.

Mar 7, 2009

ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมไทยภาคชนบท




โดย ภัทรษมน รัตนางกูร


เมื่อกล่าวถึงการผลิตเพื่อกินเพื่อใช้ในอัตราส่วนที่สูงของสังคมเกษตรแบบดั้งเดิมของไทยนั้น สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ประชากรในภาคเกษตรแบบดั้งเดิมนี้กลับมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก คนส่วนใหญ่ซึ่งยังคงมีมาตรฐานการดำรงชีพแค่พออยู่พอกินในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน โดยที่พวกเขาไม่ค่อยมีความจำเป็นต้องซื้อขายหรือใช้เงิน คนที่ถูกจัดว่ายากจนในสังคมเกษตรแบบดั้งเดิมนั้น มักจะถูกใช้เกณฑ์การวัดที่การด้อยโอกาสทางสังคมมากเสียยิ่งกว่าถูกเรียกหรือจัดว่ายากจนเพราะอยู่ในสังคมเกษตรแบบดั้งเดิมเสียอีก สาเหตุเนื่องจากในบางชุมชนในภาคการเกษตรแบบดั้งเดิมนั้นจัดได้ว่าค่อนข้างมีความเสมอภาคซึ่งกันและกันในแต่ละครัวเรือน

การพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมตะวันตกมีส่วนสำคัญในการทำให้คนส่วนหนึ่งยากจนลงหรือเป็นผู้สร้างความยากจนยุคใหม่ขึ้น เพราะการพัฒนาทุนนิยมในประเทศกำลังพัฒนาเช่น ไทยเป็นการพัฒนาทุนนิยมแบบบริวารที่มีการผูกขาด การแข่งขันไม่เป็นธรรม พึ่งการลงทุน การสั่งเข้าเทคโนโลยีจากประเทศร่ำรวย ไม่ได้พัฒนาพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็ง การเติบโตทางเศรษฐกิจให้ประโยชน์กับทุนต่างชาติ และนายทุนใหญ่ในประเทศมากกว่าที่จะกระจายสู่คนส่วนใหญ่ ยิ่งพัฒนาก็ยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูง เกิดคนจนมากขึ้น ประชาชนยังถูกทำให้จนลงโดยนโยบายพัฒนาประเทศแบบทุนนิยมบริวาร


สาเหตุที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสวนทางกับการกระจายรายได้ภาคประชาชนด้วยเหตุผลหลายประการ ดังตัวอย่างต่อไปนี้


1. เปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อกินเพื่อใช้ ไปเป็นการปลูกพืชเดี่ยวเพื่อขายหาเงินไปซื้อของกินของใช้ ทำให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองด้านอาหารและเครื่องใช้ไม้สอยได้ในปริมาณที่ลดลงจากเดิม โดยพวกเค้าได้เปลี่ยนมาพึ่งพาการใช้เงินและระบบตลาดที่มีลักษณะผูกขาดเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้นเกษตรกรในยุคตั้งแต่มีการพัฒนาการเกษตรแบบทุนนิยมจึงต้องตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบ ต้องทำงานหนัก อพยพโยกย้ายพลัดพรากจากครอบครัว บ้านเกิดเมืองนอน แม้มีรายได้เป็นตัวเงินสูงขึ้นก็ตาม แต่ขณะเดียวกันรายจ่ายของพวกเค้ากลับเพิ่มมากกว่ารายได้ที่ได้รับ ซึ่งนับว่ายิ่งทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่มีความลำบากยากแค้นเพิ่มมากขึ้น

2. ทำลายวิถีชีวิตชุมชนแบบยอมรับกรรมสิทธิ์ร่วมในเรื่องป่าไม้ ที่ทำกิน ทรัพยากรต่าง ๆ และการอยู่แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ไปเป็นวิถีชีวิตแบบการแย่งชิงทรัพยากรไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน เพื่อแสวงหากำไรสูงสุดและการบริโภคสูงสุด การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันในสังคมเกษตรแบบดั้งเดิม

