองค์กรต่อไป

แนวความคิดที่ดิฉันเลือกเพื่อนำมาพัฒนาภาวะผู้นำของตน โดยจะนำมาในการบริหารจัดการ เนื่องจากคิดว่าจะสามารถนำไปต่อยอดแนวความคิดได้ ที่เป็นรูปธรรมมี 5 แนวคิดดังนี้คือ

1. ความคิดในมุมมองขององค์รวม (Holistic Thinking) และความคิดในเชิงบริบท (Context Thinking)
เป็นแนวความคิดเพื่อตอบโจทย์อย่างรอบคอบ หรือหาแนวความคิดให้ถ้วนถี่ เช่นการเดินหมากรุกแต่ละครั้ง ก็ต้องคิดไปถึงการเดินต่อไปของฝั่งตรงข้ามอีกหลายช๊อตว่าเขาจะเดินได้อย่างไรบ้าง และเขากำลังต้องการทำอะไร
ขั้นตอนของการใช้ความคิดในมุมมองขององค์รวม (Holistic Thinking) และความคิดในเชิงบริบท (Context Thinking) ในการวิเคราะห์การเดินหมากรุกโดยอ้างอิงทฤษฎีระบบ ดังนี้
1. รวบรวมปัญหา (identify problem) ว่าจะแก้ไขอะไร เพื่ออะไร ในกรณีนี้ปัญหาคือการเดินหมากรุกแต่ละครั้ง เราจะต้องคิดไปถึงการเดินต่อไปของฝั่งตรงข้ามอีกหลายช๊อต ว่าเขาจะเดินไปได้อย่างไรบ้าง และเขากำลังต้องการทำอะไร
2. จุดมุ่งหมาย (objective) กำหนดจุดหมายเพื่อใช้แก้ปัญหาที่จะทำให้เราเป็นผู้ชนะในเกมนี้
3. ศึกษาข้อจำกัดต่างๆ (constraints) พิจารณาขอบเขต เพื่อศึกษาข้อจำกัด ระบุหน้าที่ของส่วนต่างๆในระบบ ในที่นี้คือพิจารณาถึงกฎกติกาการเล่นหมากรุก ว่าหากทำอย่างนี้จะผิดกฎหรือไม่อย่างไร
4. ทางเลือก (alternative) ค้นหาและวิธีเดินหมาก ที่จะทำให้ได้เปรียบคู่แข่งขัน
5. การพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสม (Selection) เลือกวิธีเดินหมากที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราได้เปรียบคู่แข่งขัน
6. การทดลองปฏิบัติ (implementation) ทดลองทำก่อนปฎิบัติจริง
7. การประเมินผล (evaluation) ประเมินหาจุดดี จุดด้อย
8. การปรับปรุงแก้ไข (modification) ปรับปรุงส่วนที่บกพร่อง นำส่วนดีไปปฏิบัติต่อไป

2. การปรับเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) และการคิดล่วงหน้า (Forward Thinking)
องค์กรที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็เปรียบเสมือนองค์กรที่กำลังจะตาย จากคำกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงขององค์กรในเรื่องต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิด หรือป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องมีผู้นำที่มีแนวคิด การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในเชิงกลยุทธ์ (Paradigm Shift) และการคิดล่วงหน้า (Forward Thinking) ว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงปัจจุบันให้เหมาะกับอนาคต การมีวิสัยทัศน์ (Vision Shift) การดำเนินการจัดการ (management Shift) วางแผน กำหนดทิศทางขององค์กร (Direction Shift) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่พึงประสงค์ จำเป็นต้องมีผู้นำที่มีศักยภาพทางด้านความคิดเชิงกลยุทธ์ เพื่อจัดทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ เปลี่ยนแปลงองค์กรไปในทิศทางที่ถูกต้อง และ สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะกับอนาคต (Corporate Culture Shift) ไปพร้อมๆกัน

3. การมีวิสัยทัศน์ (Vision) และพันธกิจ (Mission)
ผู้นำแห่งองค์กรสมัยใหม่ (Modern Organization) ควรเน้นหนักทางด้านการกำหนด วิสัยทัศน์ (Vision) และ พันธกิจ (Mission) เนื่องจากมีผุ้บริหารน้อยคน ที่จะเข้าใจคำสองคำนี้ได้อย่างถ่องแท้ และ การกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กรที่มาจากผู้บริหารที่ไม่มีองค์ความคิด (Visionary Thinking) ก็จะกำหนดวิสัยทัศน์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้น ผู้บริหารที่จะมีวิสัยทัศน์ และ สามารถกำหนดพันธกิจ ได้เหมาะสม จึงต้องมีความสามารถทางด้าน วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง ทั้ง สภาพแวดล้อมภายนอกที่มีผลต่อองค์กร เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ และสภาพแวดล้อมภายใน เพื่อกำหนดพันธกิจ ให้เหมาะสมเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ที่กำหนดไว้

4. การมีความคิดในเชิงบูรณาการ (Innovative Thinking)และ ความคิดนอกกรอบ (Creative Thinking)
ผู้นำย่อมต้องใส่ใจและให้ความสำคัญต่อ Strategic Innovation หรือ นวัตกรรมทางกลยุทธ์ เพราะ หลีกเลี่ยงไม่ได้กับการพัฒนาเพื่อให้องค์กรประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันหากผู้นำมีมุมมองในเชิงบูรณาการ และการคิดนอกกรอบ ก็จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย เช่นองค์กรในอดีตที่รอดมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับ คอมพิวเตอร์ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา แต่องค์กรที่ล้มหายตายจากไป กลับมีมุมว่าเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ทั้งนี้ การสร้างความคิดที่เรียกว่า Strategic Innovation Thinking จะเป็นการสร้างมุมมองในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับ เทคนิคการพัฒนาเพื่อให้แตกต่าง (Creative Thinking & Innovation Thinking)

5. การวางแผนทางเลือก (Scenario Planning) และการบริหารความเสี่ยง (Risk Management)
จากภาวะเศรษฐกิจมีความผันผวน ธุรกิจต่างๆจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับความผันผวนที่เกิดขึ้น ทั้งจาก สังคม เศรษฐกิจ คู่แข่ง รวมทั้งความต้องการของลูกค้า การวางแผนขององค์กรต่างๆ จึงต้องพึ่งนักบริหารหรือผู้นำที่มีมุมมองแนวคิดในเชิงความเปลี่ยนแปลงในอนาคต (Future Thinking) และ จัดทำแผนทางเลือก (Scenario Planning) ที่หลากหลายเพื่อมารองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในเหตุการณ์ต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น
การคิดเชิงกลยุทธ์จึงเป็นเครื่องมือที่จะมาใช้ประยุกต์ต่อการสร้างแผนเพื่อตอบสนองหรือการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันนั่นเอง ซึ่งทำให้เราจะได้ทราบถึง
-
การคิดเชิงกลยุทธ์ในการมองอนาคต
-
การสร้างทางเลือกเชิงกลยุทธ์จากวิธี Scenario
-
เทคนิคการสร้างแผนกลยุทธ์ด้วยการสร้างภาพในอนาคต

บทความที่เกี่ยวข้อง:


Keywords: ตัวแบบการวิเคราะห์ภาวะผู้นำฯ, ทฤษฎีผู้นำ, ทฤษฎีภาวะผู้นำ, ภาวะผู้นำ, กรณีศึกษาภาวะผู้นำ

No comments:

Post a Comment

Total Pageviews