.

Mar 31, 2009

ชนชั้นล่างกับการต่อสู้ทางการเมือง


วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าคนรวยไม่กี่คนในประเทศ ได้สร้างความเสียหาย ให้ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง การใช้ความมั่งคั่งที่ตนได้รับจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไปในการลงทุนเพื่อการเก็งกำไร ทั้งในตลาดหลักทรัพย์หรือในตลาดอสังหาริมทรัพย์ จนทำให้ฟองสบู่แตก เกิดความเดือดร้อนแก่คนไทยโดยทั่วไป ที่สำคัญยิ่งคือส่งผลให้สัดส่วนคนจน เพิ่มสูงขึ้นนับจากปี 2543 โดยตัวเลขในปี 2549 ไทยมีจำนวนคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่ระดับ 1,386 บาท/เดือน 9.5 % หรือประมาณ 6.1 ล้านคน โดยกว่า 80 % ของคนจนดังกล่าว อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

จากการที่เกิดปัญหาด้านการกระจายรายได้ที่ย่ำแย่ลง เนื่องจากค่าสัมประสิทธิ์จีนี่ (Gini Coefficient) ของรายได้ ทั้งประเทศปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.48 ในปี 2531 เป็น 0.51 ในปี 2549 และยังมีการปรับเพิ่มขึ้นในทุกๆ ภาค อีกด้วย โดยดัชนีจีนี่ ถือเป็นตัวบ่งชี้ถึงแนวโน้มการกระจายรายได้ที่แย่ลง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดอยู่ในอันดับการกระจายรายได้ยอดแย่ของไทยและรองลงมาคือภาคเหนือ

หากพิจารณาช่องว่างของรายได้โดยแบ่งกลุ่มประชากรตามระดับรายได้ (Quintile by Income) เรียงลำดับตามรายได้จากน้อยไปหามาก พบว่าเกิดความแตกต่างด้านรายได้สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนรวยสุดกับกลุ่มคนจนสุดนั้น ในช่วงปี 2531-2549 พบว่าความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างประชากรใน 2 กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นสูงมากเหลือเกิน โดยข้อมูลล่าสุด กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่สุด มีรายได้เฉลี่ยเพียง 1,003 บาทต่อเดือน ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้สูงสุดมีรายได้เฉลี่ยสูงถึง 14,693 บาทต่อเดือน โดยกลุ่มคนรวยที่สุดจำนวน 20% มีส่วนแบ่งรายได้รวมกันเกินครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดของรายได้ของประชากรทั้งประเทศอีกด้วย และเมื่อมีการเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำของรายได้สูงที่สุดในกลุ่ม ซึ่งสามารถสะท้อนปัญหาทางด้านการพัฒนาประเทศได้อย่างชัดเจน

การที่ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันเสรีนั้น คนจะได้ผลตอบแทนจากการทำงานตามความสามารถของแต่ละคน ที่ไม่เท่ากันกล่าวคือ คนที่เก่งกว่าหรือฉลาดกว่า ย่อมจะมีความสามารถหารายได้ หรือผลตอบแทนจากการทำงานได้มากกว่าดังนั้นความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ย่อมสามารถเกิดขึ้นได้จริง แต่หากความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนั้นมีเหตุผลหรือสาเหตุที่นอกเหนือไปจากความสามารถเฉพาะบุคคล ทั้งๆที่มีสภาพทางเศรษฐกิจแบบเสรี ดิฉันมองว่าความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนั้นย่อมไม่มีใครรับได้ค่ะ

จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้นสามารถสรุปได้ว่า ภาคเหนือและภาคอีสานเป็นภาคที่สะท้อนลักษณะความเป็นชนชั้นล่างทางเศรษฐกิจของสังคมไทยได้มากที่สุด

ตัวอย่างสะท้อนการต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นล่างของไทยที่ชัดเจน เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เกิดการถืออาวุธของคนในท้องถิ่นทั้งภาคเหนือและภาคอีสานในการต่อสู้กับรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งได้มีการระดมทรัพยากรมายังส่วนกลางคือกรุงเทพมหานคร เช่น

*กบฏศึกสามโบก ปี 2438 จ. ขอนแก่น จากการต่อต้านรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีการเก็บภาษีในอัตราที่เท่าๆ กันไม่ว่าคนรวยหรือคนจน
*กบฏผู้มีบูญอีสาน ปี 2444-2445
*กบฏชาวนาในภาคอีสาน ปี 2445
*กบฏชาวบ้านที่เลย ปี 2467

และการต่อสู้ที่โดดเด่นของชนชั้นล่างคือการเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารของคนเดือนตุลาฯ

จะเห็นว่าชนชั้นล่างในภาคเหนือและโดยเฉพาะภาคอีสาน ต่างพร้อมที่จะใช้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นการต่อสู้ทางการเมืองมาโดยตลอด ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการลงคะแนนเลือก ส.ส.รวมถึงการต่อสู้ทางการเมืองภาคประชาชนโดยเน้นที่การเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาเป็นตัวขับเคลื่อนบรรเทาปัญหาความยากจนของตน


“เมื่อคุณรับฟังเพียงแค่เสียงกระซิบ อาจทำให้คุณไม่ได้ยินเสียงกรีดร้องในเวลาต่อมา”

No comments:

Post a Comment

Total Pageviews