.

Apr 17, 2012

ตัวแบบการนำเสนอวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ในทางธุรกิจที่เหมาะสมกับสภาวะการแข่งขันปัจจุบัน กรณีตัวอย่าง: การนำเสนอวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ของผู้สมัครตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)




กรณีตัวอย่าง: การนำเสนอวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ของผู้สมัครตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)


เป้าหมาย

เป็นสายการบินชั้นนำ 1 ใน 3 ของเอเชีย
เป็นสายการบินชั้นนำ 1 ใน 5 ของโลก

จุดแข็งซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการบินไทย 3 ด้าน


ความเป็นผู้นำในธุรกิจการบินด้านการบริการ ที่สร้างชื่อเสียงมาเป็นเวลายาวนาน
มีมาตรฐานด้านการปฏิบัติการบินที่ดีเยี่ยม สร้างความน่าเชื่อถือในระดับโลก
มีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพทั้งความรู้ ความสามารถ และมีความทุ่มเทเสียสละ ซึ่งไม่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ


วิสัยทัศน์

แนวนโยบาย ที่จะสร้างการบินไทยในอีก 5 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2555– 2559) เพื่อให้การบินไทยเป็นองค์กรที่มีคุณลักษณะ 3 ประการ คือ


เป็นองค์กรที่มุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ความต้องการของลูกค้า เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด การบินไทยต้องเข้าใจความต้องการของ ลูกค้า ซึ่งซับซ้อนและแตกต่างกัน เพื่อให้สามารถจัดผลิตภัณฑ์และบริการให้ สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าได้


เป็นองค์กรที่มีความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ปัจจุบันลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น การบินไทยจำเป็นต้องมีความเข้มแข็งในทุกๆ ด้าน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งทั้งในด้านการบริการที่ดี ต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ ขณะที่ มีการปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพสูง มีต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง โปร่งใสและเป็นธรรม


เป็นองค์กรที่คล่องแคล่ว เต็มไปด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์ (Dynamic) เนื่องจากธุรกิจการบินในปัจจุบันมีความผันผวนที่เกิดจากปัจจัยภายนอกสูง การบินไทยต้องสามารถปรับตัวและตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงได้เร็ว ไม่ว่าเป็นการลดหรือเพิ่มกำลังการผลิต หรือการพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการลูกค้า

กรอบแนวทางในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

สร้างคุณค่าของสินค้า และบริการให้แก่ลูกค้าเพิ่มขึ้นโดยเร็ว ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจการบิน โดยการบินไทยจะเร่งปรับปรุงสินค้า และบริการ ที่สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพื่อให้ลูกค้ามีความพึงพอใจมากขึ้น อาทิ การปรับปรุงเมนูอาหาร การสร้างความสม่ำเสมอของผลิตภัณฑ์และบริการ เช่น ถ้าลูกค้าเดินทางในเส้นทางเดียวกันจะได้ขึ้นเครื่องบินในลักษณะเดียวกัน และการปฏิบัติต่อผู้โดยสารที่เท่าเทียมกัน เป็นต้น นอกจากนี้จะเริ่มดำเนินการปรับปรุงที่นั่งและสิ่งอำนวยความสะดวกให้สามารถแข่งขันได้ โดยจะใช้ระยะเวลาในการปรับปรุงไม่เกิน 2 ปี


มีการปฏิรูปกลยุทธ์ทางการตลาด ที่มุ่งเน้นการสร้างรายได้เป็นหลัก โดยการบินไทยจะปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ให้มีความแข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะการปรับปรุงระบบการกำหนดราคาและการบริหารรายได้ การพัฒนาช่องทางทางการขาย และความร่วมมือกับสายการบินนกแอร์และสายการบินพันธมิตรต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งต้องมีการทบทวนวิธีการและควบคุมการออกบัตรโดยสารฟรี และการ Upgrade ที่นั่งโดยสาร เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อการสร้างรายได้ของบริษัทฯ


