.

Aug 31, 2009

คุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมือง





โดย ภัทรษมน รัตนางกูร

          จากการใช้อำนาจทางการเมืองของนักการเมืองที่เอื้อต่อการแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง เช่นการรับสินบนหรือการมีผลประโยชน์ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์สาธารณะ ทำให้มีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นอยู่เสมอ การแสดงออกด้วยคำพูดไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายในที่ประชุมสภาฯซึ่งได้รับ เอกสิทธิ์อย่างเต็มที่ การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน การกล่าวปราศรัยบนเวทีต่อหน้าชุมชน การใช้ตำแหน่ง อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม การแสดงกิริยาก้าวร้าว การไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ของการเป็นตัวแทนประชาชน การฝ่าฝืนคุณธรรมและจริยธรรมแห่งความดีงามกลายเป็นเรื่องปกติเพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ผ่านไป ไม่มีการสอบสวน ไม่มีการลงโทษ ท้ายที่สุดจึงเกิดวิกฤตทาง การเมือง ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากการไร้คุณธรรมจริยธรรมของนักการเมือง

          การควบคุม ส.ส. ส.ว.นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งถือเป็นข้าราชการการเมือง” ไม่ให้ทุจริตคอรัปชั่นนั้น แม้จะมีมาตรการการควบคุมทางการเมือง เช่นการยื่นกระทู้ถาม การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ การควบคุมทางสังคมที่มีสื่อมวลชนเป็นสถาบันที่คอยทำหน้าที่รายงานข่าวสารและแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และประชาชนคอยติดตามตรวจสอบ รวมทั้งการควบคุมทางกฎหมาย หรือแม้แต่การควบคุมโดยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งองค์กรอิสระหลายองค์กรยังถูกกล่าวหาว่าถูกผู้มีอำนาจทางการเมืองเข้าไปแทรกแซง ครอบงำทั้งกระบวนการสรรหาและการคัดเลือกโดยวุฒิสภา

          จากการที่นักการเมืองเป็นที่จับตาจากสาธารณะชนไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกโดยการใช้อำนาจ การพูดจา การกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง พฤติกรรมจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องควบคุม ระงับ ดังนั้นการควบคุม พฤติกรรมของนักการเมืองให้ประสบผลสำเร็จจึงจำเป็นต้องสร้างสำนึกหรือมโนธรรมแห่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดี โดยให้เกิดความรู้สึกละอายหากจะทำในสิ่งไม่ถูกไม่ควร หรือรียกได้ว่า คุณธรรมและจริยธรรม



โดยสามารถสรุปความสำคัญที่นักการเมืองต้องยึดถือ และคุณธรรมจริยธรรมที่นักการเมืองพึงปฏิบัติ ได้ดังต่อไปนี้


1. หลักนิติธรรม (the rule of law) ได้แก่ การใช้กฎหมายในการบริหารประเทศ โดยกฎหมายดังกล่าวนั้นต้องผ่านกระบวนการร่างกฎหมายอย่างถูกต้อง และหลักของกฎหมายนั้นต้องเป็นกฎหมายที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและอำนาจอธิปไตยของประชาชน โดยกระบวนการยุติธรรม (due process of law) จะต้องเป็นไปตามครรลอง หลักนิติธรรม (the rule of law) จึงต่างจาก the rule by law ซึ่งหมายถึงการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศโดยไม่คำนึงถึงหลักการประชาธิปไตย และบ่อยครั้งก็กลายเป็นการบริหารงานโดยตัวบุคคล (the rule by men) มากกว่าหลักการ
2. ความอดทนอดกลั้น (tolerance) ความใจกว้าง (open-mindedness) และความมีน้ำใจนักกีฬา (sporting spirit) ทั้งหมดนี้เป็นหัวใจสำคัญของสังคมประชาธิปไตย เพราะในสังคมประชาธิปไตยนั้นจะต้องยอมรับความแตกต่างทั้งในเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี จุดยืนและความคิดเห็นทางการเมืองของคนในสังคม การรู้แพ้รู้ชนะ เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักปราชญ์ราชบัณฑิตและผู้มีประสบการณ์ เพื่อนำมาประมวลใช้ให้เป็นประโยชน์ในการทำงาน ที่สำคัญอะไรที่ตนไม่ชอบและไม่พอใจแต่ตราบเท่าที่ไม่กระทบต่อสิทธิของตนก็ ต้องยอมให้สิ่งนั้นปรากฏอยู่ เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคลภายใต้ระบบที่มีความเสมอภาค 
3. ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การกระทำอันใดก็ตามต้องคำนึงถึงหลักการใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้ คือ ความถูกต้องตามกฎหมาย (legality) ความชอบธรรมทางการเมือง (legitimacy) ความถูกต้องเหมาะสม (decency) ความน่าเชื่อถือ (credibility) ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวจะทำให้งานที่รับผิดชอบอยู่นั้นประสบความสำเร็จ การมุ่งเน้นไปที่ตัวบทกฎหมายตามลายลักษณ์อักษรแต่เพียงอย่างเดียวเป็นสิ่งที่ไม่พอเพียง การกระทำอันใดที่ไม่เหมาะสมแม้จะถูกต้องตามกฎหมายก็จะขาดความชอบธรรมทางการเมือง อันจะส่งผลถึงความน่าเชื่อถือของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในที่สุด 
4. การบริหารบ้านเมืองจะต้องอิงหลักธรรมาภิบาล (good governance) ซึ่งได้แก่ ความชอบธรรมทางการเมือง (legitimacy) ความโปร่งใส (transparency) การมีส่วนร่วมของประชาชน (participation) ความรับผิดชอบเปิดให้ไล่เบี้ยได้ (accountability) และความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (efficiency and effectiveness) ซึ่งหมายถึงการกระทำนั้นต้องส่งผลในทางบวกทั้งในแง่ผลได้ (output) และผลลัพธ์ (outcome) 
5.อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (popular sovereignty) ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยคือระบบที่ประชาชนมีอำนาจอธิปไตย และมอบหมายให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่แทนตน การเลือกตั้งจึงเป็นการแสดงออกถึงสิทธิและอำนาจของประชาชน ดังคำกล่าวที่ว่า เสียงของประชาชนคือเสียงของสวรรค์ (vox populi, vox dei) 
6.สิทธิเสรีภาพ (rights and freedom) เป็นหัวใจสำคัญของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ผู้ดำรงตำแหน่งบริหารและข้าราชการประจำที่มีอำนาจตามกฎหมาย จะต้องยึดถือตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะถ้ามีการกระทำดังกล่าวก็เท่ากับละเมิดเจ้าของอำนาจอธิปไตย 
7.ความเสมอภาค (equality) ซึ่งความเสมอภาคหมายรวมถึงความเสมอภาคทางการเมือง และความเสมอภาคทางกฎหมาย (equality before the law) ความเสมอภาคภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยถือว่าทุกคนเสมอภาคเท่ากันหมด หนึ่งคนมีสิทธิลงคะแนนเสียงได้หนึ่งเสียง (one man one vote) การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลอันใดก็ตามจึงถือว่าขัดต่อหลักการประชาธิปไตย 
8. ค่านิยมและจิตวิญญาณความเป็นประชาธิปไตย (the democratic ethos) ซึ่ง หมายถึงค่านิยมที่ได้รับการอบรมตั้งแต่ครอบครัว สถาบันการศึกษา และทางสังคม ให้มีความเชื่อและศรัทธาในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีพฤติกรรมที่เป็นประชาธิปไตย มองคนอื่นด้วยสายตาที่เสมอภาค ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาจิตวิญญาณประชาธิปไตย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการพัฒนาและธำรงไว้ซึ่งระบบประชาธิปไตย 
9. ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยคือกรรมวิธี (means) เพื่อเป้าหมายทางการเมือง แต่ขณะเดียวกันระบบประชาธิปไตยก็เป็นเป้าหมายอันสูงส่ง (noble end) ในตัวเอง การมองว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นเฉพาะกรรมวิธี( means) จึงไม่ถูกต้อง ถึงแม้ว่า end คือ ผลประโยชน์จะตกต่อสังคมก็ตาม เพราะถ้าทำลายกระบวนของความถูกต้อง แม้จะส่งผลในทางบวกต่อสังคม แต่ถ้ามีผลกระทบในทางลบต่อระบบก็จะเป็นการทำลายเป้าหมายอันสูงส่งของระบบประชาธิปไตย อันเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง ประชาธิปไตยจึงเป็นทั้งกรรมวิธี (means) และเป้าหมาย (end) ในตัวเอง ทั้งสองส่วนนี้ต้องไปด้วยกัน
10. ผู้ดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงทั้งในนิติบัญญัติ บริหาร และศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องตระหนักว่าตนเป็นผู้ซึ่งได้รับอาณัติจากประชาชน ดังนั้นผลประโยชน์สูงสุดจะต้องเป็นผลประโยชน์ที่เอื้ออำนวยต่อประชาชนโดยส่วนรวม การกระทำอันใดที่ขัดต่อผลประโยชน์ของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การนั้นย่อมไม่ถูกต้อง นอกจากนั้นยังต้องมีความรู้สึกว่าสิ่งที่ตนทำอยู่นั้นเป็นการประกอบภารกิจอันศักสิทธิ์ (sacred mission) หรือหน้าที่อันสูงส่ง(noblesse oblige)เพื่อประชาชน เพื่อประเทศชาติ 
11. ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงทั้งในนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ จำเป็นอย่างยิ่งต้องยึดถือหลักจริยธรรมทางการเมือง รวมตลอดทั้งมารยาททางการเมือง โดยจะต้องกระทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต คำนึงถึงผลดีผลเสียที่จะเกิดต่อประชาชน ชาติ และบ้านเมือง เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อส่วนรวม เพราะงานการเมืองเป็นงานอาสาสมัครที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน
12. ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารระดับสูง ซึ่งสามารถนำประเทศชาติและสังคมไปสู่ความเจริญ หรือไปสู่ความเสียหายในด้านต่างๆ ทั้งในแง่การเมือง สังคม เศรษฐกิจ อุดมการณ์ ศรัทธาและความเชื่อในระบบ ฯลฯ ต้องเป็นบุคคลที่เปี่ยมไปด้วยคุณสมบัติอันได้แก่ การมีอุดมการณ์ทางการเมือง (political ideology) การมีจริยธรรมทางการเมือง (political ethics) การมีความรู้ทางการเมือง (political knowledge) การมีประสาทสัมผัสทางการเมือง (political sense) และการเข้าใจอารมณ์ทางการเมือง (political mood) ของประชาชนอย่างถูกต้อง


Keywords: คุณธรรมและจริยธรรมของนักการเมือง, คุณธรรมจริยธรรมนักการเมือง, จริยธรรมนักการเมือง, จริยธรรมของนักการเมือง

Aug 17, 2009

บทบาทสื่อมวลชนกับการปฏิรูปการเมือง

โดย ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า


ความนำ
เมื่อพูดถึงบทบาทสื่อมวลชนกับการปฏิรูปการเมือง ก็คงต้องตั้งหลักกันที่การปฏิรูปการเมืองก่อน แล้วจึงพิจารณาบทบาททางสื่อมวลชนกับการปฏิรูปการเมืองดังกล่าว
พอเริ่มพูดถึง “การปฏิรูปการเมือง” หลายฝ่ายก็คงจะระอาและรู้สึกว่า “ปฏิรูปกันอีกแล้วหรือนี่?”
คำว่า “การปฏิรูปการเมือง” นี้ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2538 เมื่อประธานรัฐสภา (นายมารุต บุนนาค) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตยซึ่งมีนายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน คณะกรรมการดังกล่าวมีข้อเสนอให้การปฏิรูปการเมือง พร้อมเสนอกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเพื่อการปฏิรูปดังกล่าว อันเป็นที่มาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและมีการจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เรียกกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนและทุกฝ่ายก็ต้องตั้งความหวังว่า รัฐธรรมนูญฉบับนั้นทำการปฏิรูปการเมืองแล้ว จึงมีการ “ปฏิรูป” ต่างๆ ตามกันมา ไม่ว่า “ปฏิรูปการศึกษา” “ปฏิรูปกฎหมาย” “ปฏิรูปสื่อ” ฯลฯ
ครั้นรัฐธรรมนูญปี 2540 ใช้มายังไม่ทันครบ 10 ปี ก็เกิดปัญหาการเมืองและความขัดแย้งอย่างรุนแรง จนเกิดการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนั้น และมีการจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2550 ออกใช้มาจนปัจจุบัน แต่ความขัดแย้งทางการเมืองก็ยังไม่จบ ซ้ำกลับรุนแรงยิ่งขึ้นทั้งนอกสภาและในสภา และประเด็นแห่งความขัดแย้งประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 หรือจะกลับไปนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้บังคับอีก คำว่า “ปฏิรูปการเมือง” จึงหวนกลับมาอีกวาระหนึ่ง โดยข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
แต่ข้อเสนอให้มีการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้มีบริบทต่างจากในปี 2540 โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ในปี 2540 ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองมาจากนักวิชาการและประชาสังคมนอกสภา ด้วยความไม่ไว้วางใจนักการเมือง แต่ข้อเสนอครั้งนี้มาจากฝ่ายการเมืองในสภาซึ่งไม่พอใจรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ถูกกล่าวหาว่าจัดทำขึ้นเพื่อ “เล่นงาน” นักการเมืองประการหนึ่ง นอกจากนั้น กระบวนการปฏิรูปการเมืองในปี 2540 อาศัยคนนอกที่ไม่ใช่นักการเมืองเป็นหลัก โดยเฉพาะการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมาปฏิรูปการเมือง แต่ครั้งนี้อาศัยสมาชิก 2 สภาเป็นหลัก โดยการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและแก้ไขเพิ่มเติมรัฐ ธรรมนูญขึ้นดำเนินการ เป็นประการที่สอง และในประการสุดท้าย การปฏิรูปการเมืองในปี 2540 ก่อให้เกิดความหวังและกำลังใจในหมู่ประชาชนจนวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งร้ายแรง กลับไม่ส่งผลต่อจิตใจของประชาชนมากเพราะสมหวังที่ได้รัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ข้อเสนอให้ปฏิรูปในครั้งนี้เกิดจากความขัดแย้งยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2551 ทั้งยังไม่ได้สร้างความหวังใดๆ ให้ประชาชนส่วนใหญ่ ตรงกันข้ามกลับสร้างความวิตกกังวลว่า การปฏิรูปครั้งนี้เองจะสร้างความขัดแย้งรุนแรงให้เกิดขึ้นอีกหรือไม่
ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ทุกคนยอมรับร่วมกันว่ามีปัญหาและวิกฤตใหญ่หลวงทางการเมืองและการบริหารบ้าน เมืองที่จะต้องหาทางออกให้วิกฤตที่ว่านั้นยุติลง และไม่เกิดขึ้นอีก และนี่เองคือโจทย์ใหญ่ที่การปฏิรูปครั้งนี้ต้องตอบ
ดังนั้น ปาฐกถาในวันนี้ต้องแยกพิจารณาเป็น 2 ประเด็นหลัก คือ
I. การปฏิรูปเพื่อยุติวิกฤต ป้องกันความขัดแย้งและสร้างความเข้มแข็งให้สังคมไทย และ
II. บทบาทสื่อมวลชนในการปฏิรูปดังกล่าว

โปรดสังเกตคำที่ใช้ว่า “ปฏิรูป” โดยไม่มีคำว่า “การเมือง” ต่อท้าย ที่เป็นเช่นนี้ เพราะในทัศนะของผม คำตอบต่อโจทย์ใหญ่ที่ว่าทำอย่างไรจะยุติวิกฤตปัจจุบันและป้องกันไม่ให้เกิด ความขัดแย้งเช่นนี้อีกในอนาคต เราอาจต้องปฏิรูปอะไรๆ อีกหลายอย่างที่ไปไกลกว่าการปฏิรูปการเมืองจนถึงขั้น “ปฏิรูปประเทศไทย” เลยทีเดียว

