.

Aug 31, 2009

คุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมือง





โดย ภัทรษมน รัตนางกูร

          จากการใช้อำนาจทางการเมืองของนักการเมืองที่เอื้อต่อการแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง เช่นการรับสินบนหรือการมีผลประโยชน์ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์สาธารณะ ทำให้มีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นอยู่เสมอ การแสดงออกด้วยคำพูดไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายในที่ประชุมสภาฯซึ่งได้รับ เอกสิทธิ์อย่างเต็มที่ การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน การกล่าวปราศรัยบนเวทีต่อหน้าชุมชน การใช้ตำแหน่ง อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม การแสดงกิริยาก้าวร้าว การไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ของการเป็นตัวแทนประชาชน การฝ่าฝืนคุณธรรมและจริยธรรมแห่งความดีงามกลายเป็นเรื่องปกติเพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป ไม่มีการสอบสวน ไม่มีการลงโทษ ท้ายที่สุดจึงเกิดวิกฤตทาง การเมือง ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากการไร้คุณธรรมจริยธรรมของนักการเมือง

          การควบคุม ส.ส. ส.ว.นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งถือเป็นข้าราชการการเมือง” ไม่ให้ทุจริตคอรัปชั่นนั้น แม้จะมีมาตรการการควบคุมทางการเมือง เช่นการยื่นกระทู้ถาม การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ การควบคุมทางสังคมที่มีสื่อมวลชนเป็นสถาบันที่คอยทำหน้าที่รายงานข่าวสารและแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และประชาชนคอยติดตามตรวจสอบ รวมทั้งการควบคุมทางกฎหมาย หรือแม้แต่การควบคุมโดยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งองค์กรอิสระหลายองค์กรยังถูกกล่าวหาว่าถูกผู้มีอำนาจทางการเมืองเข้าไปแทรกแซง ครอบงำทั้งกระบวนการสรรหาและการคัดเลือกโดยวุฒิสภา

          จากการที่นักการเมืองเป็นที่จับตาจากสาธารณะชนไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกโดยการใช้อำนาจ การพูดจา การกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง พฤติกรรมจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องควบคุม ระงับ ดังนั้นการควบคุม พฤติกรรมของนักการเมืองให้ประสบผลสำเร็จจึงจำเป็นต้องสร้างสำนึกหรือมโนธรรมแห่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดี โดยให้เกิดความรู้สึกละอายหากจะทำในสิ่งไม่ถูกไม่ควร หรือรียกได้ว่า คุณธรรมและจริยธรรม



โดยสามารถสรุปความสำคัญที่นักการเมืองต้องยึดถือ และคุณธรรมจริยธรรมที่นักการเมืองพึงปฏิบัติ ได้ดังต่อไปนี้


