.

Mar 18, 2009

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ใครได้ ใครเสีย

จากแนวคิดประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นหลายพันปีที่ผ่านมา สามารถพิสูจน์ได้ว่าประชาธิปไตยได้กล่าวถึงในฐานนะอุดมการณ์ รูปการปกครอง และในฐานะวิถีทางดำเนินชีวิต สำหรับประชาธิปไตยของระบอบการปกครองที่ใช้อยู่ในโลกปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมต่างก็ยึดตามคติพจน์ของ อับราฮัม ลินคอล์น (Abrahan Lincoln ค.ศ. 1809-1865) อดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาที่กล่าวว่า “ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” เนื่องจากประชาชนพลเมือง (Citizen) เป็นทั้งเจ้าของอำนาจปกครอง เป็นผู้ใช้อำนาจนั้นเอง และเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาเองด้วย

นักรัฐศาสตร์อเมริกันชื่อ W.J.M. Mackenize ได้เริ่มการศึกษาเป็นครั้งแรกในเรื่อง กลุ่มผลักดัน (Pressure Groups) เมื่อ ค.ศ. 1920 โดยเขาได้ศึกษาถึงทฤษฎีพหุนิยมซึ่งกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในสหรัฐอเมริกาซึ่งทฤษฎีนี้มีความเชื่อว่าถนนที่จะไปสู่ประชาธิปไตยจะต้องอาศัยทฤษฎีพหุนิยม

ทฤษฏีพหุนิยม

โดยหลักการของทฤษฏีนี้คือ ประชาธิปไตยจะมีขึ้นและมั่งคงอยู่ได้ด้วยการมีกลุ่ม สมาคม สันนิบาต องค์การ สหพันธ์ต่าง ๆ มากมายหลากหลายภายในรัฐ เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นมา และมีวิธีการดำเนินการที่เป็นไปโดยเสรี รวมถึงกลุ่มที่เรียกว่า

• กลุ่มผลักดัน (Pressure groups) • กลุ่มผลประโยชน์ (Interest Groups) • กลุ่มอุดมการณ์ (Ideological Groups)

โดยกลุ่มผลประโยชน์ (Interest Groups) นั้นพิจารณาตามหลักของความเป็นจริงจากพฤติกรรมแล้วเป็นการรวมตัวของกลุ่มชนที่มีผลประโยชน์ได้ยึดถือเอาแนวอาชีพเดียวกันเป็นหลัก เมื่อการรวมตัวกันดำเนินไปได้ด้วยดี มีการจัดองค์การที่ดี มีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะสามารถสร้างพลังและเปลี่ยนแปลงกลายเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพล (Influence) และอำนาจ (Power) เหนือรัฐบาล เหนือผู้บริหารประเทศได้ ศาสตราจารย์แกรแฮม วู๊ดตั้น (Graham Wootton) แห่งมหาวิทยาลัย Tuffts สหรัฐอเมริกา ได้อธิบายความหมายของกลุ่มผลประโยชน์ไว้ว่า

กลุ่มผลประโยชน์

คืออกลุ่มทุกกลุ่มหรือองค์การทุกองค์การที่แสวงหาอิทธิพลเหนือนโยบายสาธารณะ (Public Policy) ตามวิธีทางที่กำหนด ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธที่จะรับผิดชอบโดยตรงที่จะปกครองประเทศ กลุ่มผลประโยชน์เป็นของผู้ร่วมทัศนะที่ได้ทำการเรียกร้องต่อกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม และเมื่อใดที่กลุ่มผลประโยชน์นี้กระทำการเรียกร้องข้อเสนอของตน โดยผ่านสถาบันใด ๆ ของรัฐบาลก็ตาม กลุ่มผลประโยชน์นี้จะกลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง (Political Interest Groups) และเมื่อใดที่กลุ่มผลประโยชน์ปฏิบัติการในระดับการเมือง กลุ่มนี้จะถูกเรียกว่ากลุ่มผลักดัน (Pressure Groups)

กลุ่มผลักดัน

คำว่ากลุ่มผลักดัน (Pressure Groups) เป็นองค์การผลประโยชน์ของกลุ่มชน ซึ่งสมาชิกได้มีส่วนร่วมในทัศนะ มีเป้าหมาย และกิจการตามโครงการของกลุ่มในอันที่จะมีอิทธิพลเหนือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือรัฐบาล และมีอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐบาล กลุ่มผลักดันหรือกลุ่มอิทธิพลนี้มิได้มีเป้าหมายเหมือนกันกับพรรคการเมือง ที่ว่า พรรคการเมืองต้องการชัยชนะ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศ แต่กลุ่มผลักดันนั้นมีเป้าหมายใหญ่คือผลประโยชน์ในการเป็นเจ้าของหรือมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลที่จะมีผลโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อสมาชิกของกลุ่มตน กลุ่มผลักดันหรือกลุ่มบีบบังคับนี้มีเจตนาที่จะแสวงหาอิทธิพลหรือมีอำนาจเหนือบรรดาบุคคลต่าง ๆ ที่อยู่ในอำนาจ และไม่ได้หมายความว่าจะส่งคนของกลุ่มเข้าไปใช้อำนาจเสียเอง คือการเข้าไปอย่างไม่เป็นทางการ ตามสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน

ความเป็นมาของกลุ่มผลประโยชน์

ลักษณะโครงสร้างของกลุ่มผลประโยชน์ดั้งเดิม นอกจากจะเป็นกลุ่มอาชีพเก่าแก่ของมนุษย์ เช่น แพทย์ นักกฎหมายแล้วโครงสร้างเกี่ยวกับจำนวนและผู้นำก็มีลักษณะสอดคล้องกันกับพรรคการเมืองดั้งเดิม กล่าวคือจำนวนสมาชิกของกลุ่มมีจำนวนไม่มาก เนื่องจากผู้ประกอบอาชีพแพทย์ หรือนักกฎหมายนั้นมีไม่มาก จึงเป็นกลุ่มของชนชั้นหนึ่งของสังคม ที่มีบทบาทและความสำคัญ สำหรับผู้นำของกลุ่มนั้นเป็นผู้มีบารมีอาวุโสสูง ลักษณะก็เช่นเดียวกันกับพรรคการเมืองแบบคอรัส หรือคณะกรรมการในพรรคการเมือง และนอกจากนี้ยังมีผลต่อกลุ่มผลประโยชน์ในทางการเมือง ที่รวมกันโดยเหตุผลทางการเมือง คือมีผลประโยชน์ร่วมกันในทางอุดมการณ์ทางการเมืองกลุ่มผลประโยชน์สมัยใหม่เมื่อพิจารณาโครงสร้างของกลุ่มในเรื่องผู้นำกลุ่ม และสมาชิกของกลุ่มแล้ว จะเห็นว่ามีสมาชิกเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก กลุ่มผลประโยชน์แบบดั้งเดิม เป็นลักษณะที่เป็นมวลชนคล้ายกันกับพรรคการเมืองมวลชน ส่วนผู้นำของกลุ่มผลประโยชน์นี้จะได้ตำแหน่งโดยการต่อสู้ทางการเมืองภายในกลุ่ม ทำให้กลุ่มมีลักษณะของการเป็นประชาธิปไตยมากกว่ากลุ่มอื่น และที่น่าสนใจเป็นพิเศษมาดูกันค่ะ

การเปลี่ยนแปลงจากกลุ่มผลประโยชน์ไปสู่พรรคการเมือง

*กรณีในประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงสภาพของกลุ่มผลประโยชน์ไปสู่การเป็นพรรคการเมืองเด่นชัดข้นในระยะหลังการเปลี่ยนแปลง เดือนตุลาคม 2516 โดยการเปลยนแปลงจากกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปสู่การเป็นพรรคการเมืองเช่น จากกลุ่มชาติไทยไปเป็นพรรคชาติไทย กลุ่มคึกฤทธิ์-บุญชู เป็นพรรคกิจสังคม หรือการเปลี่ยนจากกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมืองไปสู่พรรคการเมือง เช่น กลุ่มนวพล กลายเป็นพรรคประชาเสรี กลุ่มต่อต้านคอมมูนิสต์ของ กอ.รมน. เป็นพรรคปวงชนชาวไทย กลุ่มผลประโยชน์เป็นกลุ่มของผู้ที่มีอาชีพเดียวกัน มีอุดมการณ์อันเดียวกัน มีจุดหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มแต่เมื่อใดที่กลุ่มไปมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะ (Public Policy) ของรัฐบาล กลุ่มนั้นจะเริ่มมีลักษณะของการมีอิทธิพล และมักจะเรียกว่า กลุ่มอิทธิพล หรือกลุ่มผลักดัน (Pressure groups) ซึ่งกลุ่มผลประโยชน์นั้นถือว่ามีความจำเป็นต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง ดังตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา และอีกหลาย ๆ ประเทศในยุโรป ในบางประเทศในช่วงที่ไม่มีพรรคการเมือง เช่น กรณีเกิดวิกฤตการณ์ต่าง ๆ กลุ่มผลประโยชน์ก็ทำหน้าที่แทนพรรคการเมืองในการรักษาผลประโยชน์และเป็นปากเสียงแทนประชาชนพลเมืองในแต่ละกลุ่ม