สร้างเสริมธรรมาภิบาลในองค์กร โดยการนำแนวคิด Whistleblower Policy ระบบการร้องเรียนและให้ข้อมูลเบาะแสของความไม่ถูกต้องในบริษัทที่ชัดเจน โดยให้การคุ้มครองผู้แจ้งเหตุ ซึ่งเป็นระบบที่หลาย

บริษัทชั้นนำของโลกนำมาใช้ได้เป็นอย่างดี เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมในองค์กรอย่างทั่วถึง

ปรับโครงสร้างทางการเงิน ซึ่งเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ การบินไทยจะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่การบินไทย

วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงและแนวทางที่จะจัดการกับความเสี่ยง

การบริหารความเสี่ยงและปัจจัยความเสี่ยง 


มุ่งเน้นการบริหารความเสี่ยงขององค์กรทั้งปัจจัยภายในและภายนอกอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย โดยมีนโยบายให้มีการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร ภายใต้การทำงานของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Committee) อันประกอบด้วยกรรมการทั้งจากภาครัฐและกรรมการอิสระจากภาคเอกชน ร่วมกันกำหนดทบทวนนโยบายและกรอบการบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอและกำกับดูแล ติดตามประสิทธิผลของการบริหารความเสี่ยงเพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริหารและพนักงานมีการระบุความเสี่ยง ประเมินและจัดลำดับความสำคัญ เพื่อวางมาตรการป้องกัน แก้ไข ควบคุม และจัดการปัจจัยความเสี่ยงทั้งในระดับองค์กรและระดับฝ่ายที่อยู่ในความรับผิดชอบให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และเป็นระบบตามมาตรฐาน (Committee of Sponsoring Organization of the Tread way Commission : COSO) มีการรายงานต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและคณะกรรมการบริษัทฯ ทุกไตรมาส โดยมีการส่งเสริมให้ผู้บริหารและพนักงานทุกฝ่ายขององค์กรใช้การบริหารความเสี่ยงเป็นเครื่องมือในการบริหารงาน โดยจัดให้มีการบูรณาการการบริหารความเสี่ยงระดับองค์กรเข้ากับแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ เพื่อสนับสนุน ให้การดำเนินแผนกลยุทธ์เป็นไปตามเป้าหมาย และป้องกันผลกระทบหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอน รวมทั้งวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของความสี่ยงและสาเหตุของความเสี่ยง และมีการวิเคราะห์ผลกระทบของความเสี่ยงระดับองค์กรโดยรวม (Portfolio View of Risk) และดำเนินการจัดทำดัชนีชี้วัดความเสี่ยงหลัก (Key Risk Indicator) เพื่อใช้เป็นเครื่องเตือนภัยล่วงหน้า และทำการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบการบริหารความเสี่ยง (Enterprise-wide Risk Management System) ให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงกับการจัดทำรายงานการควบคุมภายใน และระบบการบริหารจัดการอื่นๆ ของบริษัทฯ 


ปัจจัยเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ 


ปัจจัยเสี่ยงที่บริษัทฯ เผชิญอยู่ ประกอบไปทั้งปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการบินและปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อธุรกิจของบริษัทฯ โดยตรงดังต่อไปนี้ 

