.

Dec 21, 2009

เขตการค้าเสรี (FTA) และมาตรการรองรับของไทย

เขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) คือการที่กลุ่มประเทศได้ทำข้อตกลงที่จะทำการค้าแบบเสรี โดยมีเงื่อนไขข้อกำหนดในการละเว้นการเก็บภาษีศุลกากร การจำกัดโควตา รวมถึงการให้สิทธิพิเศษ แก่สินค้าส่วนใหญ่ที่กลุ่มประเทศทำการค้าขายระหว่างกัน สำหรับประเทศไทยได้มีการจัดทำ FTA ฉบับแรกขึ้นในปี พ.ศ. 2535 โดยขณะนั้นมีชื่อเรียกว่า ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area) หรือ AFTA


เขตการค้าเสรี (FTA)


FTA เป็นความตกลงระหว่าง 2 ประเทศขึ้นไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อให้เกิดการค้าเสรีระหว่างกัน ปัจจุบันประเทศต่างๆ ก็ได้ขยายขอบเขตของ FTA ให้ครอบคลุมการค้าด้านบริการ เช่น บริการท่องเที่ยว การรักษา พยาบาล การสื่อสาร การขนส่ง ฯลฯ พร้อมกับความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วย

วัตถุประสงค์ของ FTA


FTA สะท้อนแนวคิดสำคัญทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่า "ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศจะเกิดขึ้นสูงสุดเมื่อประเทศต่างๆ ผลิตสินค้าที่ตนมีต้นทุนในการผลิตต่ำที่สุดเมื่อเปรียบ เทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วนำสินค้าเหล่านั้นมาค้าขายแลกเปลี่ยนกัน" ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ประโยชน์สูงสุดดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น หากยังมีการเก็บภาษีขาเข้าและมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ ซึ่งส่งผลบิดเบือนราคาที่แท้จริงของสินค้า และทำให้การค้าขายไม่เป็นไปอย่างเสรีและมีประสิทธิภาพ
FTA ถือเป็นเครื่องมือทางการค้าสำคัญที่ประเทศต่างๆ สามารถใช้เพื่อขยายโอกาสในการค้า สร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาให้แก่สินค้าของตน เนื่องจากสินค้าที่ผลิตใน FTA จะถูกเก็บภาษีขาเข้าในอัตราที่ต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิก FTA จึงทำให้สินค้าที่ผลิตภายในกลุ่มได้ เปรียบในด้านราคากว่าสินค้าจากประเทศนอกกลุ่ม

ลักษณะสำคัญของ FTA


FTA จะมีรูปแบบเป็นอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับประเทศคู่สัญญา FTA จะตกลงกัน ไม่มีกฎเกณฑ์กำหนดตายตัวว่า FTA จะต้องมีลักษณะอย่างไร แต่ทุก FTA จะมีลักษณะพื้นฐานที่เหมือนกันอยู่ 3 ประการ คือ

1. มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และไม่สร้างอุปสรรคทางการค้าเพิ่มต่อประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิก (No fortress effects)
2. ครอบคลุมการค้าระหว่างประเทศมากพอ (Substantial coverage) ซึ่งเป็นกติกาที่ WTO กำหนดไว้เพื่อปกป้องและป้องกันผลกระทบของ FTA ที่จะมีต่อประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิกของ FTA นั้นๆ
3. มีตารางการลดภาษีหรือเปิดเสรีที่ประเทศคู่สัญญา FTA เจรจากันว่าจะลดภาษีให้แก่กันในสินค้าใดบ้าง จะลดอย่างไร และจะใช้ระยะเวลายาวนานเท่าไรในการลด