ศาสตราจารย์มอริส ดูแวร์เซ่ ได้แบ่งกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอำนาจผลักดันออกเป็น 4 กลุ่มคือ
1.กลุ่มผลักดันเฉพาะกรณี

กลุ่มผลักดันเฉพาะกรณี (Exclusive Groups) คือกลุ่มหรือองค์การที่มีจุดประสงค์ที่จะรักษาผลประโยชน์ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะอย่างเดียวและอย่างจริงจัง เช่นเป้าหมายของกลุ่มจะมุ่งเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับการเมืองและนโยลายของรัฐ คืออยู่ภายในขอบเขตของการเมืองและนโยบายของรัฐเพื่อที่จะบีบบังคับผลักดันฝ่ายบ้านเมือง หรือฝ่ายปกครองเท่านั้น กลุ่มผลักดันเฉพาะกรณีนี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะของการเป็นกลุ่มบีบบังคับทางการเมือง
2. กลุ่มผลักดันบางส่วน (Partial Group) คือกลุ่มผลประโยชน์กิจกรรมบางอย่างของกลุ่มที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือนโยบายของรัฐ ส่วนกิจกรรมหลักของกลุ่มจะต้องมิใช่เรื่องของการเมืองหรือนโยบายของรัฐ กลุ่มผลักดันบางเรื่องนี้มักจะได้แก่กลุ่มผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ


3. กลุ่มผลักดันเอกชน (Private Groups) กลุ่มผลักดันนี้ เกิดขึ้นโดยสถาบันของเอกชน เช่นธุกริจเอกชน บริษัท ห้างร้าน หน่วยการผลิต ความคิดกลุ่มผลักดัน


4. กลุ่มผลักดันมหาชน (Public Groups) หมายถึง กลุ่มที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และยอมรับกันว่าในบางครั้งหน่วยงานของรัฐมีวิธีปฏิบัติกิจกรรมคล้ายกับวิธีการของกลุ่มผลักดันเพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของกลุ่ม โดยการบีบบังคับหรือใช้อิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐ กลุ่มผลักดันมหาชนหรือ กลุ่มผลักดันสาธารณะ


กลุ่มผลักดันแฝง

คำว่ากลุ่มผลักดันแฝงนั้นตรงกับคำอังกฤษว่า pesudo pressure groups เป็นกลุ่มลักษณะกลุ่ม องค์การ ชมรม ที่มิได้จัดอยู่ในลักษณะของกลุ่มผลักดันจริง เป็นองค์การที่จัดตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการบริการด้านต่าง ๆ แก่ประชาชนทั่วไป เช่น กลุ่มของนักวิชาการบีบบังคับทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง แต่กระทำไปเพื่อผลประโยชน์ของผู้อื่น เป็นลักษณะที่จะต้องมีค่าจ้างตอบแทน การบริการนั้นกลับไปมีผลในการบีบบังคับทางการเมือง กลุ่มผลักดันแฝง หรือกลุ่มผลักดันเทียม

ศาสตราจารย์มอริส ดูแวร์เซ่ ได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้

1. กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เป็นกลุ่มบุคคลที่เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง แม้ว่าบทบาทของกลุ่มจะสามารถบีบบังคับ 2. กลุ่มสื่อสารมวลชน หมายถึงกลุ่มผลักดันแฝงกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในสภาวะสังคมในปัจจุบันได้มีความเจริญในด้านเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ศิลปวิทยาการสมัยใหม่ ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของสังคมผิดแผกไปจากศตวรรษก่อน ๆ มาก สื่อสารมวลชนอันได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และวิทยุโทรทัศน์ ได้รับการพัฒนาขึ้นทั้งทางคุณภาพและปริมาณ เป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารที่สำคัญซึ่งจะขาดไม่ได้ เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์ รองจากเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และอาหาร ฉะนั้นในบางกรณีก็ยอมรับกันว่าสื่อมวลชนดังกล่าวนี้มีลักษณะเป็นสถาบันที่มีความสามารถบีบบังคับเหมือนกันกับกลุ่มผลประโยชน์อื่น ๆ ซึ่งตามสภาพความเป็นจริงแล้ว ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ และวิทยุโทรทัศน์ เป็นสถาบันทางเทคนิคแต่กลับมีบทบาทในการบีบบังคับทางการเมือง จึงต้องมองสื่อมวลชนใน 2 ฐานะคือเป็นทั้งหน่วยธุรกิจการค้า และกลุ่มผลักดันแฝง

กรณีประเทศไทยกล่าวถึงการรวมตัวของกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม-กลุ่มพันธมิตรฯ ในการโค่นล้มระบอบทักษิณจากกรณี นายสนธิ ล้มทองกุล กลุ่มหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และบริวาร รวมถึงความร่วมมือกับกลุ่มองค์กรภาคประชาชนเพื่อขับไล่อดีตนายกฯ ทักษิณ โดยเริ่มที่การเรียกร้องการใช้มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญปี 40เพื่อขอนายกพระราชทาน ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มแนวร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกลุ่มหนึ่งที่ชั่วโมงนี้ใครไม่พูดถึงไม่ได้ค่ะ ประเด็นคือมาวิเคราะห์กันว่าการรวมกลุ่มของพันธมิตรฯ เริ่มต้นโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุลนั้น เป็นเกมส์ ล้างแค้นเฉพาะกิจหรือเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของเขากันแน่? ประเด็นความสงสัยเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นค่ะ หากเหตุการณ์การปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองซึ่งจากการประมาณการถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ตัวเลขความเสียหายยับเยินไปถึง 2แสนเก้าหมื่นล้านบาท โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ”พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”

กันยายน 2548 มีการถอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ดำเนินรายการโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล และนางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์ ออกจากช่อง 9 จึงเกิดรายการเมืองไทยสัญจรที่สวนลุมพินี ก่อนย้ายไปลานพระบรมรูปทรงม้าและกลายเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในที่สุด โดยอ้างว่าเป็นการต่อสู้ของสื่อมวลชนที่ถูกรัฐบาลรังแก เขาต้องการให้ข่าวสารข้อมูลที่เป็นจริงแก่ประชาชนแต่ถูกรัฐบาลปิดกั้น เขาต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อมวลชน สิทธิในการรับรู้ของประชาชน และไกลไปกว่านั้นเขาเห็นว่าสิทธิในการรับรู้ของประชาชนในประเทศนี้ต่ำเกินไป ดังนั้นต้องปฏิรูปการเมือง ทั้งๆที่แน่นอนที่สุดเขาไม่ใช่สื่อมวลชนคนแรกในประเทศไทยที่ถูกรัฐบาลทักษิณแทรกแซงปิดกั้น และการแทรกแซงสื่อเห็นได้ชัดเจนในยุคอดีตนายกฯ ทักษิณ นั้นเริ่มมาตั้งแต่ปี 2544 เสียด้วยซ้ำ จึงเป็นที่น่าสังเกตค่ะว่าทำไมสื่อมวลชนอื่นที่ถูกปิดกั้นหรือถูกแทรกแซงก่อนหน้านี้ ไม่มีใครเลือกวิธีต่อสู้แบบเขา โดยเหตุการณ์ที่เขาเปิดโปงความฉ้อฉลต่างๆ ของอดีตนายกทักษิณเมื่อเดือนกันยายน 2548 จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน หากไม่เกิดความขัดแย้งทางธุรกิจระหว่างเขาและอดีตนายกทักษิณ

