.

Dec 31, 2009

อิทธิพลของ "ความคิด" ต่อแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

ความคิดเกิดจากการทำงานของสมองในการก่อรูป (Formulate) ขึ้นในมโนคติ (mind) ทำงานผ่านระบบการรับรู้ทางจิต (cognitive system)โดยความคิดจะทำหน้าที่แยกแยะการกระทำและความรู้สึกผ่านกระบวนการทางความคิดซึ่งจะนำไปสู่พฤติกรรมที่ตอบสนองต่อสถานการณ์นั้นๆ


ความหมายของการคิด

การคิดคือ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับข้อมูล เริ่มจากการนำข้อมูลหลาย ๆ ส่วนที่ได้รับมา จัดกระบวนการเพื่อใช้ในการแก้ปัญหา เพื่อได้ข้อสรุปที่สมเหตุสมผลในการประกอบการตัดสินใจ

สมองทำให้เราคิดได้ ทำให้มนุษย์มีความฉลาด สามารถใช้เหตุผล วินิจฉัย สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ เซลสมองสามารถที่จะเก็บข้อมูล แปรข้อมูลที่เข้ามาเป็นกระแสไฟฟ้า แล้วเก็บไว้เป็นประสบการณ์เข้าไปในสมอง สมองสามารถนำข้อมูลต่าง ๆ ทั้งข้อมูลดิบและข้อมูลที่ผ่านการคิดใคร่ครวญแล้ว มาเก็บไว้เป็นตัวแบบ (Model) หรือโครงสร้างความรู้ในรูปของมโนทัศน์ (Concept) เหมือนเราเก็บข้อมูลไว้ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งเราสามารถเรียกขึ้นมาใช้ได้ในอนาคต


ความสำคัญของการคิด

1. การคิดกำหนดความเป็นตัวเรา(Being) เราคิดอย่างไร เราจะเป็นเช่นนั้น และความเป็นตัวเราจะเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของเรา (Living) ซึ่งจะทำให้เราแสดงออกเป็นการพูด (Speaking) การเขียน (Writing) การกระทำ (Doing) และการแสดงอากัปกิริยาต่าง ๆ (Behaving)

2. การคิดเป็นพื้นฐานที่แสดงออกมาของสติปัญญาและความเข้าใจ การคิดสามารถปรับปรุงสิ่งเดิมที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ทำให้เกิดความคิดที่หลากหลายมากมายได้อีกทั้งยังสามารถนำความคิดเหล่านั้นมาเชื่อมโยงกันจนเกิดเป็นความคิดใหม่ได้อีก

3. การคิดเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจ เนื่องจากความคิดมากมายที่กระทบเข้ามาในสมองของเรา จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการตัดสินใจ

4. การคิดนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่าง ๆ ของโลก หรืออาจกล่าวได้ว่าการคิดของมนุษย์คือพลังในการเปลี่ยนแปลงโลกจากอดีตสู่ปัจจุบัน

5. การคิดสร้างความสามารถในการแข่งขันในสังคมแห่งความรู้ มนุษย์ใช้ความได้เปรียบเชิงการแข่งขันโดยอาศัยความรู้ในการสร้างกลยุทธ์เหนือคู่แข่ง


ประเภทของการคิด

1. การคิดเชิงกลยุทธ์ การคิดเชิงกลยุทธ์เป็นเรื่องที่จำเป็น จริง ๆแล้วความคิดทั้ง 10 มิติ เป็นการใช้ตลอดเวลา และจำเป็นต้องใช้ในอนาคต สำหรับอันดับแรกเป็นการคิดเชิงกลยุทธ์ ผู้บริหารเป็นคนชี้ขาด คือ คนที่นำในองค์กร คนแรกที่ต้องพบปัญหา คนแรกที่ตัดสินว่าจะไปซ้ายหรือไปขวา ฉะนั้นการคิดเชิงกลยุทธ์เปลี่ยนมาก สถานการณ์เปลี่ยนตลอดเวลา และมีทรัพยากรจำกัด บุคลากรก็มีจำกัด สถานการณ์ปัจจุบันไม่สามารถแก้ปัญหาตามเคยชินได้ ฉะนั้นการคิดเชิงกลยุทธ์จึงมีความจำเป็น การคิดเชิงกลยุทธ์เป็นการวางแผนอนาคตเพื่อการตัดสินใจในอนาคต มี 2 วิธีที่จะเผชิญในอนาคต วิธีหนึ่งที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น เดินไปเรื่อย ๆ ชีวิตนี้ปล่อยไปตามเวรตามกรรม ตามสภาวะแวดล้อม ตายเอาดาบหน้า อีกวิธีหนึ่ง คือท่านไม่สามารถรู้อนาคตได้ เราคิดไปก่อนแล้วเราวางแผนไว้ แต่สิ่งนั้นเกิดขึ้นและต้องตัดสินใจ วันนี้ นักวิชาการอีกคนหนึ่งนายไมเคิลบอกว่า ขบวนการคิดเชิงกลยุทธ์ เป็นการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยการจัดสรรทรัพยากรตั้งแต่วันนี้ เพราะฉะนั้นผู้บริหารต้องกำหนดแนวทางที่ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขและทรัพยากรที่จำกัด ภายใต้การเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง โดยการที่บรรลุตามเป้าหมายต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุม การประเมินความได้เปรียบและเสียเปรียบของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและการคาดการณ์ของอนาคต การเลือกกลยุทธ์เป็นสิ่งสำคัญมากในการประสบความสำเร็จ

