.

Mar 9, 2009

วิเคราะห์พลังของสื่อสาธารณะ



โดย ภัทรษมน รัตนางกูร


สื่อสารมวลชนนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อพลวัตด้านต่างๆ ในสังคมมาโดยตลอด นับตั้งแต่หนังสือพิมพ์ถือกำเนิดขึ้นจนกระทั่งมีการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ก็ยิ่งทำให้บทบาทของสื่อสารมวลชนแพร่กระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้นประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ในหลากหลายรูปแบบและยอมรับสื่อต่างๆเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวันสื่อสารมวลชนจึงกลายเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญยิ่งทั้งในแง่ของการให้ข้อมูลข่าวสารและการโน้มนำสังคมในด้านต่างๆ จนได้รับการยอมรับว่าสื่อมวลชนเป็นดัง “ฐานันดรที่สี่” (The Fourth Estate) ต่อจากพระมหากษัตริย์ ศาสนจักรและรัฐสภา


“The most vibrant and hopeful response to the trend toward globalization and commercialization has been the rise of community and public access radio and television stations and programs.” -Edward S.Herman and Robert W.McChesney

(The Global Media the new missionaries of corporate capitalism)


จากคำกล่าวของนักวิพากษ์สื่อชาวอเมริกัน Herman และ McChesney ที่ได้กล่าวถึงการพัฒนาการของสื่อวิทยุ-โทรทัศน์เพื่อบริการสาธารณะและชุมชนที่กำลังเติบโตว่า เป็นความหวังที่โดดเด่นที่สุดท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์และธุรกิจเติบโตขึ้นทุกวัน แม้จะเป็นที่ยอมรับถึงความจำเป็นในการมีสื่อสาธารณะเพื่อรักษาสมดุลของระบบสื่อสารมวลชน แต่มุมมองในแง่ของลักษณะเฉพาะและ บทบาทของสื่อนั้นยังคงมีหลายมุมมองที่แตกต่างกันออกไปโดยสิ้นเชิง

กรณีตัวอย่างบทบาทและพลังของสื่อต่อการณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในปี 1988 ระหว่าง ยอร์จ บุช กับ ไมเคิล ดูคาคิส เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการออกเสียงของประชาชนครั้งนั้น มากกว่าการพิจารณาอย่างมีเหตุผลว่า สองคนนี้มีประวัติการทำงานอย่างไร และมีจุดยืนต่อการแก้ปัญหาต่างๆอย่างไร วิธีการนั้นคือการโฆษณาของฝ่าย ยอร์ช บุช ว่าคนของดูคาคิสมีภาพที่ทำให้ท่าเรือบอสตันเกิดมลภาวะ บุชยังใช้วิธีพูดถึง ดูคาคิส หลายครั้งว่า ” เป็นพวกที่ยอมรับ ว่า พกบัตรสมาชิก ACLU ติดตัว” ซึ่งทำให้คนฟังรู้สึกเหมือนพวกดูคาคิสเป็นพวกนิยมคอมมิวนิสต์ ประชาชนจำนวนมากไม่รู้ว่าจริงๆแล้ว ACLU ย่อมาจาก American Civil Liberties Union (สหภาพสิทธิเสรีภาพพลเรือนอเมริกัน) ซึ่งเป็นองค์กรปกป้องหลักการสิทธิเสรีภาพที่ประกาศไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐ การหาเสียงโดยวิธีการใช้จิตวิทยาของความกลัวและอคติ เพื่อทำให้ประชาชนเชื่อถืออย่างได้ผล ทำให้การโต้แย้งกันในเชิงในเรื่องนโยบายการแก้ปัญหา ต่างๆในเชิงเหตุผลหมดความหมาย แม้แต่ในการรณรงค์หาเสียง การประกาศผลงาน หรือแค่การออกโทรทัศน์ของเหล่าบรรดานักการเมือง ล้วนแต่มีประโยชน์ต่อนักการเมืองทั้งสิ้น อย่างน้อยก็เป็นที่รู้จักหน้าค่าตา ยิ่งเจอบ่อยก็ยิ่งได้รับการจดจำได้ จะเห็นได้จากการที่ พิธีกร นักแสดง นักร้อง นักอ่านข่าว ของเมืองไทยหลายรายที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นนักการเมืองอยู่มากมาย เนื่องจากการเป็นที่รู้จักของคนโดยทั่วไป ถือเป็นฐานเสียงสำคัญ แห่งการได้รับเลือกตั้งนั้นๆ และนี่คือการพิสูจน์ให้เห็นแน่ชัดว่า สื่อโทรทัศน์สร้างอำนาจแก่ผู้ที่ครอบครองหรือผู้ที่ใช้มันได้เป็นอย่างดียิ่ง แม้ในหมู่นักปฏิวัติหรือรัฐประหารในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาก็นิยมยึดสถานีโทรทัศน์ควบคู่กับสถานีวิทยุ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการประกาศข่าวสารของตน

“สื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจอันได้ผลชะงัด
ผู้ใดครอบครองสื่อ ผู้นั้นก็เป็นเจ้าของอำนาจ“
มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault)



หากพิจารณาที่มุมมองแห่งอิทธิพลของสื่อต่อการเมืองไทยจะเห็นว่าพลังของสื่อต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับประชาชนถือเป็นสิ่งที่ผูกพันกันโดยตรง สังเกตจากความผูกพันระหว่างสองสิ่งนี้ทำให้หลายๆครั้งที่การเมืองจำเป็นต้องพึ่งพาสื่อเพื่อเป็นตัวกลางในการส่งผ่านข้อมูลไปยังประชาชน ในหลากหลายทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ประชาชนมีความรู้ มีการศึกษามากขึ้นทำให้ข้อมูลข่าวสารเป็นทางเลือกหลักในการบริโภคข้อมูลในชีวิตประจำวัน และยิ่งเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ยิ่งทำให้ประชาชนคนไทยพุ่งความสนใจไปที่การสื่อสารทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน และอาจกล่าวได้ว่าสื่อมีอำนาจในการขับเคลื่อนประเทศได้