โดยความขัดแย้งนั้นเริ่มการถูกปฎิเสธจากกรมประชาสัมพันธ์ โดยไม่ยอมให้ทีวีของเขาเกาะสัญญาณแอบเป็น 11newsอีกต่อไป และอีกกรณีคือการที่เขาพยายามให้บริษัทแมเนเจอร์มีเดียกรุ๊ปได้ออกจากแผนพื้นฟูฯ และนำบริษัทไทยเดย์เข้าตลาดหลักทรัพย์นั้นไม่ได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากอดีตนายกฯทักษิณ และนี่คือสาเหตุที่เขาเริ่มออกมา วิพากษ์วิจารณ์อดีตนายกฯและรัฐบาลอย่างกว้างขวาง และนี่คือผลที่ทำไมนักธุรกิจเจ้าของสื่อถึงได้ผันตัวเองมาเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยได้เลือกหยิบประเด็นการทำบุญประเทศในวัดพระแก้ว ที่ได้กล่าวว่าอดีตนายกฯทักษิณ ประพฤติไม่เหมาะสม ในการทำตัวตีเสมอพระมหากษัตริย์ โดย ใช้พระบรมมหาราชวังในการทำบุญ หรือโดยรวมคือพยายามโน้มน้าวให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า การกระทำที่เกิดขึ้นนั้นเพราะอดีตนายกฯทักษิณกำลังแข่งพระบารมีพระมหากษัตริย์ และได้ใช้คำขวัญในการเคลื่อนไหวปลุกระดมมวลชนในครั้งนี้ว่า สู้เพื่อในหลวง โดยอาวุธที่สำคัญที่เขาใช้ต่อสู้ในครั้งนี้ก็คือ เอเอสทีวี และหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ที่เขาเป็นเจ้าของนั่นเอง เหตุผลสำคัญที่นักเคลื่อนไหวจำนวนมากเลือกที่จะไม่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับพันธมิตรฯ คือ มองไม่เห็นประโยชน์ของการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองในลักษณะนี้ เนื่องจากกรณีประสบการณ์ในการต่อสู้ในยุค 14 ตุลาคม 2516 และ พฤษภาคม 2535 บอกให้รู้ว่ามีเพียงชนชั้นสูงในสังคมเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากเคลื่อนไหวของประชาชน เพื่อเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองในลักษณะนี้ และประชาชนที่ร่วมเคลื่อนไหวนั่นแหล่ะจะต้องตกเป็นฝ่ายเสียสละเลือดเนื้อเพื่อสิ่งที่จะได้มาของกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น โดยกระบวนการในการตัดสินใจขึ้นอยู่กับคน 5 คนเป็นหลัก ผู้แทนองค์กร 21 องค์กรทำหน้าที่ในการระดมประเด็น ความคิดเห็น เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองและทิศทางการเคลื่อนไหว เพื่อเสนอขึ้นสู่การตัดสินใจของทั้ง 5 คน แต่ในวงในของทั้ง 5 แกนนำนั้นมีอำนาจการตัดสินใจที่ไม่เท่ากัน จึงกลายเป็นว่าทั้งอดีตนายกฯ ทักษิณและนายสนธิ ต่างใช้พระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือห้ำหั่นซึ่งกันและกัน พยายามแสดงให้สาธารณะชนเห็นว่าเฉพาะตนและพวกพ้องเท่านั้นที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ส่วนฝ่ายตรงข้ามที่ลบหลู่พระราชอำนาจ และยังมีการใช้แง่มุมของกฏหมายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์หลัก กล่าวคือ เรียกร้องให้มีการใช้มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เพื่อเป็นแนวทางในการขอพระราชทานนายกรัฐมนตรีมาแทนทักษิณ แต่กระนั้นในเวลาต่อมาหลังจากพระมหากษัตริย์ มีพระบรมราชวินิจฉัยเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ว่าการใช้มาตรา 7 ตามแนวทางที่พันธมิตรเรียกร้องนั้นไม่สามารถทำได้เนื่องจากขัดกับรัฐธรรมนูญจึงทำให้ยุทธศาสตร์หลักแห่งการเคลื่อนไหวของพันธมิตรจบสิ้นลง โดยได้เบี่ยงเบนยุทธศาสตร์ไปในแนวทางอื่นที่เราคงทราบกันดี

มาดูแนวคิดจากเรื่องดังกล่าวกันต่อค่ะ จากการที่หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล พิธีกรชื่อดัง กับรสนา โตสิตระ-กูลสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพ-มหานคร นักเคลื่อนไหวทางสังคม ทางหน้าหนังสือพิมพ์นั้น ทำให้เห็นความคิดทาง การเมืองแบบแปลกๆ ในสังคมไทย หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ใช้เกณฑ์แนวคิดการเมืองแบบพวกฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมในสหรัฐฯ มาวิเคราะห์ ผลักให้สมาชิกวุฒิสภารสนาไปอยู่ฝ่ายซ้าย เพราะเหตุว่าเธอเคลื่อนไหวต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งณัฏฐกรณ์เห็นว่าเป็นการต่อต้านทุนนิยมเสรี ถ้าหากนิยมการแทรกแซงโดยรัฐก็สมควรไปเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่เปียงยาง ไม่ใช่กรุงเทพฯแต่สมาชิกวุฒิสภาโต้ว่า เธอไม่เพียงแต่จะไม่เป็นฝ่ายซ้าย แต่ยังออกจะขวาอีกด้วย เพราะเธอไม่ได้ต่อต้านทุนนิยมเสรี สิ่งที่เคลื่อนไหวนั่นเพียงแค่เพื่อธรรมาธิบาลและหลักนิติรัฐเท่า นั้นเอง ประการสำคัญเธอเห็นว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยสร้างดุลยภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ยั่งยืนและแน่ใจว่าประชาชนจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและสิ่งแวดล้อมได้รับการคุ้มครอง และเพื่อเป็นการแก้ข้อกล่าวหาว่าเธอเป็นฝ่ายซ้าย รสนาจึงตอบโต้ณัฏฐกรณ์ด้วยการอ้างถึงความนับถือและความชื่นชอบของเธอที่มีต่อบรรพบุรุษที่เป็นศักดินาของณัฏฐกรณ์เอง เช่นพระองค์เจ้าเทววงศ์วโรปกรณ์ ที่ได้นำพาประเทศชาติหลุดพ้นจากการเอาเปรียบของจักรวรรดินิยม

ปัญหาว่าว่าอันไหนอยู่ทางซ้ายอันไหนอยู่ทางขวาเป็นประเด็นที่มีพลวัตขับเคลื่อนค่อนข้างสูงมาก เนื่องจากพื้นฐานของการวัดนั้นขึ้นอยู๋กับสภาพกาลเทศะ ณ เวลานั้นๆ เสมอ ความคิดที่เคยเห็นว่าอยู่ซีกขวาในเวลาหนึ่งอาจจะย้ายไปอยู่ข้างซ้ายได้ในอีกเวลาหนึ่ง หรือความคิดที่อยู่ซีกซ้ายในสังคมหนึ่งอาจจะไปอยู่ข้างขวาในอีกสังคมหนึ่งก็เป็นได้

การแบ่งแยกความคิดทางการเมืองแบบซ้าย-ขวาไม่ได้เกิดขึ้นมานานนักในสังคมไทยโดยต้นกำเนิดความคิดมาจากยุโรป เริ่มเดิมทีก็แค่การเลือกที่นั่งในสภาเท่านั้น เริ่มจากในประมาณต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ตอนที่ฝรั่งเศสยังมีกษัตริย์ ขุนนางที่นั่งทางขวาของกษัตริย์เวลาประชุมมักเป็นพวกนิยมเจ้า อนุรักษนิยมไม่ค่อยชอบเปลี่ยนแปลงอะไรที่ขัดกับจารีตประเพณี ในขณะที่พวกที่นั่งข้างซ้ายมักจะเป็นฝ่ายค้านที่มีความคิดแบบราดิคัลชอบการเปลี่ยนแปลง ในที่สุดการจัดที่นั่งในสภานิติบัญญัติในเวลาต่อมาเลยนิยมจัดแบบนี้เป็นแม่แบบไป

