สื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจอันได้ผลชะงัด
ผู้ใดครอบครองสื่อ ผู้นั้นก็เป็นเจ้าของอำนาจ
Michel Foucault
ผู้ใดครอบครองสื่อ ผู้นั้นก็เป็นเจ้าของอำนาจ
Michel Foucault
สื่ออินเตอร์เน็ต (New Media) นับว่าได้รับปรากฎการณ์ที่แปลกใหม่ภายหลังจากถูกผลักให้ออกมาทำหน้าที่พื้นที่สาธารณะ นับตั้งแต่สถานการณ์หลังรัฐประหาร กันยายน 2549 ซึ่งได้ทำหน้าที่ทดแทนสื่อเก่า (Old Media) ที่มีอยู่เดิมไม่ว่าจะเป็น สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ หนังสือพิมพ์ ซึ่งในช่วงเวลานี้เรียกได้ว่าสื่อเก่ายังไม่สามารถตอบสนองความอยากรู้ อยากเห็น ของประชาชนรวมถึงอินเทอร์เน็ตยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชาวไซเบอร์ได้อย่างครบทุกด้านทุกมุมอีกด้วย
จากกรณีที่รัฐบาลทำการปิด 36 เว็บไซต์ ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2553 และต่อมามีการออกประกาศของกระทรวง ICT เรื่องห้ามเผยแพร่ภาพและวิจารณ์การใช้กำลังทหารติดอาวุธสงครามสลายการชุมนุมจนเป็น เหตุให้มีการบาดเจ็บและเสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน 2553 นับเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง เป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลกำลังเป็นรัฐบาลเผด็จการ เนื่องจากไม่คำนึงว่าการปิดกั้นนี้จะยิ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งขยายวงกว้าง และฝังรากลึกยืดเยื้อในสังคมไทย
รัฐบาลอาจมองว่าการปิดเว็บไซต์เป็นวิธีการที่ถูกต้องในการระงับความขัดแย้ง ในปัจจุบัน แต่รัฐบาลต้องศึกษาให้เข้าใจว่าความขัดแย้งนี้ผังรากลึกในสังคมไทยมายาวนานกว่าการชุมนุมที่เพิ่งผ่านมาเพียงเกือบหนึ่งเดือนเท่านั้น และต้องมองว่าความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ไม่ใช่แค่ความขัดแย้งทางการเมืองในระยะสั้นเท่านั้น ต้องทำความเข้าใจว่าความขัดแย้งนี้ยืดเยื้อมาเป็นทศวรรษแล้ว โดยเป็นผลมาจากการที่ประชาชนส่วนหนึ่ง เกิดความรู้สึกว่าพวกเขาถูกทำให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพราะคณะรสช. ไม่เคารพสิทธิ์การตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้สิทธิ์ขั้นพื้นฐานของตนในการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเข้าไปทำหน้าที่แทนตนในสภาฯ และต้องไม่ลืมว่าปัญหาระยะยาวที่แท้จริงคือผู้คนในสังคมไทยตกอยู่ในภาวะของความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองมายาวนานและฝังรากลึกมากมายเพียงใด