2. การคิดเชิงอนาคต เป็นการคาดการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างมีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม ประกอบด้วย 6 หลักสำคัญดังนี้

    1. หลักการมองอย่างองค์รวม (Holistic Approach) ต้องมองทุกด้านที่เกี่ยวข้องกัน
    2. หลักความต่อเนื่อง (Continuity) ต้องคาดการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์กัน
    3. หลักความสัมพันธ์เชิงเหตุผล (Causal Relationship) เป็นหลักของความคิดแบบมีความสัมพันธ์อย่างมีเหตุผล
    4. หลักการอุปมา (Analogy) โดยยึดหลักว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่าง ๆในโลกล้วนมีแบบแผนมีระบบ
    5. หลักการจินตนาการ(Imagination) เป็นการใช้หลักจินตนาการ ในการวาดภาพอนาคตอย่างท้าทาย โดยต้องประกอบไปด้วยหลักเหตุผล เพื่อที่จะให้การจินตนาการนั้นๆ ไม่ไร้หลักการ
    6. หลักดุลยภาพ (Equilibrium) มีหลักสำคัญคือหากมีการเสียสมดุลย์เกิดขึ้นระบบก็จะพยายามปรับให้เกิดความสมดุลย์แก่ตัวเอง

3. การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative thinking) ความคิดสร้างสรรค์ คือ กระบวนการคิดของสมองซึ่งมีความสามารถในการคิดได้หลากหลายและแปลกใหม่จากเดิม โดยสามารถนำไปประยุกต์ทฤษฎี หรือหลักการได้อย่างรอบคอบและมีความถูกต้อง จนนำไปสู่การคิดค้นและสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่แปลกใหม่หรือรูปแบบความคิดใหม่

โดยมีหลักการที่สำคัญคือ

1. ควรฝึกถามคำถามที่กระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ ๆ

2. จงอย่าละทิ้งความคิดใด ๆจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไร้ประโยชน์

3. การพัฒนาทางเทคนิคช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

4. การคิดเชิงวิพากษ์ หมายถึงความตั้งใจพิจารณาตัดสินเรื่องใดๆ โดยไม่คล้อยตามข้อเสนอ ไม่ด่วนสรุป และให้มีการตั้งคำถามท้าท้ายหรือโต้แย้งสมมุติฐาน โดยพยายามเปิดกว้างความคิดออกไปสู่ความแตกต่างในด้านต่าง ๆมากขึ้น เพื่อให้ได้ประโยชน์มากกว่าเดิม

5.การคิดเชิงบูรณาการ เป็นการคิดแบบไม่แยกส่วน คิดแบบแกนหลักที่เหมาะสมครบถ้วนทุกมุมมอง โดยการแก้ปัญหาแบบไม่แยกส่วน หลักการคิดเชิงบูรณาการคือ

ตั้งแกนหลัก---->หาความสัมพันธ์----->วิพากษ์เพื่อเกิดการบูรณาการ

6. การคิดเชิงวิเคราะห์ เป็นการวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน เพื่อจำแนกค้นหาสิ่งที่เกิดขึ้น หาเหตุเพื่อทราบผล แห่งที่มาที่ไป หลักการคิดเชิงวิเคราะห์ประกอบด้วย

1. หาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลของข้อมูลที่ได้รับ

2. ใช้หลักการตั้งคำถาม

3. ใช้หลักการแยกแยะความจริง เช่น

· แยกแยะระหว่าง ความจริง (truth) กับความเชื่อ (belief)

· แยกแยะโดยจำกฎขั้วตรงข้าม (the principle of contradiction)

· แยกแยะระหว่างข้อเท็จจริง (facts) กับข้อคิดเห็น (opinions)