ยุคเริ่มแรกฝ่ายขวาในยุโรปมักจะเป็นพวกขุนนางพวกนิยมเจ้า หรือพวกนิยมและรักษาผลประโยชน์ชนชั้นสูง ในขณะที่ฝ่ายซ้ายก็เป็นตรงกันข้ามกล่าวคือนิยมความคิดแบบเสรี หรือหากพูดให้ตรงก็คือสนับสนุนทุนนิยมเสรี (laissezfaire) และตลาดเสรี แต่ต่อมาในศตวรรษที่ 19 เกิดความคิดสังคมนิยมขึ้นมา พวกฝ่ายซ้ายหันไปนิยมแนวคิดนี้แล้วละทิ้งความคิดทุนนิยมเสรีให้ไปอยู่ฝั่งขวา เพราะในเวลานั้นพวกขุนนางหายไปการพิจารณาทิศทางการเมืองเรื่องซ้าย-ขวาในบริบทของสังคมไทยไม่ง่ายนักเพราะความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้เล่นไม่ค่อยมั่นคงหรือคงเส้นคงวาส่วนใหญ่แล้วมักจะแปรผันไปตามผลประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะหน้า คนที่เคยเป็นซ้ายย้ายไปอยู่ข้างขวา ส่วนคนที่เคยอยู่ซีกขวาหันไปจับมือกับคนที่เคยเป็นซ้าย นานวันเข้าเราก็แยกแยะไม่ออกว่าใครซ้ายใครขวา ในประเทศอื่นเราอาจจะไม่ค่อยเห็นเรื่องแบบนี้ แต่ในประเทศไทยเป็นสิ่งประหลาดและมันก็เกิดขึ้นแล้วที่อยู่มาวันหนึ่งสมัคร สุนทรเวช นักการเมืองอนุรักษนิยมขวาจัดคนสำคัญ กลายมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนที่แกนนำสำคัญส่วนหนึ่งเป็นอดีตแนวรวมพรรคคอมมิวนิสต์ และในทำนองเดียวกัน อดีตแนวร่วมคอมมิวนิสต์อีกเหมือนกันที่ไปยืนอยู่กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งมีแกนนำสำคัญเป็นพวกนิยมเจ้า ทั้งสองฝ่ายต่างเสนอแนวคิดทางการเมืองที่มีความโน้มเอียงไปทางซ้ายและขวาพอๆ กัน ต่างฝ่ายต่างเลือกใช้กลยุทธ์ในการต่อสู้ทางการเมืองของทั้งซ้ายและขวามาห้ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตาย
ฉะนั้นจะเห็นว่าหากจะถือเอาตัวบุคคลเป็นหลักนั้นค่อนข้างทำยากและสับสนไม่น้อยว่าการเมืองแบบซ้ายและขวาในสังคมไทยว่าเป็นอย่างไรกันแน่ แต่ขณะเดี่ยวกันหากจับจุดพิจารณากันที่ความคิดทางการเมืองจะทำให้เรามองเห็นได้ชัดเจนมากกว่า โดยในบริบทของสังคมไทยโดยทั่วไปมักจะถือว่า ความคิดอนุรักษนิยมเป็นความคิดทางการเมืองที่อยู่ซีกขวา ความคิดที่ก้าวหน้ากว่านั้นจะอยู่ซีกซ้าย แนวคิดการเมืองแบบอนุรักษนิยมเป็นแนวคิดที่นิยมการรักษาสถานะเดิม (status quo) ดังนั้นจึงมักแอบอิงอยู่กับสถาบันดั้งเดิมเป็นสำคัญ ซึ่งก็คือสถาบันกษัตริย์เป็นแก่นสารทางอุดมการณ์ เพราะสถาบันนี้เป็นสถาบันที่เป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครองมานานในสังคมไทยโดยเชื่อมโยงสถาบันกษัตริย์กับสถาบันราชการและกองทัพเข้ามาอยู่ด้วยกัน พวกอนุรักษนิยมจะมองว่าสถาบันหลักเหล่านี้เท่านั้นที่เป็นหลักให้แก่บ้านเมืองเรื่องชาติก็มักจะถูกผูกโยงเข้ากับสถาบันหลักเหล่านี้ พวกอนุรักษนิยมฝ่ายขวาจึงถือสิทธิว่าพวกตนรักชาติมากกว่าใคร และนิยมเอาลักษณะชาตินิยมในความหมายแคบๆ มาเป็นเครื่องมือในทางการเมืองเพื่อต่อต้านฝ่ายตรงข้ามด้วย และที่เป็นที่นิยมยอดฮิตใช้มากทุกยุคทุกสมัยคือ การกล่าวหาคนที่ไม่คล้อยตามพวกเขาในทางการเมืองว่าเป็นพวกไม่จงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ ไม่รักชาติ หรือถ้าถึงที่สุดแล้วในหลายกรณีพวกเขาจะพูดว่า พวกที่อยู่ตรงกันข้ามกับเขาไม่ใช่คนไทย
พวกอนุรักษนิยมไม่สู้จะไว้วางใจสถาบันการเมืองของประชาชนเท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาในรูปของพรรคการเมือง เพราะเห็นว่าสถาบันการเมืองของประชาชนมักต้องการอำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้องและความคิดทางเศรษฐกิจของอนุรักษนิยมไทยไม่ใช่ความคิดที่นิยมเศรษฐกิจเสรี พวกเขาชื่นชมเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่กับกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มที่เติบโตมากับราชการและรัฐวิสาหกิจ มากกว่าจะส่งเสริมเศรษฐกิจเสรีแบบสุดขั้วที่เปิดให้คนหลากกลุ่ม (แม้แต่ต่างชาติ) เข้ามามีส่วนร่วมกันอย่างกว้างขวาง การต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อรักษากิจการของรัฐ (หรือที่พวกเขาเรียกว่าสมบัติของชาติ) เหล่านี้ให้อยู่ในมือราชการหรือการบริหารของราชการต่อไปจึงฟังดูเป็นเหตุผลของพวกอนุรักษนิยมมากกว่าจะเป็นเหตุผลของฝ่ายก้าวหน้าที่เคยต่อต้านทุนนิยมในยุคที่กระแสสังคมนิยมขึ้นสูงนั่นเอง

โดยจากการที่เกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมขึ้นอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน อาจนำบริบทของทฤษฎีขบวนการทางสังคมใหม่ (New Social Movement –NSM) และทฤษฎีความขัดแย้ง(Conflict Theory )มาช่วยในการอธิบายได้ดังนี้

ทฤษฎีขบวนการทางสังคมใหม่ (New Social Movement -NSM)

กำเนิดของขบวนการทางสังคมใหม่ คือการวิพากษ์ทฤษฎีการระดมทรัพยากรว่า สนใจเฉพาะการตอบคำถามว่าขบวนการทางสังคมเกิดขึ้นอย่างไร ขณะเดียวกันก็วิพากษ์ทฤษฎีมาร์กซิสต์ ว่ามีข้อจำกัดในการอธิบายปรากฏการณ์/ขบวนการทางสังคมใหม่ๆ เช่น ขบวนการสิ่งแวดล้อม ขบวนการสิทธิสตรีและอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1960s และ 1970s (Donatella Della Porta and Mrio Diani, 1999:11) ซึ่งได้ทำให้เกิดคำถามในหมู่นักทฤษฎีในยุโรปกลุ่มหนึ่งว่า เหตุใดจึงเกิดขบวนการซึ่งมิได้มีฐานจากความขัดแย้งทางชนชั้นเหล่านี้ขึ้นมาอย่างกว้างขวาง (ผาสุก, 2544)
Alberto Melucci ได้ชี้ให้เห็นถึงการก่อตัวขึ้นของปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางสังคมหลังสมัยใหม่เหล่านี้ และเห็นว่าทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ที่ใช้อธิบาย คือทฤษฎีทางชนชั้นและทฤษฎีแนวการกระทำรวมหมู่ของสำนักอเมริกา หรือทฤษฎีการระดมทรัพยากร นั้นมีข้อจำกัด เนื่องจากสนใจแต่เพียงองค์กรการเคลื่อนไหว, ยุทธศาสตร์, ยุทธวิธี และความสำเร็จหรือความล้มเหลว การทำความเข้าใจปรากฏการณ์ของขบวนการทางสังคมโดยนักทฤษฎีซึ่งอธิบายภายใต้ทฤษฎีสังคมศาสตร์เท่าที่มีอยู่จึงให้คำตอบได้เพียงว่าขบวนการทางสังคมเกิดขึ้น “อย่างไร?”(How?) แต่ไม่อาจให้คำตอบได้ว่าเหตุใดหรือ ทำไม ขบวนการทางสังคมจึงเกิดขึ้น (Melucci,1985:214)

การตระหนักถึงความไม่เพียงพอของแนวการวิเคราะห์แบบชนชั้นดั้งเดิมนี้เอง ได้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของกรอบการวิเคราะห์ของสำนักคิดที่เรียกว่า “ขบวนการทางสังคมใหม่” เหตุที่ความขัดแย้งและการต่อสู้ทางชนชั้นเกิดจากลักษณะความสัมพันธ์ทางชนชั้นดังกล่าวนี้ ขบวนการทางสังคมที่เกิดขึ้น เช่น ขบวนการกรรมกร จึงถูกมองว่าเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น ในทัศนะของมาร์กซิสต์ต่อสู้ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อตำแหน่งทางภววิสัย(Objective location)และอัตลักษณ์ของจิตสำนึก(conscious identity)สอดคล้องต้องกัน สำนักมาร์กซิสต์ได้วิเคราะห์ว่าแหล่งที่มาสำคัญของการสร้างประวัติศาสตร์ความขัดแย้งหรือเชื้อปะทุของการกระทำรวมหมู่คือผลประโยชน์ทางวัตถุอันก่อให้เกิดตำแหน่งทางชนชั้น ซึ่งเชื่อมโยงการปะทะ-ประสานเข้ากับการเคลื่อนไหวทางสังคม การวิเคราะห์ของมาร์กซิสต์ที่พยายามเชื่อมโยงผลประโยชน์ของชนชั้น(class interests)เข้ากับความขัดแย้งทางสังคมและการเรียกร้องผลประโยชน์(articulation)อย่างเป็นเหตุเป็นผล จึงเป็นเรื่องของชนชั้น (Pakulski, 1995:57)

ในสายตาของกรอบการวิเคราะห์แบบขบวนการทางสังคมใหม่จึงเห็นว่า ข้อถกเถียงในเรื่องชนชั้นเริ่มตกต่ำลงหลังจากมีขบวนการทางสังคมใหม่ๆ เช่น ขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิแห่งความเป็นพลเมืองของชาวอเมริกัน (civil rights movements) ขบวนการสิ่งแวดล้อมในยุโรป ขบวนการศาสนาแบบยึดมั่นในคัมภีร์ศาสนาอิสลาม(fundamentalist movement)ในตะวันออกกลาง ขบวนการผู้หญิง (feminist movement )ฯลฯ ซึ่งขบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นโดยเชื่อมโยงกับกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และได้เปลี่ยนจากความขัดแย้งเดิมคือระหว่างชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพ มาเป็นการต่อสู้บนความต้องการผลประโยชน์และการจัดหาสวัสดิการ, การต่อสู้เพื่อให้รับรองความแตกต่างหลากหลาย, เพื่อให้รับรองสิทธิทางการเมือง, สิทธิในการปกป้องรูปแบบและวิถีการดำเนินชีวิต สิทธิในอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคคล สิทธิในการดำรงอยู่ของชุมชน ฯลฯ โดยใช้วิธีการต่อสู้ผ่านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ความขัดแย้งและปรากฏการณ์ทางสังคมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนี้เอง ได้นำมาสู่การขยายกรอบการวิเคราะห์แบบ “ขบวนการทางสังคมใหม่”(New Social Movement ) การเกิดขึ้นของขบวนการทางสังคมเหล่านี้จึงใหม่ในแง่ที่ว่า ไม่ได้ใช้อาชีพหรือชนชั้นเป็นตัวเชื่อมประสาน Offe ได้กล่าวว่าในการพัฒนาอุตสาหกรรม ระบบการเมืองจำเป็นต้องเพิ่มการควบคุมระบบเศรษฐกิจ และตรงพื้นที่รอยต่อระหว่างระบบการเมืองกับส่วนของสังคมประชาซึ่งยังไม่ได้ถูกทำให้เป็น “การเมือง” “พื้นที่สีเทา” ที่กำลังจะกลายเป็น “ส่วนการเมือง” นี้เอง ที่ขบวนการทางสังคมปรากฏได้ตัวขึ้นมา ขบวนการทางสังคมเป็นปรากฏการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และ/หรือขบวนการทางสังคมคือตัวกระทำการทางสังคมซึ่งช่วยทำให้พื้นที่อันเป็นของสังคมประชาได้เป็น “การเมือง” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ขบวนการทางสังคมช่วยทำให้ระบบการเมืองขยายกิจกรรม ไปสู่สังคมประชา และทำให้ระบบการเมืองสามารถปรับตัวเข้ากับการท้าทายใหม่ที่เป็นผลพวงมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรม(Princen,1994:51-52)