ปัจจัยเสี่ยงของอุตสาหกรรมการบิน 


1.
ความเสี่ยงจากราคาน้ามันอากาศยานที่สูงขึ้น 



เนื่องจากน้ำมันอากาศยาน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักในการดำเนินธุรกิจการบิน ยังคงมีราคาอยู่ในระดับสูงและมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง โดยในรอบปีงบประมาณ 2553 (มกราคม ธันวาคม 2553) บริษัทฯ มีต้นทุนค่าน้ำมันอากาศยานร้อยละ 34.22 ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยบริษัทฯ ปรับปรุงนโยบายประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันอากาศยาน (Jet Fuel Price Hedging) เพื่อลดความผันผวนของต้นทุนด้านน้ำมันอากาศยานบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมัน หรือการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน (Price Risk Management หรือ Hedging) ด้วยการใช้ตลาดล่วงหน้าและตลาดอนุพันธ์ เพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวสวนกลับของราคาน้ำมัน ซึ่งวิธีการทำประกันความเสี่ยงมีหลายวิธี เช่น SWAP คือข้อตกลงจะซื้อหรือขายน้ำมันในอนาคตด้วยราคาที่กำหนดแน่นอนตายตัว โดยจะไม่มีการส่งมอบน้ำมัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะชำระส่วนต่างเป็นระยะๆ โดยใช้ราคาอ้างอิงกับราคาน้ำมันตลาดจรตามที่ตกลงกันไว้
ส่วน OPTION คือข้อตกลงที่ผู้ซื้อทำประกันต่อการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันไม่ให้สูงกว่าราคาอ้างอิงที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันไว้ โดยผู้ซื้อจะต้องชำระค่าธรรมเนียมล่วงหน้าครอบคลุมระยะเวลาและปริมาณที่ตกลงกัน และ COLLAR คือข้อตกลงที่จะซื้อหรือขายน้ำมันในอนาคต โดยทั้งสองฝ่ายกำหนดช่วงราคาที่จะซื้อและขาย โดยจะไม่มีการส่งมอบน้ำมัน ทั้งสองฝ่ายจะชำระส่วนต่างเป็นระยะๆ โดยใช้ราคาอ้างอิงกับราคาน้ำมันตลาดจรตามที่ตกลงกันไว้

ในการจัดทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันจำเป็นต้องพิจารณาถึงโอกาสและความเหมาะสม ซึ่งอาจแบ่งเป็น 2 กรณี 


1.
ทำตามสภาพตลาดในขณะนั้น
2.
ทำตามโอกาสที่เหมาะสม เช่น ในช่วงที่น้ำมันมีราคาต่ำ โอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคตจะมีมากกว่าที่ราคาจะปรับลดลง แต่หากเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันสูงอยู่แล้ว ต้องพิจารณาว่ามีโอกาสมากน้อยเพียงใดที่ราคาจะสูงขึ้นอีกหรือราคาจะลดลง 

โดยมีจุดประสงค์ของการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน คือการลดความผันผวนของราคา เพื่อให้ค่าใช้จ่ายน้ำมันอยู่ในระดับเป้าหมาย หรือในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน แต่ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อทำกำไรจากส่วนต่างราคาน้ำมัน ที่ผ่านมา คณะกรรมการการบินไทยอนุมัติให้มีการจัดทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 20% และไม่เกิน 80% ของปริมาณการใช้ในแต่ละปี โดยระยะเวลาทำประกันต้องไม่เกิน 18 เดือน แต่ล่าสุดได้อนุมัติให้การบินไทยทำประกันความเสี่ยงน้ำมันได้ถึง 100%