1. หลักนิติธรรม (the rule of law) ได้แก่ การใช้กฎหมายในการบริหารประเทศ โดยกฎหมายดังกล่าวนั้นต้องผ่านกระบวนการร่างกฎหมายอย่างถูกต้อง และหลักของกฎหมายนั้นต้องเป็นกฎหมายที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและอำนาจอธิปไตยของประชาชน โดยกระบวนการยุติธรรม (due process of law) จะต้องเป็นไปตามครรลอง หลักนิติธรรม (the rule of law) จึงต่างจาก the rule by law ซึ่งหมายถึงการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศโดยไม่คำนึงถึงหลักการประชาธิปไตย และบ่อยครั้งก็กลายเป็นการบริหารงานโดยตัวบุคคล (the rule by men) มากกว่าหลักการ
2. ความอดทนอดกลั้น (tolerance) ความใจกว้าง (open-mindedness) และความมีน้ำใจนักกีฬา (sporting spirit) ทั้งหมดนี้เป็นหัวใจสำคัญของสังคมประชาธิปไตย เพราะในสังคมประชาธิปไตยนั้นจะต้องยอมรับความแตกต่างทั้งในเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี จุดยืนและความคิดเห็นทางการเมืองของคนในสังคม การรู้แพ้รู้ชนะ เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักปราชญ์ราชบัณฑิตและผู้มีประสบการณ์ เพื่อนำมาประมวลใช้ให้เป็นประโยชน์ในการทำงาน ที่สำคัญอะไรที่ตนไม่ชอบและไม่พอใจแต่ตราบเท่าที่ไม่กระทบต่อสิทธิของตนก็ ต้องยอมให้สิ่งนั้นปรากฏอยู่ เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคลภายใต้ระบบที่มีความเสมอภาค 
3. ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การกระทำอันใดก็ตามต้องคำนึงถึงหลักการใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้ คือ ความถูกต้องตามกฎหมาย (legality) ความชอบธรรมทางการเมือง (legitimacy) ความถูกต้องเหมาะสม (decency) ความน่าเชื่อถือ (credibility) ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวจะทำให้งานที่รับผิดชอบอยู่นั้นประสบความสำเร็จ การมุ่งเน้นไปที่ตัวบทกฎหมายตามลายลักษณ์อักษรแต่เพียงอย่างเดียวเป็นสิ่งที่ไม่พอเพียง การกระทำอันใดที่ไม่เหมาะสมแม้จะถูกต้องตามกฎหมายก็จะขาดความชอบธรรมทางการเมือง อันจะส่งผลถึงความน่าเชื่อถือของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในที่สุด 
4. การบริหารบ้านเมืองจะต้องอิงหลักธรรมาภิบาล (good governance) ซึ่งได้แก่ ความชอบธรรมทางการเมือง (legitimacy) ความโปร่งใส (transparency) การมีส่วนร่วมของประชาชน (participation) ความรับผิดชอบเปิดให้ไล่เบี้ยได้ (accountability) และความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (efficiency and effectiveness) ซึ่งหมายถึงการกระทำนั้นต้องส่งผลในทางบวกทั้งในแง่ผลได้ (output) และผลลัพธ์ (outcome) 
5.อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (popular sovereignty) ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยคือระบบที่ประชาชนมีอำนาจอธิปไตย และมอบหมายให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่แทนตน การเลือกตั้งจึงเป็นการแสดงออกถึงสิทธิและอำนาจของประชาชน ดังคำกล่าวที่ว่า เสียงของประชาชนคือเสียงของสวรรค์ (vox populi, vox dei) 
6.สิทธิเสรีภาพ (rights and freedom) เป็นหัวใจสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ผู้ดำรงตำแหน่งบริหารและข้าราชการประจำที่มีอำนาจตามกฎหมาย จะต้องยึดถือตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะถ้ามีการกระทำดังกล่าวก็เท่ากับละเมิดเจ้าของอำนาจอธิปไตย 
7.ความเสมอภาค (equality) ซึ่งความเสมอภาคหมายรวมถึงความเสมอภาคทางการเมือง และความเสมอภาคทางกฎหมาย (equality before the law) ความเสมอภาคภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยถือว่าทุกคนเสมอภาคเท่ากันหมด หนึ่งคนมีสิทธิลงคะแนนเสียงได้หนึ่งเสียง (one man one vote) การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลอันใดก็ตามจึงถือว่าขัดต่อหลักการประชาธิปไตย 
8. ค่านิยมและจิตวิญญาณความเป็นประชาธิปไตย (the democratic ethos) ซึ่ง หมายถึงค่านิยมที่ได้รับการอบรมตั้งแต่ครอบครัว สถาบันการศึกษา และทางสังคม ให้มีความเชื่อและศรัทธาในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีพฤติกรรมที่เป็นประชาธิปไตย มองคนอื่นด้วยสายตาที่เสมอภาค ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาจิตวิญญาณประชาธิปไตย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการพัฒนาและธำรงไว้ซึ่งระบบประชาธิปไตย 
9. ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยคือกรรมวิธี (means) เพื่อเป้าหมายทางการเมือง แต่ขณะเดียวกันระบบประชาธิปไตยก็เป็นเป้าหมายอันสูงส่ง (noble end) ในตัวเอง การมองว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นเฉพาะกรรมวิธี( means) จึงไม่ถูกต้อง ถึงแม้ว่า end คือ ผลประโยชน์จะตกต่อสังคมก็ตาม เพราะถ้าทำลายกระบวนของความถูกต้อง แม้จะส่งผลในทางบวกต่อสังคม แต่ถ้ามีผลกระทบในทางลบต่อระบบก็จะเป็นการทำลายเป้าหมายอันสูงส่งของระบบประชาธิปไตย อันเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง ประชาธิปไตยจึงเป็นทั้งกรรมวิธี (means) และเป้าหมาย (end) ในตัวเอง ทั้งสองส่วนนี้ต้องไปด้วยกัน
10. ผู้ดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงทั้งในนิติบัญญัติ บริหาร และศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องตระหนักว่าตนเป็นผู้ซึ่งได้รับอาณัติจากประชาชน ดังนั้นผลประโยชน์สูงสุดจะต้องเป็นผลประโยชน์ที่เอื้ออำนวยต่อประชาชนโดยส่วนรวม การกระทำอันใดที่ขัดต่อผลประโยชน์ของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การนั้นย่อมไม่ถูกต้อง นอกจากนั้นยังต้องมีความรู้สึกว่าสิ่งที่ตนทำอยู่นั้นเป็นการประกอบภารกิจอันศักสิทธิ์ (sacred mission) หรือหน้าที่อันสูงส่ง(noblesse oblige)เพื่อประชาชน เพื่อประเทศชาติ 
11. ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงทั้งในนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ จำเป็นอย่างยิ่งต้องยึดถือหลักจริยธรรมทางการเมือง รวมตลอดทั้งมารยาททางการเมือง โดยจะต้องกระทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต คำนึงถึงผลดีผลเสียที่จะเกิดต่อประชาชน ชาติ และบ้านเมือง เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวม เพราะงานการเมืองเป็นงานอาสาสมัครที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน
12. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารระดับสูง ซึ่งสามารถนำประเทศชาติและสังคมไปสู่ความเจริญ หรือไปสู่ความเสียหายในด้านต่างๆ ทั้งในแง่การเมือง สังคม เศรษฐกิจ อุดมการณ์ ศรัทธาและความเชื่อในระบบ ฯลฯ ต้องเป็นบุคคลที่เปี่ยมไปด้วยคุณสมบัติอันได้แก่ การมีอุดมการณ์ทางการเมือง (political ideology) การมีจริยธรรมทางการเมือง (political ethics) การมีความรู้ทางการเมือง (political knowledge) การมีประสาทสัมผัสทางการเมือง (political sense) และการเข้าใจอารมณ์ทางการเมือง (political mood) ของประชาชนอย่างถูกต้อง


Keywords: คุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมือง, คุณธรรมจริยธรรมนักการเมือง, จริยธรรมนักการเมือง, จริยธรรมของนักการเมือง

No comments:

Post a Comment

Total Pageviews