บริบทแห่งลักษณะสำคัญของขบวนการทางสังคมใหม่สมารถแบ่งได้ 3 ประการคือ

1.ขบวนการเหล่านี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของชนชั้นเดียว เหมือนในอดีตแต่เป็นการตอบโต้กับปัญหาและความขัดแย้งใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมซึ่งวางอยู่บนฐานหลากชนชั้น 2. เป็นขวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องที่ไม่ผ่านกลไกทางการเมืองที่ดำรงอยู่ เช่นพรรคการเมือง นักการเมือง หรือหวังพึ่งกลไกรัฐ เนื่องจากความขัดแย้งใหม่เหล่านี้ มีความซับซ้อนเกินกว่าที่สถาบันทางการเมืองในระบบจะจัดการได้ 3.ไม่ได้เป็นเรียกร้องผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เหมือนทฤษฎีกลุ่มผลประโยชน์ แต่ขบวนการทางสังคมใหม่นี้ต้องการสร้าง “กติกาหรือกฎเกณฑ์ชุดใหม่ในการดำรงชีวิต” อันเป็นการช่วงชิงการนำในการสร้างคำนิยาม/ความหมายชุดใหม่ให้กับสิ่งที่ต่อสู้ หรือเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างวาทกรรมชุดใหม่ในเรื่องนั้นๆ (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2540)
พฤทธิสาณ ชุมพล (2546: 339-341) ได้สรุปให้เห็นลักษณะสำคัญซึ่งเป็นความ “ใหม่” ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ไว้ 3 ประการคือ
1. เป็นขบวนการทางสังคมมากกว่าที่จะเป็นขบวนการทางการเมืองเพราะให้ความสนใจในเรื่องค่านิยมและวิถีชีวิตหรือเรื่องเชิงวัฒนธรรมมากกว่าและไม่ได้มุ่งที่จะเข้าไปมีส่วนในอำนาจรัฐหรือครองอำนาจรัฐ 2.มีฐานที่มั่นอยู่ในสังคมประชา โดยเน้นไปที่ลักษณะการอ้อมรัฐ(bypass the state) หรือเรียกได้ว่าไม่สนใจติดต่อหรือท้าทายอำนาจรัฐโดยตรง จึงมีลักษณะการทำกิจกรรมและลักษณะอุดมการณ์เชิงสัญลักษณ์(symbolic)เป็นหลัก 3.มีพยายามที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสังคม ทั้งโดยเปลี่ยนแปลงค่านิยม และโดยการพัฒนาวิถีชีวิต ขึ้นมาเป็นทางเลือก (alternative life-styles) หรือเป็นการสร้างสรรค์วิถีชีวิตใหม่ โดยการท้าทายค่านิยมแบเดิมๆ

ประพจน์โดยสรุปแห่งขบวนการสังคมใหม่ในประเทศโลกที่สามสามารถกล่าวได้ดังนี้

1. ขบวนการทางสังคมใหม่ในโลกที่สามมักถูกให้ความหมายว่า เป็นการตอบโต้ของประชาชนอย่างหลากหลายและกว้างขวางต่อวิกฤตการณ์ที่เกิดจากการพัฒนา ซึ่งเข้าไปรุกรานชีวิตชุมชนท้องถิ่น Kothari(1985) ได้ชี้ให้เห็นปรากฏการณ์ของขบวนการทางสังคมในโลกที่สามว่า เป็นความล้มเหลวของระบบการเมืองปกติ ทั้งสถาบันนิติบัญญัติ สถาบันบริหารหรือรัฐบาลที่ตั้งอยู่บนทฤษฎีการมีส่วนร่วมแบบที่เน้นการเลือกตั้ง โดยการมีส่วนร่วมนี้เป็นเพียงมายาคติ (myth) 2.การพัฒนาที่ส่งผลกระทบกับชีวิตชาวบ้าน โดยรัฐและทุนได้บุกเข้าไปในชนบทมากขึ้น ทำให้บทบาทของรัฐเพิ่มขึ้น รัฐจึงเข้าไปใช้อำนาจควบคุมขบวนการทางสังคมแบบรากหญ้า (grass roots movements) โดยที่ขบวนการการเคลื่อนไหวระดับรากหญ้า ไม่ได้เปิดพื้นที่ในการต่อสู้นอกรัฐ แต่เป็นความพยายามที่จะเปิดพื้นที่ของการเมืองนอกเวทีปกติ เพื่อที่จะจัดความสัมพันธ์กับรัฐใหม่ 3. ขบวนการทางสังคมรากหญ้าถูกมองว่าเป็นความพยายามที่จะสลายการครองความเป็นเจ้า สลายความโดดเด่น หรืออาจพูดได้ว่า ขบวนการทางสังคมในโลกที่สามคือวาทกรรมแห่งการต่อต้านการพัฒนา(anti-development discourse) (Escobar, 1992 : 431)

ทฤษฎีความขัดแย้ง (Conflict Theory )

ทฤษฎีการขัดแย้งของราล์ฟ ดาห์เรนดอ์รฟ ให้ชื่อโมเดลว่า Dialectical Conflict Perspective ในทัศนะของราล์ฟ ดาห์เรนดอ์รฟ องค์การสังคมคือ imperatively coordinated association เรียกย่อว่า ICA องค์การนี้มีขนาดต่างๆอย่างองค์การสังคมโดยทั่วไปตั้งแต่กลุ่มสังคม ชุมชนไปจนถึงสังคมมนุษย์ องค์การแต่ละขนาดประกอบด้วยบทบาทจำนวนหนึ่ง แต่ละบทบาทจะมีอำนาจบังคับผู้อื่นจำนวนหนึ่ง ดังนั้นในสายตาของราล์ฟ ดาห์เรนดอ์รฟ องค์การสังคมหรือไอซีเอของเขาเป็นเรื่องของความสัมพันธ์อำนาจและอำนาจในองค์การถือได้ว่าเป็นสิทธิอำนาจ (authority) เพราะบทบาทเหล่านี้เป็นของตำแหน่งที่ยอมรับกันในองค์การ ดังนั้น ความเป็นระเบียบทางสังคมจะดำรงอยู่ได้ก็โดยการพยายามซ่อมบำรุงกระบวนการสร้างความสัมพันธ์แห่งสิทธิอำนาจเอาไว้ สาเหตุของการขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงในสังคมเกิดจากการที่บางครั้งอำนาจมีอยู่น้อยหายาก กลุ่มย่อยต่างๆในไอซีเอจึงต้องแข่งขันต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจอันน้อยนั้น ถ้าเปรียบความคิดของราล์ฟ ดาห์เรนดอ์รฟ กับของมาร์กซ์แล้วจะเห็นความพ้องกันในความคิด ดังนี้

1.ทั้งสองเห็นพ้องกันว่าระบบสังคม (เข้าใจง่ายๆว่าคือสังคมมนุษย์) มีสภาพการขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง 2.ทั้งสองเห็นว่าการขัดแย้งนั้นเกิดจากการขัดกันในผลประโยชน์ ซึ่งติดเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสังคม 3.ทั้งสองเห็นว่าผลประโยชน์ที่ขัดกันนั้นสืบเนื่องมาจากการได้รับส่วนแบ่งอำนาจไม่เท่ากันระหว่างกลุ่มเหนือ (dominant) กับกลุ่มใต้ (subjugated) 4.ทั้งสองเห็นพ้องกันว่าผลประโยชน์ต่างๆ มีแนวโน้มที่แยกออกเป็นสองฝ่ายที่ขัดกัน 5.ทั้งสองเห็นว่าการขัดแย้งเป็นแบบวิภาษวิธี ซึ่งมติของการขัดแย้งครั้งหนึ่งจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่ตรงข้ามกันขึ้น อันจะส่งผลให้มีการขัดแย้งคราวต่อไปอีกภายใต้เงื่อนไขเฉพาะอย่างหนึ่ง 6.ทั้งสองเห็นพ้องกันว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นลักษณะที่ต่อเนื่องมาแต่โบราณ(ubiquitous)ของระบบสังคมและจะทำให้เกิดการขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในองค์การสังคมทุกระดับ ซึ่งเป็นเรื่องของวิภาษวิธี

