โดย ภัทรษมน รัตนางกูร
การที่ประเทศต่างๆ เร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสาเหตุเพราะต้องการยกระดับมาตรฐานการครองชีพ
(Standard of Living) และความเป็นอยู่ของประชาชน (Well being) ให้ดีขึ้น ขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจต่างก็มีจุดหมายเพื่อต้องการเพิ่มระดับรายได้ประชาชาติในอัตราที่สูงกว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากการพัฒนาประเทศจะเป็นไปได้มาก-น้อยเพียงใดต่างก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ
การพัฒนาเศรษฐกิจ (Economics Development)
คือกระบวนการที่ก่อให้เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องในระยะเวลาที่นานพอที่จะทำให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพทางสังคมโดยมุ่งเน้นเพื่อยกระดับการดำรงชีพของประเทศให้สูงขึ้น ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่แท้จริงต่อบุคคล (per capita real income) ในระยะเวลาที่ยาวนานพอเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างเสมอภาคเกิดมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนโดยส่วนรวมที่ดีขึ้นกว่าเดิม
โดยประกอบด้วยองค์ประกอบดังนี้
1. มีความเจริญทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในระดับสูง
2. ความเจริญทางเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3. มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างทางสังคมที่เหมาะสม การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นการวิเคราะห์ในระยะยาวที่มุ่งให้อุปทานรวม (Aggregate Supply) สูงขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ผลผลิตของระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น มีการใช้ทรัพยากรหรือการจ้างงานภายในประเทศเพิ่มขึ้น
จุดประสงค์ของการพัฒนาเศรษฐกิจ
ทุกประเทศในโลกต้องการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้สูงขึ้น ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องการรักษามาตรฐานการครองชีพที่ดีและความมั่งคั่งของประเทศไว้ ประเทศกำลังพัฒนาต้องการยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนและเพิ่มความมั่งคั่งของประเทศให้เทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว สามารถสรุปถึงจุดมุ่งหมายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ดังนี้
1.เพื่อให้รายได้ประชาชาติของประเทศเพิ่มขึ้น โดยใช้มาตรการและนโยบายต่างๆ ส่งเสริมการออม การลงทุน การผลิต ซึ่งแสดงถึง สภาพความเป็นอยู่และฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศที่ดีขึ้น
2. เพื่อให้การจ้างงานอยู่ในระดับสูง การว่างงานจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดังนั้น รัฐบาลต้องหาวิธีการส่งเสริมการลงทุนในประเทศเพื่อให้เกิดการจ้างงาน ประชาชนในประเทศมีงานทำ กระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ
3. สร้างและรักษาเสถียรภาพระดับราคาสินค้าในประเทศ หมายถึง การควบคุมภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เนื่องจากประชากรที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศขยายตัว ปริมาณเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะเกิดเงินเฟ้อภายในประเทศสูง รัฐบาลจึงต้องหาวิธีควบคุมภาวะเงินเฟ้อโดยใช้นโยบายการเงินและการคลัง
4. กระจายรายได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจเจริญเติบโตเต็มที่แต่ผลของการพัฒนาไม่กระจายสู่คนหมู่มากถือว่าเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่สมบูรณ์ ต้องมีการกระจายรายได้ กระจายความมั่งคั่งสู่ประชาชนภายในประเทศให้เท่าเทียมกันเพื่อให้ช่องว่างของรายได้น้อยลง
ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจ
ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคือการขยายกำลังการผลิตสินค้าและบริการโดยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของทรัพยากร ปัจจัยการผลิต และประสิทธิภาพในการผลิตซึ่งมีผลทำให้ผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้น (Real GNP) และรายได้ที่แท้จริงต่อบุคคล (Real GNP per capita) สูงขึ้น
ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นกระบวนการแห่งการเจริญและพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สม่ำเสมอเป็นเวลานาน ซึ่งมีผลทำให้รายได้ที่แท้จริงต่อบุคคลสูงขึ้นและเกิดการกระจายรายได้อย่างเสมอภาค ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน ดำรงชีวิตได้อย่างสบาย มีคุณค่าและอิสรภาพในด้านต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม ระบบการเมือง ทัศนคติ การบริหาร การศึกษาและค่านิยมทางสังคมให้เหมาะสม โดยอาศัยอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GNP Growth Rate) เป็นเครื่องวัดการพัฒนาเศรษฐกิจ