การปิดกั้นข่าวสาร ปิดกั้นการสื่อสารในสื่อทางเลือก จะยิ่งทำให้กลุ่มคนที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยช่องทางการสื่อสารทั่วไป รู้สึกถึงการถูกกดทับ ตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันในสังคมมากยิ่งขึ้น ขณะที่รัฐบาลก็ได้แต่มุ่งสื่อสารกับประชาชนเพียงด้านเดียว สื่อหลักที่รัฐบาลใช้คือฟรีทีวีซึ่งอยู่ในการควบคุมของรัฐเองทั้งหมดอีกด้วย โดยหารู้ไม่ว่าพฤติกรรมการบริโภคสื่อในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก ฟรีทีวีเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในหลายๆทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นเคเบิลทีวีหรือจานดาวเทียม ตลอดจนหนังสือพิมพ์และสื่อทางเลือกต่างๆในอินเทอร์เน็ต ดังนั้นจึงมีเพียงคนที่สนับสนุนรัฐบาลเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่พร้อมจะเชื่อและรับรู้ข่าวสารผ่านทางฟรีทีวี ส่วนประชาชนผู้ตื่นตัวทางการเมืองจำนวนมากนั้นได้หันไปหาสื่อทางเลือกอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อขวนขวายตักตวงรับรู้ข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้ในการพิจารณาประกอบการตัดสินใจของตน
จะเห็นได้ชัดเจนว่าการปิดกั้นข่าวสารไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้ได้เลยแม้แต่น้อย แต่กลับจะขยายวงของความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น ทำให้กลุ่มคนที่อยู่ตรงกลางๆ เริ่มรู้สึกถึงการถูกจำกัดสิทธิในการปิดกั้นข่าวสารที่ตนควรจะได้รับตามสิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงนับเป็นผลลบแก่ตัวรัฐบาลเอง อีกทั้งในความเป็นจริงโลกไซเบอร์ยังมีหนทาง แห่งการทะลวงโลกแห่งการปิดกั้นอีกมากมายซึ่งพวกเขาเหล่านั้น ทราบกันดีในวิสัยแห่งโลกาภิวัตน์ กล่าวคือกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะสามารถสร้างทางลัดทางลอดเพื่อข้ามผ่านการปิดกั้นควบคุมของรัฐได้เสมอ เพราะมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์อีกมากมายที่สามารถทำลายปราการแห่งการปิดกั้นนั้นได้อย่างสิ้นเชิง
ประวัติศาสตร์ทั้งของไทยและต่างประเทศเป็นบทเรียนได้เป็นอย่างดี กรณีที่สื่อได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองมาอย่างยาวนาน ผู้มีอำนาจมักใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อและทำลายฝ่ายตรงข้าม อีกทั้งในหลายประเทศความรุนแรงยังมีถึงขั้นใช้สื่อเพื่อปลุกระดมสร้างความเกลียดชังจนเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ตัวอย่างเช่น ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคพรรคนาซีครองอำนาจในเยอรมันนี หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ทวีปแอฟฟริกา ค.ศ.1994 ที่มีผู้เสียชีวิตเป็นล้านๆคน
อีกตัวอย่างกรณีก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผู้มีอำนาจใช้วิทยุทหารโดยเฉพาะวิทยุยานเกราะปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชัง ทำให้เกิดการฆ่าหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเห็นได้ว่าผู้มีอำนาจมักคิดว่า การควบคุมสื่อไว้ในมือเพื่อเป็นกระบอกเสียงส่วนตัวนั้นนับเป็นปัจจัยสำคัญทำให้สามารถชนะฝ่ายตรงข้าม โดยความเป็นจริงแล้วกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ตัวอย่างยุค รสช. พ.ศ.2535 ทีพล.อ.สุ จินดา คราประยูร สามารถควบคุมสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ไว้ในมือได้เบ็ดเสร็จ แต่สิ่งนี้กลับกลายเป็นชนวนนำไปสู่ความรุนแรง คือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ จนที่สุดแล้วทำให้รัฐบาล พล.อ.สุจินดามีอายุอยู่ได้เพียงแค่ 48 วัน เท่านั้น