หลักเกณฑ์ในการทำ FTA ของไทย

ไทยมีหลักเกณฑ์ในการจัดทำ FTA ดังนี้

1. การจัดทำความตกลง FTA ควรทำในกรอบกว้าง (Comprehensive) ครอบคลุมการเปิดเสรีทั้งด้านการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน รวมทั้งมาตรการทางการค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measure: NTM) เช่น การกำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้า และมาตรการโควต้า และการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ
2. การจัดทำความตกลง FTA ต้องสอดคล้องกับกฎของ WTO ซึ่งมีเงื่อนไขให้การเปิดเสรีต้องครอบคลุมการค้าสินค้าและบริการอย่างมากพอ (Substantial coverage) มี ความโปร่งใส และเปิดให้สมาชิกอื่นๆ ตรวจสอบความตกลงได้
3. การจัดทำความตกลง FTA ต้องมีความยืดหยุ่น (Flexibility) สอดคล้องกับระดับการพัฒนาของประเทศคู่เจรจาเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย พร้อมกับยึดหลักการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ (Reciprocity) และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยคำนึงถึงสถานะของไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้มีเวลาในการปรับตัวนานกว่า หรือมีภาระผูกพันน้อยกว่า
4. การจัดทำความตกลง FTA ควรมีมาตรการป้องกันผลกระทบของการเปิดเสรีต่ออุตสาหกรรมภายใน เช่น มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาด (Anti-dumping Measures: AD) มาตรการต่อต้านการอุดหนุน (Counter-vailing Duties: CVD) มาตรการปกป้อง (Safeguards) รวมทั้งกำหนดกลไกการยุติข้อพิพาททางการค้าอย่างเป็นธรรม

การเจรจา FTA ของไทย

ปัจจุบันไทยทำ FTA กับ 8 ประเทศ ได้แก่ จีน นิวซีแลนด์ บาห์เรน ญี่ปุ่น เปรู สหรัฐฯ อินเดีย และออสเตรเลีย และกับ 1 กลุ่มเศรษฐกิจ BIMST-EC โดยเหตุผลเพื่อรักษาสถานภาพและศักยภาพในการส่งออกของไทยโดยการขยายโอกาสในการส่งออก และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยทั้งในตลาดสำคัญในปัจจุบัน (เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อาเซียน) และตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ (เช่น จีน อินเดีย ออสเตรเลีย BIMST-EC) นอกจากนี้ ไทยยังจัดทำ FTA กับประเทศที่จะเป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาค (Gateway) อื่นๆ ของโลก (เช่น บาห์เรน เปรู) และอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในการเจรจา FTA กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) เม็กซิโก เกาหลีและกลุ่มประเทศ Mercosur

สาระสำคัญของ FTA ที่ไทยดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน มีดังนี้

