.

Jan 19, 2010

วิกฤติทุนนิยมเสรีและทิศทางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนของไทย



โดย ภัทรษมน รัตนางกูร


ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม คือระบบที่ชนชั้นนายทุน อาศัยความก้าวหน้าของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศยุโรป ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เช่น ทุน โรงงาน ไปจ้างแรงงานทำการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อนำไปจำหน่ายในระบบตลาด เพื่อหากำไรสูงสุด

ระบบทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ก้าวหน้ากว่าระบบศักดินา (ระบบเจ้าขุนนางไพร่) ได้เริ่มขยายไปทั่วโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ผ่านทางลัทธิอาณานิคมและการค้าระหว่างประเทศ โดยประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจการเมืองได้ช้ากว่า และมีปัญหาการเอาเปรียบภายในประเทศสูง เช่น สหภาพโซเวียตรัสเซีย ยุโรปตะวันออก จีน ได้ปฏิวัติโค่นล้มระบบศักดินาและทุนนิยม เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม คือระบบที่รัฐเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตแทนเอกชน และแบ่งปันผลผลิตกันโดยอาศัยระบบการวางแผนจากส่วนกลางมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1917

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ประเทศสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้นำระบบเศรษฐกิจทั้งสองแบบ คือ ทุนนิยม และสังคมนิยมต่างแข่งขันกันพัฒนาแบบคู่ขนานกันไป ช่วงแรกต่างคนต่างอยู่และต่างคนต่างหนุนช่วยกลุ่มคนในประเทศอื่น เช่น เกาหลี เวียดนาม ทำสงครามกันบ้าง แต่ไม่ได้รบกันโดยตรง จึงมักเรียกว่า สงครามเย็น คือเป็นสงครามทางอุดมการณ์การเมืองเป็นหลัก

เศรษฐกิจทุนนิยมโลกเติบโตในอัตราที่รวดเร็วมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ด้วยเหตุผลคือ

1. มีความเจริญก้าวหน้าด้านการขนส่งและโทรคมนาคมสูงมาก สามารถขนส่งสินค้าได้มาก เร็วและราคาต่ำ
2. มีการเปิดเสรีทางด้านการเงิน การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศสูงกว่ายุคก่อนหน้ามาก บริษัททุนนิยมข้ามชาติจากสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ ได้เติบโตและได้ขยายการผลิตการค้าอย่างซับซ้อน ทั้งไปตั้งโรงงานในประเทศต่างๆ ผลิตสินค้าชิ้นส่วนและสินค้าชั้นกลางในบางประเทศส่งไปประกอบในบางประเทศ และส่งไปขายทั่วโลกผ่านบริษัทในเครือข่ายของตัวเอง เพื่อหากำไรสูงสุดของบริษัท

การขยายตัวของทุนนิยมสมัยใหม่ในปลายศตวรรษที่ 20 เป็นไปอย่างสันติวิธี มากกว่ายุคล่าเมืองขึ้นในศตวรรษก่อนหน้านั้น และได้รับการต้อนรับจากรัฐบาลประเทศกำลังพัฒนา ที่เป็นตัวแทนของชนชั้นสูงและชั้นกลาง ที่ได้ประโยชน์ร่วมกับทุนต่างชาติ ทำให้การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศขยายตัวในอัตราทวีคูณ รวมทั้งการงทุนค้าขายแลกเปลี่ยนกันในด้านการศึกษา ข้อมูลข่าวสาร วัฒนธรรมด้วย ทำให้ประเทศต่างๆมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจสังคมอย่างใกล้ชิดมากขึ้นอย่างที่เรียกกันว่า โลกแคบลง หรือเป็นโลกที่ไร้พรมแดน