แม้ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่อาจแยกแยะได้ว่า สื่อใดเป็นสื่อการเมืองหรือสื่อที่มุ่งทำหน้าที่ตามวิชาชีพโดยตรงจึงได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกันโดยเฉพาะการใช้อำนาจสั่งปิด แต่สามารถเซ็นเซอร์และดำเนินคดีได้ ถ้ากระทำผิดตามกฎหมาย
ในฐานะรัฐบาล แม้อาจใช้สื่อของรัฐในการชี้แจงข้อเท็จจริงและทำความ เข้าใจกับประชาชนในเรื่องต่างๆได้ แต่ไม่มีสิทธิใช้เป็นเครื่อง มือในการโจมตีหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง สร้างความเกลียดชังให้แก่ผู้ชุมนุมที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เพราะอาจเป็นชนวนเหตุที่นำไปสู่การนองเลือดได้เหมือนในอดีต การคิดว่า การปิดกั้นการสื่อสารทางวิทยุและโทรทัศน์หรืออินเทอร์เน็ตจะทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมอ่อนกำลังลงไปเองนั้นจึงเป็นการคิดที่สรุปผลได้ง่ายเกินไป
ดังนั้นรัฐบาลควรหาทางลดเงื่อนไขที่จะทำให้กลุ่ม ผู้ชุมนุมเห็นว่า รัฐบาลไม่มีความเป็นธรรมและแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีอย่างแท้จริง แม้ต้องใช้เวลาบ้างแต่ควรต้องอดทน
โดยการที่กลุ่มการเมืองมีการใช้อิทธิพลครอบงำสื่ออย่างกว้างขวางในปัจจุบัน อาจนำ ทฤษฎีครองอำนาจนำในทางสื่อ (The Media Hegemony Theory) มาช่วยในการอธิบายได้ดังนี้
ทฤษฎีครองอำนาจนำในทางสื่อ (The Media Hegemony Theory)
Paul Ransome กล่าวไว้ว่า Hegemony มองได้ว่าเป็นกระบวนการในการหลอมรวม(combination) การใช้กำลัง (force)และการสร้างฉันทานุมัติ (consent) เป็นกระบวนการทางสังคมที่กรัมชีเรียกว่า สงครามทางความคิด (war of position) ซึ่งเป็นการทำให้สังคมเข้าใจหรือรับรู้จุดยืน ของการเคลื่อนไหว (war of movement) ที่ชนชั้นกลางใช้ในการ ปฏิวัติสังคม และยังทำให้สังคมเชื่อถือในจุดยืน ผ่านการสร้างจิตสำนึก (conscious) ให้ยอมรับในการขึ้นมามีอำนาจในสังคมของชนชั้นกลางโดยการสร้างการใช้สถาบันเพื่อครอบงำความคิดของพลเมือง และสร้างพลเมืองในสังคมให้กลายเป็นแนวร่วมทางอุดมการณ์ที่กรัมชีเรียกว่า กลุ่มประวัติศาสตร์(historical bloc) และกรัมชีได้เรียกสถาบัน เหล่านี้ว่า ประชาสังคม(civil society) เช่นโรงเรียนซึ่งเป็นหน่วยที่เครื่องมือของ การครอบงำทางอุดมการณ์ทำงานปลูกฝังให้อุดมการณ์ถูกรับรู้ในสถานะส่วนตัว (‘private’ civil society) อย่างมีคุณภาพ โดยมีตัวแทนของอุดมการณ์ชนชั้นกลางซึ่งก็คือปัญญาชน และจากการที่ชนชั้นกลางเป็นชนชั้นที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอด ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดของชนชั้นกลาง คือการบริโภคสื่อ ประกอบกับในยุคโลกาภิวัตน์ ข้อมูลข่าวสาร และกระบวนการต่างๆในการรับรู้ ล้วนแล้วแต่ต้องบริโภคสื่อทั้งสิ้น