ประพจน์โดยสรุปที่ราล์ฟ ดาห์เรนดอ์รฟ สร้างขึ้นในทฤษฎีขัดแย้งเชิงวิภาษวิธีของเขามีดังต่อไปนี้

1.การขัดแย้งมีโอกาสเกิดได้ หากสมาชิกของกลุ่มขัดแย้งรู้แน่ว่าผลประโยชน์ของตนคืออะไร และสามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อมุ่งผลประโยชน์นั้น 2.ความขัดแย้งจะเข้มข้นหากเงื่อนไขทางเทคนิค เงื่อนไขทางการเมือง และเงื่อนไขทางสังคม ในการรวมกลุ่มขัดแย้งเอื้ออำนวย 3.ความขัดแย้งจะมีความเข้มข้น หากการกระจายสิทธิอำนาจและรางวัลเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน 4.ความขัดแย้งจะมีความเข้มข้นหากการสับเปลี่ยนโยกย้ายบุคคลไปมาระหว่างกลุ่มที่ผู้มีอำนาจกับกลุ่มผู้ไม่มีอำนาจเป็นไปได้โดยยาก 5.ความขัดแย้งจะรุนแรง หากเงื่อนไขการรวมกลุ่มคนด้านเทคนิค ด้านการเมืองและด้านสังคมไม่อำนายหรืออำนวยให้ทำได้น้อย 6.ความขัดแย้งรุนแรง หากมีการเสียประโยชน์ในการแบ่งรางวัล สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนเกณฑ์จากเกณฑ์ตายตัว ไปเป็นเกณฑ์เชิงเปรียบเทียบหรือเกณฑ์จิตวิสัยเช่น ใครทำดีกว่าใคร ใครทำเก่งกว่าใคร 7.ความขัดแย้งจะรุนแรงถ้ากลุ่มขัดแย้งไม่สามารถจะสร้างข้อตกลงควบคุมการขัดแย้งระหว่างกันขึ้นมาได้ 8.ความขัดแย้งที่เข้มข้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและการจัดองค์การใหม่ขึ้นในองค์การสังคมแห่งการขัดแย้งนั้น 9.ความคิดขัดแย้งที่รุนแรงจะก่อให้เกิดอัตราการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและการจัดระเบียบใหม่ในองค์การสังคมที่เกิดการขัดแย้งนั้นอย่างสูง

จากเหตุการณ์ของการรวมตัวของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นต่อสังคมและตัวดิฉันเองหากเสียแต่ว่าไม่มีเหตุการณ์ปิดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศอย่างมหาศาลอันหาที่เปรียบไม่ได้อย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นวินาทีนี้หรืออาจต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ที่จะชดเชยความสูญเสียในครั้งนี้ได้ ด้วยการใช้ประเทศเป็นตัวประกันภายใต้การต้องการเอาชนะของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเช่นนี้ ดังประโยคที่พธม. ทิ้งท้ายไว้ว่า สงครามครั้งสุดท้าย เนื่องจากผู้ที่สูญสลายตัวจริงนั้นคือประเทศชาติ มิใช่คู่ต่อสู้ที่พธม. ต้องการเอาชนะแต่อย่างใดเลย
บทบาทที่แสนหนักจึงกำลังเกิดขึ้นกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย นายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จะต้องแสดงวิสัยทัศน์นำพาประเทศให้ข้ามผ่านวิกฤตที่เกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้ ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในส่วนขององค์กรระดับเอกชนหรือรัฐบาลโดยทั่วไป

ดังนั้นจึงสามารถอธิบายแนวทางแห่งการนำพาประเทศฝ่าวิกฤตด้วยบทบาทแห่งผู้นำในทุกระดับจากแนวคิดทฤษฎีต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. แนวคิดของ แจ๊ค เวลช์ (Jack Welch) ที่กล่าวไว้ว่า “มนุษย์เท่านั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด”
Business is about people. In fact life is only people-family, friends, colleages, bosses, teachers, coaches, neighbors. At the end of the day, its only people that matter.
Jack Welch in Winning

ประพจน์โดยสรุปของแนวคิดนี้คือผู้นำที่ดี จะต้องมี 4 บทบาทด้วยกันดังต่อไปนี้

1. Pathfinder เป็นผู้นำที่สร้างเป้าหมายให้พนักงานได้ดำเนินการไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคน ต่างทำ คนละเป้าหมาย เพื่อให้ทุกคนเดินไปในทางที่ถูกต้อง 2. Aligning All เป็นผู้นำที่ให้ทุกคนในองค์กรได้ปฏิบัติงานไปตามบทบาทหน้าที่อย่างพร้อมเพรียงกัน เปรียบเสมือนฟันเฟืองทุกตัวที่เดินไปพร้อมๆ กัน ในทิศทางเดียวกัน 3. Empower เป็นผู้นำที่ต้องบริหารแบบกระจายอำนาจให้แก่ลูกน้อง กล้าคิด กล้าทำ ด้วยตนเอง ให้เขากล้าตัดสินใจในอัตราที่เสี่ยงได้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกน้องเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของผู้นำได้ ทั้งยังเป็นการสร้างกลไกของสภาวะผู้นำในรุ่นต่อๆ ไป ขององค์กร 4. Role Model ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กร เป็นแบบอย่างที่ดีของลูกน้อง
ผู้นำต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง (Do the right things) ทำในสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดจรรยาบรรณ จริยธรรม และต้องสร้างแบบอย่างของการให้กับสังคม มีจิตสาธารณะเป็นองค์ประกอบและจะต้องมีความสามารถใน 2 ด้าน ประกอบกันคือ
1.มีความสามารถในการบริหารคน 2.มีความสามารถในการบริหารเงินจึงจะประสบความสำเร็จบรรลุเป้าหมาย เขาเชื่อว่าปัจจัยสำคัญที่จะบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้นต้องอาศัยปรัชญาความเชื่อใน 4 ปัจจัย (4E’s) ดังนี้ 1. Energy : ต้องมีพลัง มีความกระตือรือล้น บุคคลต้อง ทุ่มเทพลัง และตั้งใจทำงานอย่างเต็มความรู้ความสามารถ ให้กับองค์กร 2. Energize : ต้องมีการกระตุ้นให้เกิดพลัง เติมพลังได้ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อให้บุคคลแสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่ ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญกับผู้ร่วมงาน ต้องให้ความสนใจในสิ่งต่างๆ ทั้งปัจจัยจากรายได้ และสวัสดิการ รวมทั้งการสร้างบรรยากาศแวดล้อมที่ดีให้กับองค์กร 3. Edge : ต้องสร้างแรงผลักดัน ทั้งนี้ผู้บริหารต้องส่งเสริมความสามารถของบุคลากรในองค์กร ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถด้วยกระบวนการต่างๆ เช่น การอบรม การเพิ่มเติมความรู้ เป็นต้น 4. Execution : ต้องทำให้สำเร็จ
ผู้บริหารต้องผลักดันให้บุคลากรขององค์กรได้ทำงานที่มอบหมายให้สำเร็จผลอย่างมีประสิทธิภาพในปรัชญาความเชื่อใน 4E’s คือ ทั้ง 1. Energy 2. Energize 3. Edge 4. Execution นั้น ควรได้เพิ่ม E ที่ 5 เข้าไปด้วย คือ
Ethics ซึ่งหมายถึง ผู้บริหารจะต้องมีจริยธรรมในการทำงาน ควรสร้างค่านิยม สร้างวัฒนธรรมขององค์กรให้เป็นองค์กรที่มีคุณธรรม จริยธรรม การสร้างค่านิยมนี้ต้องสร้างตั้งแต่สถาบันครอบครัวจนถึงสถาบันการศึกษา ในระดับอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย เพราะค่านิยมดังกล่าวเมื่ออยู่ในตัวผู้บริหารหรือผู้นำแล้ว จะทำให้การบริหารบรรลุเป้าหมาย หากเป็นองค์กรก็เป็นองค์กรธรรมาภิบาล เป็นบุคคลก็เป็นบุคคลที่มีคุณธรรม เหล่านี้ล้วนสร้างให้สังคมเป็นสังคมคุณธรรม เป็นรัฐก็เป็นรัฐนิติธรรมอย่างสมบูรณ์ พิจารณาถึง การวัด ซึ่งเป็นการเพิ่มความเชื่อถือไว้วางใจนั้น เราสามารถพิสูจน์ได้โดยผ่านทางพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้นำที่เราคาดหวัง ซึ่งสิ่งนั้นคือวัดถึงความมีศักดิ์ศรี ความเปิดเผย ความจงรักภักดี ความสามารถทางจริยธรรม และ ความสม่ำเสมอ พฤติกรรมเหล่าสามารถสร้างบรรยากาศทางจริยธรรม ที่แสดงออกในการสื่อออกมาลักษณะของพฤติกรรม แนวคิดของ Butler and Cantrell (1984) ได้สรุปไว้ว่า การวัดพฤติกรรมทางจริยธรรมที่สร้างให้เกิดความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชนนั้นมุ่งพิจารณาได้ด้วยกัน 4 ประการคือ
1. ความมีศักดิ์ศรี มุ่งศึกษา ภาวะผู้นำทางจริยธรรม และ ความซื่อสัตย์ของข้าราชการระดับบุคคล 2. ความเปิดเผย วัดผ่านทาง ความพยายามในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมขององค์กรและข้าราชการระดับบุคคล 3. ความจงรักภักดี พิจารณาจาก การคำนึงและมุ่งปฏิบัติเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมและตามความต้องการของประชาชน (public needs) องค์กรและเจ้าหน้าที่ 4.ความสามารถทางจริยธรรม มุ่งสนใจ ความสามารถขององค์การสาธารณะที่จะพัฒนากระบวนการองค์กร (organizational process) ให้มั่นใจได้ในพฤติกรรมทางจริยธรรม
5. ความสม่ำเสมอของบริการ วัดจากความสามารถขององค์กรที่รักษาระดับการบริการและคุณภาพของบริการ