3. ทำลายทรัพยากรธรรมชาติสภาพแวดล้อมแหล่งทำมาหากินและยังชีพที่คนในชนบทเคยอาศัยทำมาหากินแบบเพียงพอ คนถูกกวาดต้อนให้เข้าสู่ระบบผลิตทุนนิยมผูกขาดที่วิถีการผลิต วิถีการบริโภคของคนขึ้นอยู่กับการลงทุน การจ้างงาน และการบริโภคที่ต้องหาเงินมาซื้อมากขึ้น เป็นระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่คนในชนบทและคนงานในเมืองควบคุมไม่ได้หรือไร้อำนาจในการตัดสินใจ และทำให้พวกเขาเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากขึ้น

การขยายตัวของเศรษฐกิจทุนโลกหรือโลกาภิวัตน์ทำให้ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาบางส่วนมีงานทำ แต่ได้ค่าแรงต่ำกว่าแรงงานประเภทเดียวกันในประเทศของเจ้าของทุน รวมทั้งประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา ต้องซื้อสินค้าอุตสาหกรรมในราคาสูง ที่ไม่ต่างจากสินค้าที่สั่งเข้าจากต่างประเทศ คนรวย คนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหุ้นส่วน หรือมีงานที่ได้เงินเดือนและรายได้สูง อาจได้ประโยชน์จากความร่ำรวยทางวัตถุของยุคโลกาภิวัตน์เพิ่มขึ้น แต่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาได้ประโยชน์น้อยมาก หรือยิ่งยากจนลง เพราะต้นทุนการผลิตในภาคเกษตรและค่าครองชีพสูงขึ้นกว่าการเพิ่มของรายได้ของพวกเขา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นโดยผ่านการค้าโลก ได้รับการวางรากฐานลงบน "ส่วนเกินเทียม" (pseudo surpluses) ซึ่งหมายถึง บริษัททางด้านเกษตรได้กำไรมากขึ้น แต่เกษตรกรกลับยากจนลง อาหารที่มากขึ้นได้ถูกนำมาค้าขาย ขณะที่คนยากคนจนกำลังบริโภคน้อยลง เมื่อความเจริญเติบโตได้ไปเพิ่มความยากจน เมื่อผลผลิตที่แท้จริงกลายเป็นเศรษฐกิจในเชิงลบ บางสิ่งบางอย่างได้ดำเนินไปด้วยแนวความคิดและการจัดหมวดหมู่ของความมั่งคั่ง และการสร้างสรรค์ความมั่งคั่ง การผลักให้ผลผลิตที่แท้จริงโดยธรรมชาติและผู้คนเข้าไปสู่เศรษฐกิจในเชิงลบ (negative economy) เข้าลักษณะที่ว่า "การผลิตสินค้าที่แท้จริงและการบริการกำลังเสื่อมลง" เพราะได้ไปสร้างให้เกิดความยากจนในระดับลึกให้แก่เกษตรกรจำนวนมหาศาลและอาจถือได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด

กรณีตัวอย่างประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้ปลูกข้าวในลำดับ 6 ของโลก ก็ได้ผจญกับปัญหาและมาตรการการแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวมาตลอดนั้น นายโรเบิร์ต ซีกเลอร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (International Rice Research Institute : IRRI) ได้กล่าวเตือนว่า มีสัญญาณที่น่าวิตกบ่งบอกว่าราคาข้าวจะสูงขึ้น สต๊อคข้าวโลกจะมีระดับต่ำที่สุดในรอบสามสิบปี อันเนื่องมาจากปริมาณการผลิตข้าวลดน้อยถอยลง สาเหตุเพราะพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานเสื่อมทรามลง ปัญหาของแหล่งน้ำ ผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน ราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น พื้นที่การเพาะปลูกลดลงเพราะการขยายตัวของเขตเมืองและเขตอุตสาหกรรม และย้ำว่าในระยะห้าปีที่ผ่านมา ราคาข้าวสูงขึ้นเกือบสองเท่า ราคาปุ๋ยที่ใช้ปลูกข้าวก็สูงขึ้นเกือบสามเท่าของการขึ้นราคาของน้ำมัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องค้นคว้าและเผยแพร่เทคโนโลยีใหม่ในการปลูกข้าวเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว และรักษาระดับราคาข้าวให้มีเสถียรภาพ และไม่ให้สูงเกินไป มิฉะนั้นจะกระทบต่อผู้ที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลักที่มีอยู่ครึ่งโลก โดยเฉพาะในประเทศที่ยากจน