I. การปฏิรูปประเทศเพื่อยุติวิกฤต ป้องกันความขัดแย้งและสร้างความเข้มแข็งให้สังคมไทย
การที่เราจะปฏิรูปประเทศเพื่อยุติวิกฤตและป้องกันประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เราจึงต้องรู้สาเหตุของวิกฤตเสียก่อน และเราไม่อาจรู้สาเหตุของวิกฤตได้ ด้วยการพิจารณาข้อขัดแย้งในปัจจุบันเท่านั้น แต่ต้องค้นหาสาเหตุของข้อขัดแย้งย้อนไปในอดีต
1. ย้อนอดีตหาสาเหตุแห่งความขัดแย้ง
1.1 โลกกับประเทศไทย
ประเทศไทยในยุครัตนโกสินทร์ได้เข้าสู่การเชื่อมโยงกับโลกทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ใน 2 ระยะ คือ
ระยะแรก เมื่อมีการลงนามในสนธิสัญญาเบาริ่ง (Bowring’s Treaty) ในปี พ.ศ. 2398 โดยมีการเปิดประเทศให้ชาวต่างประเทศสามารถมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจโดยตรง กับคนไทย โดยไม่ต้องผ่านการซื้อขายโดยรัฐผ่านพระคลังสินค้า การเปิดเสรีทางการค้ากับมหาอำนาจ 18 ประเทศดังกล่าว นำมาซึ่งการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ สังคม และการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างมาก เพื่อตอบสนองแรงกดดันจากระบบเศรษฐกิจเสรีแบบตลาด แต่ได้เริ่มมีการโอนทรัพยากรที่เคยมีเหลือเฟือและให้ราษฎรและชุมชนใช้สอยได้ เข้าสู่รัฐส่วนกลางตามลำดับ อาทิ การจัดตั้งกรมป่าไม้ในปี พ.ศ. 2439 และโอนอำนาจการจัดการป่าไม้มาไว้ที่ส่วนกลางตั้งแต่ พ.ศ. 2427 รวมทั้งรวมอำนาจการจัดการสาธารณูปโภคและสัมปทานทรัพยากรทั้งปวงที่เคยอยู่ ที่เจ้าเมืองมาไว้ที่ส่วนกลาง (พระราชบัญญัติสำหรับผู้รักษาเมืองซึ่งทำสัญญากับชาวต่างประเทศ พ.ศ. 2417)
การเปิดประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจโลกยังนำมาซึ่งความจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการ
ปกครองและระบบราชการอีกมาก เช่น การรวมศูนย์อำนาจรัฐมาไว้ที่ส่วนกลาง การแทนที่ระบบจตุสดมภ์ ด้วยการบริหารแบบกระทรวง ทบวง กรม (พ.ศ. 2435) และการยกเลิกระบบเสนาบดีและการสถาปนาระบบราชการใหม่การจัดตั้งหอรัษฎากร พิพัฒน์ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นกระทรวงการคลังขึ้นในปี พ.ศ. 2416 เพื่อเก็บภาษีอากรมาจัดทำงบประมาณให้ประเทศ
การเปิดประเทศและการปฏิรูปทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการปกครอง ที่เริ่มต้นในรัชกาลที่ 5 ได้ส่งผลให้เกิดคนมั่งมีและคนชั้นกลางขึ้นจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะเชื้อสายขุนนางเก่าและคนจีนที่เข้ามาค้าขายจนเกิดความมั่งคั่งขึ้น นอกจากนั้น การเปิดประเทศไปสู่โลกตะวันตกด้วยการส่งคนไปเรียนต่อต่างประเทศก็ดี จ้างคนต่างประเทศเข้ามาพัฒนาประเทศในฐานะที่ปรึกษาก็ดี นำมาซึ่งความคิดในการเปลี่ยนแปลงการเมืองของประเทศ ดังจะเห็นได้ว่าแม้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้มี เจ้านายและขุนนางกราบบังคมทูลถวายความเห็นให้เปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน (ร.ศ. 103 หรือ พ.ศ. 2427) ซึ่งความพยายามในการให้เปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองนี้มีมาต่อเนื่องจนถึง รัชกาลที่ 6 ก็เกิดกบฏ ร.ศ. 130 ขึ้น (ร.ศ. 130 หรือ พ.ศ. 2454) โดยในขณะนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงในตุรกี และในประเทศจีนด้วย ความพยายามนี้มาบรรลุผลในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคณะราษฎรเข้ายึดอำนาจและเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ระยะที่สอง ประเทศไทยเข้าไปเชื่อมโยงกับระเบียบโลกใหม่ (New World Order) ที่สถาปนาขึ้นโดยมหาอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยในทางการเมืองแบบสงครามเย็น ประเทศไทยก็อยู่ในค่ายโลกเสรีที่นำโดยสหรัฐอเมริกาและนาโต (NATO) ในทางเศรษฐกิจนั้น มหาอำนาจตะวันตกได้สถาปนาธนาคารโลก (World Bank) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าและภาษีศุลกากร (GATT) เพื่อขยายระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ไทยก็เข้าไปสู่การเชื่อมโยงกับโลกอีกครั้งด้วยการเป็นภาคี IMF ในปี พ.ศ. 2492 และได้กู้เงินธนาคารโลกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2493 โดยเพิ่งเข้าเป็นภาคี GATT ในปี พ.ศ. 2525
การเชื่อมโยงครั้งที่สองกับระบบโลกใหม่นี้ ส่งผลหลายประการต่อการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
ในทางเศรษฐกิจนั้น การจำเป็นต้องกู้เงินธนาคารโลก และแหล่งเงินกู้ต่างๆ นำมาซึ่งการก่อตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจขึ้น (พ.ศ. 2493) และมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้น (พ.ศ. 2504-2509) โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศโดยเน้นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า (import substitution) ซึ่งต้องอาศัยการพึ่งพาเงินทุนมหาศาลจากต่างประเทศ นโยบายและกฎหมายต่างๆ ที่ออกในช่วงนี้ก็เป็นไปเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ดังกล่าวทั้งสิ้น เช่น กฎหมายส่งเสริมการลงทุน กฎหมายการนิคมอุตสาหกรรม กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ฯลฯ ต่อมายุทธศาสตร์ก็เปลี่ยนเป็นการผลิตเพื่อส่งออก (export oriented) ในแผน 4 และแผน 5 อย่างไรก็ดี การเกษตรกรรมที่เคยเป็นรายได้หลักของประเทศกลับไม่ได้รับความสำคัญ ดังนั้น การเพิ่มผลผลิตจึงเป็นไปด้วยการขยายพื้นที่ ไม่ใช่ด้วยการเพิ่มผลิตภาพต่อไร่ ทั้งยังไม่มียุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรและเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ นอกจากไม่มียุทธศาสตร์พัฒนายกเว้นการพยุงราคาเมื่อมีปัญหาแล้ว ในหลายกรณี รัฐก็กลับกระทำการที่เป็นผลเสียต่อเกษตรกรเสียเอง อาทิ การเก็บพรีเมี่ยมข้าวที่ส่งออก ซึ่งส่งผลให้ผู้ส่งออกผลักภาระไปกดราคาซื้อข้าวจากชาวนาให้ตกต่ำลงไป นโยบายส่งเสริมธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อการส่งออก ละเลยธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็ก และไม่ไยดีกับการพัฒนาการเกษตรและเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ก่อให้เกิดความกระจุกตัวของความมั่งคั่งอย่างมหาศาล (ปราณี ทินกร, 2536, 2545; สหัชชัย เลิศพรกุลรัตน์, 2541) ในขณะที่เกิด “คนมั่งมีมหาศาล” และ “คนชั้นกลาง” ที่มีอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด และเข้าถึงทรัพยากรขึ้นในเมือง ก็เกิด “คนจน” ที่เป็นเกษตรกรและอยู่ในชนบทมากขึ้น (ธวัช มกรพงศ์ 2537; เมธี กรองแก้ว, 2538) และแม้ว่าประเทศไทยจะมีรายได้ประชาชาติต่อคนเพิ่มขึ้น สัมประสิทธิ์จีนีก็ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก (ชนินทร์ มีโภคี, 2544) ดัง 2ตารางข้างล่างนี้


ที่ มา: Medhi Krongkeaw (1979), สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คำนวณจากเทปข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปีต่างๆ โดยใช้น้ำหนักถ่วงข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย), ข้อมูลจากการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ประมวลผลโดยสำนักพัฒนาการเศรษฐกิจชุมชนและการกระจายรายได้ ใน อัศวิน ไกรนุช (2550) รายงานการวิจัยเรื่อง การเปลี่ยนแปลงความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้จากการพัฒนาประเทศ

“คนจน” และเกษตรกรเหล่านี้ไม่มีอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเหมือนคนชั้นกลาง และเข้าไม่ถึงทรัพยากร (ซึ่งในอดีตเคยเข้าถึง แต่ถูกรัฐส่วนกลางรวบอำนาจจัดการแต่ผู้เดียวไว้) คนเหล่านี้จึงต้อง “พึ่งพิง” ผู้มีทรัพยากรในหัวเมือง ซึ่งทำให้คนเหล่านี้เป็น “ผู้มีอิทธิพล” และสามารถได้รับความไว้วางใจเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่แทนในฐานะผู้แทนราษฎรใน ระบอบประชาธิปไตย และก้าวไปสู่อำนาจรัฐที่มากกว่านั้นในฐานะรัฐมนตรี

1.2 ความขัดแย้งเชิงโครงสร้าง
ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจไทยก็ยังไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจเสรีที่อาศัยกลไก ตลาดเต็มที่ เพราะรัฐยังคงครอบครองทรัพยากรสำคัญไว้และให้สัมปทานแก่เอกชน การเข้าสู่อำนาจการเมืองจึงไม่ได้หมายถึงการมี “อำนาจ” เท่านั้น แต่หมายถึง “โอกาส” ทางธุรกิจและเศรษฐกิจที่เกิดจากการมีอำนาจให้สัมปทาน หรืออาจได้รับสัมปทานเสียเอง ซึ่งในหลายกรณีทำให้บุคคลเหล่านี้กลายเป็น “ผู้มั่งมี” ขึ้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว การทุจริตและการประพฤติมิชอบในรูปแบบต่างๆก็เกิดขึ้นโดยทั่วไป ทั้งระดับการตัดสินใจของรัฐทางการเมือง ทั้งในระบบการเลือกตั้ง
ระบบเศรษฐกิจกึ่งเสรี กึ่งผูกขาด นำมาซึ่งปัญหาสังคมซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 – ฉบับที่ 10 พยายามแก้ไข แต่ยังไม่เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ แต่ระบบนี้มีความเชื่อมโยงสำคัญกับระบอบการเมืองหลัง พ.ศ. 2475 ในหลายลักษณะ แต่ลักษณะสำคัญก็คือสภาพที่นักวิชาการเรียกว่า “คนจน” ซึ่งต้องพึ่งพิงการอุปถัมภ์และเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็น “ฐานเสียง” และเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียงข้างมากในสภาและรัฐบาล แต่ “คนชั้นกลาง” เป็น “ฐานนโยบาย” เพราะเสียงดังกว่าและมีอำนาจล้มล้างรัฐบาลที่ตนไม่ชอบได้ ในขณะที่ข้าราชการทหารพลเรือนซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจรัฐที่แท้จริง ก็ยังคงแย่งชิงอำนาจทางการเมืองกับพรรคการเมืองและผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก่อให้เกิดผลสำคัญในระบอบการเมืองไทย คือ ในระยะเวลา 78 ปีของระบบรัฐสภา ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี 27 คน มีคณะรัฐมนตรี 59 ชุด มีรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ มีกบฏ 11 ครั้ง มีการปฏิวัติรัฐประหาร 9 ครั้ง
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่าง “คนมั่งมีมหาศาล” และ“คนชั้นกลาง” ฝ่ายหนึ่ง กับ “คนจนส่วนใหญ่” อีกฝ่ายหนึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้เศรษฐกิจแบบกึ่งเปิดกึ่งปิด และการเมืองแบบกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย ความขัดแย้งนี้ เป็นความขัดแย้งเชิงโครงสร้างที่รอวันปะทุขึ้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

แม้ว่าจะมีความพยายามปฏิรูปการเมืองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งมีเจตนารมณ์ทำให้การเมืองเป็นของพลเมืองด้วยการขยายสิทธิ เสรีภาพ และส่วนร่วมทางการเมืองให้มากขึ้น พยายามทำให้ระบอบการเมืองโปร่งใสและสุจริตด้วยการเพิ่มองค์กรตรวจสอบมากถึง 8 องค์กร และมีกระบวนการตรวจสอบหลายชั้น รวมทั้งการทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ไม่ได้ปรับความขัดแย้งเชิงโครงสร้างที่ฝังลึกและซ่อนอยู่อย่างจริงจัง โดยเฉพาะความขัดแย้งที่เกิดมาจากการจัดสรรทรัพยากรของรัฐไทยซึ่งเป็นปัญหา ทางเศรษฐกิจแม้ว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวจะทิ้งเชื้อที่สำคัญไว้ในหมวดสิทธิ เสรีภาพบางประการ เช่น การศึกษาฟรี การช่วยคนชรา คนพิการ และการตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้น แต่การปรับโครงสร้างการจัดสรรทรัพยากรยังคงมีลักษณะเดิม ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ มุ่งเน้นการปฏิรูปการเมืองเพื่อแก้ปัญหาการเมืองเป็นหลัก

1.3 โครงสร้างเศรษฐกิจและการจัดสรรผลประโยชน์เดิมในโครงสร้างการเมืองแบบใหม่
เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 เน้นการเพิ่มส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองและการทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ ผลที่เกิดขึ้นจากการใช้รัฐธรรมนูญก็คือ
ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อทำให้พรรคการเมืองที่แข่งขันต้อง เน้นเรื่อง “นโยบาย” มากขึ้นจากการหา (ซื้อ) เสียงธรรมดา จึงทำให้พรรคการเมืองบางพรรค โดยเฉพาะพรรคไทยรักไทย ใช้นโยบายประชานิยมไปหาเสียง และระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญก็ส่งผลให้พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งได้ เสียงข้างมากเกือบเด็ดขาดในการเลือกตั้งครั้งแรกๆ ในปี พ.ศ. 2544 และได้เสียงเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากเด็ดขาดในปี พ.ศ. 2548
นโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทยได้รับเลือก เมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว รัฐบาลที่มีพรรคไทยรักไทยเป็นแกนนำก็เร่งคิดนโยบายประชานิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
สภาวะเช่นนี้ ทำให้ความขัดแย้งที่ถูกปกปิดหรือซ่อนตัวอยู่ กลับเปิดออก ทำให้คนจนส่วนใหญ่ที่ไม่มีอำนาจต่อรอง และเข้าไม่ถึงทรัพยากร ได้มีโอกาสลิ้มลองสิ่งที่ไม่เคยได้ลองมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาลกึ่งฟรี การมีกองทุนหมู่บ้าน การได้รับจัดสรรเงิน SML รายจังหวัด การได้ทุนไปเรียนต่างประเทศอำเภอละ 1 ทุน หรือการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา การผลิตสินค้าพื้นบ้านหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ทำให้เกิด “สำนึกใหม่” ทางการเมืองของคนจน ถึง “อำนาจ” ของคะแนนเสียงเลือกตั้ง และความสัมพันธ์ระหว่าง “นโยบาย” ของพรรคการเมืองที่หาเสียงเป็นรัฐบาล กับทรัพยากรที่ตนจะได้รับ และที่สำคัญทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากพรรคการเมืองที่ตนเลือก และเป็นพรรคที่กำหนดนโยบายนี้สามารถนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมี ประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพราะเป็นเสียงข้างมาก จึงไม่น่าแปลกใจว่าในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 2 พรรคไทยรักไทยจึงมีเสียงข้างมากเด็ดขาด ในภาวะเช่นนี้ เราอาจวิเคราะห์ได้ว่าคะแนนเสียง 1 เสียงที่ให้ คือ คำขอให้เข้าถึงทรัพยากรที่คนเหล่านั้นไม่เคยคิดว่าจะได้ แต่ได้มาจากการเลือกตั้งครั้งก่อน
ผู้เป็นหัวหน้ารัฐบาลและบุคคลในคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่เป็น “ผู้มั่งมีมหาศาล” ทั้งสิ้น ธุรกิจที่อยู่ในเครือข่ายก็มีทุนมหาศาลประมาณกันว่าไม่เคยมีรัฐบาลใดที่ ชุมนุมผู้มั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้มากเท่ารัฐบาลไทยรักไทย อำนาจของทุนดังกล่าวที่มีต่อสื่อมวลชนและบุคคลต่างๆ ที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญเป็นที่กล่าวขวัญกันบ่อยขึ้น และจุดเปลี่ยนอยู่ที่เมื่อครองอำนาจไประยะหนึ่ง รัฐบาลก็ออกนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจในเครือข่ายจนเป็นที่มาของคำ กล่าวที่ว่า “ทุจริตเชิงนโยบาย” ทั้งนี้เพราะนโยบายต่างๆออกมามักเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของนักการ เมืองเหล่านั้น จึงเป็นที่น่าสังเกตว่านักธุรกิจหลายคนเมื่อมาเข้าสู่วงการเมืองกลับมีฐานะ ร่ำรวยขึ้น รวมถึงคนในครอบครัวและพวกพ้อง ที่ล้วนมีธุรกิจที่ต่อเนื่องกัน ถึงแม้จะมีองค์กรตรวจสอบ และให้มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน แต่มิได้ทำให้ประเด็นเหล่านี้หมดสิ้นไป เพราะการเลี่ยงการตรวจสอบทำได้ไม่ยากโดยมีผู้อื่นครอบครองแทน การทำธุรกิจขนาดใหญ่โดยคนที่เกี่ยวข้องกับคนในรัฐบาลมีมากมาย โครงการขนาดใหญ่จะอยู่ในการดำเนินการของกลุ่มทุนที่เข้าสนับสนุนทางการเมือง ทั้งสิ้น คนรวยยิ่งรวยขึ้น คนชั้นกลางถูกทอดทิ้ง
แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540เพิ่มส่วนร่วมทางการเมืองให้ประชาชนก็จริงอยู่ มีการกระจายอำนาจมากขึ้น แต่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังยากจนและต้องพึ่งพิง ก็ยังไม่มีสำนึกและทักษะพอที่จะใช้เครื่องมือที่รัฐธรรมนูญให้ไว้อย่างจริง จัง ประกอบกับช่องทางการเข้าถึงกระบวนการมีส่วนร่วมยังไม่เปิดกว้างพอ และภาครัฐเองยังขาดความจริงใจในการให้ประชาชนมีส่วนร่วม กฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ต้องออกมาตามรัฐธรรมนูญกลับมิได้ออกมา เพราะกระบวนทัศน์แบบเดิมๆที่ยังมิได้เปลี่ยนไปสู่การบริหารราชการแนวใหม่ที่ ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง แม้มีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พุทธศักราช 2546 ออกมาก็ตาม อีกทั้งข่าวการทุจริตในระดับต่างๆมีมากขึ้น
นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ยังติดใจในความหอมหวานของทรัพยากรที่ได้จากนโยบาย ประชานิยม จึงทำให้การตรวจสอบรัฐบาลโดยประชาชนไม่เกิดขึ้นจริงจัง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สำนึกในการตรวจสอบรัฐบาลที่รับมอบอำนาจไปจากตน อยู่ในระดับต่ำกว่าสำนึกในคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ใช้แลกกับทรัพยากรที่ได้มา นอกจากนั้น วัฒนธรรมในระบบอุปถัมภ์แบบเดิมในลักษณะ “ราษฎร” หรือ “ไพร่ฟ้า” ยังเป็นหัวเชื้อให้ประชาชนส่วนใหญ่ “เชื่อฟัง” และ “รอคอย” ความหวังจากรัฐบาล การเมืองภาคพลเมืองยังอ่อนแอ ภาคประชาสังคมซึ่งเริ่มเติบโตก็ยังไม่มีความเข้มแข็งพอเพราะถูกกระแสโลกา ภิวัตน์โถมเข้ามากระทบ แม้กลุ่มคนเริ่มรวมตัวกัน และเรียนรู้มากขึ้น แต่เป็นไปแบบไร้ทิศทาง ต่างคนต่างทำ อีกทั้งภาครัฐยังเข้าแทรกภาคประชาสังคม และแย่งงานภาคองค์กรพัฒนาเอกชนมาทำเสียเอง หรือดึงคนเหล่านั้นให้หันมาเห็นดีเห็นงามกับนโยบายประชานิยมของรัฐ
ระบบการตรวจสอบในรัฐธรรมนูญเองซึ่งได้รับความไว้วางใจในระยะแรกก็ตกอยู่ใน ภาวะลำบาก มีการสรรหาและแต่งตั้งบุคคลในองค์กรเหล่านั้นขึ้นใหม่ ซึ่งสังคมเชื่อว่า ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองของรัฐบาล ความเชื่อมั่นองค์กรดังกล่าวในระยะหลังก็ลดลงมาก ทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรอิสระ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆตกต่ำลง ความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจที่ประชาชนมีกลับลดลง เพราะความคลางแคลงใจในการทำงานขององค์กรเหล่านี้
สื่อมวลชนเองก็ตกอยู่ภายใต้ความจำเป็นทางรายได้เพื่อการดำรงอยู่ เมื่อวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น ก็จะถูก “งดโฆษณา” จนในท้ายที่สุด เสียงวิจารณ์ที่เคยดังในรัฐบาลก่อนๆ ก็ค่อยๆ หรี่ลงและเลือนหายไปในท้ายที่สุด ประกอบกับบุคลากรของรัฐบาลบางส่วนยังทำธุรกิจด้านสื่อเสียเอง เป็นเหตุให้สามารถควบคุมการทำงานของสื่อได้อย่างเต็มที่และเบ็ดเสร็จ