7. การคิดเชิงสังเคราะห์ เป็นทักษะที่ล้ำลึกกว่าการวิเคราะห์ เพราะเป็นการนำสิ่งต่างๆที่เราวิเคราะห์ หรือทำการแยกแยะเพื่อทำการศึกษา ทำให้เกิดองค์ความรู้ เกิดมุมมองที่ชัดเจนลึกซึ้ง และสามารถนำไปใช้ได้เหนือกว่าระดับการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นการช่วยในการเรียนรู้ข้อมูลและทักษะใหม่ๆ ที่สำคัญ โดยนำมาผนวกกับทักษะเดิมหรือความรู้เดิมที่มีอยู่ ก่อให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ เป็นการต่อยอดทางความรู้ก่อให้เกิดปัญญาแบบบูรณาการ เกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้นจากเดิม และสามารถอธิบายต่อให้กับผู้อื่นได้อย่างครบถ้วนชัดเจน ตรงประเด็น


ประโยชน์ที่ได้จากการคิดเชิงสังเคราะห์คือ

1. เปิดประสบการณ์ ให้ได้มีโอกาสรับรู้ข้อมูลรูปแบบใหม่
2. ฝึกมองทุกสิ่งทุกอย่างโดยเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน พยายามหาความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างมีเหตุมีผล
3. ฝึกตีประเด็นช่วยคิดให้ชัดเจน ไม่คิดคลุมเครือ ฝึกจับประเด็นจากบทความที่ได้อ่าน ทั้งจากหนังสือ หรือสิ่งต่างๆ ที่ได้ดู ได้ฟังมา
4. ฝึกแยกแยะข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็น เพื่อให้ข้อมูลที่สังเคราะห์ได้นั้นมีความเป็นกลางมากที่สุด

8. การคิดเชิงประยุกต์ หมายถึง ความสามารถที่มีอยู่เดิมมาปรับใช้ในบริบทใหม่ คล้าย ๆกับนำต้นไม้ เช่น นำต้นยางจากภาคใต้ไปปลูกภาคเหนือ ภาคอีสาน ต้นยางไม่เปลี่ยนแปลงแต่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงเป็นเหมือนว่าเรานำกรอบ วิธีการหรือหลักเกณฑ์ต่าง ๆที่มีอยู่นั้น นำมาประยุกต์พวกนี้เกิดจากการคิดว่า เหล่านี้นำมาประยุกต์ใช้ได้ไหม เกิดผลดีผลเสียอย่างไร นำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่ หลักการคิดเชิงประยุกต์ประกอบด้วย

1. ใช้หลักการทดแทนคุณสมบัติหลัก

2. ใช้หลักปรับสิ่งเดิมให้เข้ากับสถานการณ์

3. ใช้หลักการหาสิ่งทดแทน

9.การคิดเชิงระบบ หมายถึงการคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มองภาพรวมที่เป็นระบบ และมีส่วนประกอบย่อยๆ โดยอาศัยการคิดใด รูปแบบโดยตรง และโดยทางอ้อม โดยเป็นการคิดที่มีความเข้าใจ เชื่อมโยง มีความเชื่อในทฤษฎีระบบเป็นพื้นฐานในสมอง คนปกติมีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบในสรรพสิ่งที่อยู่ในในโลกที่สอดคล้องกับทฤษฎีระบบอยู่แล้ว เพียงแต่ความสามารถในการทำได้ดีในระดับความเข็มข้นของระบบแตกต่างกัน


ประโยชน์ของการคิดเชิงระบบ

1.ช่วยให้เกิดความคิดเพื่อพัฒนาองค์การในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.ประสานงานร่วมกับบุคคลอื่นให้เป็นไปตามกระบวนการ และระบบการบริหารงานภายใน

3.สามารถแก้ปัญหา ตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.แก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในองค์การได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5.เพื่อมองเห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับระบบภายในองค์การ ที่เกิดขึ้น

เป็นระบบ เชื่อมโยงติดต่อกัน และสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


แก่นของการคิดเชิงระบบ


1.มองเห็นความสัมพันธ์กันและกัน ไม่ใช่มองเหตุผลเป็นเส้นตรงต่อๆ กันไปเท่านั้น

2.มองเห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่มองสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น


เทคนิคการคิดเชิงระบบ

1. ยอมรับตนเองและเปลี่ยนใจตนเองให้ได้ว่าตนคือส่วนประกอบที่สำคัญที่เชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ

2. ฝึกการมองภาพรวมแทนสิ่งเล็กๆ แล้วค่อยมองย้อนกลับ

3. เข้าใจธรรมชาติของระบบ และทุกสรรพสิ่งในโลกล้วนเป็นระบบสัมพันธ์กัน

4. มองเห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลง และปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อระบบ

5. มองเห็นวัฏจักรของเหตุปัจจัย (Circles of Causality ) และการส่งผลย้อนกลับ

6. เปิดอิสระในเรื่องการคิด ไม่ตีกรอบ ครอบงำความคิดคนอื่น

7. ส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกคนเกิดแรงร่วมในการสร้างความสัมพันธ์