2. แนวคิดบทบาทผู้นำเพื่อสร้างปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ (Paradigm Shift)

ผู้นำยุคใหม่ที่จะสามารถพัฒนาองค์กรทางสังคมตนเองและของชาติให้ประสบความสำเร็จในยุคโลกาภิวัตน์ อันเต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิง การเรียนรู้สิ่งต่างๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ผู้นำสมัยใหม่ควรจะต้องฝึกฝนตนเองให้มีทักษะทางความคิด ซึ่งทักษะความคิดที่ดีที่สุดสำหรับผู้นำก็คือ ความคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking) เพื่อจะได้ใช้ประกอบกับความรู้ที่มี ในการคิดหาทางแก้ไขปัญหาและ หาแนวทางที่ดีที่สุดสำหรับทีมงานหรือองค์กรต่อไป
ประพจน์โดยสรุปแห่งแนวความคิดนี้ สาทารถแยกได้ป็นรูปธรรม 5 แนวคิดดังนี้คือ

1. ความคิดในมุมมองขององค์รวม (Holistic Thinking) และความคิดในเชิงบริบท (Context Thinking)
เป็นแนวความคิดเพื่อตอบโจทย์อย่างรอบคอบ หรือหาแนวความคิดให้ถ้วนถี่ เช่นการเดินหมากรุกแต่ละครั้ง ก็ต้องคิดไปถึงการเดินต่อไปของฝั่งตรงข้ามอีกหลายช๊อตว่าเขาจะเดินได้อย่างไรบ้าง และเขากำลังต้องการทำอะไร ขั้นตอนของการใช้ความคิดในมุมมองขององค์รวม (Holistic Thinking) และความคิดในเชิงบริบท (Context Thinking) ในการวิเคราะห์การเดินหมากรุกโดยอ้างอิงทฤษฎีระบบ ดังนี้
1. รวบรวมปัญหา (identify problem) ว่าจะแก้ไขอะไร เพื่ออะไร ในกรณีนี้ปัญหาคือการเดินหมากรุกแต่ละครั้ง เราจะต้องคิดไปถึงการเดินต่อไปของฝั่งตรงข้ามอีกหลายช๊อต ว่าเขาจะเดินไปได้อย่างไรบ้าง และเขากำลังต้องการทำอะไร 2. จุดมุ่งหมาย (objective) กำหนดจุดหมายเพื่อใช้แก้ปัญหาที่จะทำให้เราเป็นผู้ชนะในเกมนี้ 3. ศึกษาข้อจำกัดต่างๆ (constraints) พิจารณาขอบเขต เพื่อศึกษาข้อจำกัด ระบุหน้าที่ของส่วนต่างๆในระบบ ในที่นี้คือพิจารณาถึงกฎกติกาการเล่นหมากรุก ว่าหากทำอย่างนี้จะผิดกฎหรือไม่อย่างไร 4. ทางเลือก (alternative) ค้นหาและวิธีเดินหมาก ที่จะทำให้ได้เปรียบคู่แข่งขัน 5. การพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสม (Selection) เลือกวิธีเดินหมากที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราได้เปรียบคู่แข่งขัน
6. การทดลองปฏิบัติ (implementation) ทดลองทำก่อนปฎิบัติจริง 7. การประเมินผล (evaluation) ประเมินหาจุดดี จุดด้อย 8. การปรับปรุงแก้ไข (modification) ปรับปรุงส่วนที่บกพร่อง นำส่วนดีไปปฏิบัติต่อไป
2. การปรับเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) และการคิดล่วงหน้า (Forward Thinking)
"องค์กรที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็เปรียบเสมือนองค์กรที่กำลังจะตาย" คำกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงขององค์กรในเรื่องต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิด หรือป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องมีผู้นำที่มีแนวคิด การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในเชิงกลยุทธ์ (Paradigm Shift) และการคิดล่วงหน้า (Forward Thinking) ว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงปัจจุบันให้เหมาะกับอนาคต การมีวิสัยทัศน์ (Vision Shift) การดำเนินการจัดการ (management Shift) วางแผน กำหนดทิศทางขององค์กร (Direction Shift) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่พึงประสงค์ จำเป็นต้องมีผู้นำที่มีศักยภาพทางด้านความคิดเชิงกลยุทธ์ เพื่อจัดทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ เปลี่ยนแปลงองค์กรไปในทิศทางที่ถูกต้อง และ สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะกับอนาคต (Corporate Culture Shift) ไปพร้อมๆกัน
3. การมีวิสัยทัศน์ (Vision) และพันธกิจ (Mission)
ผู้นำแห่งองค์กรสมัยใหม่ (Modern Organization) ควรเน้นหนักทางด้านการกำหนด วิสัยทัศน์ (Vision) และ พันธกิจ (Mission) เนื่องจากมีผุ้บริหารน้อยคน ที่จะเข้าใจคำสองคำนี้ได้อย่างถ่องแท้ และ การกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กรที่มาจากผู้บริหารที่ไม่มีองค์ความคิด (Visionary Thinking) ก็จะกำหนดวิสัยทัศน์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้น ผู้บริหารที่จะมีวิสัยทัศน์ และ สามารถกำหนดพันธกิจ ได้เหมาะสม จึงต้องมีความสามารถทางด้าน วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง ทั้ง สภาพแวดล้อมภายนอกที่มีผลต่อองค์กร เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ และสภาพแวดล้อมภายใน เพื่อกำหนดพันธกิจ ให้เหมาะสมเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ที่กำหนดไว้