1. ไทยกับจีนได้ลงนามกรอบความตกลง FTA แล้ว ภายใต้ในกรอบความตกลง ASEAN -จีน โดยดำเนินการร่วมกับจีนยกเลิกภาษีระหว่างกันก่อน (Early Harvest) ในสินค้าในพิกัด 07-08 (ผักและผลไม้) ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2546 และร่วมกับประเทศ ASEANและจีนที่จะลดภาษีสินค้าในพิกัด 01-08 (ได้แก่ สัตว์มีชีวิต ประมง ธัญพืช ผักและผลไม้) ให้เหลือ 0% ในปี 2547-2549 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ส่วนสินค้าที่เหลือ รวมทั้งการค้าบริการ การลงทุน และกฎระเบียบต่างๆ จะเจรจาให้เสร็จภายในสิ้นปี 2547 เพื่อที่จะเป็น FTA โดยสมบูรณ์ภายในปี 2553
2. ไทยกับนิวซีแลนด์ จากผลของการศึกษาร่วมกันที่ชี้ให้เห็นว่าไทยกับนิวซีแลนด์จะได้รับผลประโยชน์จากการจัดทำ FTA ทั้งสองฝ่ายจึงได้เริ่มการเจรจาเมื่อเดือนมิถุนายน 2547 ณ ประเทศนิวซีแลนด์ โดยสามารถกำหนดกรอบและขอบเขตการเจรจาได้ในหลายเรื่อง และคาดว่าจะสามารถสรุปผลการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในในเดือนพฤศจิกายน 2547
3. ไทยกับบาห์เรน ได้ลงนามกรอบความตกลงเมื่อเดือนธันวาคม 2545 ที่ครอบคลุมการค้าสินค้า บริการ การลงทุน โดยในชั้นนี้ได้มีความตกลง Early Harvest ใน 626 รายการ ที่จะลดภาษีเหลือ 0% ภายในปี 2005 สำหรับสินค้าที่เหลือคาดว่าจะเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปี 2547 เพื่อที่จะลดภาษีให้เหลือ 0% ภายในปี 2010
3. ไทยกับญี่ปุ่น หลังจากที่ไทยกับญี่ปุ่น ได้ศึกษาหารือความเป็นไปได้ในการทำ FTA มาตั้งแต่ปี 2545 ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มการเจรจาในต้นปี 2547 ที่ครอบคลุมทั้งการเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ การลงทุน และความร่วมมือในสาขาต่างๆ และจะยึดรูปแบบความตกลงว่าด้วยหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นกับสิงคโปร์เป็นตัวอย่างในการทำความตกลง และพิจารณาสาขาที่เป็นปัญหาน้อยที่สุดก่อน
4. ไทยและเปรู ได้ลงนามกรอบความตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดทำ FTA เมื่อตุลาคม 2546 โดยคาดว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จภายใน 2547 เพื่อที่จะสามารถเป็น FTA ได้ภายในปี 2558
5. ไทยและสหรัฐฯ ได้ตกลงการจัดทำ FTA เมื่อเดือนตุลาคม 2546 และได้มีการเจรจารอบแรกเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน 2547 ณ มลรัฐฮาวาย โดยเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลเบื้องต้นในเรื่องต่างๆ ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการเจรจา 6-8 ครั้ง เพื่อที่จะให้การเจรจาเสร็จสิ้น ภายในปลายปี 2548 หรือต้นปี 2549
6. ไทยกับอินเดีย ได้ลงนามกรอบความตกลง ไทย-อินเดีย เมื่อ 9 ตุลาคม 2546 ซึ่งครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ การลงทุน และการลดอุปสรรค โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะลดภาษีล่วงหน้า (Early Harvest) ใน 82 รายการสินค้าก่อน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 ให้เหลือ 0% ในปี 2549 และดำเนินการเจรจาลดภาษีรายการอื่นๆ ต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถเป็น FTA ได้ภายในปี 2010
7. ไทยกับออสเตรเลีย ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลง FTA แล้วเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2004 ณ ประเทศออสเตรเลีย และความตกลงนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2005 เป็นต้นไป
8. BIMSTEC ประเทศสมาชิก BIMST-EC ได้ ลงนามกรอบความตกลงเขตการค้าเสรีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ณ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งครอบคลุมการค้าสินค้า บริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่จะลดภาษีเหลือ 0% ภายในปี 2015

ผลกระทบของ FTA: มุมมองผู้บริโภค

FTA จะช่วยลดภาษีขาเข้า ทำให้ราคาสินค้านำเข้าถูกลง ถือเป็นการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนทางอ้อม พูดง่ายๆ ก็คือด้วยเงินจำนวนเท่าเดิมผู้บริโภคสามารถจับจ่ายซื้อสินค้านำเข้าได้เป็นจำนวนมากขึ้น ทั้งการลดภาษีนำเข้ายังช่วยกดดันให้ราคาสินค้าชนิดเดียวกันหรือสินค้าที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ที่ผลิตในประเทศลดราคาลงด้วยอันเป็นผลมาจากการแข่งขันที่สูงขึ้น นอกจากนี้ การลดภาษีศุลกากรยังทำให้มีการนำเข้าสินค้าชนิดใหม่ๆที่ยังไม่เคยมีการนำเข้ามาก่อนเพราะเจอกำแพงภาษีในอดีตด้วย ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชนอีกทาง

ผลกระทบของ FTA: มุมมองผู้ผลิต
FTA จะเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ส่งออก ลดภาระผู้ประกอบการที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าและเพิ่มการแข่งขันภายในประเทศ ในมุมมองของผู้ผลิตส่วนหนึ่งจะสามารถผลิตและส่งออกสินค้าได้มากขึ้นเนื่องจากภาษีขาเข้าของประเทศคู่สัญญา FTA ลดลง สินค้าบางอย่างที่ไม่เคยส่งออกเนื่องจากต่างชาติตั้งกำแพงภาษีก็จะเริ่มส่งออกได้ ผู้ผลิตอีกกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จาก FTA คือ กลุ่มที่มีการนำเข้าวัตถุดิบเครื่องยนต์เครื่องจักรเข้ามาเพื่อใช้ในการผลิตสินค้า เพราะ FTA จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าของผู้ประกอบ การเหล่านี้และเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ผลิตสามารถนำเข้าได้จากหลายแหล่งมากขึ้น ส่งผลให้สามารถขายสินค้าได้ในราคาที่ถูกลง ถือเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาให้แก่ผู้ผลิต อย่างไรก็ดี จะมีผู้ผลิตอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีคือกลุ่มของผู้ผลิตสินค้าเพื่อขายในประเทศซึ่งจะต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่ราคาถูกลงทำให้ต้องมีการปรับตัวรับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น ดังนั้น FTA ในมุมมองที่เป็นกลางก็คือโอกาสที่มาพร้อมกับการแข่งขัน ซึ่งผู้ที่จะได้ประโยชน์ คือ ผู้ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่า และใช้โอกาสที่เปิดขึ้นได้มากกว่า

ไทยควรเร่งปรับมาตรการเพื่อการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเสรี ดังนี้

ผลประโยชน์จาก FTA จะเกิดขึ้นสูงสุดเมื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันในการเจรจาจัดทำ FTA และเตรียมการ รองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นเอกภาพระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตัวแทนภาคธุรกิจ และสมาคมผู้ประกอบการ รวมทั้งนักวิชาการ และองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐได้ร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อเตรียมมาตรการรองรับการเปิดเสรีและได้เร่งดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างความพร้อมในด้านต่างๆ ดังนี้

1. จัดตั้งคณะติดตามประเมินผลการเจรจา และเสนอแนะมาตรการรองรับต่างๆ
2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้การค้ามีความคล่องตัวขึ้น เช่น ปรับปรุงระบบและลดขั้นตอนพิธีการทางศุลกากร และการให้บริการของภาครัฐ เป็นต้น
3. กำหนดมาตรฐานสินค้าในประเทศและมาตรฐาน นำเข้าทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่จำเป็นเพื่อปกป้องผู้ผลิตและผู้บริโภคในประเทศ
4. สร้างระบบเตือนภัยเพื่อป้องกันผลกระทบอย่าง ฉับพลันและรุนแรงต่ออุตสาหกรรมภายในจากการทำ FTA เช่น หากมีการนำเข้ามากจนอาจเกิดผลกระทบต่อการผลิตภายใน ประเทศ
5. ปฏิรูปการศึกษา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิตและสาขาบริการที่ไทยมีศักยภาพ
6. พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ให้เข้มแข็ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการใช้ประโยชน์จาก FTA
7.เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจของประชาชนทั่วไปเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จาก FTA ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น จัดสัมมนา และ workshop เป็นต้น
8. ขยายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ไทยสามารถได้รับประโยชน์สูงสุดจากการจัดทำ FTA เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต พัฒนารูปแบบ คุณภาพและมาตรฐานสินค้า พร้อมทั้งบุคลากร และฝีมือแรงงาน เพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา และขยายช่องทางการตลาดในเชิงรุก

No comments:

Post a Comment

Total Pageviews