กรณีตัวอย่างการขับเคลื่อนมวลชนและการรวมตัวของกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม-กลุ่มพันธมิตรฯ ในการโค่นล้มระบอบทักษิณจากกรณี นายสนธิ ล้มทองกุล กลุ่มหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และบริวาร รวมถึงความร่วมมือกับกลุ่มองค์กรภาคประชาชนเพื่อขับไล่อดีตนายกฯ ทักษิณ โดยเริ่มที่การเรียกร้องการใช้มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญปี 40เพื่อขอนายกพระราชทาน ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มแนวร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกลุ่มหนึ่งที่ชั่วโมงนี้ใครไม่พูดถึงไม่ได้ค่ะ ซึ่งการรวมกลุ่มของพันธมิตรฯ เริ่มต้นโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุลนั้นเป็นเกมส์ล้างแค้นเฉพาะกิจหรือเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของเขากันแน่? ประเด็นความสงสัยเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นค่ะ หากเหตุการณ์การปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองซึ่งจากการประมาณการถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ตัวเลขความเสียหายยับเยินไปถึง 2แสนเก้าหมื่นล้านบาท โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ”พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” โดยเขาใช้อาวุธสำคัญคือสื่ออย่าง ASTV และรองลงมาคือหนังสือสิ่งพิมพ์เครือผู้จัดการเป็นกำลังหลักสำคัญในการขับเคลื่อนของกลุ่มพันธมิตร โดยที่เป็นการปฏิเสธได้ยากว่ามีผลกระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาลในช่วงเวลาต่อมาด้วย


โดยจากการที่พลังของสื่อสาธารณะมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมความเป็นอยู่และค่านิยมของคนในสังคมไทยอย่างกว้างขวางในปัจจุบันนั้น อาจนำบริบทของทฤษฏีพหุนิยม ทฤษฎีครองอำนาจนำในทางสื่อ (The Media Hegemony Theory) และแนวคิดเกี่ยวกับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมาช่วยในการอธิบายได้ดังนี้


1. ทฤษฏีพหุนิยม


W.J.M. Mackenize นักรัฐศาสตร์อเมริกันได้เริ่มศึกษาครั้งแรกเรื่อง กลุ่มผลักดัน (Pressure Groups) เมื่อ ค.ศ. 1920 โดยได้ศึกษาถึงทฤษฎีพหุนิยมซึ่งกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในสหรัฐอเมริกา ทฤษฎีนี้มีความเชื่อว่าถนนที่จะไปสู่ประชาธิปไตยจะต้องอาศัยทฤษฎีพหุนิยม โดยหลักการของทฤษฏีนี้คือ ประชาธิปไตยจะมีขึ้นและมั่งคงอยู่ได้ด้วยการมีกลุ่ม สมาคม สันนิบาต องค์การ สหพันธ์ต่าง ๆ มากมายหลากหลายภายในรัฐ เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นมา และมีวิธีการดำเนินการที่เป็นไปโดยเสรี รวมถึงกลุ่มที่เรียกว่า


*กลุ่มผลักดัน (Pressure groups)
*กลุ่มผลประโยชน์ (Interest Groups)
*กลุ่มอุดมการณ์ (Ideological Groups) โดยกลุ่มผลประโยชน์ (Interest Groups)นั้นพิจารณาตามหลักของความเป็นจริงจากพฤติกรรมแล้วเป็นการรวมตัวของกลุ่มชนที่มีผลประโยชน์ได้ยึดถือเอาแนวอาชีพเดียวกันเป็นหลัก เมื่อการรวมตัวกันดำเนินไปได้ด้วยดี มีการจัดองค์การที่ดี มีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะสามารถสร้างพลังและเปลี่ยนแปลงกลายเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพล (Influence) และอำนาจ (Power) เหนือรัฐบาล เหนือผู้บริหารประเทศได้

ศาสตราจารย์แกรแฮม วู๊ดตั้น (Graham Wootton) แห่งมหาวิทยาลัย Tuffts สหรัฐอเมริกา ได้อธิบายความหมายของกลุ่มผลประโยชน์ไว้ว่า

*กลุ่มผลประโยชน์คืออกลุ่มทุกกลุ่มหรือองค์การทุกองค์การที่แสวงหาอิทธิพลเหนือนโยบายสาธารณะ (Public Policy) ตามวิธีทางที่กำหนด ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธที่จะรับผิดชอบโดยตรงที่จะปกครองประเทศ กลุ่มผลประโยชน์เป็นของผู้ร่วมทัศนะที่ได้ทำการเรียกร้องต่อกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม และเมื่อใดที่กลุ่มผลประโยชน์นี้กระทำการเรียกร้องข้อเสนอของตน โดยผ่านสถาบันใด ๆ ของรัฐบาลก็ตาม กลุ่มผลประโยชน์นี้จะกลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง (Political Interest Groups) และเมื่อใดที่กลุ่มผลประโยชน์ปฏิบัติการในระดับการเมือง กลุ่มนี้จะถูกเรียกว่ากลุ่มผลักดัน (Pressure Groups)

*กลุ่มผลักดัน คำว่ากลุ่มผลักดัน (Pressure Groups) เป็นองค์การผลประโยชน์ของกลุ่มชน ซึ่งสมาชิกได้มีส่วนร่วมในทัศนะ มีเป้าหมาย และกิจการตามโครงการของกลุ่มในอันที่จะมีอิทธิพลเหนือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือรัฐบาล และมีอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐบาล กลุ่มผลักดันหรือกลุ่มอิทธิพลนี้มิได้มีเป้าหมายเหมือนกันกับพรรคการเมือง ที่ว่า พรรคการเมืองต้องการชัยชนะ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศ แต่กลุ่มผลักดันนั้นมีเป้าหมายใหญ่คือผลประโยชน์ในการเป็นเจ้าของหรือมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลที่จะมีผลโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อสมาชิกของกลุ่มตน กลุ่มผลักดันหรือกลุ่มบีบบังคับนี้มีเจตนาที่จะแสวงหาอิทธิพลหรือมีอำนาจเหนือบรรดาบุคคลต่าง ๆ ที่อยู่ในอำนาจ และไม่ได้หมายความว่าจะส่งคนของกลุ่มเข้าไปใช้อำนาจเสียเอง คือการเข้าไปอย่างไม่เป็นทางการ ตามสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน

ความเป็นมาของกลุ่มผลประโยชน์

ลักษณะโครงสร้างของกลุ่มผลประโยชน์ดั้งเดิม นอกจากจะเป็นกลุ่มอาชีพเก่าแก่ของมนุษย์ เช่น แพทย์ นักกฎหมายแล้วโครงสร้างเกี่ยวกับจำนวนและผู้นำก็มีลักษณะสอดคล้องกันกับพรรคการเมืองดั้งเดิม กล่าวคือจำนวนสมาชิกของกลุ่มมีจำนวนไม่มาก เนื่องจากผู้ประกอบอาชีพแพทย์ หรือนักกฎหมายนั้นมีไม่มาก จึงเป็นกลุ่มของชนชั้นหนึ่งของสังคม ที่มีบทบาทและความสำคัญ สำหรับผู้นำของกลุ่มนั้นเป็นผู้มีบารมีอาวุโสสูง ลักษณะก็เช่นเดียวกันกับพรรคการเมืองแบบคอรัส หรือคณะกรรมการในพรรคการเมือง และนอกจากนี้ยังมีผลต่อกลุ่มผลประโยชน์ในทางการเมือง ที่รวมกันโดยเหตุผลทางการเมือง คือมีผลประโยชน์ร่วมกันในทางอุดมการณ์ทางการเมืองกลุ่มผลประโยชน์สมัยใหม่เมื่อพิจารณาโครงสร้างของกลุ่มในเรื่องผู้นำกลุ่ม และสมาชิกของกลุ่มแล้ว จะเห็นว่ามีสมาชิกเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก กลุ่มผลประโยชน์แบบดั้งเดิม เป็นลักษณะที่เป็นมวลชนคล้ายกันกับพรรคการเมืองมวลชน ส่วนผู้นำของกลุ่มผลประโยชน์นี้จะได้ตำแหน่งโดยการต่อสู้ทางการเมืองภายในกลุ่ม ทำให้กลุ่มมีลักษณะของการเป็นประชาธิปไตยมากกว่ากลุ่มอื่น และที่น่าสนใจเป็นพิเศษมาดูกันค่ะ


การเปลี่ยนแปลงจากกลุ่มผลประโยชน์ไปสู่พรรคการเมือง


*กรณีในประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงสภาพของกลุ่มผลประโยชน์ไปสู่การเป็นพรรคการเมืองเด่นชัดข้นในระยะหลังการเปลี่ยนแปลง เดือนตุลาคม 2516 โดยการเปลยนแปลงจากกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปสู่การเป็นพรรคการเมืองเช่น จากกลุ่มชาติไทยไปเป็นพรรคชาติไทย กลุ่มคึกฤทธิ์-บุญชู เป็นพรรคกิจสังคม หรือการเปลี่ยนจากกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมืองไปสู่พรรคการเมือง เช่น กลุ่มนวพล กลายเป็นพรรคประชาเสรี กลุ่มต่อต้านคอมมูนิสต์ของ กอ.รมน. เป็นพรรคปวงชนชาวไทย กลุ่มผลประโยชน์เป็นกลุ่มของผู้ที่มีอาชีพเดียวกัน มีอุดมการณ์อันเดียวกัน มีจุดหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มแต่เมื่อใดที่กลุ่มไปมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะ (Public Policy) ของรัฐบาล กลุ่มนั้นจะเริ่มมีลักษณะของการมีอิทธิพล และมักจะเรียกว่า กลุ่มอิทธิพล หรือกลุ่มผลักดัน (Pressure groups) ซึ่งกลุ่มผลประโยชน์นั้นถือว่ามีความจำเป็นต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง ดังตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา และอีกหลาย ๆ ประเทศในยุโรป ในบางประเทศในช่วงที่ไม่มีพรรคการเมือง เช่น กรณีเกิดวิกฤตการณ์ต่าง ๆ กลุ่มผลประโยชน์ก็ทำหน้าที่แทนพรรคการเมืองในการรักษาผลประโยชน์และเป็นปากเสียงแทนประชาชนพลเมืองในแต่ละกลุ่ม

ศาสตราจารย์มอริส ดูแวร์เซ่ ได้แบ่งกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอำนาจผลักดันออกเป็น 4 กลุ่มคือ

1.กลุ่มผลักดันเฉพาะกรณี

กลุ่มผลักดันเฉพาะกรณี (Exclusive Groups) คือกลุ่มหรือองค์การที่มีจุดประสงค์ที่จะรักษาผลประโยชน์ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะอย่างเดียวและอย่างจริงจัง เช่นเป้าหมายของกลุ่มจะมุ่งเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับการเมืองและนโยลายของรัฐ คืออยู่ภายในขอบเขตของการเมืองและนโยบายของรัฐเพื่อที่จะบีบบังคับผลักดันฝ่ายบ้านเมือง หรือฝ่ายปกครองเท่านั้น กลุ่มผลักดันเฉพาะกรณีนี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะของการเป็นกลุ่มบีบบังคับทางการเมือง

2. กลุ่มผลักดันบางส่วน (Partial Group)

คือกลุ่มผลประโยชน์กิจกรรมบางอย่างของกลุ่มที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือนโยบายของรัฐ ส่วนกิจกรรมหลักของกลุ่มจะต้องมิใช่เรื่องของการเมืองหรือนโยบายของรัฐ กลุ่มผลักดันบางเรื่องนี้มักจะได้แก่กลุ่มผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ

3. กลุ่มผลักดันเอกชน (Private Groups)

กลุ่มผลักดันนี้ เกิดขึ้นโดยสถาบันของเอกชน เช่นธุกริจเอกชน บริษัท ห้างร้าน หน่วยการผลิต ความคิดกลุ่มผลักดัน


4. กลุ่มผลักดันมหาชน (Public Groups)

หมายถึง กลุ่มที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และยอมรับกันว่าในบางครั้งหน่วยงานของรัฐมีวิธีปฏิบัติกิจกรรมคล้ายกับวิธีการของกลุ่มผลักดันเพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของกลุ่ม โดยการบีบบังคับหรือใช้อิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐ กลุ่มผลักดันมหาชนหรือ กลุ่มผลักดันสาธารณะ