ปัญหาราคาไม่ใช่ปัญหาราคาข้าวที่สูงขึ้น แต่เป็นปัญหาราคาข้าวตกต่ำทำให้ชาวนาได้รับค่าข้าวไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น มาตรการต่างๆ ที่ช่วยชาวนาให้ได้รับราคาข้าวที่สูงขึ้น ไม่เคยมีการวาง และกำหนดมาตรการอย่างเป็นระบบ แต่กำหนดมาตรการแก้ไขในลักษณะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือเป็นไปตามความกดดันทางการเมืองอันเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินนโยบายที่ไม่ชัดเจน และนโยบายประชานิยม รัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ต้องกำหนดทิศทางของนโยบาย คอยสอดส่องดูแล ให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริงแก่เกษตรกรได้รับรู้และเข้าใจอย่างถูกต้อง และทันต่อเหตุการณ์


แนวทางการแก้ไขปัญหา กรณีราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ


1. การประกันราคาขั้นต่ำ เป็นราคาที่อยู่สูงกว่าราคาดุลยภาพ (ราคาในท้องตลาด) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ แต่เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนามีความจำเป็นต้องพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ อีกมาก จึงมีงบประมาณจำกัดที่จะนำไปใช้ในการพยุงราคาสินค้าเกษตร โดยการรับซื้ออุปทานส่วนเกิน (Excess Supply) ไว้ทั้งหมด ซึ่งเป็นภาระที่หนักเกินไปสำหรับรัฐบาล

2. การจำกัดพื้นที่การเพาะปลูก โดยการควบคุมปริมาณผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค เพื่อความมีเสถียรภาพของราคา

ข้อดี
รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินอุดหนุนใดๆ และเกษตรกรก็จะได้ราคาที่สูงขึ้น

ข้อเสีย
ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าเกษตรในราคาแพง เกิดการว่างงานในภาคเกษตร และผู้ประกอบการที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นปัจจัยการผลิตจะมีต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น วิธีนี้ในภาคปฏิบัติเป็นเรื่องที่กระทำได้ยาก เพราะการออกกฎหมายควบคุมให้ลดปริมาณการผลิตในช่วงระยะเวลาอันสั้น อาจจะไม่ได้รับการร่วมมือจากเกษตรกรเลย และต้องจัดเตรียมหางานใหม่มารองรับให้แก่เกษตรกร

3. รัฐบาลให้เงินอุดหนุน โดยไม่มีการเข้าไปแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกราคาหรือกลไกตลาด แล้วรัฐบาลก็ออกกฎหมายควบคุมปริมาณการผลิตให้อยู่ในระดับนี้ และควรจะทำหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวแล้ว โดยให้มีการจดบันทึกรายชื่อเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกในแต่ละพื้นที่ เพื่อควบคุมการเข้าออกของเกษตรกร

ข้อดี ถ้าราคาดุลยภาพเป็นระดับราคาที่เกษตรกรประสบกับภาวการณ์ขาดทุน รัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่เกษตรกรน้อยกว่าวิธีที่ 1 รวมทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการจะซื้อสินค้าเกษตรในราคาดุลยภาพ ไม่ใช่ราคาประกันขั้นต่ำ

ข้อเสีย รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่เคยคิดจะนำเอาวิธีนี้ไปปฏิบัติ ทั้งที่มีความเหมาะสมมากที่สุด

ดังนั้นอุตสาหกรรมเหล่านี้จึงไม่นับว่าเป็นอุตสาหกรรมของประเทศไทย ซึ่งเพียงแต่เป็นภาพลวงตาทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้เกิดอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ในประเทศเบื้องต้น (Gross Domestic Product : GDP) ปีละไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปฏิวัติต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสถานภาพ จากการพึ่งพาการนำเข้าและการเป็นฐานการผลิตสินค้าทุน วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง และสินค้าอุปโภคบริโภค มาเป็นประเทศผู้ผลิตและตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่นเสียเอง เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตของ ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ที่มีคนไทยเป็นเจ้าของกิจการและเจ้าของสิทธิบัตร เพื่อให้ทั้ง 2 ภาคนี้ เป็นตัวดูดซับแรงงานภาคเกษตรให้ลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 10 ของแรงงานทั้งหมด พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาช่วยในการผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง


ช่องทางที่จะใช้แก้ไขปัญหาข้างบนเพื่อมิให้ชาวชนบทเข้ามาแออัดทำมาหากินในเมือง และอยากกลับไปร่วมอยู่ร่วมสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่นของตน ด้วยจิตสำนึกที่รับผิดชอบต่อทรัพยากรและโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

1. การพัฒนาคนไทยให้มีคุณธรรมนำความรู้ โดยพัฒนาจิตใจควบคู่กับการพัฒนาการเรียนรู้ของคนทุกกลุ่มทุกวัยตลอดชีวิต ตั้งแต่วัยเด็กให้มีความรู้พื้นฐานเข้มแข็ง มีทักษะชีวิต พัฒนาสมรรถนะ ทักษะของกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการ พร้อมก้าวสู่โลกของการทำงานและการแข่งขันอย่างมีคุณภาพ สร้างและพัฒนากำลังคนที่เป็นเลิศโดยเฉพาะในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและองค์ความรู้ ส่งเสริมให้คนไทยเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จัดการองค์ความรู้ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้สมัยใหม่ตั้งแต่ระดับชุมชนถึงประเทศ สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

2. เสริมสร้างสุขภาวะคนไทยให้มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ เน้นการพัฒนาระบบสุขภาพอย่างครบวงจร มุ่งการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน การฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ เสริมสร้างคนไทยให้มีความมั่นคงทางอาหารและการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ลด ละ เลิกพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ และการเสริมสร้างคนไทยให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข โดยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคนในสังคมบนฐานของความมีเหตุมีผล ดำรงชีวิตอย่างมั่นคงทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน พัฒนาระบบการคุ้มครองทางเศรษฐกิจและสังคมที่หลากหลายและครอบคลุมทั่วถึง สร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน ส่งเสริมการดำรงชีวิตที่มีความปลอดภัย น่าอยู่ บนพื้นฐานของความยุติธรรมในสังคม เสริมสร้างกระบวนการยุติธรรมแบบบูรณาการและการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังควบคู่กับการเสริมสร้างจิตสำนึกด้านสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองและความตระหนักถึงคุณค่าและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพื่อลดความขัดแย้ง

3. การจัดการองค์ความรู้ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ระดับชุมชนถึงระดับประเทศ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของคนไทยและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากการปฏิบัติจริงร่วมกับปราชญ์ ผู้รู้ และผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์ผ่านศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน และผลักดันให้เป็นวิชาในการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษา

4. นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างเป็นระบบ และนำไปผลิตสินค้าและบริการ สร้างรายได้ให้ชุมชน ควบคู่กับการทำวิจัยพื้นบ้านที่นักวิจัยในชุมชนร่วมกับสถาบันการศึกษาและภาครัฐ รวมทั้งจัดระบบการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้เชิงลึก

5. การจัดการความรู้ระดับประเทศ ที่มุ่งสร้างศักยภาพทางการแข่งขันในเวทีโลกบนฐานของการพึ่งตนเองตามศักยภาพของคนไทยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาทุกสาขาให้ผลิตองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง และผลักดันไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่สามารถเพิ่มผลิตภาพการผลิต สร้างสรรค์คุณค่า พัฒนาคุณภาพชีวิต อนุรักษ์และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยปรับมาตรการจูงใจทางการเงินการคลัง ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาให้พัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พัฒนานวัตกรรมที่นำไปสู่การพึ่งตนเอง สามารถลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และปรับระบบจูงใจด้านการเงิน พร้อมกับจัดการทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นระบบ ให้ความสำคัญกับการคุ้มครอง การแบ่งปันผลประโยชน์ การนำองค์ความรู้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ มีองค์กร กลไก รับผิดชอบโดยตรง

6. เสริมสร้างครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง มีสัมพันธ์ภาพที่ดี เกิดความอบอุ่น รักษา สืบทอดวัฒนธรรมและค่านิยมที่ดีสู่คนรุ่นต่อไป