1.4 จุดแตกหัก
หากสำรวจนโยบายรัฐบาลพรรคไทยรักไทยให้ดีจะพบว่านโยบายหรือยุทธศาสตร์เพื่อคน มั่งมีหรือคนชั้นกลางอย่างแท้จริงดูจะไม่เด่นชัดเท่านโยบายประชานิยม นโยบายบางนโยบายที่ “น่าจะดี” สำหรับคนกลุ่มนี้ เอาเข้าจริงก็มีผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้เช่นกัน เช่น นโยบายเขตการค้าเสรีที่ทำกับออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์ ก็อาจเป็นผลดีต่อสินค้าและบริการบางตัว แต่กระทบต่อสินค้าและบริการตัวอื่น
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการเข้าถึงอำนาจการเมืองและทรัพยากรของคนกลุ่มนี้ลดลง ไม่ว่าการยกเลิกการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา เปลี่ยนมากเป็นการเลือกตั้ง ทำให้ข้าราชการทหาร พลเรือน และคนกลุ่มนี้หมดอำนาจ “ดุลและคาน” พรรคการเมืองไป อาวุธสำคัญของคนกลุ่มนี้คือ “เสียงดัง” ก็ถูกปิดกั้นลง เมื่อสื่อต่างๆ ขาดความอิสระอย่างแท้จริง และเกรงอำนาจทางเศรษฐกิจและทางกฎหมายของรัฐบาล จุดแตกหักเกิดขึ้นเมื่อนายสนธิ ลิ้มทองกุล ถูกปิดกั้น การแสดงความคิดเห็นในรายการโทรทัศน์ของรัฐบาล “เมืองไทยรายสัปดาห์” ก็ย้ายสถานที่จากสถานีโทรทัศน์มาเป็นสัญจร เกิด “ปรากฏการณ์สนธิ” ซึ่งเป็นจุดรวมของผู้ที่รับรัฐบาลไม่ได้
หลังจากนั้น ความขัดแย้งก็ขยายตัวและมีผู้เข้าร่วมขบวนการมากขึ้นเมื่ออดีตนายก
รัฐมนตรีขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น 73,000 ล้านบาทโดยไม่ต้องเสียภาษี เกิดปรากฏการณ์ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” และ “คนเสื้อเหลือง” ลุกลามไปทั่วประเทศ ท้ายที่สุดก็จบลงด้วยรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในปี พ.ศ. 2550 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ที่เน้นการแก้ปัญหาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ซึ่งถูกบิดเบือนโดยนักการเมืองในรัฐบาลที่ผ่านมา และให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างสถาบันทางการเมืองโดยไม่ให้ความสำคัญกับ เสถียรภาพและประสิทธิภาพของรัฐบาลในการบริหารบ้านเมืองอีกต่อไป แต่เน้นระบบตรวจสอบให้เข้มแข็งขึ้น มีการยุบพรรคการเมืองได้หากมีการทุจริตเลือกตั้งและกรรมการบริหารพรรคมีส่วน รับรู้หรือทำทุจริตเสียเอง
แต่กระนั้นการเลือกตั้งในปลายปี พ.ศ. 2550 ทำให้พรรคการเมืองใหม่ที่มาจากพรรคไทยรักไทยเดิมได้รับเลือกตั้งมากที่สุด อีกครั้ง ความขัดแย้งก็เริ่มต้นขึ้นและทวีความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตหลายรายในหลาย เหตุการณ์ ที่สำคัญก็คือ มีความสงสัยว่ามีการ “ปลุกกระแส” คนเสื้อแดงจากรากหญ้าจังหวัดต่างๆ ขึ้นสู้กับคนชั้นกลางในเมือง ในที่สุดการลุกขึ้นต่อต้านคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามเกิดขึ้น และมีการแบ่งแยกในสังคมอย่างชัดเจนถึงกับใส่เสื้อแยกสี และมาถึงขั้นแตกหักเมื่อทั้งสองฝ่ายปะทะกัน และมีการปราบปรามเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จนมีผู้เสียชีวิต จนถึงสงกรานต์เลือดในปี 2552 แม้ว่าวันนี้ ดูเหมือนคลื่นลมจะสงบลงชั่วคราว แต่ไม่มีใครแน่ใจว่ามรสุมใหญ่แห่งความขัดแย้งจะเกิดขึ้นเมื่อใดอีก

ดังนั้นความขัดแย้งนี้ยังไม่จบ และยังไม่รู้ว่าจะจบลงด้วยความรุนแรงหรือสันติ


ตัวแบบที่ 1
การจัดสรรทรัพยากรและผลประโยชน์แบบเลือกข้างที่นำมาสู่ความขัดแย้ง

1.5 เราจะวิเคราะห์ความขัดแย้งนี้อย่างไร?
ทางเลือกวิเคราะห์มีหลายทาง แต่สองทางหลักน่าจะเป็นสิ่งน่าคิด
ทางแรก ความขัดแย้งนี้เป็นเรื่อง “บุคคล” ระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้สนับสนุน กับฝ่ายต่อต้าน ถ้าวิเคราะห์แนวนี้ เราก็พอจะมองออกว่า เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีและผู้สนับสนุนกับฝ่ายต่อต้าน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลิกราไปไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ความขัดแย้งนี้ก็จบ และประเทศไทยก็เดินต่อไปได้ตามปกติ
การวิเคราะห์แนวทางนี้ แม้จะมีส่วนจริงอยู่บ้าง เพราะวัฒนธรรมการเมืองไทยเป็น
วัฒนธรรมอำนาจนิยม ดังนั้น ถ้าผู้มีอำนาจ (ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในความเป็นจริงที่เรียกว่า
“อิทธิพล” หรืออำนาจเงิน) ยอมยุติ ไม่ว่าเพราะยอมจำนน หรือเพราะเหตุอื่นใด บรรดาผู้จงรักภักดีก็จะยุติด้วย
แต่จุดอ่อนการวิเคราะห์แนวนี้ก็คือ ไม่ได้ดูที่ “ต้นเหตุ” ของการได้มาซึ่งอำนาจ
การเมืองของผู้มีอำนาจเดิม และการใช้อำนาจ (ซึ่งรวมถึงอำนาจตามกฎหมาย อิทธิพลหรืออำนาจในความเป็นจริงและเงิน) ว่ามีฐานมาจากความขัดแย้งเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและทางสังคมที่ซ่อนตัว อยู่ และนโยบายประชานิยมที่อดีตนายกรัฐมนตรีใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงอย่าง ท้วมท้นได้เป็นเสมือนการเปิดพรมที่ปิดฝุ่นที่ซุกอยู่ใต้พรมให้ฟุ้งขึ้นมา แล้ว ดังนั้น แม้วันนี้ คู่ขัดแย้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมยุติ ซึ่งอาจทำให้ประเทศสงบลงได้ชั่วคราว คำถามใหญ่ก็คือว่า ถ้าวันหน้ามีผู้นำการเมืองคนใหม่มาใช้วิธีการในทำนองเดียวกับที่อดีตนายก รัฐมนตรีเคยใช้ได้ผลมาแล้วอีก ทั้งในวิธีการเข้าสู่อำนาจและการใช้อำนาจในตำแหน่ง ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกหรือไม่
ทางที่สอง คือ วิเคราะห์ว่า ความขัดแย้งดังกล่าวมีลักษณะบุคคลของคู่ขัดแย้งอยู่ก็จริง แต่รากฐานสำคัญก็คือความขัดแย้งเชิงโครงสร้างในการจัดสรรทรัพยากรและความ มั่งคั่งระหว่าง “คนมี” กับ “คนไม่มี” ซึ่งวันนี้มีสำนึกทางการเมืองถึงอำนาจของคะแนนเสียงในการเลือกตั้งว่าสามารถ ให้เข้าถึงทรัพยากรได้ และจะใช้อำนาจนี้ให้ตนเข้าถึงทรัพยากรกับพรรคการเมืองและนักการเมืองซึ่ง อยากได้อำนาจการเมืองในฐานะรัฐบาล
ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็พยากรณ์ได้ว่า ต่อแต่นี้ไป นโยบายพรรคการเมืองทุกพรรคจะเป็นประชานิยมหมด และจะแข่งขันกัน “แจก” ทรัพยากรอย่างไม่เป็นระบบ และโดยไม่คำนึงถึง
ผลกระทบในระยะยาวว่า นโยบายประชานิยมฉาบฉวยที่คำนึงถึงแต่ว่ารัฐบาลจะให้อะไรกับ
ประชาชน แต่ไม่ได้คำนึงว่า รัฐบาลจะหารายได้มาเจือจุนนโยบายเช่นนั้นให้ยั่งยืนได้อย่างไร
ในท้ายที่สุด นโยบายประชานิยมก็จะเป็นนโยบายเอาเงินในอนาคตมาใช้ แล้วผลักหนี้ไปให้คนในอนาคตรับ อันจะนำไปสู่วิกฤติที่รุนแรงในโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวดังที่ประเทศหลาย ประเทศในละตินอเมริกาประสบมาแล้วในอดีต

2. การปฏิรูปประเทศไทย : ทางรอดที่เหลืออยู่
ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราวิเคราะห์สาเหตุรากฐานที่แท้จริงของความขัดแย้งว่าเป็นความขัดแย้ง เชิงโครงสร้าง คำถามที่จะเป็นโจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปก็คือ อะไรคือยุทธศาสตร์การฟื้นฟูประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งเช่นนี้ อีก?
ถ้าเหลียวหลังไปดูความสัมพันธ์ระหว่างโลกกับประเทศไทยและความเปลี่ยนแปลงทาง เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอันเกิดมาจากแรงกดดันภายนอกและปัจจัยภายในดังได้กล่าวมาในข้อ 1 ข้างต้นแล้ว เราจะพบว่า ในปัจจุบัน สถานการณ์ในโลกและในประเทศเปลี่ยนไปในระดับโลก
- ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป ถ้าประเทศไทยจะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในเวทีโลก และประชาธิปไตยจะมั่นคงและหยั่งรากลึกก็ต่อเมื่อมีคนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ใน สังคม กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่เหมาะสมกับสังคมที่มี
คนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ (ในขณะที่ประเทศไทย คนส่วนใหญ่ไม่ใช่คนชั้นกลาง)
-ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีเต็มที่ดังที่เป็นมาหลังกำแพงเบอร์ลินล่มสลายในปี
ค.ศ. 1989 ได้ส่งผลให้ต้นตำรับทุนนิยมโลกคือทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเกิดวิกฤติ เศรษฐกิจอย่างร้ายแรงชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน และลุกลามไปทั่วโลก จนบัดนี้ เริ่มมีเสียงเรียกร้องจากประเทศดังกล่าวและจากองค์กรโลกบาลอย่างธนาคารโลก หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ถึงการปฏิรูป ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบคิดและกระบวนทัศน์ของนักเศรษฐศาสตร์โลกค่ายเสรีนิยม และการจัดระเบียบเศรษฐกิจใหม่ของโลก
- ความยากจน การเข้าถึงทรัพยากรของคนจนและความเป็นธรรมในสังคมเป็นวาระสำคัญของโลกที่ บรรจุอยู่ในคำประกาศสหัสวรรษ (The Millennium Declaration) ซึ่งตั้งเป้าสหัสวรรษ (millennium goals) เอาไว้ว่าจะต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน
ดังนั้น ในประเทศไทยที่คนส่วนใหญ่ยังยากจน ไม่มีอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดอย่างแท้จริง และเข้าไม่ถึงทรัพยากร ทั้งยังนิยมชมชอบนโยบายประชานิยม (แบบไม่มีอนาคต) แต่เราต้องเป็นประชาธิปไตยเพื่อให้อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีในสังคมโลกและ เพื่อตัวเราเอง เพราะประชาธิปไตยให้สิทธิ เสรีภาพ และทางเลือกที่อิสระต่อเรา ในขณะที่เผด็จการไม่มีให้ เราจะต้องมียุทธศาสตร์อย่างไร?

2.1 ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การปฏิรูประบบเศรษฐกิจเพื่อการจัดสรรผลประโยชน์ใหม่ในสังคม
เราจะต้องปรับโครงสร้างการจัดสรรทรัพยากรและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เสียใหม่ เพื่อให้คนจนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงทรัพยากร และมีอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด โดยไม่ต้องพึ่งพานโยบายประชานิยมซึ่งจะสร้างปัญหาในระยะยาว ทั้งนี้ เพื่อให้ในท้ายที่สุด สังคมไทยมีคนชั้นกลางเพิ่มขึ้นมากพอที่จะทำให้ประชาธิปไตยมีประสิทธิภาพได้ จริง
การปรับโครงสร้างการจัดสรรทรัพยากรและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจใหม่เป็นการถาวร โดยไม่พึ่งพานโยบายประชานิยมของบรรดาพรรคการเมืองจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการ ปรับกฎหมายเศรษฐกิจทั้งปวงใน 3 แนวทาง คือ
(1) รัฐธรรมนูญและกฎหมายต้องเปิดให้คนจนส่วนใหญ่เข้าถึงทรัพยากรและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น โดยไม่ต้องรอให้รัฐบาลแต่ละรัฐบาลเป็นผู้แจก
- การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น เช่น ป่าไม้ ที่ดิน แหล่งน้ำ ฯลฯ อย่างยั่งยืน โดยมีระบบตรวจสอบทางสังคมที่ดี
- การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากกลไกของระบบตลาด (market mechanism) ด้วยความช่วยเหลือของรัฐ โดยเฉพาะ แหล่งทุน เทคโนโลยี ระบบการขนส่ง (logistic) และการตลาด ฯลฯ
- การสร้างอำนาจต่อรองในระบบตลาดโดยความส่งเสริมของรัฐ อาทิ การพาณิชย์อิเล็คโทรนิกส์ ระบบสหกรณ์ และการรวมกลุ่มรูปแบบอื่น การก่อตั้งสภาเกษตรกร สภาธุรกิจรายย่อย ฯลฯ
- การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากกลไกอื่นที่มิใช่ระบบตลาด แต่ส่งเสริมการแข่งขันในระบบตลาด (non-market institution) โดยเฉพาะการศึกษา การรักษาพยาบาล การสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาส การพัฒนาฝีมือแรงงาน ฯลฯ
- การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่สะดวก รวดเร็วและเสียค่าใช้จ่ายน้อย
(2) รัฐธรรมนูญและกฎหมายต้องปรับระบบภาษีอากร เพื่อให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก “ผู้มั่งคั่งมหาศาล” เพื่อนำไปใช้ในรัฐสวัสดิการใหม่ ซึ่งอาจจำเป็นต้องมีระบบภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน และระบบภาษีอื่นๆ ที่จำเป็น การปรับระบบภาษีอากรนี้จะทำให้รัฐไม่ต้องผลักภาระการกู้เงินไปให้ลูกหลานใน อนาคตต้องรับเหมือนการหาเงินมาใช้ในนโยบายประชานิยม
(3) รัฐธรรมนูญและกฎหมายต้องสามารถกระจายการกระจุกตัวของความมั่งคั่งของกลุ่ม ธุรกิจขนาดใหญ่ โดยผ่านกลไกการใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดอย่างแท้จริง และตรงไปตรงมา
ทั้งหมดนี้ คือ การทำให้ “ประชานิยม” ตามอำเภอใจของแต่ละรัฐบาล กลายเป็น “รัฐสวัสดิการ” (welfare state) โดยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ที่ไม่ต้องอาศัยการหาเสียงของรัฐบาลใดๆ อีก
อย่างไรก็ตามการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะต้องมีลักษณะไม่รุนแรง ฉับพลัน ซึ่งจะเป็นต้นเหตุใหม่แห่งความรุนแรงอีกวาระหนึ่ง ดังนั้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจดังกล่าว อาจมีกลไกแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” เพื่อลดแรงต้านและความขัดแย้ง

2.2 ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การปฏิรูประบบการบริหารรัฐ
เมื่อปรับโครงสร้างการจัดสรรทรัพยากรและผลประโยชน์ในสังคมใหม่แล้ว ก็ต้องปรับระบบการบริหารภาครัฐ ทั้งภาคการเมือง ภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ ที่กระจุกตัวอยู่ที่รัฐส่วนกลางเสียใหม่ โดยมี 4 แนวทาง คือ
1. การปรับภารกิจของรัฐเสียใหม่โดยอาจต้องลดกฎเกณฑ์ ซึ่งควบคุมหรือแทรกแซงธุรกิจหรือเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็นในบางเรื่อง เพื่อให้บุคคลมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น (และลดการทุจริตโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐไปในตัว)
การปรับภารกิจนี้จะต้องรวมไปถึงการถ่ายโอนสิ่งที่รัฐทำอยู่แต่เดิมไปให้องค์กร
ปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม เป็นผู้ทำแทน เช่น ป่าชุมชน การดูแลสวัสดิการของคนชราหรือผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่นโดยอาจต้องเพิ่มกลไกให้ องค์กรเหล่านี้สามารถพิสูจน์ได้ว่า ตน ให้บริการนั้นๆ ได้ดีกว่ารัฐและมีประสิทธิภาพกว่ารัฐ (contestability)
ดังนั้น การจัดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม จึงมีความจำเป็น
2. การปรับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และกลุ่มทุนที่ควบคุม
สื่อมวลชนรูปแบบต่างๆ กับการเมือง
เพื่อสกัดโอกาสการใช้ทุนเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐ และเพื่อควบคุมสื่อมวลชน และสกัดการใช้อำนาจรัฐไปเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจหรือกลุ่มธุรกิจตน ในการนี้จะต้องมีการปฏิรูประบบการบริจาคให้พรรคการเมืองและการตรวจสอบ