แม้แต่ค่ายประเทศสังคมนิยม เช่น รัสเซีย ยุโรปตะวันออก จีน เวียดนาม ที่เคยปิดตัวเองจากทุนนิยมโลก ก็เปลี่ยนนโยบายมาเปิดประเทศค้าขาย และเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลางเป็นระบบตลาด (ทุนนิยม) และเปิดให้ต่างชาติมาลงทุนได้อย่างเสรีมากขึ้น จนปัจจุบันกลุ่มประเทศที่เคยเป็นสังคมนิยมกลายเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจทุนนิยมโลกไปแล้ว แถมประเทศขนาดใหญ่อย่าง จีน รัสเซีย ยังเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยเพิ่มการผลิตและการบริโภคให้เศรษฐกิจทุนนิยมโลดได้เติบโตมากยิ่งขึ้น

ปัญหาของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่เกิดขึ้นคือ

1. การเน้นการพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรม รวมทั้งการทำให้การเกษตรเป็นแบบอุตสาหกรรม คือเน้นผลิตเพื่อขายและส่งออก ได้ทำลายทรัพยากรและสภาพแวดล้อม เช่น ป่าไม้ การใช้พลังงานจากฟอสซิล (น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน) ในโรงงานอุตสาหกรรม การขนส่ง การทำความร้อนความเย็น และการผลิตการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยด้านต่างๆ ได้ก่อมลภาวะในแผ่นดิน น้ำ อากาศ เกิดภาวะโลกร้อนหรืออุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น ภูมิอากาศแปรปรวน เกิดน้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ ฯลฯ เพิ่มขึ้น

2. มีการกระจายทรัพย์สินและรายได้อย่างไม่เป็นธรรมระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน และระหว่างคนรวยกับคนจนในประเทศส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความไม่สมดุลในสังคม เกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำเป็นระยะๆ เกิดสงคราม ความขัดแย้ง การก่อการร้าย ปัญหาอาชญากรรม

3. มีปัญหาการเอาเปรียบแรงงาน การเอาเปรียบผู้หญิง เด็ก ชนกลุ่มน้อย การโยกย้ายอพยพของแรงงานจากชนบทสู่เมือง จากประเทศยากจนสู่ประเทศร่ำรวย

4. มีปัญหาหนี้สิน ความยากจนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

5. มีการรวมศูนย์ทุนและกำไรในมือของบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ของนายทุนเอกชนจากประเทศร่ำรวยเพิ่มขึ้น จนอาจเรียกระบบโลกาภิวัฒน์ว่าเป็น Corporate Globalization คือ ระบบโลกาภิวัฒน์ที่ครอบงำโดยบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทที่ใหญ่ที่สุด อย่าง วอล-มาร์ต สโตร์ เคมเลอร์-ไครสเลอร์ มียอดขายปีละกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศขนาดกลางมี GDP อยู่อันดับที่ 21 ของโลก บรรษัทข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุด 200 บรรษัท มียอดขาย 27.5% ของ GDP ของโลกในปี ค.ศ.1999 และจ้างคนงานเพียง 0.78% ของแรงงานของโลก

บรรษัทข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดเหล่านี้มีอิทธิพลในระบบเศรษฐกิจการเมืองโลกมาก โดยเฉพาะต่อรัฐบาลประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งมีอิทธิพลในองค์การค้าโลก ธนาคารโลก และ IMF พวกเขาสามารถชี้นำให้รัฐบาลทุกประเทศทั่วโลกต้องแก้กฏหมาย และดำเนินเปิดทางเสรี ให้บรรษัทข้ามชาติเข้าไปลงทุนจ้างแรงงาน และใช้ทรัพยากรของประเทศเหล่านั้นในราคาต่ำ แต่ขายสินค้าให้ประเทศทั่วโลกในราคาสูง บรรษัทข้ามชาติยังแทรกแซงการเมือง สนับสนุนการโค่นล้มรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนา ที่มีนโยบายชาตินิยม สังคมนิยม เพราะบรรษัทข้ามชาติต้องการให้ประเทศต่างๆ เปิดทางให้ตนเข้าไปลงทุนและค้าขายทำกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้อย่างสะดวกเสรี การที่บรรษัททำกำไรและสะสมทุนได้มากขึ้น ทำให้พวกเขาต้องขยายการลงทุน เพื่อหากำไรและดอกเบี้ยตลอดเวลา

บรรษัทข้ามชาติอ้างว่าพวกเขาทำให้โลกเจริญเติบโตก้าวหน้าแต่จริงๆแล้ว พวกเขาทั้งเอาเปรียบชาวโลก และทั้งทำลายทรัพยากร สภาพแวดล้อม ทำให้ทั้งสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และสภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรมของโลกทรุดโทรมลง


อะไรกำลังเกิดขึ้นกับระบบทุนนิยม?

การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯมีขนาดใหญ่เกือบจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่เกิดขึ้นจึงมีขนาดใหญ่กว่าที่คาดคิด เม็ดเงินที่อัดฉีด เข้าไปในการแก้ไขปัญหามีสภาพที่เรียกว่า “ถมเท่าไหร่ ก็ไม่เต็ม” ซึ่งเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเกือบ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯหรือกว่า 33 ล้านล้านบาท ตั้งแต่เดือน พ.ค. ปี 2550 เป็นต้นมา จากผลการขาดทุนอย่างมโหฬารของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่งในสหรัฐฯ ที่จำต้องตัดสินใจเลิกจ้าง พนักงานของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในสาขาต่างๆทั่วโลกมากกว่า 20,000 คน ในฐานะที่เป็นผู้ปล่อยกู้สินเชื่อซ้อนสินเชื่อ โดยวิธีการนำสินเชื่อนั้นเข้าสู่ระบบ การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์(Securitization) อีกหลายทอด

สถานการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นสภาพเศรษฐกิจของครัวเรือนอเมริกันที่เต็มไปด้วยการกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อการใช้จ่ายไม่ใช่เพื่อการผลิต จึงเป็นที่คาดการณ์ว่าไม่นานหลังจากที่สินเชื่อด้อยคุณภาพหรือคุณภาพต่ำ เหล่านี้ต้องกลายเป็นหนี้สูญหรือหนี้ที่ไม่สามารถชำระได้ สิ่งที่จะตามมา ให้เห็นในลำดับต่อไปก็คือสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ก็จะไม่สามารถชำระหนี้ ได้ด้วยเช่นเดียวกับสินเชื่อเช่าซื้อรถที่จะตามมา

ความเสียหายยังคงส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ การลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกไม่เฉพาะแต่ในดัชนีหุ้นสหรัฐฯ แต่ยังลามถึงตลาดหุ้นในยุโรปและเอเชียที่ต่างก็ร่วงลงอย่างรุนแรงด้วย เพราะไม่เพียงแต่กองทุนซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคาร และสถาบันการเงิน จะเทขายหุ้นออกมาอย่างหนัก เพื่อนำเงินที่ได้ไปชดเชยผลการขาดทุนในสินเชื่อซับไพร์มเท่านั้น แต่หลายกองทุนในตะวันออกกลาง ยุโรป และเอเชีย ยังต้องระดมเม็ดเงินเท่าที่จะหาได้จากสินค้าคอมมอดิตี้เหล่านี้เพื่อนำไปพยุงฐานะของกิจการที่เป็นตัวจักรสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ให้ต้องลากเอาระบบเศรษฐกิจของประเทศตนกระเทือนไปด้วย
ย้อนหลังไปไม่นาน จากการให้สัมภาษณ์ของอดีตผู้ว่าธนาคารกลางของอเมริกา นายอลัน กรีนสแปน เกี่ยวกับความเห็นของเขาต่อระบบทุนนิยมที่ประสบความสำเร็จสูงสุดมากกว่าระบบเศรษฐกิจอื่นๆ จนได้นำพาประเทศสหรัฐอเมริกา และเศรษฐกิจโลกไปสู่ความเจริญอย่างรวดเร็วที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในยุคสมัยใด โดยนายกรีนสแปนก็ได้กล่าวอย่างภูมิใจว่า เป็นเพราะ ระบบทุนนิยมที่อเมริกาใช้อยู่นั้น เป็นระบบดี ให้โอกาสในการแข่งขันอย่างเสมอภาค และให้โอกาสการระดมทุนไปยังผู้ที่มีความสามารถ (ไม่ใช่เพราะว่าเป็นลูกใคร หลานใคร เพื่อนใคร) อีกทั้งเป็นระบบที่มีการตรวจสอบและคานอำนาจกันระหว่างสถาบันเอกชน โดยรัฐแทบจะไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาด และนั่นก็ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามมา
มาวันนี้คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวคงเป็นคำกล่าวที่เป็นอุดมคติบนอากาศไปแล้ว และก็มีคำถามกลับมามากมายว่า หลังจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ระบบทุนนิยมที่เราเคยเห็นอาจจะถึงคราวอวสาน แล้วหน้าตาของระบบทุนนิยมใหม่นี้จะเป็นอย่างไร?


ประเทศไทยจะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ด้วยแนวคิดทฤษฎีใดบ้าง?

แม้ระบบการเงินของไทยจะหลีกเลี่ยงผลกระทบโดยตรงของวิกฤตซับไพรม์ได้ แต่ประเทศไทยซึ่งพึ่งพิงการส่งออกสินค้าและบริการอย่างมากก็ถูกกระทบอย่างรุนแรงโดยอ้อมจากวิกฤตนี้ เนื่องจากวิกฤตนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำและการค้าระหว่างประเทศลดลง การส่งออกและระบบเศรษฐกิจไทยจึงประสบปัญหาอย่างหนัก ดังเห็นได้จากในไตรมาสที่ 1-3 ของปี 2551 การส่งออกขยายตัวมากกว่าร้อยละ 20 แต่ในไตรมาสที่ 4 การส่งออกหดตัวถึงร้อยละ 9.4 และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ติดลบร้อยละ 4.2 ทำให้ตัวเลขการเติบโตทั้งปีอยู่ที่เพียงร้อยละ 2.6 ซึ่งต่ำกว่าประมาณการ ความเสียหายชัดเจนขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2552 เมื่อการส่งออกหดตัวถึงร้อยละ 20 และ GDP ติดลบร้อยละ 7.1 ซึ่งเป็นความตกต่ำในระดับใกล้เคียงกับที่เกิดขึ้นในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับแนวโน้มการเติบโตของระบบเศรษฐกิจและการค้าในระดับโลกและระดับภูมิภาค ในขณะที่มีสัญญาณเป็นครั้งคราวว่าเศรษฐกิจของประเทศตะวันตกอาจจะเริ่มถึงจุดต่ำสุดในอนาคตที่ไม่ไกลนัก แต่การมองโลก ในแง่ดีเกินไปก็ดูจะประมาท ในกรณีวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 แม้เศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุดแล้วแต่ปัญหาก็ยังไม่จบสิ้น กล่าวคือ เศรษฐกิจไทยดิ่งไปถึงจุดต่ำสุดในห้าถึงหกไตรมาสนับจากเริ่มเกิดวิกฤต แต่ต้องใช้เวลาถึงห้าปีก่อนที่ GDP จะกลับมาอยู่ในระดับก่อนวิกฤต ส่วนการลดลงของอัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั้น กว่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 10 ต้องใช้เวลาถึงประมาณแปดปีด้วยกัน

วิกฤติปัจจุบันอาจจะจัดการได้ยากกว่าวิกฤตในปี 2540 เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วไม่ได้รับผลกระทบมากนักในช่วงของวิกฤตปี 2540 (ยกเว้นญี่ปุ่นซึ่งมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับส่วนอื่นๆ ของเอเชียตะวันออกอย่างแนบแน่น) ดังนั้นจึงมีอุปสงค์ต่อสินค้าส่งออกจากเอเชียตะวันออกที่เพิ่มขึ้นได้ แต่วิกฤตปัจจุบันแตกต่างไป โดยนำไปสู่การหดตัวของอุปสงค์ของสินค้าส่งออกไปทั่วโลก สถานการณ์นี้กระทบต่อตัวแบบการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีการส่งออกเป็นตัวนำของเอเชียตะวันออก