4. การมีความคิดในเชิงบูรณาการ (Innovative Thinking) และ ความคิดนอกกรอบ (Creative Thinking)
ผู้นำย่อมต้องใส่ใจและให้ความสำคัญต่อ Strategic Innovation หรือ นวัตกรรมทางกลยุทธ์ เพราะ หลีกเลี่ยงไม่ได้กับการพัฒนาเพื่อให้องค์กรประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันหากผู้นำมีมุมมองในเชิงบูรณาการ และการคิดนอกกรอบ ก็จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย เช่นองค์กรในอดีตที่รอดมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับ คอมพิวเตอร์ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา แต่องค์กรที่ล้มหายตายจากไป กลับมีมุมว่าเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ทั้งนี้ การสร้างความคิดที่เรียกว่า Strategic Innovation Thinking จะเป็นการสร้างมุมมองในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับ เทคนิคการพัฒนาเพื่อให้แตกต่าง (Creative Thinking & Innovation Thinking)
5. การวางแผนทางเลือก (Scenario Planning) และ การบริหารความเสี่ยง (Risk Management)
จากภาวะเศรษฐกิจมีความผันผวน ธุรกิจต่างๆจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับความผันผวนที่เกิดขึ้น ทั้งจาก สังคม เศรษฐกิจ คู่แข่ง รวมทั้งความต้องการของลูกค้า การวางแผนขององค์กรต่างๆ จึงต้องพึ่งนักบริหารหรือผู้นำที่มีมุมมองแนวคิดในเชิงความเปลี่ยนแปลงในอนาคต (Future Thinking) และ จัดทำแผนทางเลือก (Scenario Planning) ที่หลากหลายเพื่อมารองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในเหตุการณ์ต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น การคิดเชิงกลยุทธ์ จึงเป็นเครื่องมือที่จะมาใช้ประยุกต์ต่อ การสร้างแผนเพื่อตอบสนองกับ หรือการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันนั่นเอง ซึ่งทำให้เราจะได้ทราบถึง - การคิดเชิงกลยุทธ์ในการมองอนาคต - การสร้างทางเลือกเชิงกลยุทธ์จากวิธี Scenario - เทคนิคการสร้างแผนกลยุทธ์ด้วยการสร้างภาพในอนาคต
3. แนวคิดการบริหารประเทศให้อยู่รอดจากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
จากแนวคิดนี้ประเด็นหลักคือต้องไม่มองชุมชนในบริบทของชุมชนภิวัฒน์ (Localization) เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองให้ครอบคลุมในบริบทของภูมิภาคภิวัฒน์ (Regionalization) ด้วยและในอนาคตก็ต้องเตรียมคิดด้วยว่าชุมชนจะอยู่ในบริบทของโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ได้อย่างไรให้มองแบบภาพรวมไม่ใช่มองแค่ชุมชนภิวัฒน์หรือโลกาภิวัฒน์เพียงด้านเดียว แนวทางปฏิบัติหลักๆ คือ การผลักให้ชุมชนขยับจาก Suffer เป็น Survive (การอยู่รอด) และจาก Survive มาเป็น Sustain (ดำรงอยู่) ได้อย่างแท้จริง บริบทโดยสรุปแห่งแนวคิดนี้อาจกล่าวได้ดังนี้
1. พิจารณาถึงภูมิคุ้มกันว่าดีพอหรือยัง 2. มีการประมาณตนหรือไม่ 3. ใช้องค์ความรู้ ใช้สติในการบริหารจัดการ ซึ่งประเด็นคือการพิจารณาถึงจะทำอย่างไรให้ พลังขับเคลื่อน โลกาภิวัฒน์ และชุมชนภิวัตน์ กับ High Performance Economy กับ เศรษฐกิจพอเพียง อยู่ในดุลยภาพเชิงพลวัตรในทิศทางที่ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งจุดนี้เป็นประเด็นที่ท้าทายมาก ทุกภาคส่วนควรต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก การนำเอา 3 พลังขับเคลื่อนนี้มาพิจารณาร่วมกันบน Platform เดียวกันเพื่อตอบโจทย์ของความมั่งคั่งของชาติ เพื่อตอบโจทย์ของผลประโยชน์ของชาตินั้นจะทำให้เกิดกรอบความคิด เกิดยุทธศาสตร์แห่งการพัฒนาประเทศขึ้นมา และจะสามารถแปลงเป็นนโยบายที่ต้องรีบทำด้วยความรอบคอบซึ่งจะส่งผลแห่ง การเกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป
ฉะนั้นการบริหารประเทศสู่การพัฒนาให้เกิดความเข้มแข็งของคนในประเทศนั้นจึงต้องอยู่ในหลักของความสมดุล ซึ่งต้องสมดุลระหว่างภายในกับภายนอกประเทศด้วยคือ สมดุลระหว่างชุมชนกับโลก เป็นการสมดุลระหว่างมิติทางเศรษฐกิจกับมิติทางสังคม สมดุลทางวัตถุและจิตใจ สมดุลในมิติเชิงปริมาณและมิติเชิงคุณภาพเข้าด้วยกัน จึงจะสามารถนำพาประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤต ทั้งในและนอกประเทศที่เกิดขึ้นในขณะนี้ได้
ดังนั้นหากจะให้สรุปว่าการรวมกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้นควรสนับสนุนหรือไม่อย่างไรในกรณีที่ยกกลุ่มตัวอย่างพันธมิตรมา ณ ที่นี้ ดิฉันจึงมีความคิดว่าอยากให้ทุกคนได้ใช้เกณฑ์แห่งกามสุตรเป็นเครื่องช่วยในการตัดสินใจค่ะ เพราะนี่คือเครื่องมือชิ้นสำคัญเช่นกันที่ทำให้ตนเองได้ย้อนคิดและพิจารณาในเรื่องนี้
*ข้อคิดทิ้งท้ายแห่ง กาลามสูตร
ในขณะนี้ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนไทยมีความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกันมาก หนักข้อพูดจากันไม่รู้เรื่องถึงขั้นฆ่าแกงกันก็มี ที่เป็นเช่นนี้เพราะกลุ่มชนถูกปลูกฝังด้วยความเชื่อที่เป็นอวิชชาเพื่อกลุ่เหล่านั้นใช้ในการต่อกรกับกลุ่มอวิชชาตรงข้าม ดังนั้นเราจึงควรรีบหยุดทบทวนด้วยสติ ยับยั้งถึงความอ่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้นของเราให้ได้ โดยใช้ วิชชาที่ว่าด้วยกาลามสูตร เพื่อเราสามารถตรวจสอบความเชื่อนั้นๆได้ว่าสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ ความจริงแท้มีอยู่หนึ่งเดียว ไม่ใช่ความจริงแท้ที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพยายามกรอกหูเราอยู่ และหากเราเข้าใจถึงร่วมกันแล้ว สิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือ ความเข้าใจซึ่งกันและกัน อันนำไปสู่ความสามัคคีร่วมใจสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาชาติไทยของเราให้ดียิ่งๆขึ้นไป ด้วยสติและความตั้งมั่นในความจริงที่ปรากฎ หลักของกาลามสูตรก็คือ “อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบ ๆ กันมา อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่าได้ยินอย่างนี้ อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้ยึดถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา”
อาจกล่าวได้ว่าเราไม่ควรรีบเชื่อหรือยึดถือตามสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.ถ้อยคำที่ได้ยินมา หรือข่าวคราวที่แพร่สะพัด เช่น คนนี้เลว คนนั้นขายชาติ คนโน้นไม่จงรักภักดี เป็นต้น เพราะบ่อยครั้งถ้อยคำหรือข่าวนั้นเป็นการจงใจบิดเบือนหรือเป็นข่าวที่ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง เราจึงไม่ควรปักใจเชื่อจนก่อเกิดอคติหรือความหลงใหลได้ปลื้มกันแต่แรก 2. สิ่งที่เชื่อสืบกันมา หรือตำราเพราะอาจเป็นข้อสรุปที่ผิดหรือไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราจึงพึงระวังคนที่ชอบอ้างตำราหรือชอบยกคำพูดของคนดัง ๆ มาสนับสนุนความคิดของตน การกระทำเช่นนี้อาจเป็นเพราะเขาหาเหตุผลที่แท้จริงไม่ได้นั่นเอง 3. การเดาการคาดคะเนหรือการตรึกตรองตามอาการ เพราะการปลงใจเชื่อเช่นนั้นย่อมสร้างความเสียหายอันเกิดจากความเสี่ยง 4. ทิฐิของตัวเราเอง เช่น เราพบคนที่มีจริตหรือมีรสนิยมเหมือนเรา มีศาสนามีพื้นถิ่นหรือมีเชื้อชาติเดียวกับเรา เราก็อาจเลือกเชื่อเขามากกว่าคนอื่น 5. ผู้พูดที่สมควรจะเชื่อได้หรือผู้นั้นเป็นครูเรา เช่นอย่าเพิ่งรีบเชื่อเพียงเพราะคนพูดคืออดีตนายกฯทักษิณ หรือคุณสนธิ ลิ้มทองกุล
อีกประเด็นมาพิจารณาถึง ”วาระซ่อนเร้น” โดยแม้ความเข้าใจหรือความคิดเห็นที่แตกต่างกันของคนในชาติอาจทำให้เกิดการฆ่ากันตาย เพราะสาเหตุความขัดแย้งทางด้านความคิดในการสนทนา แต่นั่นก็ยังเป็นเพราะการขาดสติ ส่วนประเด็นสำคัญที่นำพาให้ความคิดขัดแย้งรุนแรงขนาดนี้น่าจะเกิดจากการถูกโน้มน้าว ชักจูง ตัวอย่างชัดเจนกรณี 6 ตุลาคม 2519 ที่การขัดแย้งได้เกิดจากผู้คนที่ได้รับข้อมูลจากกลุ่มสร้างสถานการณ์ก่อความไม่สงบโดยหวังผลเลิศเพียงเพื่อตนและพวกพ้องต้องการที่จะซื้อเวลาครอบครองอำนาจให้นานที่สุดเท่านั้นเอง
ดิฉันอยากทิ้งท้ายอีกเรื่องสำหรับการทบทวนความคิดของพวกเราทุกคนในการพิจารณาถึงประเด็นเหตุบ้านการเมืองของเราที่เกิดขึ้นก็คือ เราต้องไม่อายที่จะเปลี่ยนความเชื่อ ในเมื่อเราเห็นแล้วว่าสิ่งที่เราเชื่อนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ปรากฏ ณ ช่วงเวลาปัจจุบัน การที่เราก็เป็นเพียงแค่มนุษย์คนหนึ่งการตัดสินใจจากความคิดที่ผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องสงสัย ดังนั้นขึ้นอยู่ที่เรากล้าที่จะเปลี่ยนความคิด การตัดสินใจของตนเองหรือเปล่า สำหรับการเผชิญหน้ากับความจริงอันปวดร้าวที่กำลังปะทุขึ้นในใจเรา และในบ้านเมืองเราเท่านั้นเอง อย่าลืมสังคม ยังต้องการคนกล้า ไม่ว่าจะกล้าคิด กล้าทำ กล้าคิดนอกกรอบก็ตาม โดยพื้นฐานแห่งความกล้าที่เป็นบรรทัดฐานก็คือความถูกต้อง เที่ยงทำในกรอบของศีลธรรมและจริยธรรมเท่านั้นเอง จึงขอฝากถึงฝ่ายพันธมิตรฯ หรือฝ่ายอื่นใดก็ตามที่กำลังยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อของตนเองอย่างมาก และฝ่ายเดียวนั้น ลองดูค่ะใช้ความกล้าหาญทางศีลธรรมและจริยธรรมช่วยตรวจสอบตัวเราเองด้วยกาลามสูตร ผลที่ได้รับมีแต่จะเพิ่มพูน ไม่ว่าจะด้วยตัวคุณเองหรือตลอดจนประเทศชาติอันเป็นที่รักของพวกเราทุกคน




Keywords: ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม,  ทฤษฎีความขัดแย้ง, Conflict Theory , ทฤษฎีขบวนการทางสังคมใหม่ , ทฤษฏีพหุนิยม, กลุ่มผลักดัน, กลุ่มผลประโยชน์, กลุ่มอุดมการณ์ 

No comments:

Post a Comment

Total Pageviews