3. การปรับโครงสร้างและกระบวนการทางการเมือง
ประเด็นการปรับโครงสร้างและกระบวนการทางการเมืองนี้อาจยึดโครงและ สาระหลักของรัฐธรรมนูญปี 2540 ร่วมกับส่วนดีของรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ แต่ควรตัดสิ่งที่รัฐธรรมนูญ ปี 2550 เพิ่มเข้ามาโดยสร้างปัญหาให้กับการบริหารออกไป โดยมีประเด็นหลักๆ ดังนี้
3.1 รัฐสภาควรมี 2 สภาดังเดิม เพื่อประโยชน์ในการกลั่นกรองเรื่องสำคัญๆ ของประเทศให้รอบคอบ โดยให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นสภาหลักอันเป็นที่มาของรัฐบาล และรัฐบาลจะอยู่ได้ด้วยความไว้วางใจของสภานี้เท่านั้น
ส่วนวุฒิสภาไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง (เพราะการจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ดูกับที่สภาล่างซึ่งมีอำนาจการเมืองที่แท้จริง) เพราะถ้าให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งอีก ก็จะประสบปัญหาการครอบงำของพรรคการเมืองดังที่มีประสบการณ์มาแล้วในรัฐ ธรรมนูญ ปี 2540 อีก แต่ควรเป็นสภาที่สรรหามาจากหลากอาชีพให้มากที่สุด และมีผู้ดำรงตำแหน่งโดยตำแหน่ง เช่น ปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ นายกหรือประธานองค์กรวิชาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้ง และเป็นสภากลั่นกรอง และต้องเป็น “สภากันชน” ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และพรรคการเมือง ทั้งนี้ เพื่อให้โครงสร้างทางการเมืองสามารถรวมทุกกลุ่มที่มีบทบาทและอำนาจทาง เศรษฐกิจและการเมืองอย่างแท้จริง โดยเฉพาะข้าราชการทหารและ พลเรือนผู้มีอำนาจรัฐ และบรรดาคนชั้นกลางที่ไม่พร้อมที่จะลงเลือกตั้ง
สำหรับข้อเสนอที่ให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงนั้น แม้จะใช้ได้ระดับท้องถิ่น ก็ไม่ควรนำมาใช้ระดับชาติ เพราะเราไม่อาจมีพระอาทิตย์สองดวงได้ฉันใด เราก็ไม่ควรสร้างตำแหน่งการเมืองที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันประมุขของ รัฐที่มีอยู่ฉันนั้น
3.2 การได้มาซึ่ง ส.ส. ควรมีการปรับปรุงดังนี้
-ไม่บังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค แต่สนับสนุนพรรคการเมืองเท่านั้น เพื่อป้องกัน “เผด็จการของผู้บริหารพรรค”
-ระบบเลือกตั้งกลับไปสู่ระบบเขตเดียวคนเดียว 400 เขต และบัญชีรายชื่อ 100 คน โดยไม่มีคะแนนขั้นต่ำที่แต่ละบัญชีต้องได้
-การลดความสำคัญของหัวคะแนนและเพิ่มการติดต่อโดยตรงระหว่างผู้สมัครกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (เช่น ให้ฉายหนังได้ แสดงมหรสพได้)
-ควรแยกการจัดการเลือกตั้งโดยส่วนราชการออกจากการควบคุมตรวจสอบการเลือกตั้งโดย กกต.
3.3 ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ – ฝ่ายบริหาร – ศาล/องค์กรอิสระ
-ลดระดับความสัมพันธ์ของศาลกับการเมืองลง เช่น การเสนอกฎหมายโดยศาล หรือการแปรญัตติเพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้โดยตรง
-ปรับมาตรา 190 ให้ชัดเจน โดยระบุประเภทต่างๆ ของสนธิสัญญาที่ต้องเข้าสภาให้ชัดเจนโดยไม่ต้องตีความ เช่น สนธิสัญญาเขตการค้าเสรี สนธิสัญญาก่อตั้งสหภาพศุลกากร(customs union) สนธิสัญญาพันธมิตรทางทหาร
-กำหนดให้การที่ สส. หรือ สว. แจ้งปัญหาของประชาชนให้ส่วนราชการทราบเพื่อแก้ไข ไม่ถือเป็นการก้าวก่าย – แทรกแซงการทำงาน
-การนำระบบงบประมาณ 2 ขา (งบประมาณรายได้ – งบประมาณรายจ่าย) มาแทนของเดิม ระบบการมีกฎหมายแผน (งบประมาณ) สำหรับการปฏิรูปเรื่องสำคัญที่ผูกพันหลายปี
3.4 การเพิ่มส่วนร่วมของพลเมืองในการเมืองทุกระดับ กล่าวคือ ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศ โดยมีหน่วยงาน (อาทิ สำนักงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ฯลฯ) และทรัพยากร (งบประมาณ) เพื่อการดังกล่าว รวมทั้งการสร้างจิตสำนึกสาธารณะ (civic mind) โดยผ่านพลเมืองศึกษา (civic education) ทั้งนี้ โดยใช้ชุมชนท้องถิ่นและชุมชนอื่นเป็นตัวขับเคลื่อน อย่างไรก็ตาม จะต้องมีกติกาทางสังคมหรือกฎหมายให้ชัดเจนในการชุมนุมโดยสงบ เพื่อมิให้มีการละเมิดกฎหมายและเสรีภาพผู้อื่น ทั้งต้องมีเกณฑ์ในการสลายการชุมนุมที่ชัดเจนด้วย
3.5 การกำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทุกครั้ง ต้องได้รับประชามติเห็นชอบจากประชาชน
4. การปรับการบริหารภาครัฐทั้งระบบ
การดำเนินการปรับภาครัฐทั้งระบบเพื่อตอบสนองการจัดสรรทรัพยากรใหม่ อย่างน้อยต้องกระทำดังนี้
- การปฏิรูประบบราชการโดยเน้นที่การเพิ่มธรรมาภิบาลและจริยธรรม ควบคู่ไปกับการปฏิรูปกระบวนการบริหารราชการแผ่นดิน โดยต้องให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐรายงานรายได้ ที่มา และการดำรงตำแหน่งอื่น และมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งจัดความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำให้เหมาะสมมากขึ้น โดยเฉพาะการโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด
- การปฏิรูปกฎหมาย โดยเฉพาะมีกระบวนการให้มีการทบทวนความจำเป็นที่ต้องจำกัดและควบคุมเสรีภาพ โดยการออกใบอนุญาตเป็นระยะสม่ำเสมอ หากพบว่าไม่มีความจำเป็นก็ต้องยกเลิกการจำกัดเสรีภาพดังกล่าว
- การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น โดยเฉพาะตำรวจ ซึ่งเป็นผู้ใช้บังคับกฎหมายหลักของประเทศ ให้มีอิสระตามควรในการรักษากฎหมาย โดยไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายการเมือง

II. บทบาทสื่อมวลชนในการปฏิรูปประเทศไทย
ในกระบวนการปฏิรูปดังกล่าว สื่อมวลชนอาจมีบทบาทสำคัญใน 2 ทางคือ สื่อผู้รายงานการปฏิรูปประการหนึ่ง และสื่อผู้ร่วมการปฏิรูปอีกประการหนึ่ง
1. ในฐานะ “สื่อผู้รายงานการปฏิรูปประเทศไทย”
ในฐานะนี้ สื่อมวลชนควรศึกษาติดตามทั้ง “เนื้อหาสาระ” และ “กระบวนการ” ปฏิรูป (ซึ่งสำคัญไม่แห้เนื้อหา) ให้ถ่องแท้ ควรเรียกร้องให้การดำเนินการของผู้เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ให้สาธารณชนติดตามได้ตลอดเวลา และควรเปิดพื้นที่สื่อให้ฝ่ายต่างๆ ได้มีโอกาสเสนอความคิดของตนให้สาธารณชนได้พิจารณาอย่างสมดุล
บทบาทนี้ สื่อมวลชนทำหน้าที่ได้ดีตามควรอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเน้นย้ำ
2 .ในฐานะ “สื่อผู้ร่วมการปฏิรูป”
ในฐานะนี้ มีประเด็นสำคัญที่จะต้องถกเถียงกันเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งอันเป็นทั้งเหตุและผลของวิกฤตที่ผ่านมาด้วย
ประเด็นแรก ที่จะต้องทบทวนคือ เมื่อสื่อเป็นอิสระออกจากรัฐมาตามสมควรโดยเฉพาะตั้งแต่การมีรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมาแล้ว แต่สื่อมวลชนหลายแขนงยังหาเป็นอิสระออกจากเจ้าของกิจการไม่ กล่าวคือ
- สื่อของรัฐหรือแผ่นดินจะต้องแยกออกจากสื่อของรัฐบาล ในขณะที่สื่อของรัฐและแผ่นดินต้องทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของรัฐและ แผ่นดิน ไม่เป็นฝักฝ่ายทางการเมือง แต่สื่อของรัฐบาลต้องทำหน้าที่เผยแพร่นโยบายและผลงานของรัฐบาล องค์กรเดียวกันไม่ควรทำหน้าที่ทั้ง 2 อย่าง เพราะในความเป็นจริง อำนาจทางการเมืองจะทำให้สื่อที่ทำหน้าที่รวมนี้กลับกลายเป็นสื่อที่ทำ หน้าที่ “สื่อของรัฐบาล” เป็นหลัก ดังนั้น ควรแยกสื่อที่มีบทบาทต่างกันนี้ออกเป็น 2 องค์กร และสื่อที่ทำหน้าที่สื่อของรัฐบาลก็ต้องมีความเป็นอิสระตามหลักความเป็น อิสระของสื่อ โดยเฉพาะจะต้องคุ้มครองข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างของรัฐ ในสื่อที่เป็นของรัฐและของรัฐบาล มีอิสระในการนำเสนอข่าวสารและความเห็นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างแท้จริง
- สื่อเอกชนควร ต้องทบทวนอย่างจริงจังว่า แม้สื่อมวลชนอิสระออกจากรัฐ แต่ยังอยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าของกิจการแล้ว ความเป็นอิสระแท้จริงก็ไม่เกิด ดังนั้น จึงต้องทบทวนโครงสร้างความเป็นเจ้าของสื่อ ว่าสื่อประเภทใด (เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ) ควรเป็นบริษัทมหาชน จำกัด ในตลาดหลักทรัพย์ หรือ บรรษัทพิเศษ ที่ไม่มีบุคคลใดสามารถเป็นเจ้าของหุ้นได้เกินกว่าร้อยละห้า เพื่อป้องกันการครอบงำสื่อ และควรออกกฎหมายคุ้มครองบุคลากรในกิจการสื่อมวลชนให้มีอิสระในการนำเสนอข่าว สารและความเห็นตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ เช่นเดียวกับบุคคลากรภาครัฐ
ประเด็นที่ 2 ที่สมควรจะมีการปฏิรูปสื่อมวลชนอย่างจริงจังก็คือ การมีจรรยาบรรณและการควบคุมจรรยาบรรณอย่างจริงจัง โดยองค์กรวิชาชีพสื่อ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างแท้ จริง ให้ได้ความสมดุลกับเสรีภาพในการนำเสนอข่าวและความคิดเห็น ประเด็นใหญ่ที่องค์กรวิชาชีพสื่อจะต้องให้ความสำคัญคือ
- การคุ้มครองผู้ที่ถูกสื่อละเมิด (เยาวชน หญิง ฯลฯ)
- การใช้สื่อไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจของเจ้าของกิจการ
ประเด็นที่ 3 ที่ควรจะต้องมีการพิจารณาอย่างจริงจังก็คือการคุกคามสื่อทุกรูปแบบ และความคุ้มครองที่รัฐและสังคมต้องมีให้สื่อผู้ทำหน้าที่เสมือน “สุนัขเฝ้าบ้าน” โดยเฉพาะในความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงนั้น สื่อมวลชนมักตกเป็นเหยื่อของการคุกคามโดยตลอด
ประเด็นที่ 4 อันควรได้รับการพิจารณาทบทวนอย่างแท้จริงก็คือ “ความหลากหลายและทางเลือก” โดยเฉพาะในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งหากปล่อยให้เป็นไปโดยอิสระ สื่อก็จะตกอยู่ภายใต้ระบบพาณิชย์ของระบบทุน ทำให้การนำเสนอเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคส่วนใหญ่ โดยละเลยสิทธิในทางเลือก และความหลากหลายของผู้บริโภคข้างน้อย ในเรื่องนี้อาจต้องทบทวนตัวกฎหมายหรือหลักเกณฑ์บางประการที่บางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส หรือ คานาดา ใช้อยู่ ในการบังคับให้ต้องใช้ภาษาหลักของประเทศ และต้องมีความหลากหลายเชิงวัฒนธรรมในบรรดาเพลง และความบันเทิงรูปแบบอื่นที่นำเสนอต่อสาธารณะ หรืออาจใช้รูปแบบการจูงใจด้วยระบบภาษีอากร เช่น มีการลดภาษีเงินได้และไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มรายการที่มีความหลากหลายทาง วัฒนธรรมและสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภค เป็นต้น

บทสรุป
ปาฐกถานี้ถูกตั้งชื่อว่า “บทบาทสื่อมวลชนกับการปฏิรูปการเมือง” แต่เมื่อวิเคราะห์มาจนถึงจุดสุดท้าย การปฏิรูปที่ต้องกระทำกลับเป็นการปฏิรูปประเทศที่ยิ่งใหญ่กว่าปฏิรูปการ เมือง และการปฏิรูปการเมืองเป็นเพียงเสี้ยวส่วนเดียวของการปฏิรูปประเทศเท่านั้น และสื่อมวลชนเองนอกจากเป็นผู้รายงานการปฏิรูปแล้วยังต้องมีการปฏิรูปตัวเอง หรือตัวเองจะต้องถูกปฏิรูปด้วย
ดังนั้น การปฏิรูปครั้งนี้จึงเป็นภารกิจที่สำคัญทางสังคมไทย เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่และยากเย็นกว่าการปฏิรูปการเมืองเมื่อปี 2540 เป็นอันมาก แต่สูตรความสำเร็จของการปฏิรูปการเมืองเมื่อปี 2540 ก็ยังคงใช้ได้อยู่ในปัจจุบัน สูตรความสำเร็จนี้ประกอบด้วยสิ่งที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เรียกว่า “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” คือ ความรู้อันเป็นรากฐานแห่งการปฏิรูป ความเคลื่อนไหวทางสังคม และอำนาจการเมือง ที่จะทำให้ข้อเสนอการปฏิรูปสำเร็จได้จริงด้วยการแก้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ใน 3 ปัจจัยนี้ สื่อมวลชนเป็นกำลังสำคัญทั้ง 3 ปัจจัย ในเวลานี้ สถาบันพระปกเกล้าได้ร่วมมือกับ TDRI สำนักงาน ก.พ.ร. ส.ส.ส. และสกว. เพื่อศึกษาข้อเสนอในยุทธศาสตร์ทั้งสองอย่างจริงจัง ซึ่งผลการศึกษาบางส่วนจะได้นำเสนอในการประชุมวิชาการประจำปีของสถาบันพระปก เกล้า(KPI Congress)ปีนี้ ระหว่างวันที่ 4-6 พฤศจิกายน เรื่อง “ความขัดแย้ง ความชอบธรรม และการปฏิรูประบบรัฐบาล เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร”
กระผมจึงหวังว่าสื่อมวลชนจะได้ช่วยทำหน้าที่สร้างความรู้ ส่งเสริมให้มีการเคลื่อนไหวทางสังคมและผลักดันให้อำนาจการเมืองดำเนินการ ปฏิรูปประเทศไทยให้สำเร็จ เพื่อยุติความขัดแย้งแบ่งฝ่ายและวิกฤตในปัจจุบัน ทั้งยังป้องกันไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเกิดขึ้นได้อีก เพื่อความสันติสุขสถาพรทางสังคมไทยอย่างแท้จริง

โดย www.pub-law.net

บิลล์ เกตส์ (Bill Gates)