กลุ่มผลักดันแฝง
คำว่ากลุ่มผลักดันแฝงนั้นตรงกับคำอังกฤษว่า pesudo pressure groups เป็นกลุ่มลักษณะกลุ่ม องค์การ ชมรม ที่มิได้จัดอยู่ในลักษณะของกลุ่มผลักดันจริงเช่น กลุ่มของนักวิชาการที่บีบบังคับทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์ของผู้อื่น เป็นลักษณะที่จะต้องมีค่าจ้างตอบแทน การบริการนั้นกลับไปมีผลในการบีบบังคับทางการเมือง โดยศาสตราจารย์มอริส ดูแวร์เซ่ ได้แบ่งออกกลุ่มผลักดันแฝงเป็น 2 ประเภทดังนี้

1. กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เป็นกลุ่มบุคคลที่เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง
2. กลุ่มสื่อสารมวลชน หมายถึงกลุ่มผลักดันแฝงกลุ่มหนึ่ง

การที่ ศ. มอริส ดูแวร์เซ่ จัดกลุ่มสื่อสารมวลชนว่า คือกลุ่มผลักดันแฝง ทั้งนี้เนื่องจากภาวะสังคมในปัจจุบันได้มีความเจริญในด้านเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ สื่อสารมวลชนอันได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และวิทยุโทรทัศน์จึงได้รับการพัฒนาขึ้นทั้งทางคุณภาพและปริมาณ เป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารที่สำคัญ ขาดไม่ได้หรือเรียกได้ว่าคือปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์ เนื่องจากยอมรับว่าสื่อมวลชนมีลักษณะเป็นสถาบันที่มีความสามารถบีบบังคับเหมือนกันกับกลุ่มผลประโยชน์อื่น ๆ ซึ่งตามสภาพความเป็นจริงแล้ว ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และวิทยุโทรทัศน์ เป็นสถาบันทางเทคนิคแต่กลับมีบทบาทในการบีบบังคับทางการเมือง จึงต้องมองสื่อมวลชนใน 2 ฐานะคือเป็นทั้งหน่วยธุรกิจการค้า และกลุ่มผลักดันแฝง ทั้งนี้เนื่องจากสื่อมีอิทธิพลในการตัดสินใจของผู้บริโภคสื่อค่อนข้างสูง แต่ในขณะเดียวกัน การทำงานของสื่อ บางครั้งมีพฤติกรรมเอนเอียง มุ่งผลประโยชน์แอบแฝง และนั่นคือประเด็นที่ประชาชนในฐานะผู้บริโภคสื่อ ต้องคิดตามก่อนว่า ข่าวสารที่ได้รับฟังมานั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร กลั่นกรองและวิเคราะห์ด้วยกระบวนการแห่งความคิด แก่นสารที่เป็นจริงไม่จำเป็นจะต้องเป็นอย่างที่สื่อเสนอมาทุกอย่างไปค่ะ

2. ทฤษฎีครองอำนาจนำในทางสื่อ (The Media Hegemony Theory)


Paul Ransome กล่าวว่า Hegemony เป็นกระบวนการในการหลอมรวม(combination) การใช้กำลัง (force) และการสร้างฉันทานุมัติ (consent) เป็นกระบวนการทางสังคมที่กรัมชีเรียกว่าสงครามทางความคิด (war of position) ซึ่งเป็นการทำให้สังคมเข้าใจหรือรับรู้จุดยืน ของการเคลื่อนไหว (war of movement) ที่ชนชั้นกลางใช้ในการปฏิวัติสังคม และยังทำให้สังคมเชื่อถือในจุดยืน ผ่านการสร้างจิตสำนึก (conscious) ให้ยอมรับในการขึ้นมามีอำนาจในสังคมของชนชั้นกลางโดยการสร้างการใช้สถาบันเพื่อครอบงำความคิดของพลเมือง และสร้างพลเมืองในสังคมให้กลายเป็นแนวร่วมทางอุดมการณ์ที่กรัมชีเรียกว่ากลุ่มประวัติศาสตร์ (historical bloc) และกรัมชีได้เรียกสถาบันเหล่านี้ว่า ประชาสังคม(civil society) เช่นโรงเรียนซึ่งเป็นหน่วยที่เครื่องมือของการครอบงำทางอุดมการณ์ทำงานปลูกฝังให้อุดมการณ์ถูกรับรู้ในสถานะส่วนตัว (‘private’ civil society) อย่างมีคุณภาพ โดยมีตัวแทนของอุดมการณ์ชนชั้นกลางซึ่งก็คือปัญญาชน และจากการที่ชนชั้นกลางเป็นชนชั้นที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอด ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดของชนชั้นกลาง คือการบริโภคสื่อ ประกอบกับในยุคโลกาภิวัตน์ ข้อมูลข่าวสาร และกระบวนการต่างๆในการรับรู้ ล้วนแล้วแต่ต้องบริโภคสื่อทั้งสิ้น ทฤษฎี Hegemony เมื่อนำมาประยุกต์เป็นทฤษฎีทางสื่อสารมวลชนที่ว่า ชนชั้นนำคือตัวการในการสร้างบรรทัดฐานต่างๆให้กับสังคมผ่านการครอบครองสื่อ เนื่องจากในสังคมปัจจุบันชนชั้นนำก็คือชนชั้นกลางที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองนั่นเอง อีกทั้งคนกลุ่มนี้ยังมีความสามารถในการใช้สื่อเป็นพื้นที่ในการควบคุม ครอบงำความคิด ความรู้ และความเชื่อของสังคม กรัมชียังกล่าวอีกว่ากระบวนการด้านการครองอำนาจนำนั้นมีจุดมุ่งหมายด้วยกัน 2 ด้าน ดังนี้

1.การรักษาไว้ซึ่งการมีอำนาจในการจัดความสัมพันธ์ในเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นวิธีของกลุ่มชนชั้นเพื่อจัดการชนชั้นตรงข้ามเพื่อไม่ให้ทำลายการครองอำนาจนำของกลุ่มตน กรัมชีเรียกสิ่งนี้ว่า “การครองอำนาจนำในทางการเมือง”(political hegemony)