8. ฝึกการแก้ปัญหาที่สาเหตุแท้แก้ที่อาการเกิดปัญหา

9. ยึดหลักการเรียนรู้ในองค์การเป็นส่วนประกอบคือ การเป็นนายตนเอง ลบความเชื่อฝังใจแต่อดีต สร้างความใฝ่ฝันถึงอนาคตร่วมกัน (Shared Vision ) และฝึกการเรียนรู้ของทีม


การขยายขอบเขตการคิด เป็นการขยายมุมมอง 5 ด้านดังนี้

1. การมององค์รวม ( Holistic view ) เป็นการมองให้ครบทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น พิจารณาว่าเรื่องนั้นเกี่ยวกับใครบ้าง เกี่ยวข้องอย่างไร อะไรเป็นสาเหตุ ผลกระทบเกี่ยวเนื่องที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง


2. มองสหวิทยาการ คือ การมองหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน เป็นการคิดเชิงบูรณาการ พยายามคิดออกนอกกรอบ พยายามเชื่อมโยงกับแกนหลักของเรื่องที่ต้องการหาคำตอบ เพื่อการมองเรื่องดังกล่าวชัดเจนขึ้น


3. มองอย่างอุปมาอุปนัย เป็นการมองขยายกรอบความคิด เป็นการเปิดโอกาสให้สมองได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ในการเรียนรู้ และทำความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยใช้เหตุผลแบบอุปนัย (inductive thinking) หรือใช้กรอบความรู้ที่ได้พิสูจน์แล้วมาตอบ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการคิดเชิงบูรณาการ


4. มองประสานขั้วตรงกันข้าม เป็นการมองแนวคิดหนึ่งปฏิเสธแนวคิดหนึ่ง หรือเชื่อว่าแนวคิดหนึ่งเป็นจริง แนวคิดที่เหลือเป็นเท็จ โดยเปิดใจข้ามสะพานเชื่อมขั้นคิดตรงกันข้าม หรือสร้างดุลยภาพ ทำให้เกิดความพอดี


5. มองทุกฝ่ายชนะ WIN-WIN ครอบคลุมความพอใจทุกฝ่าย ซึ่งเป็นการขยายกรอบความคิดจากวิธีแก้ปัญหาทั่วไป ปกติการแก้ปัญหาคือ การกำหนดทางเลือก


จากการกล่าวถึงเรื่องการคิดและประโยชน์ของการคิดรูปแบบต่างๆ ข้างต้น เมื่อนำพิจารณาเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ปฎิเสธไม่ได้ที่ทำให้เราเห็นมุมมองในการเชื่อมโยงระบบของความคิดในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำจุดดีหรือประโยชน์มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ กล่าวคือการที่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมทำให้ธุรกิจมีการแข่งขันกันด้วยเงินทุน เครื่องจักร และความสามารถในการผลิต ธุรกิจที่ไม่มีกำลังเพียงพอสำหรับการผลิตแบบ Mass Production เพื่อลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด จึงขาดโอกาสในการแข่งขัน ขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันนั้นไม่ได้ต้องการเพียงสินค้าที่ตอบสนองความต้องการทางกายภาพเท่านั้นความคิดจึงกลายเป็นทุนในรูปแบบใหม่ ที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจที่เล็กกว่ามีความสามารถในการแข่งขันได้อย่างเปิดกว้างมากขึ้น


จากการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันของ World Economic Forum พบว่า สหรัฐอเมริกาได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความสามารถทางการแข่งขัน สูงสุดเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน โดยมีปัจจัยที่สำคัญคือ การมีสาธารณูปโภคทางความคิดที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างนวัตกรรม ซึ่งหมายรวมถึงความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาคการศึกษาในการศึกษาวิจัย พัฒนา และผลักดันเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง

มาดูคำกล่าวของกรีน สแปนเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่น่าสนใจกันค่ะ เขากล่าวไว้ว่า ...

Create, Analyze, Transform Information and Interact Effectively with Others/ การเติบโตของผลผลิตทางความคิดจะนำไปสู่ความต้องการแรงงานที่ไม่ได้มีเพียง ความรู้ทางด้านเทคนิค แต่เป็นแรงงานที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์ วิเคราะห์ ใช้ประโยชน์จากข้อมูล และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อลัน กรีนสแปน อดีตผู้ว่าการธนาคารสหรัฐ

, 1997 มหาวิทยาลัยคอนเนคติกัต


จากคำกล่าวข้างต้น กรีน สแปน ได้กล่าวถึงแนวคิดและความสำคัญของผลผลิตทางความคิด (Conceptual Output) ว่าเป็นสิ่งที่นำไปสู่นโยบายการลดปริมาณงานทางด้านเทคนิคและการผลิตภายในประเทศ พร้อมทั้งการกระจายงานที่ไม่เกิดมูลค่าทางความคิดเหล่านั้นไปสู่ประเทศอื่นๆ โดยเชื่อว่า การเก็บแต่งานที่ใช้มันสมองไว้ในประเทศ จะนำไปสู่การสร้างผลผลิตที่ดีที่สุดสำหรับเศรษฐกิจของสหรัฐในอนาคต!