บิลล์ เกตส์ สุดยอดอภิมหาเศรษฐีแห่งคุณธรรมและจริยธรรม


ประวัติและภูมิหลังชีวิตของบิลล์ เกตส์

ครอบครัว ชีวิตเริ่มต้นและทางเลือก
บิลล์ เกตส์ เกิดที่เมืองซีแอทเทิล มลรัฐวอชิงตัน วันที่ 28 ตุลาคม ..1955 บิดาชื่อวิลเลียม เอ็ช เกตส์ จูเนียร์ มีอาชีพนักกฎหมายของบริษัท มารดาชื่อแมรี แมกซ์เวล เกตส์ เป็นสมาชิกคณะกรรมการของ Berkshire Hathaway, First Interstate Bank, Pacific Northwest Bell และคณะกรรมการแห่งชาติของ United Way ชื่อเต็มคือ วิลเลียม เฮนรี เกตส์ที่สาม ปู่ของเขาคือ วิลเลียม เฮนรี เกตส์ ซีเนียร์ บิลล์ เกตส์ โชคดีมากเนื่องจากเขาเพียบพร้อมด้วยกรรมพันธุ์ชั้นดีและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อ อำนวย พ่อ แม่มีการศึกษาดีและมีอันจะกิน ส่วนตายายเป็นเจ้าของธนาคาร หลังเขาเกิดแม่ก็ลาออก จากงานมาเลี้ยงดูเขากับพี่สาวและน้องสาว ผู้เกิดตามมาพร้อมกับสละเวลาบางส่วน ให้กับองค์กรการกุศล บิลล์ เกตส์ จึง เห็นตัวอย่างของการแทนคุณแก่สังคม ตั้งแต่ครั้งเขายังหัวเท่ากำปั้น ยายสนับสนุนให้เขาอ่านหนังสืออย่างต่อ เนื่องพร้อมกับมีรางวัลให้แทบไม่อั้น รวมทั้งกองทุนเป็นเงินถึง 1 ล้านดอลลาร์
บิลล์ เกตส์ พกมันสมองของอัจฉริยะติดมาด้วย เขาสนใจอ่านสารพัดอย่าง เมื่ออ่านแล้วก็จำได้ปานถ่ายรูปแปะไว้ในสมอง เขาสามารถท่องคัมภีร์ซึ่งมีเนื้อหายาวเท่าๆ กับปาติโมกข์ได้ภายใน 3 ชั่วโมงเมื่อตอนอยู่ชั้น ประถม เขามีความสามารถพิเศษในการนำชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบเป็นกลไกสำหรับใช้เป็นเครื่องเล่น บุคลิกเด่นๆ ของ เขา ได้แก่ การเป็นเด็กดื้อ ซน อดทน ชนดะ ต้องเอาชนะให้ได้ และไม่ยอมเสียเวลากระทั่งเสื้อผ้า เมื่อถอดตรง ไหนก็โยนไว้ตรงนั้น ในระหว่างเรียนชั้นประถมเขาเรียนออกหน้าเพื่อนร่วมชั้นทั้งด้านภาษาและด้าน คำนวณ หลัง จากเข้าใจเนื้อหาแล้วก็มักก่อกวนเพื่อนร่วมชั้นและสร้างความรำคาญให้แก่ครู
ขณะที่เขาเรียนอยู่ในชั้นมัธยม บิลล์ เกตส์เข้าศึกษาที่โรงเรียนเลคไซด์ อันเป็นโรงเรียนมัธยมที่ดีที่สุดในเมืองซีแอทเทิลซึ่งรับเฉพาะเด็กหัวกะทิ จากครอบครัวมั่งคั่ง ดังเช่นครอบครัวของเขาเท่านั้น การมีการศึกษาดีทำให้พ่อแม่ตระหนักอย่างรวดเร็วว่า การ สร้างความรำคาญในชั้นเรียนของลูกชายเป็นการแสดงออกของความเบื่อหน่าย หลังจากเขาเข้าใจเนื้อหาของวิชาที่ ครูสอน ก่อนคนอื่น โดย เฉพาะโรงเรียนมีอุปกรณ์ช่วยการเรียนการสอนมากมายและให้อิสระ แก่นักเรียนที่จะทำอะไรๆ ตามความสนใจได้มากกว่าปกติ สถานีใช้คอมพิวเตอร์ (Computer terminal) ซึ่ง ต่อสายไปยังคอมพิวเตอร์ ขนาดใหญ่ของบริษัทที่ให้เช่า และนั่นเป็นสิ่งที่บิลล์ เกตส์ ติดงอมแงมทันทีเมื่อโรงเรียนนำมาติดตั้งหลัง เขาเข้าเรียนได้ไม่นาน มันทำให้เขาได้เพื่อนรุ่นพี่ชื่อ พอล อัลเลน ซึ่งติดเล่นกับสถานีใช้คอมพิวเตอร์แบบงอมแงม เช่นกัน เพื่อนสนิทคนนี้ต่อมามีบทบาทสำคัญในการร่วมก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ โรงเรียนสามารถเรี่ยไรเงิน จากพ่อแม่ของนักเรียนได้แทบไม่อั้น เมื่อต้องการนำไปซื้อเวลาคอมพิวเตอร์เพิ่มให้แก่พวกเขา
หลังจากเรียนใช้คอมพิวเตอร์ได้ไม่นาน บิลล์ เกตส์ ก็ได้นำเวลาของบริษัทมาใช้ ยัง ผลให้เขาถูกห้ามใช้ คอมพิวเตอร์อยู่ระยะหนึ่ง หลังจากหมดโทษเขากลับทำผิดร้ายแรงขึ้นไปอีก โดยการเขียนโปรแกรมจำพวก สร้างปัญหา ส่งไปตามสายจนทำให้คอมพิวเตอร์ของบริษัทขัดข้อง คราวนี้แทนที่จะถูกทำโทษเขาได้รับเชิญให้ไป ใช้คอมพิวเตอร์ของบริษัทในตอนกลางคืนแทน เมื่อคน อื่นกลับบ้านหมดแล้ว เพื่อค้นหาความบกพร่องการทำงานของ คอมพิวเตอร์ ชื่อเสียงของเขาค่อยๆ โด่งดัง และมีบริษัทว่าจ้างให้เขาไปทำงาน ด้านค้นหาความบกพร่องของโปรแกรมตั้งแต่ตอนก่อนเขาเรียนจบชั้นมัธยม โรงเรียนอนุญาตเขาให้หยุดเรียนชั่วคราวได้เพื่อไปทำงานนั้น ในขณะเดียวกันเขากับเพื่อนสนิทก็เริ่มมีธุรกิจ รับเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้องค์กรต่างๆ
ความสามารถในการสอบข้อสอบมาตรฐาน ด้าน คณิตศาสตร์ ได้คะแนนเต็มเป็นกุญแจชั้นดีที่เปิดประตูมหาวิทยาลัยได้ทุกแห่ง เขาเลือกบินข้ามประเทศไปเรียนที่ฮาร์วาร์ด ทั้งที่เพื่อนสนิทพอล อัลเลน ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยใกล้บ้านเกิดของเขาแล้ว ตอนเข้าเรียนใหม่ๆ เขายัง ไม่แน่ใจ ว่าจะเลือกอะไรเป็นวิชาเอกนอกจากคิดว่าเมื่อถึงเวลาก็จะเลือกวิชาคณิตศาสตร์ แต่เขาเปลี่ยนใจเมื่อได้ พบกับนักศึกษาที่จะเลือกเอกวิชานั้น เพราะเขารู้ทันทีว่ายังมีคนเก่งกว่าเขาอีกมาก การ ไม่รู้จะเรียนเอกอะไรทำให้เขารู้สึกเคว้งคว้างและใช้เวลาว่างส่วนใหญ่เล่น ไพ่และอยู่ในห้องคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้นเขาไปลงทะเบียนเรียนวิชาในระดับปริญญาโท-เอกหลายวิชา ปรากฏว่าเขาสอบได้ที่ 1 ในวิชาเศรษฐศาสตร์ทั้งที่ไม่เคยเข้าเรียนในชั้นเรียนเลย เพียงแค่อ่านตำรา 1 สัปดาห์ก่อนสอบกับเพื่อนคนหนึ่งซึ่งสอบได้ที่ 2 เพื่อนคนนั้นต่อมาได้กลายเป็นมือขวาของเขา และในขณะนี้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารของไมโครซอฟท์
ฮาร์วาร์ดสร้างจุดพลิกผันสำคัญ เพิ่มขึ้นให้แก่บิลล์ เกตส์ ในจำนวนจุดพลิกผันที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ ได้แก่ ใน ระหว่างที่พอล อัลเลน เดินทางข้ามประเทศไปเยี่ยมเขาที่นั่น ทั้งสองออกไปเดินเล่นกันแล้วเหลือบไปเห็น นิตยสารด้านอิเล็กทรอนิกส์ ที่ขึ้นปกด้วยรูปของคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ มันมีมนต์ขลังถึงขนาดบันดาลให้บิลล์ เกตส์ เลิกเล่นไพ่และพอล อัลเลน ลาออกจากงานเพื่อร่วมกันทุ่มเทเวลาหาทางเขียนซอฟต์แวร์สำหรับ คอมพิวเตอร์แบบนั้น ซึ่งทั้งสองยังไม่เคยเห็นตัวจริงเสียด้วยซ้ำว่าเป็นอย่างไร หลังจากอดตาหลับขับตานอนอยู่ 2 เดือน พอล อัลเลน ก็นำโปรแกรมที่ทั้งสองช่วยกันพัฒนา ไปเสนอแก่บริษัทเจ้าของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่รัฐนิวเม็กซิโก ปรากฏ ว่าโปรแกรมนั้นทำงานได้สร้างความอัศจรรย์ใจ ให้ผู้รู้เห็นทุกคน บริษัทนั้นจ้างพอล อัลเลน ทันที อีกไม่นานต่อมาบิลล์ เกตส์ ก็ลาออกจากฮาร์วาร์ด เพื่อเดินทางไปตั้งหุ้นส่วนเขียนซอฟต์แวร์กับเพื่อนสนิทของเขาที่ นิวเม็กซิโก หุ้นส่วนนั้นคือเมล็ดพันธุ์ที่พัฒนามาเป็นบริษัทไมโครซอฟท์
เมื่อเรียนอยู่ชั้นปี 3 เขา ก็ตัดสินใจหันหลังให้กับใบปริญญา ลาออกจากฮาร์วาร์ด แล้วร่วมกับพอล อัลเลน เพื่อนสมัยเด็ก ทุ่มเทพลังงานทั้งหมดสร้างบริษัทไมโครซอฟต์ได้สำเร็จภายใน 2 ปี ด้วยความเชื่อว่าในอนาคตคอมพิวเตอร์จะต้องกลาย เป็นเครื่องมือส่วนบุคคล และเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกๆโต๊ะทำงาน และทุกๆบ้าน การคาดการณ์ล่วงหน้าที่แม่นยำและวิสัยทัศน์ ที่กว้างไกลในเรื่องนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จของไมโครซอฟต์ในเวลา ต่อมา
ไมโครซอฟต์ใช้เงินลงทุนมากกว่า 4 พัน ล้านดอลล่าร์ในการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ ให้ทันสมัย และคิดกลยุทธ์พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นตลอดเวลา แม้ว่าในช่วงหลัง อัตราการเติบโตของบริษัทจะลดลง แต่เกตส์ก็ยังคงครองตำแหน่งเจ้าพ่อด้านซอฟต์แวร์ของโลกเหมือนเดิม ด้วยรายได้กว่า 28,000ล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทสาขาใน 74 ประเทศและมีพนักงานกว่า 50,000 คน
นอกจากหลงใหลคอมพิวเตอร์และ ซอฟต์แวร์แล้ว เกตส์ยังสนใจเทคโนโลยีชีวภาพด้วย เขาร่วมลงทุนและอยู่ในคณะกรรมการ ของบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านนี้หลายแห่ง ทั้งยังก่อตั้งหน่วยงานที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก สำหรับเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสาร งานศิลปะ และภาพถ่ายให้เป็นเอกสารระบบดิจิตอลที่สามารถใช้ได้ทั่วโลก และลงทุนในธุรกิจอื่นๆ เช่น โทรศัพท์ ดาวเทียม ฯลฯ เพื่อเตรียม พร้อมสำหรับการให้บริการด้านการสื่อสารแบบสองทางในอนาคต
หนังสือเรื่อง Business @ the Speed of Thought ที่เขาเขียนขึ้นในปี ค.ศ.1999 เสนอแนวทางใหม่ในการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ แก้ไขปัญหาธุรกิจขั้นพื้นฐาน และได้รับการตีพิมพ์ถึง 25 ภาษา จำหน่ายใน 60 ประเทศ และขึ้นอันดับเป็นหนังสือขายดีในหลายๆ ชาร์ต เช่นเดียวกับเล่มก่อนหน้านี้ที่ชื่อ The Road Ahead ก็ขึ้นอันดับหนึ่งในชาร์ตของ New York Times นานถึง 7 สัปดาห์ ซึ่งรายได้ จากการขายหนังสือ เขาได้บริจาคให้กับองค์กรไม่แสวงหากำไรที่สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในการ ศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพ
ด้านครอบครัว เกตส์สมรสกับ เมลินดา เฟร้นช์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1994 ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 3 คนคือ เจนนิเฟอร์ แคทารีน เกตส์(เกิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1996) โรรี จอห์น เกตส์ (เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1999) และ ฟีบี อาเดล เกตส์ (เกิดเมื่อวันที่ 14กันยายน ค.ศ. 2002)
ในขณะที่เขาเป็นบุคคลสาธารณะที่ สุดในโลกคนหนึ่ง เกตส์กลับชอบเก็บตัว เขาหลงใหลการอ่าน และสนุกกับการเล่นกอล์ฟและไพ่บริดจ์ ในวันหยุดเขามักจะพาครอบครัวคือเมลินดา เฟรนช์ เกตส์ ภรรยาและลูก ๆ อีก 3 คนไปอยู่กับพ่อของเขา
กว่า 32 ปีอันเป็นช่วงเวลาที่บิลล์ เกตส์ เริ่มก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ถึงวันที่เขาเกษียณตัวเอง เขา มีร่างกายพิเศษที่แม้จะไม่ได้หลับได้นอนเป็นเวลานานๆ แต่ร่างกายของ เขาทนทานต่อการหักโหมได้ไม่เฉพาะในระหว่างอยู่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่เขา หักโหมร่างกายโดยการเล่นไพ่และอยู่ในห้องคอมพิวเตอร์ตลอดวันตลอดคืน ในระหว่างการสร้างบริษัทไมโครซอฟท์ก็เช่นกัน บ่อยครั้งพนักงาน ที่เข้ามาทำงานในตอนเช้าจะพบเขานอนหลับอยู่กับพื้นห้องเพราะเขาทำงานจนดึก ดื่นทุกคืน และบางครั้งไม่ยอม เสียเวลาเดินทางกลับบ้าน เมื่อง่วงจัดจนทนไม่ไหวจริงๆ เขาก็ลงนอนหลับกลิ้งอยู่บนพื้นห้องทำงาน
อาจดูเหมือนบุคลิกของเขาจะเป็นคนรุกกร้าวไม่มีคำว่าแพ้ แต่ บิลล์ เกตส์ เป็นผู้รู้จักฟังโดยเฉพาะ จาก พนักงานของบริษัท ไมโครซอฟท์ พนักงานทุกคนสามารถส่งข้อเสนอโดยตรงไปถึงเขาได้ และเขามักใช้เวลาตอนดึกๆ ตอบอีเมล์ของ พนักงาน นอกจากนั้นเขายังมักพาพนักงานออกไปใช้เวลานอกสำนักงานเพื่อช่วยกันระดมสมอง เขาจะไม่ถือสาถ้า พนักงานไม่เห็นด้วยกับมุมมองของเขาและยินดีจะเปลี่ยนใจและนำข้อเสนอของ พนักงานไปใช้ ถ้าข้อเสนอนั้น เหนือชั้นกว่าของเขา ความใจกว้างนี้มีผลให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในไมโครซอฟท์เสมอมา
แม้เขาจะทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำตลอด ทั้งปี แต่เขาจะมีเวลาเป็นของตัวเองปีละ 2 ครั้ง ครั้งละหนึ่ง สัปดาห์ ในช่วงหนึ่งสัปดาห์นี้เขาจะหนีไปเก็บตัวอยู่ในสถานที่ห่างไกลที่ไม่มีอะไร รบกวน เขาจะใช้เวลาอ่านหนังสือใหม่ๆ ที่เขาไม่มีโอกาสอ่านพร้อมกับศึกษาเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งในด้านธุรกิจ การใช้เวลาคิดอย่างลึกซึ้ง ถึงทุกสิ่งรอบด้านนี้ มีผลดีต่อทั้งการวางแผนระยะยาวของไมโครซอฟท์และกลยุทธ์ที่จะใช้ต่อไปในช่วง เวลาสั้นๆ นอกจากนั้นเขายังได้แนวคิดใหม่ๆ ซึ่งนำไปสู่การเขียนหนังสือ 2 เล่ม ได้แก่ The Road Ahead ซึ่งพิมพ์เมื่อปี 2538 และ Business @ the Speed of Thought ซึ่งพิมพ์เมื่อปี 2542 เล่มหลังนี้พูดถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพของการทำธุรกิจ
แม้ว่า บิลล์ เกตส์ จะเป็นอภิมหาเศรษฐีหมายเลขหนึ่งของโลกตั้งแต่ อายุ 39 ปี แต่เขาเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวเรื่องการใช้เงินเมื่อเทียบกับมหาเศรษฐีอื่นๆ นอกจากบ้านราคาเป็นหลักสิบ ล้านดอลลาร์และรถยนต์ราคาเรือนแสนดอลลาร์แล้ว เขาไม่นิยมสะสมตุ๊กตาราคาแพงเช่นมหาเศรษฐีส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเรือยอชต์ เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ สนามกอล์ฟ บ้านตากอากาศ หรืองานศิลปะ เงินของเขาส่วน ใหญ่ถูกนำไปใช้ในการลงทุนและเพื่อการกุศล ในด้านการลงทุนนานๆ จึงจะมีข่าวรั่วไหลออกมาว่าเขาไปลงทุนที่ นั่นที่นี่ ฉะนั้นจึงไม่มีใครรู้แนวคิดและการปฏิบัติของเขาแบบเต็มร้อย ส่วนในด้านการกุศล เขาและภรรยาได้ตั้ง มูลนิธิขึ้นมาเพื่อดำเนินงาน ฉะนั้นด้านนี้มีข้อมูลละเอียด หลังการเกษียณตัวเองเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ค.ศ. 2008 ที่ผ่านมา บิลล์ เกตส์ เริ่มใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับงานการกุศลของมูลนิธิชื่อว่า Bill & Melinda Gates Foundation
บิลล์ เกตส์ และภรรยา ก่อตั้งมูลนิธิขึ้นมาเมื่อปี 2543 ในช่วงเวลา 8 ปีเขาทั้งสองได้สละทรัพย์สินส่วนตัวให้มูลนิธิ แล้ว 34, 000 ล้านดอลลาร์ อภิมหาเศรษฐีวอร์เรน บัฟเฟตต์ เพื่อนสนิทอีกคนหนึ่งของเขาได้บริจาคสมทบอีก 3,360 ล้านดอลลาร์ และจะบริจาคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกราว 30, 000 ล้านดอลลาร์ ทรัพย์สินกองนี้เป็นเสมือนต้นทุนที่มูลนิธิ จะนำมาหมุนหาดอกผลเพื่อนำไปใช้ในโครงการการกุศลทั่วโลก ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิใช้ดอกผลไปใน โครงการการกุศลต่างๆ แล้ว 16,500 ล้านดอลลาร์ ทั้งโครงการในสหรัฐอเมริกาและในอีกกว่า 100 ประเทศ
โครงการแบ่งออกเป็น 3 ด้านด้วยกันคือ
1. ด้านการพัฒนา **ตัวอย่างของโครงการด้านการพัฒนา ได้แก่ การวิจัยและพัฒนาเพื่อแสวงหาพันธุ์พืชอาหารที่ทนทานต่อความแห้ง แล้งในทวีปแอฟริกา โครงการนี้มูลนิธิของเขาบริจาคไป 264.5 ล้านดอลลาร์
2. ด้านสุขภาพ **ตัวอย่างของโครงการด้านสุขภาพ ได้แก่ การพัฒนาวัคซีนเพื่อต่อสู้กับเชื้อมาลาเรียดื้อยาเป็นเงิน 287 ล้านดอลลาร์
3. ด้านที่เกี่ยวกับสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะ **ตัวอย่างของโครงการในสหรัฐ อเมริกา ได้แก่ การให้ทุนการศึกษาแก่มหาวิทยาลัยซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นคนผิวดำจำนวน 1, 370 ล้านดอลลาร์
การมองโลกของบิลล์ เกตส์ นอกจากจะมองว่าโลกทั้งหมดคือฐานของการสร้างความ ร่ำรวยที่เขาจะต้องตอบแทนคุณแล้ว เขามองว่าในขณะนี้โลกมีศัตรูคู่อาฆาตในรูปของปัญหาหนักหนาสาหัสทาง ด้านการแพร่กระจายของเชื้อโรค ด้านการขาดการศึกษาและด้านความด้อยพัฒนาซึ่งแสดงออกมาในรูปของความ ยากจน การต่อสู้กับศัตรูครั้งนี้มีความสำคัญยิ่งซึ่งชาวโลกจะต้องร่วมมือกัน มิฉะนั้นโอกาสจะชนะมีน้อย เนื่องจาก กองทัพต้องมีทั้งกำลังทรัพย์และขุนศึก ชาวโลกจะต้องสละทั้งทรัพย์และขันอาสาออกมาสู้ศึกตามความสามารถ ของตน บิลล์ เกตส์ ไม่เพียงแต่พูด หากต้องการทำให้ชาวโลกเห็นเป็นตัวอย่างด้วย
ในวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 2005 สำนักวิเทศสัมพันธ์ของสหราชอาณาจักรได้ประกาศว่า บิลล์ เกตส์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการอัศวินแห่งจักรวรรดิบริเตน อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตอบแทนที่ต่อสิ่งเขาได้อุทิศให้กับบริษัทในสหราชอาณาจักร และความพยายามของเขาในการลดปัญหาความยากจนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกแต่เนื่องจากเขาไม่ได้เป็นบุคคลสัญชาติในกลุ่มประเทศเครือจักรภพ เขาจึงไม่สามารถใช้คำนำหน้าว่า เซอร์ ได้ แต่เราต้องใส่อักษร KBE” (Knight Commander of The British Empire)ตามหลังชื่อของเขา
  • บิลล์ เกตส์ ติดอันดับหนึ่ง จากการจัดอันดับฟอร์บ 400″ ระหว่างปี ค.. 1993-2005 และติดอันดับหนึ่งในการจัดอันดับมหาเศรษฐีโลกของนิตยสารฟอร์บ ในปี ค.. 1996 และระหว่างปี ค.. 1998-2005 ซึ่งจากการจัดอันดับดังกล่าว สรุปได้ว่าทรัพย์สินสุทธิของเขามีมูลค่าดังต่อไปนี้:
  • .. 1996 - 18.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1 ของโลก
  • ค.ศ. 1997 - 36.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 2 ของโลก (รองจากสุลต่านโบลเกียแห่งบรูไน ผู้ซึ่งอยู่ในการจัดอันดับของปีนี้ แม้ว่าฟอร์บจะมีนโยบายไม่รวมประมุขของรัฐไว้ในการจัดอันดับก็ตาม)
  • ค.ศ. 1998 - 51.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1 ของโลก
  • ค.ศ. 1999 - 90.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1 ของโลก
  • ค.ศ. 2000 - 60.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1 ของโลก
  • ค.ศ. 2001 - 58.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1 ของโลก
  • ค.ศ. 2002 - 52.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1 ของโลก
  • ค.ศ. 2003 - 40.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1 ของโลก
  • ค.ศ. 2004 - 46.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1 ของโลก
  • ค.ศ. 2005 - 46.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1 ของโลก
  • ค.ศ. 2006 - 46.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1 ของโลก
การที่ทรัพย์สินสุทธิของเกตส์ มีมูลค่าลดลงตั้งแต่ปี .. 2000 เป็น ต้นมา มีสาเหตุมาจากการที่หุ้นของไมโครซอฟท์มีราคาลดลง รวมถึงการที่เขาได้บริจาคเงินหลายพันล้านดอลลาร์ให้องค์กรการกุศลของเขา และแม้เขาจะมีรายได้ลดลง ตามรายงานของนิตยสารฟอร์บในปี ..2004 เกตส์ยังได้บริจาคเงินรวมกว่า 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับองค์กรการกุศลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
เดือนกรกฎาคม 2006 บิลล์ เกตส์ ประกาศอำลาตำแหน่งสถาปนิกซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ เพื่อจะได้มีเวลาอุทิศตนเพื่องานการกุศลของมูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์มากขึ้น โดยขอเวลาสองปีเพื่อถ่ายโอนงานให้เรียบร้อย กระทั่งในที่สุดเมื่อวันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน ค.ศ.2008 บิลล์ เกตส์ เกษียณตัวเองจากงานเต็มเวลาในบริษัทไมโครซอฟท์ด้วยอายุ 52 ปี กับ 8 เดือน จากวันนี้ไปเขาจะทำงานให้ไมโครซอฟท์เพียงสัปดาห์ละ 1 วัน ส่วนเวลาที่เหลือเขาจะอุทิศตนเพื่องานการกุศลของมูลนิธิ บิลล์และเมลินดา เกตส์เพิ่มมากขึ้น
โลกของเราใบนี้จะดีขึ้นกว่า ปัจจุบันมาก หากชนชั้นเศรษฐีจะมีจิตสำนึกเช่นบิลล์ เกตส์ นั่นคือการตระหนักในความโชคดีของตนเองและรู้จักพอเพียงแล้วอุทิศกำลังกาย กำลังสมองและกำลังทรัพย์ส่วนหนึ่ง เพื่อช่วยกันขจัดปัญหาใหญ่ๆ ในชุมชนซึ่งตนอาศัยอยู่ ชุมชนนั้นอาจเป็นหมู่บ้านเล็กๆ หรือชุมชนขนาดใหญ่ในระดับประเทศและระดับโลกก็ได้
เกียรติประวัติ บิลล์ เกตส์
· ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยวาเซดะ .. 2005
· รางวัลเกียรติยศผู้บัญชาการอัศวินแห่งจักรวรรดิบริเตน จากสหราชอาณาจักร ตามประกาศเมื่อปี ค.. 2005
· ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสถาบันเทคโนโลยีหลวง (Royal Institute of Technology) กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน .. 2002
· ติดหนึ่งใน 100 อันดับบุคคลสำคัญผู้มีอิทธิพลต่อประชาชนในสื่อต่าง ๆ จากการจัดอันดับของ หนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน.. 2001
· ติดอันดับบุคคลผู้มีอำนาจ, นิตยสารซันเดย์ ไทม .. 1999
· อันดับ 2 ในการจัดอันดับ 100 ดาวรุ่ง, นิตยสารอัพไซด์ .. 1999
· อันดับ 1 ในการจัดอันดับ 50 ดาวรุ่งในโลกไซเบอร์, นิตยสารไทม .. 1998
· อันดับที่ 28 ใน 100 อันดับบุคคลสำคัญผู้มีอิทธิพลในวงการกีฬา, นิตยสารสปอร์ตติง นิวส์ .. 1997
· ผู้บริหารระดับสูงแห่งปี, นิตยสารชีฟ เอกเซกคูทีฟ ออฟฟิซเซอร์ .. 1994
· นักกีฏวิทยา ได้ตั้งชื่อแมลงวันตอมดอกไม้พันธุ์หนึ่งว่า Eristalis gatesi ตามชื่อของบิลล์ เกตส์ เพื่อเป็นเกียรติ์แก่เขา
ประเด็นด้านการช่วยเหลือทางสังคม
การมองโลกของบิลล์ เกตส์ นอกจากจะมองว่าโลกทั้งหมดคือฐานของการสร้างความ ร่ำรวยที่เขาจะต้องตอบแทนคุณแล้ว เขามองว่าในขณะนี้โลกมีศัตรูคู่อาฆาตในรูปของปัญหาหนักหนาสาหัสทาง ด้านการแพร่กระจายของเชื้อโรค ด้านการขาดการศึกษาและด้านความด้อยพัฒนาซึ่งแสดงออกมาในรูปของความ ยากจน การต่อสู้กับศัตรูครั้งนี้มีความสำคัญยิ่งซึ่งชาวโลกจะต้องร่วมมือกัน มิฉะนั้นโอกาสจะชนะมีน้อย เนื่องจากกองทัพต้องมีทั้งกำลังทรัพย์และขุนศึก ชาวโลกจะต้องสละทั้งทรัพย์และขันอาสาออกมาสู้ศึกตามความสามารถ ของตน บิลล์ เกตส์ ไม่เพียงแต่พูด หากต้องการทำให้ชาวโลกเห็นเป็นตัวอย่างด้วย
การที่เค้าร่ำรวยมหาศาล ครองอันดับ 1 ของโลก 13 ปีติดต่อกัน ด้วยทรัพย์สินกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2 ล้าน ล้านบาท และด้วยทรัพย์สินกองใหญ่ขนาดนั้นย่อมทำให้บิลล์ เกตส์ หมดความจำเป็นที่จะต้องตรากตรำไปทำงานเพื่อการยังชีพ แต่คนที่มีพลังผลักดันภายในสูงยิ่งเช่น บิลล์ เกตส์ ย่อมอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ฉะนั้นเขาจะไม่หยุดทำงานหลังจากสละตำแหน่งใหญ่ๆ ในไมโครซอฟท์แล้ว หากจะทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับมูลนิธิเพื่อการกุศลที่เขาและภรรยาตั้งขึ้น ชื่อว่า Bill & Melinda Gates Foundationมูลนิธินี้มีคำขวัญว่าBringing innovations in health and learning to the global community ซึ่งมีความหมายว่าเพื่อนำนวัตกรรมด้านสุขภาพและด้านการเรียนรู้ไปสู่ชุมชนโลกคำ ขวัญนี้สะท้อนความตั้งใจของบิลล์ เกตส์ และภรรยาที่ต้องการจะใช้สมบัติกองใหญ่และความรู้ความสามารถของตนช่วยขจัดโรค ร้ายและอวิชชาให้หมดไปจากโลก
ณ วันนี้ Bill & Melinda Gates Foundation เป็นมูลนิธิที่มีทรัพย์สินมากที่สุดในโลก เพราะได้รับบริจาค จากสองสามีภรรยาแล้วกว่า 29,000 ล้าน ดอลลาร์ และจะได้รับเพิ่มอีก เนื่องจาก ทั้งสองได้ประกาศไว้นานแล้วว่า จะกันทรัพย์สินเพียงส่วนน้อยเท่านั้นไว้ให้แก่ลูกๆ ส่วนที่เหลือจะยกให้แก่มูลนิธิ คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าในสหรัฐ ผู้บริจาคทรัพย์ให้แก่มูลนิธิเพื่อการกุศลได้รับการลดหย่อนภาษีจากรัฐบาลโดย เฉพาะภาษีมรดก ฉะนั้นมูลนิธิจำนวนมากจึงถูกตั้งขึ้นหรือได้รับบริจาคทรัพย์จากมหาเศรษฐี
การเกษียณตัวเอง จากไมโครซอฟท์และทิ้งรายได้ประจำเป็นจำนวนมากของบิลล์ เกตส์ อาจเป็นที่แปลกใจของหลายวงการ แต่สำหรับผู้ที่ติดตามความคิดความอ่าน และการดำเนินชีวิตของเขามาเป็นเวลานานคงไม่แปลกใจเลย (ในปัจจุบันมีหนังสือเกี่ยวกับบิลล์ เกตส์ ในตลาดจำนวนมาก รวมทั้งหนังสือที่เขาเขียนเอง เช่น The Road Ahead และ Business @ the Speed of Thought
นอกจากจะมีมันสมองระดับอัจฉริยะ และมีพลังผลักดันภายในไม่ต่ำกว่าใครในโลกแล้ว บิลล์ เกตส์ มีจิตสำนึกสูงยิ่ง โดยเฉพาะในความโชคดีของตนเอง การตระหนักในความโชคดีนั้นทำให้เขาต้องการตั้งมูลนิธิขึ้น เพื่อตอบแทนคุณแก่สังคม เนื่องจากบริษัทของเขาร่ำรวยด้วยการขายโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทั่วโลกสังคมของเขา จึงเป็นชุมชนโลกทั้งหมด
นับตั้งแต่วันก่อตั้งมูลนิธิ Bill & Melinda Gates ได้ให้เงินสนับสนุนแก่โครงการต่างๆ แล้วราว 10,500 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนั้นราว 30% บริจาคให้แก่โครงการในสหรัฐ เพื่อประโยชน์ของชาวอเมริกัน ส่วนอีก 70% บริจาคให้โครงการในประเทศต่างๆ กว่า 100ประเทศ โดยเฉพาะแก่โครงการเพื่อขจัดโรคร้าย เช่น เอดส์ มาลาเรียและวัณโรค และเพื่อปลูกฝีและฉีดยาให้เด็กเกิดใหม่ในประเทศด้อยพัฒนา
ประเด็นด้านการเป็นผู้นำทางธุรกิจที่แตกต่าง
การที่ธุรกิจเต็มไปด้วยการแข่งขันจากทุกมุมโลก ทั้งคู่แข่งที่ยังไม่เกิดหรือเกิดขึ้นแล้วโดยที่คุณไม่รู้ตัวด้วยรูปแบบ ธุรกิจของเขาเหล่านั้นอาจจะทำให้ธุรกิจที่มีอยู่แล้วตกยุคไปทันที ด้วยการแข่งขันที่ไม่ได้เน้นกันที่ตัวสินค้าหรือบริการอีกต่อไปแต่เป็นการ แข่งขันกันที่รูปแบบทางธุรกิจว่าใครเหนือกว่า
บิลล์ เกตส์ ชายที่ร่ำรวยที่สุดในโลกจากธุรกิจซอฟต์แวร์ ก็ เชื่อมั่นในแนวคิดดังกล่าวเขาเห็นว่า แม้รูปแบบทางธุรกิจใหม่ๆ เหล่านี้อาจยังไม่ชัดเจนในแง่ประสิทธิภาพ และเต็มไปด้วยความเสี่ยงก็ตามแต่เราก็ไม่อาจปฎิเสธสิ่งนี้ได้ และรูปแบบทางธุรกิจที่ร้อนแรงและน่ากลัวที่กำลังกล่าวนี้คือ รูปแบบการดำเนินธุรกิจบนเว็บไซต์นั่นเอง
ด้วยการจัดการทางธุรกิจในยุคใหม่ ที่อาศัยศาสตร์ทางเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการดำเนินงานขององค์กร เราจึงขอเรียก รูปแบบการดำเนินงานขององค์กร เราจึงขอเรียกรูปแบบการดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้ว่า “E-Corporation” ซึ่ง มิได้เพียงเพื่อตอบสนอง การใช้ตัวอิเล็คทรอนิคส์มาเป็นสื่อทางการตลาดเพียงเพื่อตอบสนองลูกค้าเท่า นั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการผนวกการใช้คอมพิวเตอร์ การใช้โปรแกรมเว็บ เทคโนโลยีและโปรแกรมที่สลับซับซ้อนที่เรียกกันว่า enterprise software มา ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางธุรกิจอย่างเบ็ดเสร็จ ที่ส่งผลต่อภาวการณ์แข่งขันอันรุนแรงในหลากหลายแห่งพร้อม ๆกับเป็นวิกฤตสำหรับธุรกิจบางแห่งเช่นกัน
บางครั้งเราอาจพบว่ามีความคลั่งไคล้ อินเตอร์เน็ตจนเกินงามแต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าอินเตอร์เน็ตนั่นกำลัง เปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิตอย่างลึกซึ้งเกินกว่าที่จะ จิตนาการได้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตไม่เป็นเพียงแต่ แค่เป็นช่องทางใหม่ของการทำตลาด ช่องการทำโฆษณา หรือเป็นตัวเร่งของการทำธุรกรรมให้เร็วขึ้นเท่านั้นแต่อินเทอร์เน็ต นั้นเป็นฐานสำคัญในการสร้างอุตสาหกรรมในรูปโฉมใหม่แล้ว
ธุรกิจได้มีการปรับเปลี่ยนและ พัฒนารูปแบบอยู่อย่างต่อเนื่อง และทุกครั้งที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจเราจะมีผู้นำธุรกิจ เกิดขึ้นมาใหม่เสมอ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือธุรกิจการค้าปลีก ครั้งหนึ่งบริษัท Woolsworth ไม่เคยว่าบริษัทอย่าง Sears จะ มาปรากฎตัวกลาย เป็นผู้นำแทนบริษัทเขาได้ และครั้งแล้วครั้งเล่าที่บริษัทเหล่านี้มองข้ามความสำคัญของรูปแบบทางธุรกิจ ใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น จนสูญเสียความ เป็นผู้นำทางธุรกิจ การเกิดขึ้นของบริษัท Wal-Mart ในปี 1962 จนกลายเป็นเจ้าแห่ง Supply-chain ก็ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด ดังนั้นเราจะ ต้องทำความเข้าใจถึงศักยภาพของอินเทอร์เน็ตและสร้างความมั่นใจให้ได้ว่า ธุรกิจของเรามีความพร้อมที่จะรองรับกระแสการปฏิวัติจากอินเทอร์เน็ต ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้
แน่นอนว่าธุรกรรมบนอินเทอร์เน็ต ไม่อาจทดแทนการซื้อขายทำธุรกิจในรูปแบบเดิม ๆ ได้อย่างสิ้นเชิง แต่ก็ไม่มี รูปแบบทางธุรกิจใดที่สร้างรายได้จากทั่วทุกมุมโลกภายในเวลาสั้น ๆ ชั่วการวิ่งของอิเล็คตรอน ปัจจัยสำคัญจึงมิได้อยู่ เพียงแค่การเติบโตแบบบททวีของผู้ใช้งานเครือข่าย อินเทอร์เน็ต หากแต่อยู่ที่ความคาดหวังของผู้บริโภคจะได้รับต่างหาก ด้วยความเร็วและระบบที่เปิดกว้างของเครือข่ายผู้บริโภคย่อมคาดหวังในสิ่งที่ ตนจะได้รับทั้งในแง่ของ ความสะดวกสบาย ความเร็ว ราคา การให้บริการ ตลอดจนข้อมูลในการเปรียบเทียบซึ่งความคาดหวังเหล่านี้ได้สร้างมิติใหม่ที่ สร้างความสั่นสะเทือน ให้กับระบบเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบให้กับแนวทางหรือรูปแบบการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมภาคต่าง ๆ ในขณะนี้
ประเด็นความคิดนอกกรอบสู่การเปลี่ยนแปลงแห่งรูปแบบการศึกษา (E-Learning)
ความคิดของบิลล์ เกตส์ นับ เป็นนวัตกรรมใหม่ด้านการศึกษา ด้วยการนำระบบคอมพิวเตอร์สมัยใหม่และทางด่วนข้อมูล ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ทั่วโลกเข้ามาเป็นตัวกระตุ้นการปฏิวัติระบบการ เรียนการสอนที่มีอยู่เดิม ถึงแม้ว่าเขาจะย้ำว่าห้องเรียนยังคงมีอยู่เหมือนเดิม เพื่อลดการต่อต้านด้านเทคโนโลยี แต่จากรายละเอียดที่เขานำเสนอ จะพบว่าการเรียนการสอนในอนาคตจะต้องมีแนวโน้ม เปลี่ยนไปมาก
เขาให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยตระหนักถึงการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้กับการศึกษา เขาวาดฝันไว้ว่า โรงเรียนทุกแห่งจะปฏิวัติระบบการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ โดยได้เสนอความเห็นในเรื่องการศึกษา ดังนี้
1. การเรียนมิได้มีเฉพาะในห้องเรียน บิลล์ เกตส์กล่าวว่าการเรียนไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียนและอยู่ภายใต้ การควบคุมกำกับของครูเท่านั้น ในโลกยุคปัจจุบันคนสามารถที่จะเรียนได้จากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย โดยเฉพาะทางด่วนข้อมูล (Information Superhighway) ซึ่งกำลังจะมีบทบาทและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการศึกษาของมนุษย์
2. ผู้เรียนมีความแตกต่างระหว่าง บุคคล เขาได้อ้างทฤษฎีอาจารย์วิชาการศึกษาที่ว่า เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน จึงจำเป็นจะต้องจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความแตกต่างระหว่างบุคคล เพราะเด็กแต่ละคนมีความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์ และการมองโลกแตกต่างกันออกไป