ทฤษฎี Hegemony เมื่อนำมาประยุกต์เป็นทฤษฎีทางสื่อสารมวลชน ที่ว่า ชนชั้นนำคือตัวการในการสร้างบรรทัดฐานต่างๆให้กับสังคมผ่านการครอบครองสื่อ เนื่องจากในสังคมปัจจุบันชนชั้นนำก็คือชนชั้นกลางที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองนั่นเอง อีกทั้งคนกลุ่มนี้ยังมีความสามารถในการใช้สื่อเป็นพื้นที่ในการควบคุม ครอบงำความคิด ความรู้ และความเชื่อของสังคม กรัมชียังกล่าวอีกว่ากระบวนการด้านการครองอำนาจนำนั้นมีจุดมุ่งหมายด้วยกัน 2 ด้านดังนี้
1.การรักษาไว้ซึ่งการมีอำนาจในการจัดความ สัมพันธ์ในเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นวิธีของกลุ่มชนชั้นเพื่อจัดการชนชั้น ตรงข้ามเพื่อไม่ให้ทำลายการครองอำนาจนำของกลุ่มตน กรัมชีเรียกสิ่งนี้ว่า “การครองอำนาจนำในทางการเมือง”(political hegemony)
2.การรักษาไว้ซึ่งการมีอำนาจ ในการจัดความสัมพันธ์ในเรื่องระบบคิด ที่กลุ่มชนชั้นสถาปนาระบบจนกลายเป็นกรอบความ คิดหลักของสังคม ซึ่งกรัมชีเรียกว่า “การครองอำนาจนำในทางวัฒนธรรม”(cultural hegemony) โดยในการครองอำนาจนำนั้นต้อง มีการยินยอมของชนชั้นที่ถูกครอบงำด้วย ซึ่งในกรณีที่ชนชั้นปกครองมีความเป็นเอกภาพ อุดมการณ์เข้มแข็ง การเข้าต่อกรกับอุดมการณ์ของชนชั้นปกครองจึงเป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะด้วยความเป็นเอกภาพทางภูมิปัญญาของชนชั้นปกครอง ทำให้มวลชนเชื่อใจและมั่นใจในอุดมการณ์หลัก สิ่งที่เกิดขึ้นคือการไม่สนใจการเมืองกรัมชี่เรียกว่า “การครองอำนาจนำจากภายนอก” หรือเรียกได้ว่าถูกครอบงำนั่นเอง
ดังเช่นความเชื่อที่ว่าความมั่นคงในชีวิตคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนอยากมี อยากเป็น อยากได้ มนุษย์ต้องประสบกับภัยธรรมชาติ ดังนั้นการเคารพต่อธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์โบราณสร้างขึ้นผ่านพิธีกรรม สิ่งที่ผลักดันมนุษย์โบราณให้แสดงอาการยอมแพ้(worship)ต่อธรรมชาติ ก็คือความกลัว และสิ่งที่สัมพันธ์กันก็คือความตายหรือกลัวตายนั่นเอง มนุษย์ในสังคมสมัยใหม่จะเลือกเชื่อปัญญาชนก็ เมื่อปัญญาชนยืนยันความมั่นคง ปัญญาชนสร้างความเชื่อผ่านการใช้สถาบันเพื่อครอบงำความคิดของพลเมือง เช่น โรงเรียน กรัมชีเรียกสถาบันเหล่านี้ว่า ประชาสังคม(civil society) ซึ่งกรัมชีถือว่าเป็นหน่วยที่เครื่องมือของ การครอบงำทางอุดมการณ์ ทำหน้าที่ปลูกฝังให้อุดมการณ์ถูกรับรู้ ในสถานะส่วนตัว(‘private’ civil society)อย่าง มีคุณภาพ โดยเป็นสถานที่ที่ปัญญาชนยืนยันความมั่นคงให้เห็น ดังนั้นหากมีชนชั้นที่มีการศึกษาและสามารถเข้าถึงอำนาจของรัฐในระดับนโยบาย นั้น ก็จะสามารถสร้างคำนิยามต่อทุกๆสิ่งในสังคม