2.
ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 


การที่บริษัทฯ มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศกว่า 40 สกุล คิดเป็นร้อยละ 75 ของรายได้รวมทั้งหมด ในขณะที่มีหนี้และค่าใช้จ่ายใน 4 สกุลหลัก ได้แก่ เหรียญสหรัฐ (USD) เยน (JPY) ยูโร (EUR) และบาท (THB) บริษัทฯ ได้ดำเนินการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยใช้หลักการ Natural Hedging คือ การจัดให้รายจ่ายเป็นเงินสกุลเดียวกับรายได้มากที่สุด และการปรับโครงสร้างเงินกู้ในสกุลเงินต่างๆ ให้สอดคล้องกับสกุลเงินของเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน (Net Operating Cash Flow) พร้อมๆ กับลดความเสี่ยงของการมีหนี้เป็นเงินสกุลต่างประเทศมากเกินไป โดยการจัดให้มีการกู้ยืมเงินเป็นสกุลบาทด้วยส่วนหนึ่ง เพื่อลดความผันผวนของรายการผลกำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในงบการเงิน ทั้งนี้ บริษัทฯ จึงควรทำการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านบริหารความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อฝึกอบรมบุคลากร และพัฒนาต้นแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการวัดมูลค่าความเสี่ยงและบริหารความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อให้บริษัทฯ สามารถวางแผนการจัดหาเงินทุนและกำหนดวิธีการบริหารความเสี่ยงโดยใช้เครื่องมือทางการเงินในการทำธุรกรรมได้อย่างเหมาะสม เช่น การทำ Cross Currency Swap (CCS) ในช่วงที่ตลาดเงินเอื้ออำนวย โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 บริษัทฯ มีสัดส่วนเงินกู้ในสกุลหลักภายหลังจากการท า CCS ดังนี้ USD : EUR : JPY : THB = 1 : 35 : 9 : 55 (ไม่รวมภาระผูกพันค่าเช่าเครื่องบินเพื่อการดำเนินงาน) 

3.
ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย 



เนื่องจากบริษัทฯ มีการกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้จ่ายดำเนินงาน ทำให้มีภาระที่จะต้องชำระดอกเบี้ยจากการกู้ยืมดังกล่าว โดยเงินกู้บางส่วนมีอัตราดอกเบี้ยเป็นแบบลอยตัว ดังนั้นหากอัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวสูงขึ้นจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทฯ สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นบริษัทฯจึงควรบริหารความเสี่ยงทางการเงิน โดยพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการนำเครื่องมือทางการเงิน ได้แก่ Interest Rate Swap (IRS) มาใช้ในการแปลงอัตราดอกเบี้ย จากอัตราดอกเบี้ยลอยตัวมาเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ ในปี 2553 บริษัทฯ ได้ดำเนินการเข้าทำธุรกรรม Interest Rate Swap (IRS) โดยการแปลงดอกเบี้ยของหนี้สกุลยูโรแบบลอยตัว เป็นแบบคงที่ จำนวน 4 รายการ วงเงินรวม 268.33 ล้านยูโร ซึ่งจากการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว ทำให้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 บริษัทฯ มีหนี้สินที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่คิดเป็นร้อยละ 46 ของภาระหนี้สินทั้งหมด (ไม่รวมภาระผูกพันค่าเช่าเครื่องบินเพื่อการดำเนินงาน) และมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 3.37 

4.
ความเสี่ยงจากมลภาวะของธุรกิจการบินต่อสิ่งแวดล้อม 


จากการที่สหภาพยุโรป (European Union : EU) ได้ออกระเบียบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือ CO2 สำหรับการบิน (Emissions Trading Scheme : ETS) และนำมาใช้บังคับสายการบินที่บินเข้ายุโรปตั้งแต่ปี 2555 โดยมีข้อกำหนดว่า สายการบินที่ทำการบินเข้ายุโรปตั้งแต่ปีดังกล่าวจะต้องจำกัดการปล่อยก๊าซ CO2 ให้เท่ากับปริมาณ CO2 ที่ปล่อยในปีฐาน คือ พ.ศ. 2547 – 2549 ดังนั้น หากสายการบินใดปล่อย CO2 เกินปริมาณที่กำหนด สายการบินนั้นจะต้องทดแทนด้วยคาร์บอนเครดิตในรูป CERs (Certified Emission Reduction) โดยบริษัทฯ ได้จัดส่งแผนการใช้น้ำมันและปริมาณ CO2 ให้แก่ Deutsche Emissionhandelsstelle (DEHSt) ซึ่งเป็นผู้ดูแลบริษัทฯ ในเรื่อง Emission Trading ของ EU แล้ว 
เมื่อเดือนกันยายน 2553 บริษัทฯ เป็นสายการบินแรกในภูมิภาคเอเชียที่เปิดตัวรายการชดเชยการปล่อยก๊าซ CO2 (Carbon Offset Programme) สู่สิ่งแวดล้อมโดยร่วมกับสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) คำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 ของผู้โดยสารจากระยะทางที่เดินทาง แล้วคิดมูลค่าเป็นจำนวนเงินซึ่งผู้โดยสารสามารถมอบเงินดังกล่าวด้วยความสมัครใจกับโครงการชดเชยการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติ อันเป็นการสร้างภาพลักษณ์ในการเป็นผู้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมให้กับทางบริษัทฯ 


ปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทฯ 

1.
ความเสี่ยงจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย 


ธุรกิจสายการบินซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทฯ ประกอบด้วยการบริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางอากาศ อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว วิกฤติการณ์ทางการเงินในต่างประเทศ หรือจากภัยธรรมชาติ อันเป็นปัจจัยเสี่ยงทั้งในส่วนของภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยการเมืองภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารลดต่ำลง บริษัทฯจึงต้องตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และควรมีการติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้มีมาตรการแก้ไขและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อลดระดับความรุนแรงของความเสี่ยงลง ให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีแก่บริษัทฯ และเพิ่มความมั่นใจในการเดินทางของผู้โดยสาร

2.
ความเสี่ยงจากการดำเนินงานโดยฝูงบินที่มีอายุการใช้งานนาน 


ฝูงบินของบริษัทฯ ที่มีอายุการใช้งานนานขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบำรุงรักษาของบริษัทฯ สูงขึ้น โดยค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและซ่อมแซมที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอาจมีผลกระทบในทางลบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ อีกทั้งแผนพัฒนาฝูงบินของบริษัทฯ ยังต้องใช้ทั้งค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน (Capital Expenditure) เป็นจำนวนมากและระยะเวลาดำเนินการนาน บริษัทฯ จึงได้จัดให้มีมาตรการควบคุมความเสี่ยง ได้แก่ การวางแผนการซ่อมบำรุงอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective Maintenance Plan) เพื่อให้แผนการใช้งานเครื่องบินกับแผนการซ่อมบำรุงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และให้บริษัทฯ มีเครื่องบินใช้งานเพียงพอตามตารางการบิน ส่วนความล่าช้าในการจัดหาฝูงบินใหม่ การส่งมอบเครื่องบินแบบแอร์บัส A330-300 ที่มีปัญหาเรื่องการส่งมอบเก้าอี้ชั้นประหยัดจากบริษัท Koito ล่าช้า จำนวน 5 ลำ ที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตและผลการดำเนินงานของบริษัทฯ นั้น บริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดหาเก้าอี้ชั้นประหยัดจาก Supplier รายใหม่ คือบริษัท ZIM Flugsitz ได้ดำเนินการทบทวนการออกแบบขั้นสุดท้าย (Critical Design Review) เป็นที่เรียบร้อย และได้รับมอบเก้าอี้โดยสารดังกล่าวบางส่วนจาก ZIM Flugsitz แล้ว นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้มีการบริหารจัดการฝูงบิน โดยเช่าเครื่องบินแบบโบอิ้ง 777-300ER จำนวน 3 ลำ จากเจ็ทแอร์เวย์ส เพื่อรักษากาลังการผลิตให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 

3.
ความเสี่ยงจากข้อพิพาททางกฎหมาย 


ความเสี่ยงที่บริษัทฯ อาจถูกดำเนินการตามกฎหมายหรือกฎระเบียบ ซึ่งรวมถึงข้อพิพาทเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการผูกขาด และกีดกันทางการค้า (Antitrust) ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสาธารณรัฐเกาหลี ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 กรณีที่บริษัทฯ ถูกสอบสวน กล่าวหาว่า บริษัทฯ ร่วมกับสายการบินอื่นละเมิดกฎหมายประชาคมยุโรป (Commission of the European Communities : EC) ได้มีคำตัดสินยกข้อกล่าวหาบริษัทฯ แล้ว บริษัทฯ ไม่ถูกกำหนดโทษปรับแต่อย่างใด 
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้สำรองงบประมาณไว้เป็นค่าปรับจากกรณีการถูกกล่าวหาและการฟ้องร้องเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายแข่งขันทางการค้าในภูมิภาคต่างๆ ไว้ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งในปี 2553 บริษัทฯ ได้สำรองงบประมาณไว้เป็นเงินจำนวน 3,661 ล้านบาท

ปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวกับหุ้นกู้ที่จะออกและเสนอขาย กรณี
ความเสี่ยงจากผลกระทบกรณีการลดสัดส่วนการถือหุ้นโดยรัฐบาล 

ตราบเท่าที่รัฐบาลยังคงถือหุ้นในบริษัทฯ เป็นจำนวนเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ บริษัทฯ จะยังคงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามที่นิยามไว้ในกฎหมายไทย ซึ่งทำให้บริษัทฯ ยังคงต้องนำเสนองบลงทุนที่สำคัญต่อรัฐบาลตามระเบียบว่าด้วยงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง และต้องจัดให้งบการเงินประจำปีของบริษัทฯ ได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้อาจจำกัดความสามารถของบริษัทฯ ที่จะจัดหาเงินทุนหรืออาจจะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในเชิงกลยุทธ์ ซึ่งอาจมีผลกระทบในทางลบต่อการดำเนินธุรกิจ ฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และโอกาสของบริษัทฯ ทั้งนี้ บริษัทฯ จะยังคงอยู่ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าวจนกว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือรัฐบาล (ไม่ว่าโดยผ่านกระทรวงการคลังหรือโดยประการอื่นใด) จะถือหุ้นในบริษัทฯ ไม่เกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ พ้นจากสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจ 

การที่บริษัทมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจทำให้บริษัทได้สิทธิประโยชน์และสิทธิพิเศษที่เกี่ยวข้องบางประการ ซึ่งในอนาคตหากรัฐบาลลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทฯ ทำให้รวมกันแล้วต่ำกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นที่จำหน่ายได้ทั้งหมดของบริษัทฯ บริษัทฯ อาจสูญเสียสิทธิประโยชน์และสิทธิพิเศษที่เกี่ยวข้องในฐานะรัฐวิสาหกิจบางประการ และอาจต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า 2542 ซึ่งมีข้อกำหนดที่ห้ามมิให้บริษัทไทยใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ ทำกิจกรรมใด ๆ อันมิใช่การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และมีผลเป็นการทำลาย ทำให้เสียหาย ขัดขวาง หรือจำกัดการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ซึ่งอาจมีผลกระทบในทางลบต่อความสามารถในการดำเนินงานของบริษัทฯได้ รวมไปถึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะทำการทบทวนปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ อีกด้วย 

อย่างไรก็ตามการมิได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจจะทำให้บริษัทฯ มีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น และจะทำให้บริษัทฯ สามารถดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบการบริหารจัดการของฝ่ายบริหารและคณะกรรมการของบริษัทฯ โดยเฉพาะแผนการลงทุนของบริษัทฯ ซึ่งในฐานะของรัฐวิสาหกิจ บริษัทฯ จะต้องขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีผลให้การลงทุนในสินทรัพย์ หรือการลงทุนอื่น ๆ ขาดความคล่องตัวและไม่ทันต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ทั้งนี้ การที่บริษัทฯ เป็นบริษัทมหาชนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทฯ อยู่ภายใต้กลไกการกำกับดูแลตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์อันเป็นสากลอยู่แล้ว เช่น การเปิดเผยข้อมูล หลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นต้น ที่บริษัทฯ เห็นว่ามีความเหมาะสมเพียงพอ โปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้น อีกทั้งมีความคล่องตัวในการดำเนินงาน ตอบสนองต่อสถานการณ์และการแข่งขันได้เป็นอย่างดี




Total Pageviews