โดยเขาอธิบายว่า การเก็บรักษางานที่ใช้ความคิดนั้นให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่างานจากแรงงานในประเทศ และการส่งงานที่ใช้แรงงานและงานด้านเทคนิคไปให้คนอื่นทำนั้นจะ ยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างรายได้ของประชากรสหรัฐกับประเทศอื่นๆ ห่างกันยิ่งขึ้น เนื่องจากงานที่ใช้ ความคิดนั้นก่อให้เกิดผลตอบแทนที่สูงกว่า อีกทั้งงานจำนวนมากยังได้รับการปกป้องโดยกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอีกด้วย ดังคำกล่าวของนักเขียน Charles Handy ที่ว่า ปัญญาคือรูปแบบใหม่ของทรัพย์สิน” (Intelligence is the new form of property.)


ขณะที่ UNCTAD ได้ให้คำนิยามของเศรษฐกิจบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ไว้ว่าเป็น แนว คิดที่พูดถึงศักยภาพในการใช้สินทรัพย์ทางความคิดสร้างสรรค์ (creative assets) เพื่อพัฒนาและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เอื้อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และเพิ่มยอดการส่งออก ขณะเดียวกัน ก็ยังรวมถึงการมีส่วนร่วมทางสังคม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วย นอกจากนี้ UNCTAD ยังได้ให้คำจำกัดความของอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ว่าเป็น วงจร ของการสร้างสรรค์ การผลิต และการจำหน่ายสินค้าและบริการที่มีปัจจัยหลักคือความคิดสร้างสรรค์และทุนทาง ปัญญา (intellectual capital)” **


ปัจจุบันการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศพัฒนาแล้วในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การจ้างงานและการพัฒนาโครงสร้างทางสังคม โดยอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาสูงสุด ในวงจรการค้าโลกในขณะนี้ ด้วยอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยระหว่างปี 2001-2005 ที่สูงถึง 8.7% และตัวเลขการส่งออกกว่า 424.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลปี 2005)


ขณะเดียวกันรัฐบาลต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนาก็กำลังอยู่ในช่วงการเริ่มต้นโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยมีจีนเป็นผู้นำที่น่าจับตามองในฐานะผู้ผลิตและส่งออกสินค้าที่ เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์รายใหญ่ของโลก


ประเด็นที่น่าจับตาจะเห็นว่า แม้ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ต่างก็มีวัตถุดิบที่สำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมและบุคลากรที่มีศักยภาพทางความคิดสร้างสรรค์ (creative talent) แต่อุปสรรคสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ของประเทศกำลังพัฒนาก็คือ ความอ่อนแอของนโยบายรัฐบาลและโครงสร้างทางการค้าของโลกที่ยังขาดความเท่าเทียม

ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทย ควรมุ่งเน้นให้สำความสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์(Creative Economy) และต้องไม่ลืมว่า ยิ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งควรต้องผลักดันเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังมากขึ้นด้วย เนื่องจากทรัพย์สินทางปัญญาคือปัจจัยที่สำคัญในการสร้างรายได้ที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์โดยตรง.

Dec 21, 2009

เขตการค้าเสรี (FTA) และมาตรการรองรับของไทย

เขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) คือการที่กลุ่มประเทศได้ทำข้อตกลงที่จะทำการค้าแบบเสรี โดยมีเงื่อนไขข้อกำหนดในการละเว้นการเก็บภาษีศุลกากร การจำกัดโควตา รวมถึงการให้สิทธิพิเศษ แก่สินค้าส่วนใหญ่ที่กลุ่มประเทศทำการค้าขายระหว่างกัน สำหรับประเทศไทยได้มีการจัดทำ FTA ฉบับแรกขึ้นในปี พ.ศ. 2535 โดยขณะนั้นมีชื่อเรียกว่า ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area) หรือ AFTA


เขตการค้าเสรี (FTA)


FTA เป็นความตกลงระหว่าง 2 ประเทศขึ้นไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อให้เกิดการค้าเสรีระหว่างกัน ปัจจุบันประเทศต่างๆ ก็ได้ขยายขอบเขตของ FTA ให้ครอบคลุมการค้าด้านบริการ เช่น บริการท่องเที่ยว การรักษา พยาบาล การสื่อสาร การขนส่ง ฯลฯ พร้อมกับความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การลงทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วย

วัตถุประสงค์ของ FTA


FTA สะท้อนแนวคิดสำคัญทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่า "ประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศจะเกิดขึ้นสูงสุดเมื่อประเทศต่างๆ ผลิตสินค้าที่ตนมีต้นทุนในการผลิตต่ำที่สุดเมื่อเปรียบ เทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วนำสินค้าเหล่านั้นมาค้าขายแลกเปลี่ยนกัน" ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ประโยชน์สูงสุดดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น หากยังมีการเก็บภาษีขาเข้าและมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ ซึ่งส่งผลบิดเบือนราคาที่แท้จริงของสินค้า และทำให้การค้าขายไม่เป็นไปอย่างเสรีและมีประสิทธิภาพ
FTA ถือเป็นเครื่องมือทางการค้าสำคัญที่ประเทศต่างๆ สามารถใช้เพื่อขยายโอกาสในการค้า สร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาให้แก่สินค้าของตน เนื่องจากสินค้าที่ผลิตใน FTA จะถูกเก็บภาษีขาเข้าในอัตราที่ต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิก FTA จึงทำให้สินค้าที่ผลิตภายในกลุ่มได้ เปรียบในด้านราคากว่าสินค้าจากประเทศนอกกลุ่ม

ลักษณะสำคัญของ FTA


FTA จะมีรูปแบบเป็นอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับประเทศคู่สัญญา FTA จะตกลงกัน ไม่มีกฎเกณฑ์กำหนดตายตัวว่า FTA จะต้องมีลักษณะอย่างไร แต่ทุก FTA จะมีลักษณะพื้นฐานที่เหมือนกันอยู่ 3 ประการ คือ

1. มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และไม่สร้างอุปสรรคทางการค้าเพิ่มต่อประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิก (No fortress effects)
2. ครอบคลุมการค้าระหว่างประเทศมากพอ (Substantial coverage) ซึ่งเป็นกติกาที่ WTO กำหนดไว้เพื่อปกป้องและป้องกันผลกระทบของ FTA ที่จะมีต่อประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิกของ FTA นั้นๆ
3. มีตารางการลดภาษีหรือเปิดเสรีที่ประเทศคู่สัญญา FTA เจรจากันว่าจะลดภาษีให้แก่กันในสินค้าใดบ้าง จะลดอย่างไร และจะใช้ระยะเวลายาวนานเท่าไรในการลด

หลักเกณฑ์ในการทำ FTA ของไทย

ไทยมีหลักเกณฑ์ในการจัดทำ FTA ดังนี้

1. การจัดทำความตกลง FTA ควรทำในกรอบกว้าง (Comprehensive) ครอบคลุมการเปิดเสรีทั้งด้านการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน รวมทั้งมาตรการทางการค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measure: NTM) เช่น การกำหนดมาตรฐานสินค้านำเข้า และมาตรการโควต้า และการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ
2. การจัดทำความตกลง FTA ต้องสอดคล้องกับกฎของ WTO ซึ่งมีเงื่อนไขให้การเปิดเสรีต้องครอบคลุมการค้าสินค้าและบริการอย่างมากพอ (Substantial coverage) มี ความโปร่งใส และเปิดให้สมาชิกอื่นๆ ตรวจสอบความตกลงได้
3. การจัดทำความตกลง FTA ต้องมีความยืดหยุ่น (Flexibility) สอดคล้องกับระดับการพัฒนาของประเทศคู่เจรจาเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย พร้อมกับยึดหลักการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ (Reciprocity) และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยคำนึงถึงสถานะของไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้มีเวลาในการปรับตัวนานกว่า หรือมีภาระผูกพันน้อยกว่า
4. การจัดทำความตกลง FTA ควรมีมาตรการป้องกันผลกระทบของการเปิดเสรีต่ออุตสาหกรรมภายใน เช่น มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาด (Anti-dumping Measures: AD) มาตรการต่อต้านการอุดหนุน (Counter-vailing Duties: CVD) มาตรการปกป้อง (Safeguards) รวมทั้งกำหนดกลไกการยุติข้อพิพาททางการค้าอย่างเป็นธรรม

การเจรจา FTA ของไทย

ปัจจุบันไทยทำ FTA กับ 8 ประเทศ ได้แก่ จีน นิวซีแลนด์ บาห์เรน ญี่ปุ่น เปรู สหรัฐฯ อินเดีย และออสเตรเลีย และกับ 1 กลุ่มเศรษฐกิจ BIMST-EC โดยเหตุผลเพื่อรักษาสถานภาพและศักยภาพในการส่งออกของไทยโดยการขยายโอกาสในการส่งออก และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยทั้งในตลาดสำคัญในปัจจุบัน (เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อาเซียน) และตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ (เช่น จีน อินเดีย ออสเตรเลีย BIMST-EC) นอกจากนี้ ไทยยังจัดทำ FTA กับประเทศที่จะเป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาค (Gateway) อื่นๆ ของโลก (เช่น บาห์เรน เปรู) และอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในการเจรจา FTA กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) เม็กซิโก เกาหลีและกลุ่มประเทศ Mercosur

สาระสำคัญของ FTA ที่ไทยดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน มีดังนี้

1. ไทยกับจีนได้ลงนามกรอบความตกลง FTA แล้ว ภายใต้ในกรอบความตกลง ASEAN -จีน โดยดำเนินการร่วมกับจีนยกเลิกภาษีระหว่างกันก่อน (Early Harvest) ในสินค้าในพิกัด 07-08 (ผักและผลไม้) ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2546 และร่วมกับประเทศ ASEANและจีนที่จะลดภาษีสินค้าในพิกัด 01-08 (ได้แก่ สัตว์มีชีวิต ประมง ธัญพืช ผักและผลไม้) ให้เหลือ 0% ในปี 2547-2549 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ส่วนสินค้าที่เหลือ รวมทั้งการค้าบริการ การลงทุน และกฎระเบียบต่างๆ จะเจรจาให้เสร็จภายในสิ้นปี 2547 เพื่อที่จะเป็น FTA โดยสมบูรณ์ภายในปี 2553
2. ไทยกับนิวซีแลนด์ จากผลของการศึกษาร่วมกันที่ชี้ให้เห็นว่าไทยกับนิวซีแลนด์จะได้รับผลประโยชน์จากการจัดทำ FTA ทั้งสองฝ่ายจึงได้เริ่มการเจรจาเมื่อเดือนมิถุนายน 2547 ณ ประเทศนิวซีแลนด์ โดยสามารถกำหนดกรอบและขอบเขตการเจรจาได้ในหลายเรื่อง และคาดว่าจะสามารถสรุปผลการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในในเดือนพฤศจิกายน 2547
3. ไทยกับบาห์เรน ได้ลงนามกรอบความตกลงเมื่อเดือนธันวาคม 2545 ที่ครอบคลุมการค้าสินค้า บริการ การลงทุน โดยในชั้นนี้ได้มีความตกลง Early Harvest ใน 626 รายการ ที่จะลดภาษีเหลือ 0% ภายในปี 2005 สำหรับสินค้าที่เหลือคาดว่าจะเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปี 2547 เพื่อที่จะลดภาษีให้เหลือ 0% ภายในปี 2010
3. ไทยกับญี่ปุ่น หลังจากที่ไทยกับญี่ปุ่น ได้ศึกษาหารือความเป็นไปได้ในการทำ FTA มาตั้งแต่ปี 2545 ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มการเจรจาในต้นปี 2547 ที่ครอบคลุมทั้งการเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ การลงทุน และความร่วมมือในสาขาต่างๆ และจะยึดรูปแบบความตกลงว่าด้วยหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นกับสิงคโปร์เป็นตัวอย่างในการทำความตกลง และพิจารณาสาขาที่เป็นปัญหาน้อยที่สุดก่อน
4. ไทยและเปรู ได้ลงนามกรอบความตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดทำ FTA เมื่อตุลาคม 2546 โดยคาดว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จภายใน 2547 เพื่อที่จะสามารถเป็น FTA ได้ภายในปี 2558
5. ไทยและสหรัฐฯ ได้ตกลงการจัดทำ FTA เมื่อเดือนตุลาคม 2546 และได้มีการเจรจารอบแรกเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน 2547 ณ มลรัฐฮาวาย โดยเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลเบื้องต้นในเรื่องต่างๆ ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการเจรจา 6-8 ครั้ง เพื่อที่จะให้การเจรจาเสร็จสิ้น ภายในปลายปี 2548 หรือต้นปี 2549
6. ไทยกับอินเดีย ได้ลงนามกรอบความตกลง ไทย-อินเดีย เมื่อ 9 ตุลาคม 2546 ซึ่งครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ การลงทุน และการลดอุปสรรค โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะลดภาษีล่วงหน้า (Early Harvest) ใน 82 รายการสินค้าก่อน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 ให้เหลือ 0% ในปี 2549 และดำเนินการเจรจาลดภาษีรายการอื่นๆ ต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถเป็น FTA ได้ภายในปี 2010
7. ไทยกับออสเตรเลีย ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลง FTA แล้วเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2004 ณ ประเทศออสเตรเลีย และความตกลงนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2005 เป็นต้นไป
8. BIMSTEC ประเทศสมาชิก BIMST-EC ได้ ลงนามกรอบความตกลงเขตการค้าเสรีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ณ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งครอบคลุมการค้าสินค้า บริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่จะลดภาษีเหลือ 0% ภายในปี 2015