- ส่งเสริมการออมระดับครัวเรือนที่มุ่งลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ โดยกระตุ้นให้คนไทยมีการออมในรูปแบบต่างๆ อาทิ พันธบัตรรัฐบาล อสังหาริมทรัพย์ การประกันชีวิตและสุขภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตและส่งผลให้การออมรวมของประเทศมีเพียงพอที่จะนำมาลงทุนพัฒนาประเทศ

- เสริมสร้างกระบวนการยุติธรรมแบบบูรณาการและบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งส่งเสริมการใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือกอย่างจริงจัง ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส เด็กและสตรี ป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติด

- เสริมสร้างจิตสำนึกด้านสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง ภายใต้กรอบกฎหมาย จารีตประเพณี วัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ สร้างความตระหนักถึงคุณค่าและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทั้งของตนเองและผู้อื่น ส่งเสริมความเสมอภาคของบทบาทหญิงและชาย โดยเฉพาะบทบาทผู้หญิงในการบริหารและการปกครองทุกระดับให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในทุกระดับโดยใช้หลักคุณธรรมและจริยธรรมเป็นเครื่องมือ

- คนไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงในด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แม้คดียาเสพติดมีแนวโน้มลดลงแต่พัฒนาการของยาเสพติดและการค้าในรูปแบบใหม่เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมรับมือ อาทิ เช่น ทางอินเตอร์เน็ต ไปรษณีย์ ขณะเดียวกันการก่ออาชญากรรมยังมีแนวโน้มสูงขึ้น

7. นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ สนับสนุนให้ทุกคนในสังคมเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง และนำไปปฏิบัติใช้ในการดำเนินชีวิตและบริหารจัดการธุรกิจ อย่างถูกต้องและทั่วถึง

8. ให้ทุกคนได้รับหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมที่หลากหลายประเภทอย่างทั่วถึง สามารถป้องกันและบรรเทาความเสี่ยงที่เผชิญได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการประกอบอาชีพ สร้างรายได้และการดำรงชีวิตให้มีความมั่นคง

สรุปเลือกใช้แนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อมิให้ชาวชนบทเข้ามาแออัดทำมาหากินในเมือง และอยากกลับไปร่วมอยู่ร่วมสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่นของตน ด้วยจิตสำนึกที่รับผิดชอบต่อทรัพยากรและโครงสร้างเศรษฐกิจไทยโดยเลือกวิเคราะห์ศักยภาพทางสังคมไทยไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยใช้องค์ประกอบโครงสร้างของสังคม 6 มิติ คือ มิติทางเศรษฐกิจ ด้านการเกษตร การอุตสาหกรรม พาณิชกรรม การท่องเที่ยวการบริการการค้าเสรี มิติทางสังคม ชนบท และเมือง มิติทางวัฒนธรรมมิติทางการเมืองการปกครอง ระบบประชาธิปไตย การกระจายอำนาจและธรรมาภิบาล มิติสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ กระแสโลการภิวัตน์ และมิติเทคโนโลยี คอมพิเตอร์ นาโน สารสนเทศ อินเทอร์เน็ต ซึ่งเกิดวิกฤตจากโครงสร้างของสังคมมิติต่างๆ ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมล่าช้า จึงเสนอกลยุทธ์ช่วยแก้ไขปัญหาชาติให้พ้นวิกฤตได้โดย การพัฒนาคนไทยให้มีคุณธรรมนำความรู้ เสริมสร้างสุขภาวะคนไทยให้มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ การจัดการองค์ความรู้ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น การจัดการความรู้ระดับประเทศ ที่มุ่งสร้างศักยภาพทางการแข่งขันในเวทีโลกบนฐานของการพึ่งตนเองตามศักยภาพของคนไทย เสริมสร้างครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง มีสัมพันธ์ภาพที่ดี นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ ให้ทุกคนได้รับหลักประกันความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมที่หลากหลายประเภทอย่างทั่วถึงทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาการย้ายถิ่นของประชาชนในชนบทเข้ามาทำงานในเมืองจนขาดสมดุลนั่นเอง


By Phatrsamon Rattanangkun


บทความที่เกี่ยวข้อง:

No comments:

Post a Comment

Total Pageviews