3. การเรียนที่ตอบสนองความต้องการรายคน เขามีความเห็นว่าการจัดการศึกษาที่สอนเด็กจำนวนมาก (Mass Production Education) โดย รูปแบบที่จัดเป็นรายชั้นเรียนในปัจจุบัน ไม่สามารถที่จะตอบสนองความต้องการของเด็กเป็นรายคนได้ แต่ด้วยพลังอำนาจและประสิทธิภาพของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ การเรียนตามความต้องการของแต่ละคน (Tailor-made Education) ซึ่งเป็นความฝันของนักการศึกษามานานแล้วนั้น สามารถจะเป็นจริงได้ โดยมีครูคอยให้การดูแลช่วยเหลือและแนะนำ
4. การเรียนโดยใช้สื่อประสม บิลล์ เกตส์ฝันว่าในอนาคตห้องเรียนทุกห้องจะมีสื่อประสม (Multimedia) จาก เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เด็กสามารถเลือกเรียนเรื่องต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ ซึ่งในปัจจุบันได้มีบริษัทธุรกิจต่างๆ ผลิตสื่อประสมไว้มากมายหลายรูปแบบ และสอดคล้องกับเนื้อหาที่จะเรียน สื่อประสมจะเข้ามาในรูปของซีดีรอม (CD-Rom) บนทางด่วนข้อมูลโดยต่อเชื่อมโยงเข้ากับ Internet ที่เป็นระบบ World Wide Web ช่วยให้เด็กสามารถเห็นภาพ ฟังเสียง ดูการเคลื่อนไหว ฯลฯ และมีสถานการณ์สมมุติต่าง ๆ ที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยตนเองได้
5. บทบาทของทางด่วนข้อมูลกับการสอน ของครู ปัจจุบันครูต้องทำงานหนักเพื่อเตรียมการสอนตลอดเวลา แต่ด้วยระบบเครือข่ายทางด่วนข้อมูลจะทำให้ได้ครูที่สอนเก่งจากที่ต่าง ๆ มากมายมาเป็นต้นแบบ และสิ่งที่ครูสอนนั้นแทนที่จะใช้กับเด็กเพียงกลุ่มเดียวก็สามารถสร้าง Web Site ของตนหรือของโรงเรียนขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ออกไปให้โรงเรียนอื่นได้ใช้ด้วย ทางด่วนข้อมูลที่ทำให้สื่อสารระหว่างกันได้ (interactive network) จะช่วยปฏิวัติเรื่องการเรียนการสอนได้มาก
6. บทบาทของครูที่เปลี่ยนไป เขากล่าวว่า ครูจะมีหลายบทบาทหน้าที่คือ บทบาทที่ 1 ทำหน้าที่เหมือนกับผู้ฝึก (Coach) ของนักศึกษา คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำ บทบาทที่ 2 เป็นเพื่อน (Partner) ของผู้เรียน บทบาทที่ 3 เป็นทางออกที่สร้างสรรค์ (Creative Outlet)ให้กับเด็ก และบทบาทที่ 4 เป็น สะพานการสื่อสารที่เชื่อมโยงระหว่างเด็กกับโลก ซึ่งอันนี้ก็คือบทบาทที่ยิ่งใหญ่ของครู ถ้าครูทำบทบาทอย่างนี้ได้ การเรียนการสอนจะมีความสนุกสนานขึ้นอย่างมาก
7. ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ระบบทางด่วนข้อมูลคอมพิวเตอร์นี้จะช่วยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างนัก เรียน ครู และผู้ปกครอง เช่น การส่ง E-mail จากครู ไปถึงผู้ปกครอง เพื่อรายงานผลการเรียนของนักเรียน ซึ่งแต่เดิมเป็นเรื่องที่ยาก จะต้องส่งเป็นจดหมายหรือต้องพบกัน แต่ในระบบใหม่จะสามารถส่ง E-mail ถึงกันได้ ทำให้สามารถคุยหรือสื่อสารกันได้ทั้ง 3 ฝ่าย คือ ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ด้วยความสามารถของคอมพิวเตอร์จะช่วยให้การจัดการศึกษาของเด็กง่าย และสะดวก และมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น
บทบาทที่บิลล์ เกตส์ ทำการส่งเสริมต่อระบบการศึกษา รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศของไทยโดย การให้ความร่วมมือในการส่งเสริมความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่ประเทศไทย จากแนวโน้มของเทคโนโลยีในอนาคต โดยไมโครซอฟท์ได้มีการลงทุนในด้านงบประมาณ บุคลากรและทรัพยากรต่าง ๆ คิดเป็นมูลค่ากว่า 140 ล้าน บาท ทั้งการจัดหาซอฟท์แวร์คุณภาพในราคาประหยัดให้สำหรับใช้กับคอมพิวเตอร์ใน โรงเรียนทั่วประเทศไทย ทั้งนี้เป็นสืบเนื่องจากการเยือนประเทศไทย วันที่ 30 มิถุนายน พ.. 2548 จะเห็นว่าคอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทต่อระบบการศึกษาของประเทศเราเป็นอย่างมาก โดย เฉพาะระบบไมโครคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีคุณภาพได้มาตรฐานมากขึ้น แต่ราคาต่ำพอที่โรงเรียนต่างๆ จะจัดหามาใช้ได้ โดยความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในงานด้านต่างๆนั้น เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า คอมพิวเตอร์ได้เข้ามาสู่ระบบการศึกษาและการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบมากขึ้น สถานศึกษาจำนวนไม่น้อยที่จัดหาคอมพิวเตอร์มาใช้งานในสถานศึกษา ทั้งในด้านการบริหารงานและในกิจกรรมการเรียนการสอนกันมากขึ้น โดยจัดร่วมกับระบบการสื่อสารในรูปแบบและลักษณะต่างๆ ที่เรียกว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งประโยชน์ที่ผู้เรียนได้เรียนได้รับอย่างชัดเจนคือได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และในขณะที่ผู้สอนก็ได้ใช้ทรัพยากรนี้อำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการ สอนอย่างมีประสิทธิภาพ
ประเด็นการช่วยเหลือและสนับสนุนทางด้านการศึกษา
บิลล์ เกตส์ บริจาคทุนการศึกษาแก่สถาบันการศึกษาทั่วโลกที่ขาดแคลนเงิน และมีการให้ทุนวิจัยเพื่อป้องกันและรักษาโรคเอดส์ โดยในระยะเวลาเพียงแค่ 6 ปีมูลนิธิของเกตส์และภรรยามียอดบริจาคเงินช่วยเหลือคนทั่วโลกไปแล้วกว่า 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ1ล้านล้านบาท
ประเด็นด้านการตระหนักถึงสุขภาพที่ดีของเพื่อนร่วมโลกโดยการต่อต้านการสูบบุหรี่
บิลล์ เกตส์และไมเคิล บลูมเบิร์ก ร่วมลงทุนกว่า 500 ล้าน ดอลลาร์เพื่อต่อต้านการสูบบุหรี่ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศใช้มาตรการอย่างเป็นรูปธรรมในการลดการสูบ บุหรี่เพื่อรักษาชีวิตของผู้คนทั่วโลก โดยการช่วยให้รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาสามารถกำหนดนโยบายและเพิ่มงบประมาณ ในการควบคุมการสูบบุหรี่ในประเทศของตนได้ จากการศึกษาพบว่าหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ผู้คน 1 พันล้านคนหรือกว่า 2 ใน 3 ของ ประชากรในประเทศกำลังพัฒนา อาจเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ได้ ทั้งนี้ พอลล่า จอห์นส์ กรรมการบริหารพันธมิตรเพื่อการควบคุมการสูบบุหรี่แห่งบราซิล และ ชาร์ลี โรส ผู้สื่อข่าวชื่อดัง ต่างก็มีส่วนร่วมกับบลูมเบิร์ก และ เกตส์ ในการประกาศปณิธานดังกล่าวเช่นกัน
ขณะเดียวกันมูลนิธิ บิลล์ แอนด์ เมลินดา เกตส์ (The Bill and Melinda Gates Foundation) ก็ ประกาศลงทุนมูลค่า 125 ล้านดอลลาร์ในโครงการต่อต้านการสูบบุหรี่เป็นระยะเวลา 5 ปี พร้อมบริจาคเงิน 24 ล้านดอลลาร์ให้กับโครงการบลูมเบิร์ก นอกจากนั้นมูลนิธิเกตส์ยังสนับสนุนความพยายามในการลดอัตราการสูบบุหรี่ใน ประเทศจีนและอินเดีย รวมถึงช่วยป้องกันมิให้การสูบบุหรี่แพร่หลายในแอฟริกาด้วย
โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากการสูบบุหรี่ถือเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่สุดสำหรับประเทศกำลังพัฒนาบิลล์ เกตส์ ประธานร่วมของมูลนิธิเกตส์ กล่าวแต่ อย่างน้อยเราก็มีวิธีป้องกันมิให้โรคร้ายดังกล่าวคร่าชีวิตผู้คนหลายล้านคน และปัจจุบันก็มีหลายฝ่ายที่กำลังพยายามอย่างหนักในการแก้ปัญหาดังกล่าวเรา รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้การสนับสนุนนายกเทศมนตรีบลูมเบิร์ก ผู้ที่ต่อสู้กับการสูบบุหรี่ในมหานครนิวยอร์กและทั่วโลกมาโดยตลอด บลูม เบิร์ก และ เกตส์ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลและผู้นำทางธุรกิจร่วมกันต่อต้านการสูบบุหรี่ด้วยการ ช่วยเพิ่มช่องทางในการควบคุมการสูบบุหรี่และสนับสนุนนโยบายเพื่อลดการสูบ บุหรี่ ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า ประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางซึ่งมีประชากรร่วม 3.9 พันล้านคน มีค่าใช้จ่ายในการควบคุมการสูบบุหรี่รวมกันไม่ถึง 20 ล้านดอลลาร์ต่อปี ทั้งที่มีการเก็บภาษีบุหรี่ได้กว่า 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์
มหานครนิวยอร์กประกาศตัวเป็นเมืองปลอดบุหรี่เมื่อปี พ.ศ.2545 ซึ่ง ในขณะนั้นมีเพียงรัฐเดียวในสหรัฐอเมริกาที่ปลอดบุหรี่ และไม่มีประเทศใดในโลกเลยที่ปลอดบุหรี่ แต่ในปัจจุบันหลายรัฐในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศเริ่มประกาศตัวเป็นพื้นที่ ปลอดบุหรี่ ในขณะเดียวกันความสำเร็จในการต่อต้านการสูบบุหรี่ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก
ลักษณะนิสัยและวิธีการทำงานของบิลล์ เกาต์ที่ส่งเสริมให้เขาประสบความสำเร็จ
ความรักครอบครัว
สิ่งสำคัญที่สุดที่ช่วยส่งเสริมเขาให้สามารถมายืนถึงจุดนี้ได้นั้นก็คือครอบครัวตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือวันหนึ่งขณะที่ บิลล์ เกตส์ได้จัดงานวันเกิดให้กับลูกสาวอายุ 5 ขวบ เขาถามลูกว่า ลูกอยากได้อะไร บอกพ่อมา หุ่นยนต์คอมพิวเตอร์ พ่อจะสั่งลูกน้องสร้างให้ลูกเป็นพิเศษ หรือ ลูกสุนัขตัวสวยงามหรือจะไปเที่ยวรอบโลก พ่อก็จะพาไป แต่ลูกสาวตอบว่า ไม่ต้องการอะไรเลย นอกจากตัวของคุณพ่อ อยากให้พ่อกลับบ้านเร็วๆมาสอนหนูทำการบ้าน มาเล่นกับหนู และ เล่านิทานให้หนูฟังก่อนนอน หนูก็พอใจแล้ว
เมื่อ บิลล์ เกตส์ ได้ฟังดังนั้นเขาน้ำตาคลอเบ้า กอดลูกไว้แน่น จากนั้นเขาได้ออกระเบียบให้พนักงานบริษัทไมโครซอฟท์ที่มีลูกทุกคนเลิกงาน ก่อนหกโมงเย็นเพื่อกลับบ้านไปใช้เวลากับลูก ส่วนตัวเขาเองต้องกลับบ้านก่อน 6 โมง เย็นทุกวัน ใช้เวลากับลูกสาวที่เขารักมากที่สุด หลายครั้งเรามักคิดว่า งานสำคัญกว่าลูก เราทำงานจนไม่มีเวลาสำหรับครอบครัว สำหรับลูก ลูกคือของขวัญและรางวัลจากพระเจ้า
การมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล
บิลล์ เกตส์ได้เดินตามวิสัยทัศน์ของเขาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของไมโครซอฟท์ ด้วยความคิดว่า…คอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงานทุกแห่งและในบ้านทุกหลัง
การใช้ชีวิตด้วยความอดทนไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก
นอกจาก บิลล์ เกตส์ จะมีมันสมองของ อัจฉริยะแล้วเค้ายังมีร่างกายพิเศษที่ได้มาจากพ่อแม่ คือแม้จะไม่ได้หลับได้นอนเป็นเวลานานๆ แต่ร่างกายของ เขาทนทานต่อการหักโหมได้ ไม่เฉพาะในระหว่างอยู่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่เขาหักโหมร่างกายโดยการเล่น ไพ่ และอยู่ในห้องคอมพิวเตอร์ตลอดวันตลอดคืน ซึ่งในระหว่างการสร้างบริษัทไมโครซอฟท์ก็เช่นกัน บ่อยครั้งพนักงาน ที่เข้ามาทำงานในตอนเช้าจะพบเขานอนหลับอยู่กับพื้นห้องเพราะเขาทำงานจนดึก ดื่นทุกคืน และบางครั้งไม่ยอม เสียเวลาเดินทางกลับบ้าน เมื่อง่วงจัดจนทนไม่ไหวจริงๆ เขาก็ลงนอนหลับกลิ้งอยู่บนพื้นห้องทำงาน
ทุกการทำ งานของบิลล์ เกตส์ ถึงแม้ว่าจะพบเจอกับอุปสรรคนานัปการ แต่เขาก็ไม่เคยย่อท้อ ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เขาจะตั้งสติแล้วค่อยหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป ซึ่งความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าต่อการแก้ไขปัญหาของเขาเป็นแรงผลักดันให้เขา แก้ไขปัญหาได้สำเร็จ
การรับฟังความคิดเห็นและให้เกียรติพนักงานทุกคน
จากแนวคิดของบิลล์ เกตส์ ที่ว่าคนฉลาดควรมีอำนาจขับเคลื่อนความคิดรีเริ่มเขา จึงมุ่งสร้างบริษัทไมโครซอฟท์ ให้เป็นองค์กรแห่งปัญญา โดยการเปิดโอกาสให้พนักงานเข้าถึงข้อมูลของบริษัทได้อย่างทั่วถึง ให้ได้รับการฝึกให้รู้จักวิเคราะห์ ตีความ และนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นพนักงานไมโครซอฟท์ ยังมีช่องทางในการเสนอความคิดเห็นโดยตรงต่อผู้บริหารทุกระดับ ซึ่งผู้บริหารในบริษัทต้องมีใจกว้างพอที่จะรับฟังความคิดเห็นของทุกคน บิลล์ เกตส์ มองว่าในภาวะเช่นนั้น ทุกส่วนขององค์กรจะทำงานร่วมกัน เป็นปึกแผ่นเสมือนมันสมองก้อนใหญ่อันชาญฉลาด และปราดเปรียว
บิลล์ เกตส์ เองทำตัวเป็นตัวอย่างในการขับเคลื่อนบริษัทฯ โดยการเปิดโอกาสให้พนักงานของบริษัททุกคนส่งข่าว และความคิดเห็นไปถึงเขาทางอีเมลล์ได้ตลอดเวลาไม่ว่า ข่าวร้ายหรือความคิดใหม่ๆ ซึ่งแย้งกับเขา ยิ่งเป็นข่าวร้ายเขายิ่งต้องการได้รับเร็วที่สุด ความใจกว้าง ถ่อมตน และยืดหยุ่นได้ ของบิลล์ เกตส์ เป็นที่รู้กันทั่วไปในไมโครซอฟท์
การมีกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ (Strategy)
เห็นได้จากการที่ไมโครซอฟท์สามารถประมูลงานในการพัฒนาซอฟท์แวร์ให้กับ IBM ซึ่งตอนนั้นบริษัทยังไม่เป็นที่รู้จักและยังต้องแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์มากมาย
ชอบการเคลื่อนไหวตลอดเวลา
บิลล์ เกตส์เป็นคนที่มองโลกตามที่มันเป็นจริงและพยายามคิดที่จะขายอะไรก็ได้ให้โลกทั้งโลก
เป็นคนที่ไม่กลัวความเสี่ยง
เมื่อบิลล์ เกตส์ต้องวิเคราะห์และแสวงหาวิธีการทางธุรกิจในแบบฉบับของตนเอง เกตส์เป็นคนที่สุขุมยิ่งนักเมื่อต้องเผชิญกับความเสี่ยง
เป็นผู้ที่มีเป้าหมายทางธุรกิจที่ชัดเจน
บิลล์ เกตส์ ให้ความสำคัญกับเป้าหมายทางธุรกิจขององค์กรมากที่สุดดังนั้นในทุกวินาทีเค้า จึงพยายามหาหนทางเพื่อทำให้เป้าหมายดังกล่าวเกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ความสำเร็จของเกตส์ส่วนหนึ่งจึงเกิดจากความกล้าที่จะสู้กับทุกอย่าง เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในตลาดให้ได้ ในทุกวินาทีเค้าจึงพยายามหาหนทางเพื่อทำให้เป้าหมายดังกล่าวเกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ความสำเร็จของเกตส์ส่วนหนึ่งจึงเกิดจากความกล้าที่จะสู้กับทุกอย่างเพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในตลาดให้ได้
เป็นนักปฏิบัติอย่างแท้จริง
บิลล์ เกตส์จะไม่ยอมปล่อยให้อารมณ์เข้ามามีผลต่อการตัดสินใจ แต่กลับเป็นคนที่พิจารณาความสมเหตุสมผลเป็นที่ตั้งโดยมีเป้าหมายทางธุรกิจ เป็นสำคัญ
ชอบพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
คิดว่าโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาดังนั้นคนที่หยุดนิ่งอยู่กับที่จะไม่สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ เป็นคนที่พยายามลองทำในสิ่งใหม่ๆเสมอเมื่อมีโอกาสและความพร้อม เป็น คนที่เชื่อว่าคนเราไม่ได้ประสบความสำเร็จกันในครั้งแรกที่ลงมือทำ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสก็จะลงมือทำถึงแม้ว่าสิ่งนั้นจะมีความเสี่ยงก็ตาม โดยคิดว่าถึงแม้จะไม่ประสบความสำเร็จแต่สิ่งหนึ่งที่ได้รับ คือ ประสบการณ์และเมื่อมีประสบการณ์เราก็มีมุมมองที่กว้างขึ้น โอกาสผิดพลาดก็น้อยลงในที่สุดความสำเร็จก็ต้องรออยู่ข้างหน้า
ชอบการเจรจาต่อรอง
เนื่องจากทำให้ได้พัฒนาทักษะในการโน้มน้าวจิตใจคน ได้เรียนรู้วิธีการในการเอาชนะใจคนและการสร้างความสัมพันธ์อันดีเพื่อโอกาสในอนาคต
มองโลกในแง่ดี
ถึงแม้ว่าจะประสบปัญหาหรืออุปสรรคบิลล์ เกตส์ จะถูกสอนให้หัวเราะทุกครั้งที่เจ็บปวด ยิ้มรับกับปัญหาที่เกิดขึ้น
ทำธุรกิจด้วยความสนุก
