.

Apr 17, 2009

ผิดไหม??? ที่คิดต่าง

“การที่โลกก้าวไปข้างหน้าด้วยความคิด ความขัดแย้งใดๆที่เกิดต่างก็เป็นความขัดแย้งในเรื่องของความคิด ซึ่งส่งผลให้เกิดความก้าวหน้า ทั้งเชิงคุณภาพและเหตุผลเรียกว่าวิภาษวิธี (Dialectic) ซึ่งเกิดจากการที่ความคิดเดิม (Thesis) ถูกท้าทายหรือขัดแย้งกับความคิดใหม่ (Anti-Thesis) ก่อให้เกิด ความคิดที่ใหม่กว่า (Synthesis) ที่จะกลายเป็นความคิดเดิมในเวลาต่อไป การที่สามารถเกิดความคิดขัดแย้งใหม่ๆได้เสมอนั้นเพราะความคิดเป็นเพียงสิ่งสมมติที่มนุษย์สร้างขึ้นนั่นเอง”



Gorge Wilhelm Fredrich Hegel


การที่วาทะกรรมจัดเป็นความคิดรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นวาทะกรรมจึงสามารถถูกสร้างได้ ถูกใช้ได้ ถูกเชื่อได้ ถูกท้าทายและถูกทำลายได้เช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงเวทีการเมืองที่จำเป็นต้องมีการสื่อสาร (political communication) โดยที่สื่อได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างพลังให้กับผู้นำ ผู้ใช้และรวมถึงพลังมวลชน

ขณะที่การรับรู้ของผู้รับสารนั้นนักจิตวิทยาได้ให้ความหมายไว้ว่า การรับรู้คือการตีความหมายจากการรับสัมผัส (sensation) ซึ่งในการรับรู้นั้น ไม่ใช่เพียงมองเห็น ได้ยินหรือได้กลิ่นเท่านั้น แต่ต้องรับรู้ได้ว่าวัตถุหรือสิ่งที่เรารับรู้นั้นคืออะไรมีรูปร่างอย่างไรด้วย ในแง่ของพฤติกรรมการรับรู้ยังได้จัดเป็นกระบวนการที่เกิดแทรกขึ้นระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองสิ่งเร้าดังนี้


สิ่งเร้า (Stimulus) > การรับรู้ (perception) > การตอบสนอง (responses)


ในช่วงสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังร้อนแรงในขณะนี้ การบริโภคข่าวสารจากสื่อต่างๆ จัดได้ว่าเป็นประเด็นที่น่าให้ความสำคัญ เนื่องจากคนในสังคมมีการแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่าย เป็นช่วงเวลาที่คนไทยมีความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกันมาก หนักข้อพูดจากันไม่รู้เรื่องถึงขั้นฆ่าแกงกันก็มี ดังนั้นเราจึงควรรีบหยุดทบทวนด้วยสติ ยับยั้งถึงความอ่อนไหวที่กำลังเกิดขึ้นของเราให้ได้ โดยควรเลือกใช้เกณฑ์ที่ถูกต้องเป็นเครื่องมือช่วยในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับฟังกันมา เพราะถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ได้ย้อนคิดและพิจารณา เพื่อเราสามารถตรวจสอบความเชื่อนั้นๆได้ว่าสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่อย่างไร

ทำให้ดิฉันนึกถึงหนังสือเล่มนึงค่ะ “ Five Minds for the Future” ผู้แต่งคือ Howard Gardner โดย Gardner ได้รับแนวคิดนี้จาก Murray Gell-Man นักฟิสิกต์ชาวสหรัฐฯ เจ้าของรางวัลโนเบลที่ได้กล่าวไว้กว่า 15 ปีที่แล้วว่า

”จิตแห่งการสังเคราะห์/Synthesizing Minds เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่มนุษย์จำเป็นจะต้องมีเพื่อที่จะเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จในการทำงานในยุคศตวรรษที่ 21”

Gardner ได้อธิบายไว้ว่า จิตแห่งการสังเคราะห์ (Synthesizing Mind) เป็นทักษะที่ล้ำลึกกว่าการวิเคราะห์ เพราะเป็นการนำสิ่งต่างๆ ที่เราวิเคราะห์ หรือทำการแยกแยะ เพื่อทำการศึกษา ทำให้เกิดองค์ความรู้ เกิดมุมมองที่ชัดเจนลึกซึ้ง และสามารถนำไปใช้ได้เหนือกว่าระดับการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นการช่วยในการเรียนรู้ข้อมูลและทักษะใหม่ๆ ที่สำคัญ โดยนำมาผนวกกับทักษะเดิมหรือความรู้เดิมที่มีอยู่ ก่อให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ เป็นการต่อยอดทางความรู้ก่อให้เกิดปัญญาแบบบูรณาการ เกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้นจากเดิม และสามารถอธิบายต่อให้กับผู้อื่นได้อย่างครบถ้วนชัดเจน ตรงประเด็น โดยการมีจิตสังเคราะห์นั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว การคิดสังเคราะห์เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างเป็นธรรมชาติ


Gardner ยังได้แนะนำว่าควรเริ่มฝึกฝนจิตแห่งการสังเคราะห์ตั้งแต่วัยเด็ก โดยส่งเสริมในประเด็นที่สำคัญดังนี้

1. เปิดประสบการณ์ ให้เด็กได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลรูปแบบใหม่

2. ฝึกมองทุกสิ่งทุกอย่างโดยเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน พยายามหาความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างมีเหตุมีผล

3. ฝึกตีประเด็นช่วยคิดให้ชัดเจน ไม่คิดคลุมเครือ ฝึกจับประเด็นจากบทความที่ได้อ่าน ทั้งจากหนังสือ หรือสิ่งต่างๆ ที่ได้ดู ได้ฟังมา

4. ฝึกแยกแยะข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็น เพื่อให้ข้อมูลที่สังเคราะห์ได้นั้นมีความเป็นกลางมากที่สุด

ลองดูค่ะดิฉันขอฝากลองมาฝึกการใช้จิตแบบสังเคราะห์ในการเลือกพิจารณาข่าวสารบ้านเมืองของเราในตอนนี้กัน เพื่อพิจารณาหาความจริงไม่ใช่ความจริงที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพยายามกรอกหูเรา เพื่อจะได้มีทิศทางมุ่งสู่การวางรากฐานแห่งความเจริญก้าวหน้าจากปัจจุบันสู่อนาคต โดยเริ่มต้นจากกระบวนการคิดที่เป็นระบบของเราเป็นตัวชี้นำ ซึ่งเป็นกระบวนการคิดเชิงตรรกะเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อความชัดเจนสำหรับตัวเราเองที่สุดค่ะ



หยุด! คุกคาม….ความคิดที่แตกต่าง


No comments:

Post a Comment

Total Pageviews