2.การรักษาไว้ซึ่งการมีอำนาจในการจัดความสัมพันธ์ในเรื่องระบบคิด ที่กลุ่มชนชั้นสถาปนาระบบจนกลายเป็นกรอบความคิดหลักของสังคมซึ่งกรัมชีเรียกว่า “การครองอำนาจนำในทางวัฒนธรรม”(cultural hegemony) โดยในการครองอำนาจนำนั้นต้องมีการยินยอมของชนชั้นที่ถูกครอบงำด้วย ซึ่งในกรณีที่ชนชั้นปกครองมีความเป็นเอกภาพ อุดมการณ์เข้มแข็ง การเข้าต่อกรกับอุดมการณ์ของชนชั้นปกครองจึงเป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะด้วยความเป็นเอกภาพทางภูมิปัญญาของชนชั้นปกครอง ทำให้มวลชนเชื่อใจและมั่นใจในอุดมการณ์หลัก สิ่งที่เกิดขึ้นคือการไม่สนใจการเมืองกรัมชี่เรียกว่า“การครองอำนาจนำจากภายนอก” หรือเรียกได้ว่าถูกครอบงำนั่นเอง

ดังเช่นความเชื่อที่ว่าความมั่นคงในชีวิตคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนอยากมี อยากเป็น อยากได้ มนุษย์ต้องประสบกับภัยธรรมชาติ ดังนั้นการเคารพต่อธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์โบราณสร้างขึ้นผ่านพิธีกรรม สิ่งที่ผลักดันมนุษย์โบราณให้แสดงอาการยอมแพ้(worship)ต่อธรรมชาติ ก็คือความกลัว และสิ่งที่สัมพันธ์กันก็คือความตายหรือกลัวตายนั่นเอง มนุษย์ในสังคมสมัยใหม่จะเลือกเชื่อปัญญาชนก็เมื่อปัญญาชนยืนยันความมั่นคง ปัญญาชนสร้างความเชื่อผ่านการใช้สถาบันเพื่อครอบงำความคิดของพลเมือง เช่น โรงเรียน กรัมชีเรียกสถาบันเหล่านี้ว่า ประชาสังคม(civil society) ซึ่งกรัมชีถือว่าเป็นหน่วยที่เครื่องมือของการครอบงำทางอุดมการณ์ ทำหน้าที่ปลูกฝังให้อุดมการณ์ถูกรับรู้ ในสถานะส่วนตัว(‘private’ civil society)อย่างมีคุณภาพ โดยเป็นสถานที่ที่ปัญญาชนยืนยันความมั่นคงให้เห็น ดังนั้นหากมีชนชั้นที่มีการศึกษาและสามารถเข้าถึงอำนาจของรัฐในระดับนโยบายนั้น ก็จะสามารถสร้างคำนิยามต่อทุกๆสิ่งในสังคม

หากใช้มุมมองของกรัมชีพิจารณาว่ามนุษย์กลุ่มไหนคือพวกที่สร้างการครอบงำ(วาทกรรม) และทำให้สิ่งที่ถูกสร้างนั้นเป็นสิ่งที่มองว่าปกติ คำตอบคือมนุษย์กลุ่มที่เป็นแกนกลางในกลุ่มประวัติศาสตร์ที่ใช้สื่อ (mass media) ในการโน้มน้าวรวบรวมกลุ่มประวัติศาสตร์ขึ้นมานั่นเอง

ในยุคเก่าที่ยังดำรงอยู่ด้วยลัทธิการเมืองของชนชั้นใหม่ แตกต่างเพียงการยึดครองความคิดของปัญญาชนนั้นสามารถทำได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น ถ้าชนชั้นใหม่มีสิ่งที่กรัมชีเรียกว่า “ปัญญาชนโดยธรรมชาติของชนชั้น(Organic or Technical Intellectual)” ปัญญาชนเหล่านั้นก็จะสามารถทำให้กลุ่มชน มีความเป็นหนึ่งผ่านจิตสำนึกเกี่ยวกับบทบาทของกลุ่ม ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยปัญญาชนโดยธรรมชาติฯ จะถูกสร้างขึ้นพร้อมๆกับการกำเนิดชนชั้น โดยแต่ละชนชั้นจะมีความสามารถเฉพาะตนในศาสตร์ต่างๆ เช่นชนชั้นขุนนางจะมีความสามารถในทางปัญญาและการทำสงคราม ประเด็นที่สำคัญที่ชนชั้นขุนนางเริ่มเสียเปรียบให้แก่นายทุนก็คือ การที่ขุนนางไม่สามารถเก็บและปกปิดความรู้ทางการทหารไว้ในมือของชนชั้นตนเองได้ กรัมชี ให้ข้อสังเกตว่า อุดมการณ์ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปกครอง จะเป็นอุดมการณ์ที่พยายามทำให้พลเมืองเชื่อว่าผลประโยชน์ที่คนบางกลุ่มได้รับเป็นผลประโยชน์ของทุกคนร่วมกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานของกลไกทางอุดมการณ์(ideological apparatus) และกลับได้ผลดีกว่าการใช้กลไกอำนาจรัฐบังคับโดยตรง

การที่โลกแห่งปัจจุบันเป็นโลกของชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางเป็นชนชั้นที่เกิดมาพร้อมๆกับโลกสมัยใหม่ ดังนั้นชนชั้นกลางจึงเป็นกลุ่มชนในทุกสาขาอาชีพที่ไม่ได้ใช้แรงงานกายในการผลิต แต่ผลิตผลของชนชั้นกลางเกิดขึ้นโดยการใช้ความคิด และมีหน้าที่หลักคือเป็นคนกลางที่ช่วยให้เกิดความชอบธรรม และธำรงรักษาระบบทางการเมืองและอุดมการณ์ การที่ชนชั้นกลางเป็นชนชั้นที่ต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดของชนชั้นกลางคือ การบริโภคสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคโลกาภิวัตน์ ข้อมูลข่าวสาร และกระบวนการแห่งการรับรู้ ถูกครอบครองโดยสื่อ อาจกล่าวได้ว่าชนชั้นกลางคือชนชั้นที่ชำนาญและได้เปรียบกว่าชนชั้นอื่นๆในสังคม ช่องทางสื่อจึงกลายเป็นเครื่องมือที่ชนชั้นกลางใช้ใน สงครามทางความคิด (war of position)ในการทำให้สังคมเข้าใจรับรู้จุดยืนของการเคลื่อนไหว (war of movement) ซึ่งจอห์น ฟิสเค กล่าวว่าเป็นไปเพื่อทำให้การต่อสู้นั้นได้ผลอย่างยั่งยืน เพราะเป็นการต่อสู้ในสิ่งที่เชื่อ และเห็นว่าดีแล้ว ซึ่งสื่อ(mass media) คืออาวุธในการต่อสู้ที่ใช้งานง่าย และมีประสิทธิภาพ