หากใช้มุมมองของกรัมชีพิจารณาว่ามนุษย์กลุ่มไหนคือพวกที่สร้างการครอบงำ(วาท กรรม) และทำให้สิ่งที่ถูกสร้างนั้นเป็นสิ่งที่มองว่าปกติ คำตอบคือมนุษย์กลุ่มที่เป็นแกนกลางในกลุ่มประวัติศาสตร์ที่ใช้สื่อ (mass media) ในการโน้มน้าวรวบรวมกลุ่มประวัติศาสตร์ขึ้นมา นั่นเอง
ในยุคเก่าที่ยังดำรงอยู่ด้วยลัทธิการเมืองของ ชนชั้นใหม่ แตกต่างเพียงการยึดครองความคิดของปัญญาชนนั้นสามารถทำได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น ถ้าชนชั้นใหม่มีสิ่งที่กรัมชีเรียกว่า “ปัญญาชนโดยธรรมชาติของชนชั้น(Organic or Technical Intellectual)”ปัญญาชนเหล่านั้นก็จะสามารถ ทำให้กลุ่มชน มีความเป็นหนึ่งผ่านจิตสำนึกเกี่ยวกับบทบาทของกลุ่ม ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยปัญญาชนโดยธรรมชาติฯ จะถูกสร้างขึ้นพร้อมๆกับการกำเนิดชนชั้น โดยแต่ละชนชั้นจะมีความสามารถเฉพาะตนในศาสตร์ ต่างๆ เช่นชนชั้นขุนนางจะมีความ สามารถในทางปัญญาและการทำสงคราม ประเด็นที่สำคัญที่ชนชั้น ขุนนางเริ่มเสียเปรียบให้แก่นายทุนก็คือ การที่ขุนนางไม่สามารถเก็บและปกปิดความรู้ทางการทหารไว้ในมือของชนชั้นตนเอง ได้ กรัมชี ให้ข้อสังเกตว่า อุดมการณ์ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปกครอง จะเป็นอุดมการณ์ที่พยายามทำให้พลเมืองเชื่อว่าผลประโยชน์ที่คนบางกลุ่มได้ รับเป็นผลประโยชน์ของทุกคนร่วมกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานของกลไกทางอุดมการณ์(ideological apparatus) และกลับได้ผลดีกว่าการใช้กลไกอำนาจรัฐบังคับโดยตรง
การที่โลกแห่งปัจจุบันเป็นโลกของชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางเป็นชนชั้นที่เกิดมาพร้อมๆกับโลกสมัยใหม่ ดังนั้นชนชั้นกลางจึงเป็นกลุ่มชนในทุกสาขาอาชีพที่ไม่ได้ใช้แรงงานกายในการ ผลิต แต่ผลิตผลของชนชั้นกลางเกิดขึ้นโดยการใช้ความคิด และมีหน้าที่หลักคือเป็นคนกลางที่ช่วยให้เกิดความชอบธรรม และธำรงรักษาระบบทางการเมืองและอุดมการณ์ การที่ชนชั้นกลางเป็นชนชั้นที่ต้องเคลื่อน ไหวอยู่ตลอด ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดของชนชั้นกลางคือ การบริโภคสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคโลกาภิวัตน์ ข้อมูลข่าวสาร และกระบวนการแห่งการรับรู้ ถูกครอบครองโดยสื่อ อาจกล่าวได้ว่าชนชั้นกลางคือชนชั้นที่ชำนาญ และได้เปรียบกว่าชนชั้นอื่นๆในสังคม ช่องทางสื่อจึงกลายเป็นเครื่องมือที่ชนชั้นกลางใช้ใน สงครามทางความคิด (war of position)ในการทำให้สังคมเข้าใจรับรู้จุดยืนของการ เคลื่อนไหว (war of movement) ซึ่งจอห์น ฟิสเค กล่าวว่าเป็นไปเพื่อทำให้การต่อสู้นั้นได้ผลอย่างยั่งยืน เพราะเป็นการต่อสู้ในสิ่งที่เชื่อ และเห็นว่าดีแล้ว ซึ่งสื่อ(mass media) คืออาวุธในการต่อสู้ที่ใช้งานง่าย และมีประสิทธิภาพ