ผลกระทบของ FTA: มุมมองผู้บริโภค

FTA จะช่วยลดภาษีขาเข้า ทำให้ราคาสินค้านำเข้าถูกลง ถือเป็นการเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนทางอ้อม พูดง่ายๆ ก็คือด้วยเงินจำนวนเท่าเดิมผู้บริโภคสามารถจับจ่ายซื้อสินค้านำเข้าได้เป็นจำนวนมากขึ้น ทั้งการลดภาษีนำเข้ายังช่วยกดดันให้ราคาสินค้าชนิดเดียวกันหรือสินค้าที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ที่ผลิตในประเทศลดราคาลงด้วยอันเป็นผลมาจากการแข่งขันที่สูงขึ้น นอกจากนี้ การลดภาษีศุลกากรยังทำให้มีการนำเข้าสินค้าชนิดใหม่ๆที่ยังไม่เคยมีการนำเข้ามาก่อนเพราะเจอกำแพงภาษีในอดีตด้วย ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชนอีกทาง

ผลกระทบของ FTA: มุมมองผู้ผลิต
FTA จะเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ส่งออก ลดภาระผู้ประกอบการที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าและเพิ่มการแข่งขันภายในประเทศ ในมุมมองของผู้ผลิตส่วนหนึ่งจะสามารถผลิตและส่งออกสินค้าได้มากขึ้นเนื่องจากภาษีขาเข้าของประเทศคู่สัญญา FTA ลดลง สินค้าบางอย่างที่ไม่เคยส่งออกเนื่องจากต่างชาติตั้งกำแพงภาษีก็จะเริ่มส่งออกได้ ผู้ผลิตอีกกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จาก FTA คือ กลุ่มที่มีการนำเข้าวัตถุดิบเครื่องยนต์เครื่องจักรเข้ามาเพื่อใช้ในการผลิตสินค้า เพราะ FTA จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าของผู้ประกอบ การเหล่านี้และเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ผลิตสามารถนำเข้าได้จากหลายแหล่งมากขึ้น ส่งผลให้สามารถขายสินค้าได้ในราคาที่ถูกลง ถือเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาให้แก่ผู้ผลิต อย่างไรก็ดี จะมีผู้ผลิตอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีคือกลุ่มของผู้ผลิตสินค้าเพื่อขายในประเทศซึ่งจะต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่ราคาถูกลงทำให้ต้องมีการปรับตัวรับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น ดังนั้น FTA ในมุมมองที่เป็นกลางก็คือโอกาสที่มาพร้อมกับการแข่งขัน ซึ่งผู้ที่จะได้ประโยชน์ คือ ผู้ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่า และใช้โอกาสที่เปิดขึ้นได้มากกว่า

ไทยควรเร่งปรับมาตรการเพื่อการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเสรี ดังนี้

ผลประโยชน์จาก FTA จะเกิดขึ้นสูงสุดเมื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันในการเจรจาจัดทำ FTA และเตรียมการ รองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นเอกภาพระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตัวแทนภาคธุรกิจ และสมาคมผู้ประกอบการ รวมทั้งนักวิชาการ และองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐได้ร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อเตรียมมาตรการรองรับการเปิดเสรีและได้เร่งดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างความพร้อมในด้านต่างๆ ดังนี้

1. จัดตั้งคณะติดตามประเมินผลการเจรจา และเสนอแนะมาตรการรองรับต่างๆ
2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้การค้ามีความคล่องตัวขึ้น เช่น ปรับปรุงระบบและลดขั้นตอนพิธีการทางศุลกากร และการให้บริการของภาครัฐ เป็นต้น
3. กำหนดมาตรฐานสินค้าในประเทศและมาตรฐาน นำเข้าทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่จำเป็นเพื่อปกป้องผู้ผลิตและผู้บริโภคในประเทศ
4. สร้างระบบเตือนภัยเพื่อป้องกันผลกระทบอย่าง ฉับพลันและรุนแรงต่ออุตสาหกรรมภายในจากการทำ FTA เช่น หากมีการนำเข้ามากจนอาจเกิดผลกระทบต่อการผลิตภายใน ประเทศ
5. ปฏิรูปการศึกษา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิตและสาขาบริการที่ไทยมีศักยภาพ
6. พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ให้เข้มแข็ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการใช้ประโยชน์จาก FTA
7.เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจของประชาชนทั่วไปเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จาก FTA ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น จัดสัมมนา และ workshop เป็นต้น
8. ขยายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ไทยสามารถได้รับประโยชน์สูงสุดจากการจัดทำ FTA เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต พัฒนารูปแบบ คุณภาพและมาตรฐานสินค้า พร้อมทั้งบุคลากร และฝีมือแรงงาน เพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา และขยายช่องทางการตลาดในเชิงรุก

Total Pageviews