ประพจน์โดยสรุปของกรัมซี ตามทฤษฎีครองอำนาจนำในทางสื่อ (The Media Hegemony Theory) มีดังต่อไปนี้

การที่สื่อมวลชนมีส่วนในการสร้างวาทกรรม ในฐานะของการเป็นตัวกลางที่ช่วยสร้างและดำรงไว้ซึ่งวาทกรรม เพื่อสร้างความชอบธรรมแห่งอำนาจให้กับผู้ที่คุมพื้นที่สื่อ ตามทฤษฎี Media Hegemony หรือทางกลับกันสื่อมวลชนกลับมีบทบาทในการให้พื้นที่กับวาทกรรมอื่นที่นอกเหนือจากวาทกรรมหลัก ได้มีโอกาสและบทบาทในการช่วงชิงพื้นที่สื่อสาธารณะในสังคม ได้จากทฤษฎีของกรัมชีโดยรวมซึ่งสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้

1. สื่อมวลชนมีส่วนในการสร้างวาทกรรม ในฐานะของการเป็นตัวกลางที่ช่วยสร้างและดำรงไว้ซึ่งวาทกรรมกระแสหลัก เพื่อสร้างความชอบธรรมทางอำนาจให้กับผู้ที่คุมพื้นที่สื่อ ตามทฤษฎี Media Hegemony” นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะสื่อคือเครื่องมือที่สามารถครอบครอง (hold) และครอบงำ(dominate)ได้ สื่อจึงเป็นเครื่องมือสร้าง “อำนาจครอบครองผ่านความรู้(วาทกรรม)”

2. สื่อมวลชนมีบทบาทในการให้พื้นที่กับวาทกรรมอื่น ๆ (ที่นอกเหนือจากวาทกรรมหลัก)ได้มีโอกาสและบทบาทในการช่วงชิงพื้นที่ในสื่อสาธารณะในสังคมได้” ก็เป็นเรื่องที่จริงเช่นกัน เพราะอุดมการณ์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างดังนั้นจึงถูกทำลายได้ ดังคำกล่าวของ Gorge Wilhelm Fredrich Hegelที่ว่า “การที่โลกก้าวไปข้างหน้าด้วยความคิด ความขัดแย้งใดๆก็เป็นความขัดแย้งในเรื่องของความคิด ซึ่งส่งผลให้เกิดความก้าวหน้า ทั้งเชิงคุณภาพและเหตุผล เรียกว่า “วิภาษวิธี(Dialectic)” ซึ่งเกิดจากการที่ ความคิดเดิม(Thesis)ถูกท้าทายหรือขัดแย้งกับความคิดใหม่(Anti-Thesis) ก่อให้เกิด ความคิดที่ใหม่กว่า(Synthesis)ที่จะกลายเป็นความคิดเดิมในเวลาต่อไป การที่สามารถเกิดความคิดขัดแย้งใหม่ๆได้เสมอนั้นเพราะ ความคิดเป็นเพียงสิ่งสมมติที่มนุษย์สร้างขึ้นนั่นเอง”

การที่วาทกรรมจัดเป็นความคิดอย่างหนึ่ง จึงสามารถถูกสร้างได้ ถูกใช้ได้ ถูกเชื่อได้ ถูกท้าทายได้ และถูกทำลายได้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงเวทีการเมืองที่มีการสื่อสาร (political communication) โดยสื่อ(media) ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างพลังให้กับผู้นำ ผู้ใช้มวลชน(mass)มาเป็นพลัง สุดท้ายสื่อมวลชนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งในทางการเมืองและภาวการณ์ เช่นนี้สื่อมวลชนจึงต้องถูกใช้ในการแสวงหาอำนาจในสังคมการเมือง โดยไม่ว่าผู้ที่ต้องการแสวงหาอำนาจจะมีสถานะทางสังคมอย่างไร เพียงแต่พวกเขาเหล่านั้นสามารถมีพลังเพียงพอ ในการเข้าถึงสื่อ พวกเขาก็จะมีอำนาจเพียงพอในระดับหนึ่ง ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่การเมืองมีการแย่งชิงอำนาจในการกำหนดการรับรู้ของประชาชนและคนในสังคมนั่นเอง

3. แนวคิดเกี่ยวกับการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
นวลศิริ เปาโรหิตย์ (2532: 169) ให้ความหมายของคำว่า การรับรู้ หมายถึง กระบวนการแปลความหมายของสิ่งเร้าที่มากระทบกับประสาทสัมผัสต่างๆ ของคนและการแปลความหมายขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในอดีตและสภาพจิตใจในปัจจุบัน
รัจรี นพเกตุ (2539: 1) ให้ความหมายการรับรู้คือกระบวนการประมวลและตีความข้อมูล ที่อยู่รอบตัวเราที่ได้จากความรู้สึก
ทรงพล ภูมิพัฒน์ (2540: 110) ให้ความหมายการรับรู้คือ การ รู้จักสิ่งต่างๆ สภาพต่างๆ
ที่เป็นสิ่งเร้ามาทำปฏิกริยากับตัวเราเป็นการแปลอาการสัมผัสให้มีความหมายขึ้นเกิดเป็นความรู้สึกเฉพาะตัวสำหรับบุคคลนั้น ๆ 

สุชา จันทร์เอม (2540: 119) ให้ความหมายว่าการรับรู้เป็นกระบวนการที่มีระดับตั้งแต่ง่ายสุด ถึงซับซ้อนที่สุดจึงยากแก่การเข้าใจ และนักจิตวิทยาได้ให้ความหมายการรับรู้แตกต่างกันออกไปดังนี้

1. การรับรู้หมายถึงการตีความหมายจากการรับสัมผัส (sensation) ในการรับรู้นั้นไม่เพียงแต่มองเห็น ได้ยินหรือได้กลิ่นเท่านั้น แต่ต้องรับรู้ได้ว่าวัตถุหรือสิ่งที่เรารับรู้นั้นคืออะไรมีรูปร่างอย่างไร
ในแง่ของพฤติกรรม การรับรู้เป็นกระบวนการที่เกิดแทรกอยู่ระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองสิ่งเร้าดังนี้
สิ่งเร้า (Stimulus) การรับรู้ (perception) การตอบสนอง (responses)
จึงสรุปได้ว่าการรับรู้หมายถึง กระบวนการที่คนเรามีประสบการณ์กับวัตถุ หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยอาศัยอวัยวะสัมผัส

2. ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข่าวสาร พิชา รุจินาม (2544: 14-18) ได้สรุปเกี่ยวกับการรับรู้ข่าวสารไว้ดังนี้......ผู้รับข่าวสารอาจหมายถึงบุคคลเพียงคนเดียวเช่นการคุยระหว่าง 2 คนหรืออาจหมายถึงกลุ่มบุคคลก็ได้ในการติดต่อสื่อสารนั้น บุคคลที่เป็นผู้รับสารอาจเปลี่ยนเป็นผู้ส่งสารในเวลาอื่นได้ เช่นในการพูดคุยกันผู้รับสารอาจกลายเป็นผู้ส่งสาร ผู้รับสารมีความสำคัญต่อการสื่อสารมีความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของกระบวนการติดต่อสื่อสาร และผู้รับสารมีอิทธิพลต่อองค์ประกอบอื่นของการสื่อสารอีกด้วย นอกจากนี้ควรพึงพอใจในการติดต่อสื่อสารจะไม่เกิดขึ้น ถ้าหากไม่ได้พิจารณาถึงปัจจัยของผู้รับสาร หรือคุณลักษณะของผู้รับสารในฐานะที่เป็นผู้รับการติดต่อสื่อสารโดยตรง การส่งข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องคำนึงถึงปัจจัยอันเกี่ยวข้องกับผู้รับสารหลายประการด้วยกันคือ

1.ความต้องการของผู้รับสารโดยทั่วไปแล้วในการรับข่าวสารของแต่ละบุคคลนั้นจะเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของตน ประกอบด้วย
1.1 ต้องการข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับตน
1.2 ต้องการข่าวสารที่สอดคล้องกับความเชื่อ ทัศนคติ และค่านิยมของตน
1.3 ต้องการประสบการณ์ใหม่
1.4 ต้องการความสะดวกและรวดเร็วในการรับสาร

2.ความแตกต่างของผู้รับสาร ผู้รับสารแต่ละคนจะมีลักษณะที่แตกต่างกันในหลายๆ ด้านได้แก่ วัย เพศ การศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคม

3.ความตั้งใจและประสบการณ์เดิม ในขณะที่มีความต้องการจะช่วยให้บุคคลรับรู้ข่าวสารได้ดีกว่า ดังคำกล่าวที่ว่า เราเห็นในสิ่งที่อยากเห็นและได้ยินในสิ่งที่ต้องการได้ยิน ดังนั้นความตั้งใจและประสบการณ์เดิมของผู้รับสารจึงมีความสำคัญต่อผู้รับสารเช่นกัน

4.ความคาดหวังและความพึงพอใจ ความคาดหวัง เป็นความรู้สึกที่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของคนในการที่จะตีความต่อสภาพแวดล้อมเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนต้องการ ส่วนความพึงพอใจในการติดต่อสื่อสาร คือ ความพึงพอใจในข่าวสารที่ได้รับ เพราะข่าวสารต่างๆ ที่ได้รับนั้น ผู้รับสารสามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจ และการปฏิบัติงานต่างๆ ให้ลุล่วงไปได้ ดังนั้นผู้ให้ข่าวสารและบริการจึงควรศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวของบุคคล เพื่อจะได้ให้ข่าวสารและได้บริการอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพราะฉะนั้น การสร้างความพึงพอใจในการติดต่อสื่อสารให้เกิดขึ้น นอกจากจะต้องคำนึงถึงความพึงพอใจ ในเรื่องของข่าวสารที่ได้รับ ความเพียงพอของข่าวสารและช่องทางของการติดต่อสื่อสารแล้วยังต้องคำนึงถึงปัจจัยผู้รับสาร ซึ่งเป็นปัจจัยที่เกี่ยวกับความแตกต่างของบุคคลด้วยทั้งนี้ เนื่องจากความแตกต่างของบุคคลเป็นธรรมชาติของมนุษย์อย่างหนึ่ง

แนวคิดเกี่ยวกับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวข้างต้น สรุปได้ว่าการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในการศึกษาครั้งนี้ หมายถึงการที่บุคคลได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จากสื่อดังต่อไปนี้ คือโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต สื่อบุคคลและสื่อเฉพาะกิจในรูปแบบที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับทัศนคติ ประสบการณ์ ความเชื่อ และแรงจูงใจของบุคคลจึงทำให้บุคคลจำเป็นต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้พิจารณาแยกแยะถึงคุณประโยชน์ของข่าวสารที่ได้รับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริโภคข่าวสารจากสื่อต่างๆในช่วงสถานการณ์ที่บ้านเมืองเรากำลังแบ่งเป็นฝักฝ่ายนั้น ดิฉันเห็นว่าในฐานะที่ประชาชนไทยทุกคนคือผู้บริโภคสื่อ จึงคิดว่าเราควรเลือกใช้เกณฑ์แห่งกาลามสูตรเป็นเครื่องช่วยในการตัดสินใจค่ะ เพราะนี่คือเครื่องมือชิ้นสำคัญที่จะทำให้ได้ย้อนคิดและพิจารณาในเรื่องนี้ค่ะในขณะนี้ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนไทยมีความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกันมาก หนักข้อพูดจากันไม่รู้เรื่องถึงขั้นฆ่าแกงกันก็มีที่เป็นเช่นนี้เพราะกลุ่มชนถูกปลูกฝังด้วยความเชื่อที่เป็นอวิชชาเพื่อกลุ่มเหล่านั้นใช้ในการต่อกรกับกลุ่มตรงข้าม ดังนั้นเราจึงควรรีบหยุดทบทวนด้วยสติ ยับยั้งถึงความอ่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้นของเราให้ได้ โดยใช้วิชชาที่ว่าด้วยกาลามสูตร เพื่อเราสามารถตรวจสอบความเชื่อนั้นๆได้ว่าสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ ความจริงแท้มีอยู่หนึ่งเดียว ไม่ใช่ความจริงแท้ที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพยายามกรอกหูเราอยู่ และหากเราเข้าใจถึงร่วมกันแล้ว สิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือ ความเข้าใจซึ่งกันและกัน อันนำไปสู่ความสามัคคีร่วมใจสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาชาติไทยของเราให้ดียิ่งๆขึ้นไป ด้วยสติและความตั้งมั่นในความจริงที่ปรากฏ