ประพจน์โดยสรุปของ กรัมซี ตามทฤษฎีครองอำนาจนำในทางสื่อ (The Media Hegemony Theory) มีดังต่อไป นี้
การที่สื่อมวลชนมีส่วนในการสร้างวาทกรรม ในฐานะของการเป็นตัวกลางที่ช่วยสร้างและดำรงไว้ซึ่งวาทกรรม เพื่อสร้างความชอบธรรมแห่งอำนาจให้กับผู้ที่คุมพื้นที่สื่อ ตามทฤษฎี Media Hegemony หรือทางกลับกันสื่อมวลชนกลับมีบทบาทในการให้ พื้นที่กับวาทกรรมอื่นที่นอกเหนือจากวาทกรรมหลัก ได้มีโอกาสและบทบาทในการช่วงชิงพื้นที่สื่อสาธารณะในสังคม ได้จากทฤษฎีของกรัมชีโดยรวม ซึ่งสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้
1. สื่อมวลชนมีส่วนในการสร้างวาทกรรม ในฐานะของการเป็นตัวกลางที่ช่วยสร้างและดำรงไว้ซึ่งวาทกรรมกระแสหลัก เพื่อสร้างความชอบธรรมทางอำนาจให้กับผู้ที่คุมพื้นที่สื่อ ตามทฤษฎี Media Hegemony” นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะสื่อคือเครื่อง มือที่สามารถครอบครอง (hold) และครอบงำ(dominate)ได้ สื่อจึงเป็นเครื่องมือสร้าง “อำนาจครอบครองผ่านความรู้(วาทกรรม)”
2. สื่อมวลชนมีบทบาทในการให้พื้นที่กับวาทกรรม อื่น ๆ (ที่นอกเหนือจากวาทกรรมหลัก)ได้มีโอกาสและ บทบาทในการช่วงชิงพื้นที่ในสื่อสาธารณะในสังคมได้” ก็เป็นเรื่องที่จริงเช่นกัน เพราะอุดมการณ์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างดังนั้นจึงถูกทำลายได้ ดังคำกล่าวของGorge Wilhelm Fredrich Hegel ที่ว่า “การที่โลกก้าวไปข้างหน้าด้วยความคิด ความขัดแย้งใดๆก็เป็นความขัดแย้งในเรื่องของความคิด ซึ่งส่งผลให้เกิดความก้าวหน้า ทั้งเชิงคุณภาพและเหตุผล เรียกว่า “วิภาษวิธี(Dialectic)” ซึ่งเกิดจากการที่ ความคิดเดิม(Thesis) ถูกท้าทายหรือขัดแย้งกับความคิดใหม่(Anti-Thesis) ก่อให้เกิด ความคิดที่ใหม่กว่า(Synthesis)ที่จะกลายเป็นความคิดเดิมในเวลาต่อไป การที่สามารถเกิดความคิดขัดแย้งใหม่ๆได้เสมอนั้นเพราะ ความคิดเป็นเพียงสิ่งสมมติที่มนุษย์สร้างขึ้นนั่นเอง”
การที่วาทกรรมจัดเป็นความคิดอย่างหนึ่ง จึงสามารถถูกสร้างได้ ถูกใช้ได้ ถูกเชื่อได้ ถูกท้าทายได้ และถูกทำลายได้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงเวทีการเมืองที่มีการสื่อสาร (political communication) โดยสื่อ(media) ถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างพลังให้กับผู้นำ ผู้ใช้มวลชน(mass)มาเป็นพลัง สุดท้ายสื่อมวลชนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งในทางการเมืองและภาวการณ์ เช่นนี้สื่อมวลชนจึงต้องถูกใช้ในการแสวงหาอำนาจในสังคมการเมือง โดยไม่ว่าผู้ที่ต้องการแสวงหาอำนาจจะมีสถานะทางสังคมอย่างไร เพียงแต่พวกเขาเหล่านั้นสามารถมีพลังเพียงพอ ในการเข้าถึงสื่อ พวกเขาก็จะมีอำนาจเพียงพอในระดับหนึ่ง ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่การเมืองมีการแย่งชิงอำนาจในการกำหนดการรับรู้ของประชาชน และคนในสังคมนั่นเอง
by Phatrsamon Rattanangkun
บทความเกี่ยวข้อง:
บทความเกี่ยวข้อง: