ความหมายของการคิด
การคิดคือ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับข้อมูล เริ่มจากการนำข้อมูลหลาย ๆ ส่วนที่ได้รับมา จัดกระบวนการเพื่อใช้ในการแก้ปัญหา เพื่อได้ข้อสรุปที่สมเหตุสมผลในการประกอบการตัดสินใจ
สมองทำให้เราคิดได้ ทำให้มนุษย์มีความฉลาด สามารถใช้เหตุผล วินิจฉัย สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ เซลสมองสามารถที่จะเก็บข้อมูล แปรข้อมูลที่เข้ามาเป็นกระแสไฟฟ้า แล้วเก็บไว้เป็นประสบการณ์เข้าไปในสมอง สมองสามารถนำข้อมูลต่าง ๆ ทั้งข้อมูลดิบและข้อมูลที่ผ่านการคิดใคร่ครวญแล้ว มาเก็บไว้เป็นตัวแบบ (Model) หรือโครงสร้างความรู้ในรูปของมโนทัศน์ (Concept) เหมือนเราเก็บข้อมูลไว้ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งเราสามารถเรียกขึ้นมาใช้ได้ในอนาคต
ความสำคัญของการคิด
1. การคิดกำหนดความเป็นตัวเรา(Being) เราคิดอย่างไร เราจะเป็นเช่นนั้น และความเป็นตัวเราจะเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของเรา (Living) ซึ่งจะทำให้เราแสดงออกเป็นการพูด (Speaking) การเขียน (Writing) การกระทำ (Doing) และการแสดงอากัปกิริยาต่าง ๆ (Behaving)
2. การคิดเป็นพื้นฐานที่แสดงออกมาของสติปัญญาและความเข้าใจ การคิดสามารถปรับปรุงสิ่งเดิมที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ทำให้เกิดความคิดที่หลากหลายมากมายได้อีกทั้งยังสามารถนำความคิดเหล่านั้นมาเชื่อมโยงกันจนเกิดเป็นความคิดใหม่ได้อีก
3. การคิดเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจ เนื่องจากความคิดมากมายที่กระทบเข้ามาในสมองของเรา จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการตัดสินใจ
4. การคิดนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่าง ๆ ของโลก หรืออาจกล่าวได้ว่าการคิดของมนุษย์คือพลังในการเปลี่ยนแปลงโลกจากอดีตสู่ปัจจุบัน
5. การคิดสร้างความสามารถในการแข่งขันในสังคมแห่งความรู้ มนุษย์ใช้ความได้เปรียบเชิงการแข่งขันโดยอาศัยความรู้ในการสร้างกลยุทธ์เหนือคู่แข่ง
ประเภทของการคิด
1. การคิดเชิงกลยุทธ์ การคิดเชิงกลยุทธ์เป็นเรื่องที่จำเป็น จริง ๆแล้วความคิดทั้ง 10 มิติ เป็นการใช้ตลอดเวลา และจำเป็นต้องใช้ในอนาคต สำหรับอันดับแรกเป็นการคิดเชิงกลยุทธ์ ผู้บริหารเป็นคนชี้ขาด คือ คนที่นำในองค์กร คนแรกที่ต้องพบปัญหา คนแรกที่ตัดสินว่าจะไปซ้ายหรือไปขวา ฉะนั้นการคิดเชิงกลยุทธ์เปลี่ยนมาก สถานการณ์เปลี่ยนตลอดเวลา และมีทรัพยากรจำกัด บุคลากรก็มีจำกัด สถานการณ์ปัจจุบันไม่สามารถแก้ปัญหาตามเคยชินได้ ฉะนั้นการคิดเชิงกลยุทธ์จึงมีความจำเป็น การคิดเชิงกลยุทธ์เป็นการวางแผนอนาคตเพื่อการตัดสินใจในอนาคต มี 2 วิธีที่จะเผชิญในอนาคต วิธีหนึ่งที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น เดินไปเรื่อย ๆ ชีวิตนี้ปล่อยไปตามเวรตามกรรม ตามสภาวะแวดล้อม ตายเอาดาบหน้า อีกวิธีหนึ่ง คือท่านไม่สามารถรู้อนาคตได้ เราคิดไปก่อนแล้วเราวางแผนไว้ แต่สิ่งนั้นเกิดขึ้นและต้องตัดสินใจ ณ วันนี้ นักวิชาการอีกคนหนึ่งนายไมเคิลบอกว่า ขบวนการคิดเชิงกลยุทธ์ เป็นการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยการจัดสรรทรัพยากรตั้งแต่วันนี้ เพราะฉะนั้นผู้บริหารต้องกำหนดแนวทางที่ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขและทรัพยากรที่จำกัด ภายใต้การเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง โดยการที่บรรลุตามเป้าหมายต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุม การประเมินความได้เปรียบและเสียเปรียบของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและการคาดการณ์ของอนาคต การเลือกกลยุทธ์เป็นสิ่งสำคัญมากในการประสบความสำเร็จ
2. การคิดเชิงอนาคต เป็นการคาดการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างมีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม ประกอบด้วย 6 หลักสำคัญดังนี้
- หลักการมองอย่างองค์รวม (Holistic Approach) ต้องมองทุกด้านที่เกี่ยวข้องกัน
- หลักความต่อเนื่อง (Continuity) ต้องคาดการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์กัน
- หลักความสัมพันธ์เชิงเหตุผล (Causal Relationship) เป็นหลักของความคิดแบบมีความสัมพันธ์อย่างมีเหตุผล
- หลักการอุปมา (Analogy) โดยยึดหลักว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่าง ๆในโลกล้วนมีแบบแผนมีระบบ
- หลักการจินตนาการ(Imagination) เป็นการใช้หลักจินตนาการ ในการวาดภาพอนาคตอย่างท้าทาย โดยต้องประกอบไปด้วยหลักเหตุผล เพื่อที่จะให้การจินตนาการนั้นๆ ไม่ไร้หลักการ
- หลักดุลยภาพ (Equilibrium) มีหลักสำคัญคือหากมีการเสียสมดุลย์เกิดขึ้นระบบก็จะพยายามปรับให้เกิดความสมดุลย์แก่ตัวเอง
3. การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative thinking) ความคิดสร้างสรรค์ คือ กระบวนการคิดของสมองซึ่งมีความสามารถในการคิดได้หลากหลายและแปลกใหม่จากเดิม โดยสามารถนำไปประยุกต์ทฤษฎี หรือหลักการได้อย่างรอบคอบและมีความถูกต้อง จนนำไปสู่การคิดค้นและสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่แปลกใหม่หรือรูปแบบความคิดใหม่
โดยมีหลักการที่สำคัญคือ
1. ควรฝึกถามคำถามที่กระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ ๆ
2. จงอย่าละทิ้งความคิดใด ๆจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไร้ประโยชน์
3. การพัฒนาทางเทคนิคช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
4. การคิดเชิงวิพากษ์ หมายถึงความตั้งใจพิจารณาตัดสินเรื่องใดๆ โดยไม่คล้อยตามข้อเสนอ ไม่ด่วนสรุป และให้มีการตั้งคำถามท้าท้ายหรือโต้แย้งสมมุติฐาน โดยพยายามเปิดกว้างความคิดออกไปสู่ความแตกต่างในด้านต่าง ๆมากขึ้น เพื่อให้ได้ประโยชน์มากกว่าเดิม
5.การคิดเชิงบูรณาการ เป็นการคิดแบบไม่แยกส่วน คิดแบบแกนหลักที่เหมาะสมครบถ้วนทุกมุมมอง โดยการแก้ปัญหาแบบไม่แยกส่วน หลักการคิดเชิงบูรณาการคือ
ตั้งแกนหลัก---->หาความสัมพันธ์----->วิพากษ์เพื่อเกิดการบูรณาการ
6. การคิดเชิงวิเคราะห์ เป็นการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน เพื่อจำแนกค้นหาสิ่งที่เกิดขึ้น หาเหตุเพื่อทราบผล แห่งที่มาที่ไป หลักการคิดเชิงวิเคราะห์ประกอบด้วย
1. หาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลของข้อมูลที่ได้รับ
2. ใช้หลักการตั้งคำถาม
3. ใช้หลักการแยกแยะความจริง เช่น
· แยกแยะระหว่าง ความจริง (truth) กับความเชื่อ (belief)
· แยกแยะโดยจำกฎขั้วตรงข้าม (the principle of contradiction)
· แยกแยะระหว่างข้อเท็จจริง (facts) กับข้อคิดเห็น (opinions)
7. การคิดเชิงสังเคราะห์ เป็นทักษะที่ล้ำลึกกว่าการวิเคราะห์ เพราะเป็นการนำสิ่งต่างๆที่เราวิเคราะห์ หรือทำการแยกแยะเพื่อทำการศึกษา ทำให้เกิดองค์ความรู้ เกิดมุมมองที่ชัดเจนลึกซึ้ง และสามารถนำไปใช้ได้เหนือกว่าระดับการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นการช่วยในการเรียนรู้ข้อมูลและทักษะใหม่ๆ ที่สำคัญ โดยนำมาผนวกกับทักษะเดิมหรือความรู้เดิมที่มีอยู่ ก่อให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ เป็นการต่อยอดทางความรู้ก่อให้เกิดปัญญาแบบบูรณาการ เกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้นจากเดิม และสามารถอธิบายต่อให้กับผู้อื่นได้อย่างครบถ้วนชัดเจน ตรงประเด็น
ประโยชน์ที่ได้จากการคิดเชิงสังเคราะห์คือ
1. เปิดประสบการณ์ ให้ได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลรูปแบบใหม่
2. ฝึกมองทุกสิ่งทุกอย่างโดยเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน พยายามหาความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างมีเหตุมีผล
3. ฝึกตีประเด็นช่วยคิดให้ชัดเจน ไม่คิดคลุมเครือ ฝึกจับประเด็นจากบทความที่ได้อ่าน ทั้งจากหนังสือ หรือสิ่งต่างๆ ที่ได้ดู ได้ฟังมา
4. ฝึกแยกแยะข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็น เพื่อให้ข้อมูลที่สังเคราะห์ได้นั้นมีความเป็นกลางมากที่สุด
8. การคิดเชิงประยุกต์ หมายถึง ความสามารถที่มีอยู่เดิมมาปรับใช้ในบริบทใหม่ คล้าย ๆกับนำต้นไม้ เช่น นำต้นยางจากภาคใต้ไปปลูกภาคเหนือ ภาคอีสาน ต้นยางไม่เปลี่ยนแปลงแต่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงเป็นเหมือนว่าเรานำกรอบ วิธีการหรือหลักเกณฑ์ต่าง ๆที่มีอยู่นั้น นำมาประยุกต์พวกนี้เกิดจากการคิดว่า เหล่านี้นำมาประยุกต์ใช้ได้ไหม เกิดผลดีผลเสียอย่างไร นำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่ หลักการคิดเชิงประยุกต์ประกอบด้วย
1. ใช้หลักการทดแทนคุณสมบัติหลัก
2. ใช้หลักปรับสิ่งเดิมให้เข้ากับสถานการณ์
3. ใช้หลักการหาสิ่งทดแทน
9.การคิดเชิงระบบ หมายถึงการคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มองภาพรวมที่เป็นระบบ และมีส่วนประกอบย่อยๆ โดยอาศัยการคิดใด รูปแบบโดยตรง และโดยทางอ้อม โดยเป็นการคิดที่มีความเข้าใจ เชื่อมโยง มีความเชื่อในทฤษฎีระบบเป็นพื้นฐานในสมอง คนปกติมีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบในสรรพสิ่งที่อยู่ในในโลกที่สอดคล้องกับทฤษฎีระบบอยู่แล้ว เพียงแต่ความสามารถในการทำได้ดีในระดับความเข็มข้นของระบบแตกต่างกัน
ประโยชน์ของการคิดเชิงระบบ
1.ช่วยให้เกิดความคิดเพื่อพัฒนาองค์การในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.ประสานงานร่วมกับบุคคลอื่นให้เป็นไปตามกระบวนการ และระบบการบริหารงานภายใน
3.สามารถแก้ปัญหา ตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.แก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในองค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5.เพื่อมองเห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับระบบภายในองค์การ ที่เกิดขึ้น
เป็นระบบ เชื่อมโยงติดต่อกัน และสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แก่นของการคิดเชิงระบบ
1.มองเห็นความสัมพันธ์กันและกัน ไม่ใช่มองเหตุผลเป็นเส้นตรงต่อๆ กันไปเท่านั้น
2.มองเห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่มองสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น
เทคนิคการคิดเชิงระบบ
1. ยอมรับตนเองและเปลี่ยนใจตนเองให้ได้ว่าตนคือส่วนประกอบที่สำคัญที่เชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ
2. ฝึกการมองภาพรวมแทนสิ่งเล็กๆ แล้วค่อยมองย้อนกลับ
3. เข้าใจธรรมชาติของระบบ และทุกสรรพสิ่งในโลกล้วนเป็นระบบสัมพันธ์กัน
4. มองเห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลง และปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อระบบ
5. มองเห็นวัฏจักรของเหตุปัจจัย (Circles of Causality ) และการส่งผลย้อนกลับ
6. เปิดอิสระในเรื่องการคิด ไม่ตีกรอบ ครอบงำความคิดคนอื่น
7. ส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกคนเกิดแรงร่วมในการสร้างความสัมพันธ์
8. ฝึกการแก้ปัญหาที่สาเหตุแท้แก้ที่อาการเกิดปัญหา
9. ยึดหลักการเรียนรู้ในองค์การเป็นส่วนประกอบคือ การเป็นนายตนเอง ลบความเชื่อฝังใจแต่อดีต สร้างความใฝ่ฝันถึงอนาคตร่วมกัน (Shared Vision ) และฝึกการเรียนรู้ของทีม
การขยายขอบเขตการคิด เป็นการขยายมุมมอง 5 ด้านดังนี้
1. การมององค์รวม ( Holistic view ) เป็นการมองให้ครบทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น พิจารณาว่าเรื่องนั้นเกี่ยวกับใครบ้าง เกี่ยวข้องอย่างไร อะไรเป็นสาเหตุ ผลกระทบเกี่ยวเนื่องที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง
2. มองสหวิทยาการ คือ การมองหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน เป็นการคิดเชิงบูรณาการ พยายามคิดออกนอกกรอบ พยายามเชื่อมโยงกับแกนหลักของเรื่องที่ต้องการหาคำตอบ เพื่อการมองเรื่องดังกล่าวชัดเจนขึ้น
3. มองอย่างอุปมาอุปนัย เป็นการมองขยายกรอบความคิด เป็นการเปิดโอกาสให้สมองได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ในการเรียนรู้ และทำความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยใช้เหตุผลแบบอุปนัย (inductive thinking) หรือใช้กรอบความรู้ที่ได้พิสูจน์แล้วมาตอบ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการคิดเชิงบูรณาการ
4. มองประสานขั้วตรงกันข้าม เป็นการมองแนวคิดหนึ่งปฏิเสธแนวคิดหนึ่ง หรือเชื่อว่าแนวคิดหนึ่งเป็นจริง แนวคิดที่เหลือเป็นเท็จ โดยเปิดใจข้ามสะพานเชื่อมขั้นคิดตรงกันข้าม หรือสร้างดุลยภาพ ทำให้เกิดความพอดี
5. มองทุกฝ่ายชนะ WIN-WIN ครอบคลุมความพอใจทุกฝ่าย ซึ่งเป็นการขยายกรอบความคิดจากวิธีแก้ปัญหาทั่วไป ปกติการแก้ปัญหาคือ การกำหนดทางเลือก
จากการกล่าวถึงเรื่องการคิดและประโยชน์ของการคิดรูปแบบต่างๆ ข้างต้น เมื่อนำพิจารณาเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ปฎิเสธไม่ได้ที่ทำให้เราเห็นมุมมองในการเชื่อมโยงระบบของความคิดในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำจุดดีหรือประโยชน์มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ กล่าวคือการที่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมทำให้ธุรกิจมีการแข่งขันกันด้วยเงินทุน เครื่องจักร และความสามารถในการผลิต ธุรกิจที่ไม่มีกำลังเพียงพอสำหรับการผลิตแบบ Mass Production เพื่อลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด จึงขาดโอกาสในการแข่งขัน ขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันนั้นไม่ได้ต้องการเพียงสินค้าที่ตอบสนองความต้องการทางกายภาพเท่านั้น “ความคิด” จึงกลายเป็นทุนในรูปแบบใหม่ ที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจที่เล็กกว่ามีความสามารถในการแข่งขันได้อย่างเปิดกว้างมากขึ้น
จากการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันของ World Economic Forum พบว่า สหรัฐอเมริกาได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความสามารถทางการแข่งขัน สูงสุดเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน โดยมีปัจจัยที่สำคัญคือ การมี “สาธารณูปโภคทางความคิด” ที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างนวัตกรรม ซึ่งหมายรวมถึงความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาคการศึกษาในการศึกษาวิจัย พัฒนา และผลักดันเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง
มาดูคำกล่าวของกรีน สแปนเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่น่าสนใจกันค่ะ เขากล่าวไว้ว่า ...
Create, Analyze, Transform Information and Interact Effectively with Others/ การเติบโตของผลผลิตทางความคิดจะนำไปสู่ความต้องการแรงงานที่ไม่ได้มีเพียง ความรู้ทางด้านเทคนิค แต่เป็นแรงงานที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์ วิเคราะห์ ใช้ประโยชน์จากข้อมูล และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อลัน กรีนสแปน อดีตผู้ว่าการธนาคารสหรัฐ
, 1997 มหาวิทยาลัยคอนเนคติกัต
จากคำกล่าวข้างต้น กรีน สแปน ได้กล่าวถึงแนวคิดและความสำคัญของผลผลิตทางความคิด (Conceptual Output) ว่าเป็นสิ่งที่นำไปสู่นโยบายการลดปริมาณงานทางด้านเทคนิคและการผลิตภายในประเทศ พร้อมทั้งการกระจายงานที่ไม่เกิดมูลค่าทางความคิดเหล่านั้นไปสู่ประเทศอื่นๆ โดยเชื่อว่า การเก็บแต่งานที่ใช้มันสมองไว้ในประเทศ จะนำไปสู่การสร้างผลผลิตที่ดีที่สุดสำหรับเศรษฐกิจของสหรัฐในอนาคต!
โดยเขาอธิบายว่า การเก็บรักษางานที่ใช้ความคิดนั้นให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่างานจากแรงงานในประเทศ และการส่งงานที่ใช้แรงงานและงานด้านเทคนิคไปให้คนอื่นทำนั้นจะ ยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างรายได้ของประชากรสหรัฐกับประเทศอื่นๆ ห่างกันยิ่งขึ้น เนื่องจากงานที่ใช้ “ความคิด” นั้นก่อให้เกิดผลตอบแทนที่สูงกว่า อีกทั้งงานจำนวนมากยังได้รับการปกป้องโดยกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย ดังคำกล่าวของนักเขียน Charles Handy ที่ว่า “ปัญญาคือรูปแบบใหม่ของทรัพย์สิน” (Intelligence is the new form of property.)
ขณะที่ UNCTAD ได้ให้คำนิยามของเศรษฐกิจบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ไว้ว่าเป็น “แนว คิดที่พูดถึงศักยภาพในการใช้สินทรัพย์ทางความคิดสร้างสรรค์ (creative assets) เพื่อพัฒนาและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เอื้อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และเพิ่มยอดการส่งออก ขณะเดียวกัน ก็ยังรวมถึงการมีส่วนร่วมทางสังคม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วย” นอกจากนี้ UNCTAD ยังได้ให้คำจำกัดความของอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ว่าเป็น “วงจร ของการสร้างสรรค์ การผลิต และการจำหน่ายสินค้าและบริการที่มีปัจจัยหลักคือความคิดสร้างสรรค์และทุนทาง ปัญญา (intellectual capital)” **
ปัจจุบันการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศพัฒนาแล้วในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การจ้างงานและการพัฒนาโครงสร้างทางสังคม โดยอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาสูงสุด ในวงจรการค้าโลกในขณะนี้ ด้วยอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยระหว่างปี 2001-2005 ที่สูงถึง 8.7% และตัวเลขการส่งออกกว่า 424.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลปี 2005)
ขณะเดียวกันรัฐบาลต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนาก็กำลังอยู่ในช่วงการเริ่มต้นโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยมีจีนเป็นผู้นำที่น่าจับตามองในฐานะผู้ผลิตและส่งออกสินค้าที่ เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์รายใหญ่ของโลก
ประเด็นที่น่าจับตาจะเห็นว่า แม้ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ต่างก็มีวัตถุดิบที่สำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมและบุคลากรที่มีศักยภาพทางความคิดสร้างสรรค์ (creative talent) แต่อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ของประเทศกำลังพัฒนาก็คือ ความอ่อนแอของนโยบายรัฐบาลและโครงสร้างทางการค้าของโลกที่ยังขาดความเท่าเทียม
ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทย ควรมุ่งเน้นให้สำความสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์(Creative Economy) และต้องไม่ลืมว่า ยิ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งควรต้องผลักดันเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังมากขึ้นด้วย เนื่องจากทรัพย์สินทางปัญญาคือปัจจัยที่สำคัญในการสร้างรายได้ที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์โดยตรง.