หลักของกาลามสูตรก็คือ “อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบ ๆ กันมา อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่าได้ยินอย่างนี้ อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้ยึดถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา”

อาจกล่าวได้ว่าเราไม่ควรรีบเชื่อหรือยึดถือตามสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้

1.ถ้อยคำที่ได้ยินมา หรือข่าวคราวที่แพร่สะพัด เช่น คนนี้เลว คนนั้นขายชาติ คนโน้นไม่จงรักภักดี เป็นต้น เพราะบ่อยครั้งถ้อยคำหรือข่าวนั้นเป็นการจงใจบิดเบือนหรือเป็นข่าวที่ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง เราจึงไม่ควรปักใจเชื่อจนก่อเกิดอคติหรือความหลงใหลได้ปลื้มกันแต่แรก
2.สิ่งที่เชื่อสืบกันมา หรือตำราเพราะอาจเป็นข้อสรุปที่ผิดหรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราจึงพึงระวังคนที่ชอบอ้างตำราหรือชอบยกคำพูดของคนดัง ๆ มาสนับสนุนความคิดของตน การกระทำเช่นนี้อาจเป็นเพราเขาหาเหตุผลที่แท้จริงไม่ได้นั่นเอง
3.การเดา การคาดคะเนหรือการตรึกตรองตามอาการ เพราะการปลงใจเชื่อเช่นนั้นย่อมสร้างความเสียหายอันเกิดจากความเสี่ยง
4.ทิฐิของตัวเราเอง เช่น เราพบคนที่มีจริตหรือมีรสนิยมเหมือนเรา มีศาสนามีพื้นถิ่นหรือมีเชื้อชาติเดียวกับเรา เราก็อาจเลือกเชื่อเขามากกว่าคนอื่น
5.ผู้พูดที่สมควรจะเชื่อได้หรือผู้นั้นเป็นครูเรา เช่นอย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะคนพูดคืออดีตนายกฯทักษิณ หรือคุณสนธิ ลิ้มทองกุล
อีกประเด็นมาพิจารณาถึง ”วาระซ่อนเร้น” โดยแม้ความเข้าใจหรือความคิดเห็นที่แตกต่างกันของคนในชาติอาจทำให้เกิดการฆ่ากันตาย เพราะสาเหตุความขัดแย้งทางด้านความคิดในการสนทนา แต่นั่นก็ยังเป็นเพราะการขาดสติ ส่วนประเด็นสำคัญที่นำพาให้ความคิดขัดแย้งรุนแรงขนาดนี้น่าจะเกิดจากการถูกโน้มน้าว ชักจูง ตัวอย่างชัดเจนกรณี 6 ตุลาคม 2519 ที่การขัดแย้งได้เกิดจากผู้คนที่ได้รับข้อมูลจากกลุ่มสร้างสถานการณ์ก่อความไม่สงบโดยหวังผลเลิศเพียงเพื่อตนและพวกพ้องต้องการที่จะซื้อเวลาครอบครองอำนาจให้นานที่สุดเท่านั้นเอง

จากพลังของสื่อที่มีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ ท่ามกลางความขัดแย้งแห่งปัจจัยการเมืองที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น ดิฉันจึงอยากทิ้งท้ายสำหรับกระบวนการทบทวนความคิดของพวกเราทุกคนในการพิจารณาถึงประเด็นเหตุบ้านการเมืองของเราที่เกิดขึ้น ก็คือเราต้องไม่อายที่จะเปลี่ยนความเชื่อ ในเมื่อเราเห็นแล้วว่าสิ่งที่เราเชื่อนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ปรากฏ ณ ช่วงเวลาปัจจุบัน การที่เราก็เป็นเพียงแค่มนุษย์คนหนึ่งการตัดสินใจจากความคิดที่ผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องสงสัย ดังนั้นขึ้นอยู่ที่เรากล้าที่จะเปลี่ยนความคิด การตัดสินใจของตนเองหรือเปล่า สำหรับการเผชิญหน้ากับความจริงอันปวดร้าวที่กำลังปะทุขึ้นในใจเรา และในบ้านเมืองเราเท่านั้นเอง อย่าลืมสังคม ยังต้องการคนกล้า ไม่ว่าจะกล้าคิด กล้าทำ กล้าคิดนอกกรอบก็ตาม โดยพื้นฐานแห่งความกล้าที่เป็นบรรทัดฐานก็คือความถูกต้อง เที่ยงทำในกรอบของศีลธรรมและจริยธรรมเท่านั้นเอง จึงขอฝากถึงฝ่ายพันธมิตรฯ หรือฝ่ายอื่นใดก็ตามที่กำลังยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อของตนเองอย่างมาก และฝ่ายเดียวนั้น ลองดูค่ะใช้ความกล้าหาญทางศีลธรรมและจริยธรรมช่วยตรวจสอบตัวเราเองด้วยกาลามสูตร ผลที่ได้รับมีแต่จะเพิ่มพูน ไม่ว่าจะด้วยตัวคุณเองหรือตลอดจนประเทศชาติอันเป็นที่รักของพวกเราทุกคนค่ะ




Keywords: 
สื่อสาธารณะ, วิเคราะห์สื่อสาธารณะ, วิเคราะห์พลังสื่อสาธารณะ, พลังของสื่อสาธารณะ, พลังสื่อสาธารณะ

3 comments:

  1. surapun vongsasuraritApril 26, 2009 at 10:58 AM

    หวัดดีน้องแพท พี่อ้า เห็น Blog ของน้องแพท หลายเรื่อง
    เขียนได้ดีพอควร มีประโยชน์
    จะแวะมาเยียมอีก
    พี่สุรพันธ์ วงศาสุราฤทธิ์
    MA Online 3

    ReplyDelete
  2. หวัดดีจ้ะน้องแพท
    มาดามได้อ่านบล็อกของน้องแพท โอเคมาก เห็นด้วยกับพี่อ้า แพทเขียนได้ดีมาก
    จาก พี่มาดาม
    MA Online 3

    ReplyDelete
  3. This comment has been removed by the author.

    ReplyDelete

Total Pageviews