ดังนั้นการแก้วิกฤตปัจจุบันอย่างยั่งยืนเกี่ยวพันไม่แต่เพียงกับการกำกับดูแลทางการเงินให้เข้มแข็งขึ้นในทุกหนแห่ง แต่รวมถึงการมีกลไกที่ดีขึ้นเพื่อป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจของโลกดังที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งการแก้ปัญหาความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจของโลกที่ฝังรากลึกนั้นต้องอาศัยเวลา เนื่องจากหลายประเทศหรือหลายกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่
กระทั่งสหรัฐอเมริกายังต้องบริโภคและนำเข้าให้น้อยลง และต้องส่งออกมากขึ้น ขณะที่เอเชียตะวันออกและคู่ค้าที่สำคัญอื่นๆ ของสหรัฐอเมริกาจะต้องกระทำในทางตรงกันข้าม ด้วยเหตุนี้ย่อมทำให้ต้องมีการปรับตัวในระดับผู้ประกอบการและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในระดับจุลภาคด้วย เช่นการฝึกอบรมแรงงานให้สามารถเปลี่ยนไปทำงานในภาคเศรษฐกิจใหม่ได้ รวมถึงการแก้ปัญหาความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจของโลกอาจต้องรวมถึงการปรับค่าของเงินสกุลสำคัญๆ ซึ่งย่อมสร้างผลกระทบต่อประเทศต่างๆ อย่างมากมาย
ในระยะสั้นประเทศต่างๆ ได้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจขนานใหญ่เพื่อพยุงเศรษฐกิจในภาวะที่การส่งออกหดตัวลง ส่วนในระยะปานกลางจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยประเทศแถบเอเชียตะวันออกจำเป็นต้องพึ่งการส่งออกให้น้อยลงและเสริมด้วยอุปสงค์อื่นๆ จากภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรเพิ่มการลงทุนในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เพราะภาคเอกชนยังคงต้องอ่อนแอไปอีกระยะหนึ่ง
ซึ่งการพัฒนาโดยใช้การลงทุนและอุปสงค์อื่นๆ ภายในประเทศให้มากขึ้นนี้ยังต้อง ระวังไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูง คล้ายกับที่ได้เกิดขึ้นก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 อีกด้วย ต้องดูแลไม่ให้เกิดการลงทุนที่เกินตัว รวมทั้งต้องพิจารณาคุณภาพของการลงทุนให้เหมาะสม เพราะประเทศไทยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีอยู่มากมายในอดีตที่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ริเริ่มโดยภาครัฐล้มเหลวมาหลายโครงการ


นอกจากนี้ยังมียุทธศาสตร์อื่นๆ ที่จะช่วยเสริมการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนในภาวะที่การส่งออกมีบทบาทน้อยลงในอนาคต โดยมีแนวความคิดและทฤษฎีประกอบยุทธ์ศาสตร์ ดังต่อไปนี้

1. ยกระดับประสิทธิภาพในการผลิตรวม
การยกระดับประสิทธิภาพในการผลิตรวมหมายถึงการเพิ่มผลผลิตโดยใช้ปัจจัยการผลิตเท่าเดิม ซึ่งถ้าทำได้จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างความเติบโตให้สมดุลมากขึ้นและสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในระยะยาว ในเรื่องนี้ประเทศไทยยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงอีกมากเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ โดยเฉพาะในสองเรื่องได้แก่
• การยกระดับทุนมนุษย์ด้วยการพัฒนาการศึกษาและการฝึกอบรม และ
• การยกระดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะสามารถนำเอาไปใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์

2. พัฒนาโครงข่ายการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ
คือการเพิ่มสัดส่วนของการผลิตสินค้าต่างๆ ที่ผลิตได้ภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะอุปสงค์ต่อสินค้าขั้นกลาง การดำเนินการนี้ไม่ได้ต้องการส่งเสริมการกีดกันสินค้านำเข้า แต่เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประเทศมีฐานการผลิตที่หลากหลายและลงลึกมากขึ้น โดยจะต้องพัฒนาเครือข่ายของกลุ่มอุตสาหกรรมภายในประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้องและต้องจัดเตรียมระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ

ประเด็นสำคัญของการลดการนำเข้าสินค้าขั้นกลางคือ การเพิ่มความสามารถในการผลิตของผู้ผลิตภายในประเทศเพื่อให้ผู้ผลิตเหล่านี้สามารถเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมต่างๆ ได้มากขึ้นเรื่อยๆ
จากกรณีตัวอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ ในช่วงต้นอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่เป็นเพียงแค่การประกอบชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศ ต่อมาจึงค่อยมีการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ภายในประเทศมากขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตภายในประเทศยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์จนได้มาตรฐานสากล โดยในปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงด้วยการมีส่วนประกอบที่ผลิตภายในประเทศมาก และชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศก็สามารถส่งออกไปขายในต่างประเทศได้ด้วย

3. ลดสัดส่วนการใช้พลังงาน
สัดส่วนของพลังงานที่นำเข้าเพิ่มขึ้นจากต่ำกว่าร้อยละ 4 ของ GDP ในปี 2541 เป็นร้อยละ 12 ถึง 14 ของ GDP ในปี 2549-2551 ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจึงตกอยู่ในภาวะเปราะบางอย่างมากเมื่อราคาพลังงานสูงขึ้น
โดยการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าการไม่มีแหล่งพลังงานในประเทศอย่างเพียงพอ โดยรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นอนาคตที่สดใสสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยในอนาคตอันใกล้

4. การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้
การกระจายรายได้นับเป็นประเด็นปัญหาใหญ่มาก ความเหลื่อมล้ำที่สูงนั้นส่งผลให้ตลาดภายในประเทศมีขนาดเล็ก เนื่องจากความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ในหมู่คนรวยเพียง20% ของประชากรทั้งประเทศ โดยหากมีการแก้ปัญหาการกระจายรายได้ได้สำเร็จจะทำให้เขนาดของตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้นรวมถึงการเติบโตเกิดความสมดุลมากขึ้นด้วย


มาตรการในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ อาจจะประกอบด้วย 3 แนวนโยบายดังนี้

1. การอาศัยกลไกตลาดเป็นเครื่องมือในการสร้างการแข่งขัน เพื่อประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจ และลดการผูกขาดตัดตอน
2. การใช้นโยบายการคลังโดยผ่านนโยบายภาษีอากรและการใช้จ่ายสาธารณะ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำโดยการทำให้ฐานะโดยเปรียบเทียบของกลุ่มคนรวยลดลง โดยผ่านระบบภาษีและเพิ่มฐานะโดยเปรียบเทียบของกลุ่มคนจนได้เพิ่มขึ้นโดยผ่านระบบการใช้จ่ายสาธารณะของรัฐบาล
3. การใช้นโยบายทางด้านอื่นๆ ที่จะเป็นการเพิ่มศักยภาพหรือโอกาสของกลุ่มคนยากจน ให้สามารถแข่งขันกับกลุ่มคนรวยได้ เช่น การให้โอกาสทางการศึกษาและการเพิ่มทุนมนุษย์ โดยไม่ให้ฐานะทางรายได้ของครอบครัวเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาหาความรู้ดังกล่าว และการได้รับการดูแลจากรัฐโดยผ่านรัฐสวัสดิการในสภาวะพิเศษ เช่น ในยามชราภาพ หรือความไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ เพื่อไม่ให้ฐานะความเป็นอยู่โดยเปรียบเทียบของคนกลุ่มนี้ลดลง เมื่อเทียบกับคนกลุ่มอื่นในสังคม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งสำคัญที่จะเกิดตามมาจากการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันคือ สามารถช่วยลดการแยกขั้ว-แบ่งสีทางการเมืองที่กำลังเป็นสาเหตุสำคัญในการ ทำลายเศรษฐกิจและการเมืองไทยที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงขณะนี้ได้อย่างดีอีกด้วย


By Phatrsamon Rattanangkun


บทความที่เกี่ยวข้อง:



No comments:

Post a Comment

Total Pageviews