ปรัชญา การทำธุรกิจด้วยความสนุกนั้น เป็นสิ่งที่บิลล์ เกตส์เน้นอยู่เสมอ เพราะการทำธุรกิจเป็นสิ่งที่ต้องผูกพัน เราต้องใช้เวลาอยู่กับมัน ถ้าทำธุรกิจโดยเน้นแต่การกอบโกยเงินหรือผลประโยชน์เข้าหาตนเองแล้วนั้นเราก็ จะทำธุรกิจนั้นไม่ได้นานและไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
การมีหัวใจที่ ไม่ยอมพ่ายแพ้
หลังจากที่บิลล์ เกตส์ ได้ประกาศสละตำแหน่งประธานกรรมการของบริษัทไมโครซอฟท์ให้แก่ สตีฟ บาล์มเมอร์ ทำ ให้หลายฝ่ายพยายามขุดคุ้ยหาสาเหตุที่แท้จริงของการสละตำแหน่งครั้งนี้ ว่าเป็นกลยุทธ์หนึ่งเพื่อตอบโต้การฟ้องคดีการผูกขาด กีดกันการค้าเสรีของรัฐบาล หรือเป็นเพราะเกตต์ต้องการทำเช่นนี้มานานแล้วจริง
ถ้าเป็นเพราะเหตุผลทางการเมืองจริง สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็คือแนวความคิดของทั้งเกตต์ และบาล์มเมอร์ที่ยืนกรานคัดค้านการแตกไมโครซอฟท์ออกเป็นบริษัทย่อย ทั้งคู่เรียกวิธีการนี้ว่า เป็นสิ่งที่ขาดการไตร่ตรองและไม่รับผิดชอบคำ พูดนี้เราได้ยินมาแล้วตั้งแต่เมื่อครั้งที่พวกเขาออกมาประกาศต่อสื่อมวล ชนหลังจากฟังคำพิพากษาของผู้พิพากษา โธมัส เพนฟิลด์ แจ็คสัน และเมื่อครั้งที่บาล์มเมอร์ประกาศหลังจากรับตำแหน่งประธานบริษัทและอีกครั้ง เมื่อเกตส์ให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง เป็นไปได้ว่าคงมีคนเขียนสคริปต์ให้พวกเขาพูดแน่นอน
สิ่งที่ รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรมและบรรดาอธิบดีกรมอัยการทั้งหลายได้ร่วมกันต่อสู้ คดีความเอาชนะไมโครซอฟท์ในครั้งนี้ ว่าไปแล้วก็คงเป็นเรื่องของความพยายามสร้างภาพให้ดูเหมือนอเมริกาเป็นประเทศ ที่มีการค้าเสรีที่สุดอะไรทำนองนั้น และถ้าเปรียบเทียบคดีไมโครซอฟท์กับคดีในลักษณะเดียวกันนี้ เช่นคดีของจอห์น ดี ร็อคกี้เฟลเลอร์ พวกเขาทำได้น่าตื่นเต้นกว่ามาก แต่ก็ไม่แน่ว่าผู้คนจะสนใจเรื่องนี้ไปอีกนานแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อฤดูกาลการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งหน้ามาถึง ผู้คนก็คงจะลืมเรื่องนี้ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ดูเหมือนเกตส์จะเหน็ดเหนื่อยต่อเรื่องคดีทางการเมืองครั้งนี้เสีย แล้ว เขาจึงให้บาล์มเมอร์เข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์แทน โดยเกตส์หันไปรับหน้าที่ประธานฝ่ายสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์แทน เพื่อ จะได้ไม่ต้องวุ่นวายกับเรื่องเหล่านี้ ใช้เวลาคิดและสร้างซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ดีกว่า ซึ่งจากการตัดสินใจของเกตส์ครั้งนี้ ทำให้เรามองเห็นแล้ว เขาคือผู้ที่มองไปยังอนาคตข้างหน้าจริงๆ ไม่ใช่มหาเศรษฐีที่เมื่อได้รับความพ่ายแพ้ แล้วก็ยอมทิ้งทุกอย่างไป เราคงต้องปล่อยให้บรรดาทนายความมืออาชีพที่ไม่ได้เป็นผู้สร้างสรรค์อะไรเลย จมอยู่กับกฎหมายคร่ำครึที่ใช้มาตั้งแต่ศตวรรษที่19 ทั้งๆ ตอนนี้โลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 แล้ว
ในตอนนี้เรื่องทั้งหมดก็ได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว เกตส์ ได้แสดงให้ทุกคนเห็นแล้วว่า เขาเป็นผู้ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เกตส์พยายามสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ดูเหมือนว่าเขาได้กำลังก้าวไปสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว บางทีเกตส์อาจจะเป็นอัลเบิร์ต ไอสไตน์คนต่อไปของโลก หรือถ้าหากเขาไม่ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ อีกแล้วก็ตาม ก็ยังรับประกันได้ว่า ผู้ชายที่แน่วแน่คนนี้จะต้องเป็นผู้ที่มีบทบาทต่อวงการนี้อีกนานเท่านาน ตราบเท่าที่ฝ่ายดูแลการผูกขาด ของกระทรวงยุติธรรมจะยอมเลิกราคดีประวัติศาสตร์ครั้งนี้ไปเอง
การมีจุดยืนที่ชัดเจน
บิลล์ เกตส์เน้นย้ำและเคร่งครัดในสิ่งที่ตัวเขาถนัดและสามารถทำได้ดีอยู่ตลอดเวลา นั่นคือการพัฒนาซอฟท์แวร์
การเรียนรู้เพื่อความอยู่รอด
บิลล์ เกตส์ได้ทำการสร้างกลไกการเรียนรู้อย่างเปิดกว้างในไมโครซอฟท์ โดยเขาเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการหลีกเลี่ยงภาวะอิ่ม ตัว รวมไปถึงการป้องกันความผิดพลาดที่ดีที่สุด
การมองรอบด้าน ศึกษากลยุทธ์ของคู่แข่งเพื่อนำมาปรับใช้กับกลยุทธ์ของตน
ทำไมไมโครซอฟท์ถึงอยากได้ “ยาฮู”? คำตอบอย่างง่ายก็คือ เพื่อผลประโยชน์ในทางธุรกิจ เพื่อรุกคืบเข้ามาสร้างส่วนแบ่งของตลาดโฆษณาบนอินเตอร์เน็ต มูลค่า 40, 000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ที่นับวันจะขยายตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเหลือหลาย และจากผลวิจัยของไมโครซอฟท์คือ ตลาดโฆษณาบนอินเตอร์เน็ตมีแนวโน้มจะบูมต่อเนื่องและมูลค่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว คือราว 80,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2010 ที่จะถึงนี้ เป้า หมายระยะสั้นของไมโครซอฟท์ก็คือ ผนึกรวมเสิร์ชเอ็นจิ้น เอ็มเอสเอ็น เข้ากับยาฮูให้กลายเป็นคู่แข่ง เป็นทางเลือกที่ทรงพลังนอกเหนือจากกูเกิ้ล ในโลกของการสืบค้นผ่านอินเตอร์เน็ตในขณะนี้กูเกิ้ลครองส่วนแบ่งของตลาดการ สืบค้นในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 56.3 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ารวมทั่วโลกแล้ว กูเกิ้ล ครองตลาดอยู่สูงถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ยาฮู เป็นเพียงยักษ์เล็กที่อยู่ใต้เงาของกูเกิ้ลในโลกออนไลน์ ด้วยส่วนแบ่งเพียงแค่ 17.7 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าในเอเชียตะวันออก เฉียงใต้หลายประเทศ ยาฮู จะเอาชนะกูเกิ้ลได้ก็ตามที ไมโครซอฟท์ พยายามนักหนาที่จะเติบใหญ่เป็นยักษ์บนโลกไซเบอร์เคียงคู่กับกูเกิ้ลมานาน แล้ว แผนแรกที่ล้มเหลวไม่เป็นท่าก็คือ ความพยายามที่จะเติบใหญ่ตามธรรมชาติ เพราะจนถึงขณะนี้ เอ็มเอสเอ็นยังเป็นได้เพียงแค่อันดับ 3 ที่ห่างไกลอย่างมาก แผนสองเมื่อแผนแรกล้มเหลวก็คือ การจับเอาเบอร์ 2 กับเบอร์ 3 มารวมกันเพื่อจัดการกับยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิ้ล แม้ถึงขณะนี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จ แต่เค้าก็กำลังดำเนินความพยายามอยู่
การฟังความคิดเห็นจากคนรอบข้าง
บิลล์ เกตส์ ได้กล่าวว่าคนฉลาดควรมีอำนาจขับเคลื่อนความคิดรีเริ่มเขา จึงมุ่งสร้างบริษัทไมโครซอฟท์ ให้เป็นองค์กรแห่งปัญญา โดยการเปิดโอกาสให้พนักงานเข้าถึงข้อมูลของบริษัทได้อย่างทั่วถึง ให้ได้รับการฝึกให้รู้จักวิเคราะห์ ตีความ และนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นพนักงานไมโครซอฟท์ ยังมีช่องทางในการเสนอความคิดเห็นโดยตรงต่อผู้บริหารทุกระดับ ซึ่งผู้บริหารในบริษัทต้องมีใจกว้างพอที่จะรับฟังความคิดเห็นของทุกคน บิลล์ เกตส์ มองว่าในภาวะเช่นนั้น ทุกส่วนขององค์กรจะทำงานร่วมกัน เป็นปึกแผ่นเสมือนมันสมองก้อนใหญ่อันชาญฉลาด และปราดเปรียว
นำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า
การทำธุรกิจของบิลล์ เกตส์ไม่ได้เน้นที่กำไรที่ได้รับเพียงอย่างเดียว แต่เขาให้ความสำคัญกับสิ่งที่ลูกค้าได้รับ ลูกค้าจะต้องได้รับสินค้าและบริการที่ดีที่สุดเท่าที่เขาจะให้ได้ ซึ่งทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจ มีฐานลูกค้าที่ภักดี เกิดเป็นชื่อเสียงของ Microsoft ที่มั่นคง
ให้ความสำคัญกับพนักงานในองค์กร
บิลล์ เกตส์มักใช้เวลาตอนดึกๆ ตอบอีเมล์ของพนักงาน นอกจากนั้นเขายังมักพาพนักงานออกไปใช้เวลานอกสำนักงานเพื่อช่วยกันระดมสมอง เขาจะไม่ถือสาถ้าพนักงานไม่เห็นด้วยกับมุมมองของเขาและยินดีจะเปลี่ยนใจนำ ข้อเสนอของพนักงานไปใช้ หากข้อเสนอนั้น เหนือชั้นกว่า ความใจกว้างนี้มีผลให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในไมโครซอฟท์เสมอ
ความไม่หลงในชื่อเสียงบิลล์ เกตส์ และภรรยา ก่อตั้งมูลนิธิขึ้นมาเมื่อปี 2543 ในช่วงเวลา 8 ปีเขาทั้งสองได้สละทรัพย์สินส่วนตัวให้มูลนิธิ แล้ว 34, 000 ล้านดอลลาร์ และอภิมหาเศรษฐีวอร์เรน บัฟเฟตต์ เพื่อนสนิทอีกคนหนึ่งของเขาก็ได้ร่วมบริจาคสมทบอีก 3,360 ล้านดอลลาร์ และจะบริจาคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกราว 30,000 ล้านดอลลาร์ ทรัพย์สินกองนี้เป็นเสมือนต้นทุนที่มูลนิธิ จะนำมาหมุนหาดอกผลเพื่อนำไปใช้ในโครงการการกุศลทั่วโลก ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิใช้ดอกผลไปใน โครงการการกุศลต่างๆ แล้ว 16,500 ล้านดอลลาร์ ทั้งโครงการในสหรัฐอเมริกาและในอีกกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และแล้ววันที่ 27 มิถุนายน 2008 บิลล์ เกตส์ ตัดสินใจเกษียณตัวเองจากงานเต็มเวลาในบริษัทไมโครซอฟท์ด้วยอายุ 52 ปี กับ 8 เดือน และจากวันนี้ไปเขาจะทำงานให้ไมโครซอฟท์เพียงสัปดาห์ละ 1 วัน ส่วนเวลาที่เหลือเขาจะทำงานให้มูลนิธิเพื่อ การกุศล เพื่อสังคมต่อไป เเละนั่นคือความต้องการที่เค้าต้องการทำเพื่อสังคมโดยไม่ได้ยึดติดอยู่กับ ชื่อเสียงในวงการธุรกิจอย่างที่ผ่านมา
รู้จักจุดประกายความคิดและทำให้ความคิดนั้นออกมาเป็นรูปธรรมในโลกแห่งการค้า
บิลล์ เกตส์มีความเชื่อว่าคำตอบส่วนใหญ่มีอยู่แล้วในตัวของมันเองในทุกหนแห่ง เพียงแต่ว่าใครจะสามารถมองเห็นและเข้าถึงได้ด้วยวิสัยทัศน์เท่านั้น
การเตรียมตัวให้พร้อมเสมอและไขว่คว้าเมื่อโอกาสมาถึง
บิลล์ เกตส์เป็นตัวอย่างที่ดี จากการที่เขารู้ว่าระบบปฏิบัติการที่พัฒนาให้กับ IBM นั้น จะเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ได้ ทำให้เขาใช้เวลาทำงานยาวนานกว่า 6 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าโอกาสเมื่อมันมาถึงจะต้องตกเป็นของไมโครซอฟท์อย่างแน่นอน
การให้ความสำคัญกับการสื่อสารภายในองค์กร
ไม่ต้องสงสัยว่าทำไม Microsoft ถึงเติบโตอย่างทุกวันนี้ เพราะบิลล์ เกตส์ กล่าวว่าไม่มีวันไหนเลยที่ผมจะไม่ส่งอีเมลล์ถึงพนักงานเพราะนั่นคืองานของผม
ตัวอย่างอีเมลล์ที่บิลล์ เกตส์ ส่งถึงลูกน้องเมื่อ 5 ปีก่อน เพื่อต่อว่าการทำงานที่ย่ำแย่ของเว็บไซต์ Microsoft อีกด้วย ลองมาดูตัวอย่างอีเมลล์ฉบับหนึ่งที่เขาส่งในปี 2003 หรือ 5 ปีก่อน ซึ่งอาจทำให้เห็นบุคลิกเฉพาะตัวและการทำงานของบิลล์ เกตส์ ได้ดียิ่งขึ้น
ผมค่อนข้างผิดหวังที่การใช้งาน Windows ดู เหมือนจะถอยหลังลงคลองมากขึ้นทุกวัน และกลุ่มที่ทำงานด้านบริหารจัดการโปรแกรมก็ไม่ยกเรื่องนี้มาถกเป็นปัญหากัน เสียที ผมจะยกตัวอย่างสิ่งที่ผมเจอเมื่อวานนี้แล้วกัน ผมต้องการดาวน์โหลดโปรแกรมMoviemaker และซื้อชุดโปรแกรม Digital Plus ผมก็เลยเข้าไปที่เว็บไซต์ Microsoft.com แล้วก็ไปที่หน้าดาวน์โหลด แต่ปรากฏว่า 5 ครั้งแรก ผมเข้าไปที่หน้าดาวน์โหลดไม่ได้ เพราะเว็บค่อนข้างช้าและแจ้งว่าหมดเวลาการใช้งาน (time out) แต่สุดท้ายผมก็พยายามเข้าไปจนได้ เมื่อเข้าไปได้แล้ว โปรแกรม Moviemaker ไม่ได้อยู่ใน 5 อันดับแรกของโปรแกรมที่จะให้ดาวน์โหลด ผมก็เลยคลิกไปดูอีก 45 อันดับที่เหลือ แต่ก็ไม่เจอ จึงหันมาลองใช้ระบบกรองคำค้นหา โดยใช้คำว่า Media…ไม่เจอ / movie…ยังไม่เจอ/ movie maker…ไม่พบอะไรเลย ผมหมดความอดทน จึงอีเมลล์ไปหา Amir ถามว่าโปรแกรม Moviemaker ที่จะให้ดาวน์โหลดอยู่ที่ไหน มันมีอยู่ในเว็บหรือเปล่า เขาตอบว่าให้ผมเข้าไปที่หน้าแรกของเว็บ และพิมพ์คำว่า movie maker (ไม่ใช่ moviemaker) ลงในช่อง search ผมจึงลองดู แล้วก็พบว่าเว็บนี้ช้าอย่างน่าสมเพช มันใช้เวลาถึง 6 วินาทีในการค้นหา พอหาเจอแล้วผมก็หวังว่าจะมีปุ่มให้ดาวน์โหลดเสียที แต่ปรากฏว่าระบบบอกให้ไปที่หน้าWindows Update ก่อน เพื่อลง hot fix และอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะไปหมด ฯลฯ
มองการณ์ไกล มองต่างมุม
บิลล์ เกตส์ชอบจ้างผู้ประกอบการที่เคยล้มเหลวมาก่อนมาเป็นผู้บริหารระดับสูงของ ไมโครซอฟท์ เหตุผลง่าย ๆ ก็คือ มีแต่ผู้ที่เคยล้มเหลวเท่านั้นที่รู้ดีว่าเส้นทางของความล้มเหลวมีรูปร่าง หน้าตาอย่างไรและความล้มเหลวนั้นเจ็บปวดเพียงใดด้วยประสบการณ์ดังกล่าวจะทำ ให้เขาไม่นำพาองค์กรไปในเส้นทางนั้นอีก
ยอมรับในความผิดพลาดของตนเองในการบริหารงาน
หากมีสิ่งใดที่เขาทำผิดพลาดแล้ว เขาก็จะยอมรับว่าตนเองทำผิดพลาดและพร้อมที่จะแก้ไขซึ่งคนส่วนมากมักจะไม่ยอมรับในความผิดพลาดของตนเอง
มีมุมมองเฉพาะในการคัดเลือกบุคลากร
เค้าเลือกที่จะคัดเลือกพนักงานที่เคย ล้มเหลวในการทำงานมาก่อน เพราะ เค้าถือว่าบุคคลเหล่านั้นมีประสบการณ์จากความล้มเหลวมาแล้ว จึงทำให้สามารถใช้บทเรียนเหล่านั้นในการบริหารเพื่อที่จะไม่ให้เกิดความล้ม เหลวขึ้นอีก เพราะคนที่ไม่เคยเผชิญหน้ากับความล้มเหลว จะไม่มีวันรู้จักมันมาก่อน เค้าคิดว่าความเก่งนั้น สามารถสร้างได้จากการฝึกฝน แต่ประสบการณ์แห่งความล้มเหลวนั้นเป็นสิ่งที่ได้มาจากประสบการณ์จริงและคน ที่เคยพบเจอมาแล้วจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นมาอีก
การช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน
บิลล์ เกตส์ และภรรยา ก่อตั้งมูลนิธิขึ้นมาเมื่อปี 2543 ในช่วงเวลา 8 ปีเขาทั้งสองได้สละทรัพย์สินส่วนตัวให้มูลนิธิ แล้ว 34, 000 ล้านดอลลาร์ อภิมหาเศรษฐีวอร์เรน บัฟเฟตต์ เพื่อนสนิทอีกคนหนึ่งของเขาได้บริจาคสมทบอีก 3,360 ล้านดอลลาร์ และจะบริจาคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกราว 30,000 ล้านดอลลาร์ ทรัพย์สินกองนี้เป็นเสมือนต้นทุนที่มูลนิธิ จะนำมาหมุนหาดอกผลเพื่อนำไปใช้ในโครงการการกุศลทั่วโลก ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิใช้ดอกผลไปใน โครงการการกุศลต่างๆ แล้ว 16,500 ล้านดอลลาร์ ทั้งโครงการในสหรัฐอเมริกาและในอีกกว่า 100 ประเทศ
อย่างไรก็ตาม ความเป็นสุดยอดของบิลล์ เกตส์ที่โลกทั้งโลกต้องยกย่องและคารวะให้อย่างหมดใจนั้น มิได้อยู่ที่ตัวเลขความร่ำรวย หรือความเป็นนักธุรกิจที่เก่งฉกาจ แต่อยู่ตรงที่ความเป็นคนที่มีมนุษยธรรม มีหัวใจแห่งความเมตตา และมีปรัชญาการดำรงชีวิตที่ดีงาม นอกจากเค้าจะตระหนักในความโชคดีของตนเองและรู้จักพอเพียงแล้วเค้ายังอุทิศ กำลังกาย กำลังสมองและกำลังทรัพย์ส่วนหนึ่ง เพื่อ ช่วยกันขจัดปัญหาใหญ่ๆ ในชุมชนซึ่งตนอาศัยอยู่ ชุมชนนั้นอาจเป็นหมู่บ้านเล็กๆ หรือชุมชนขนาดใหญ่ในระดับประเทศและระดับโลกซึ่งสิ่งเหล่านี้เค้าถือว่าเป็น การตอบแทนสังคม อันเป็นการแสดงถึงความมีคุณธรรมและจริยธรรมของมหาเศรษฐีของโลกคนนี้ ซึ่ง สมควรเป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคลทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง เค้าแสดงให้เห็นว่าความร่ำรวยไม่ใช่ที่สุดในชีวิต แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ช่วยเหลือสังคมโดยไม่มีการแบ่งสีผิว หรือชนชั้นใดๆ ทั้งสิ้น โลกใบนี้จะไม่มีใครลืมเค้าอภิมหาเศรษฐีที่รู้จักคำว่าพอเพียง
By Phatrsamon Rattanangkun

Total Pageviews