เป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมี 5 ประการคือ
1. การมีรายได้และมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น
2. การกระจายรายได้ดีขึ้น
3. การมีงานทำ
4. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และ
5. การควบคุมการเกิดมลภาวะเป็นพิษ
การพัฒนาเศรษฐกิจมีแนวคิดที่สำคัญดังต่อไปนี้
1. การเติบโตแบบสมดุล (Balanced Growth) เป็นการลงทุนพร้อมกันทุกส่วนในระบบเศรษฐกิจของประเทศเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงทั้งระบบ เนื่องจากอุตสาหกรรมหนึ่งจะก่อให้เกิดตลาด และเป็นที่มาของอุปทานของอุตสาหกรรมอื่นๆ และควรส่งเสริมให้มีการค้าระหว่างประเทศเพื่อขยายตลาด
2. การเติบโตแบบขาดดุล (Unbalanced Growth) เป็นการลงทุนเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการพึ่งพิงระหว่างกันสูง ทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่การพัฒนาจะกระจุกตัวส่งผลให้การกระจายรายได้ไม่กว้างขวาง
3. การพัฒนาแบบสมดุล (Balanced Development) เป็นการพัฒนาทั้งในเชิงปริมาณ คุณภาพ และความเป็นธรรมในสังคมควบคู่กันไป ทำให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการกระจายรายได้และการกระจายการพัฒนาไปสู่ส่วนภูมิภาค ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
การพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development) เป็นการพัฒนาที่รักษาความสมดุลทั้งในด้านตัวคน สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมทั้งเชิงปริมาณ คุณภาพ และความเป็นธรรมในสังคมควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ ใช้ทรัพยากรสนองความต้องการในปัจจุบันโดยไม่ทำลายความสามารถในการใช้ทรัพยากรของคนในรุ่นหลัง
แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยภายหลังใช้แผนพัฒนาฯ นับได้ว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงจากภาคเกษตรกรรมโดยเฉพาะการส่งออกข้าวเป็นรายได้หลักของประเทศ (Strong Rice Economy) เป็นการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (Exported Growth) ซึ่งประเทศไทยได้เปรียบในการผลิตในด้านแรงงาน ต้นทุนการผลิตต่ำ ส่งผลให้ได้เปรียบในการผลิตสามารถแข่งขันในตลาดโลกโดยตั้งแต่ประเทศไทยมีการใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 จนถึงปัจจุบัน โครงสร้างและระบบเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก สามารถสรุปถึงผลการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาได้ดังนี้
1.ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและปัญหาการกระจายรายได้
โครงสร้างการผลิตได้เปลี่ยนจากภาคเกษตรกรรมเป็นภาคอุตสาหกรรม ผลิตเพื่อการส่งออก การเปิดการค้าเสรีและการลงทุน ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็วแต่การขยายตัวไม่สม่ำเสมอ อุตสาหกรรมกระจุกตัวเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ เกิดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้
2.ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและปัญหาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
ต้นเหตุแห่งการขยายตัวของผลิตภัณฑ์หรือการผลิตประชาชาติทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมซึ่งจำเป็นต้องใช้ปัจจัยการผลิตจำนวนมากรวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด ทำให้เกิดการบุกรุกที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ ผลที่ตามมาคือ ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมและหมดไปอย่างรวดเร็ว
3.ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและปัญหาการว่างงาน
ในระยะที่ผ่านมา รัฐบาลและประชาชนใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีค่านิยมการใช้สินค้าจากต่างประเทศ การพัฒนาประเทศพึ่งพาเงินทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศจำนวนมาก เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ไทยขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว
4.ปัญหาการแข่งขันและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย
การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนทำให้การแข่งขันระหว่างประเทศรุนแรงขึ้น นอกจากต้นทุนการผลิตที่ทำให้ไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศแล้ว ประเด็นที่สำคัญยังประกอบไปด้วยนโยบายและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศ ขณะที่ภาวะการณ์ในปัจจุบันขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากสาเหตุของต้นทุนทางด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ประเทศต้องมีการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น ได้มาตรฐานสากล
การพัฒนาประเทศ (National Development)
การพัฒนาประเทศคือการพัฒนาเศรษฐกิจ ให้มีขีดความสามารถในการผลิต และการแข่งขันสูงขึ้น การพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศ การพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม การพัฒนาทางด้านจิตใจ รวมทั้งการพัฒนาชนบทให้เป็นระบบและเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ ที่กล่าวนี้คือความสำคัญ และแนวทางในการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยมุ่งเน้นให้มีเกิดการพัฒนาในทุกๆด้านเพื่อเพิ่มศักยภาพดังต่อไปนี้
1. การพัฒนาเกษตรกรรม เป็นเกษตรกรรมที่แรรูปเป็นผลผลิตที่ทุกชนชาตินำไปใช้ได้เช่นมันสำประหลังอัด เม็ดทำแป้งผงไปปรุงอาหารที่เป็นต้องการของทั่วโลกทำให้เป็นสำเร็จรูปเพื่อเพิ่ม มูลค่าในตัวสินค้านั้นๆ
2.อุตสาหกรรม ส่งเสริมการศึกษาในรบบการคำนวณ-ภาษาต่างประเทศ เพื่อการติดต่อกับประเทศอื่นๆทั่วโลกเพื่อการค้าการลงทุนการคำนวณนั้นเหมาะ กับด้านวิศวกรรม ด้านการเงิน ระบบวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ชีววิทยา เกิดจากการคำนวณ ดังนั้นควรปรับปรุงการศึกษาเร่งแก้ไขให้มีประสิทธิ์ภาพ อย่างถูกต้องเพื่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สรุปได้ว่าการแปรรูปนั้นจะมีประสิทธิผลในด้านอุตสหกรรมลกการพึ่งหา เทคโนโลยีของต่างชาติในด้านวิศวกรรม เทคโนโลยี ดังนั้นไทยจึงไม่สมควร แพ้ อเมริกันและญี่ปุ่นอย่างแน่นอน
3.ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนไทย ส่งเสริมให้มีกฎหมายที่ครอบคุมเหมาะสมกับความยุติธรรมในสังคม ป้องกันและปราบปรามปัญหาในสังคม ส่งเสริมการศึกษาให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศถ้าไทยเป็นประเทศอุ ตสหกรรมนั้นการเปลี่ยนแปลงการศึกษาและจริยธรรมคุณธรรมคือศาสนาให้มีความสอด คล้องกับเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม
4.พัฒนาบุคคลระดับประเทศ ให้มีความสามารถในด้านการเมือง การติดต่อการบริหารประเทศ รวมทั้งจริยธรรมแห่งชั้นชั้นปกครองให้เหมาะสม
5.พัฒนาระบบกองทัพ บก เรือ อากาศ ให้เข้มแข็งน่าเกรงขาม เพื่อป้องปรามประเทศที่เป็นอัธพาลและเพื่อการติดต่อเจรจาด้านต่างๆให้ดู ประเทศเราน่าเกรงขาม และเพื่อเป็นศักยภาพในการป้องกันประเทศซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นใรระบบทหาร อย่างที่อเมริกันติดต่อกับประเทศอื่นๆอย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาประเทศประกอบไปด้วยปัจจัยที่สำคัญดังนี้
1.ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ คือ ทุน ทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรมนุษย์ ผู้ประกอบการ และเทคโนโลยี
1.1 ทุน (Capital) ทุนถือเป็นปัจจัยสำคัญ เป็นกุญแจนำไปสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญของการพัฒนาก็คือ การกระจายการลงทุนไปให้กว้างและเป็นไปอย่างเพียงพอ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
1.2 ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resources) ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมีประโยชน์ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่ดิน แร่ธาตุ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยมนุษย์ใช้ทรัพยากรเหล่านี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ หากประเทศใดมีทรัพยากรมาก จะทำให้ประเทศนั้นๆ มีโอกาสพัฒนาได้มาก แต่ก็ต้องรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเพียงพอ นำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการพัฒนาที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องจะทำให้ประเทศนั้นๆ สามารถมีทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
1.2.1 ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น จาการทที่ประชาชนรัฐบาลได้มีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ต่อทางเศรษฐกิจ
1.2.2 ทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยพื้นฐานต่อการพัฒนาด้าน การเกษตร การอุตสาหกรรม การบริการ การท่องเที่ยว ทำให้เกิดรายได้ทั้งจากภาคการผลิตโดยตรง และด้านการบริการ
1.2.3 การนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ที่ก่อให้เกิดรายได้ เช่นการขุดน้ำมัน ก๊าชธรรมชาติ แร่ธาตุต่างๆ นำมาใช้ประโยชน์ทดแทนการนำเข้าและยังสามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้ ทำให้เกิดรายได้มาพัฒนาประเทศ
1.2.4 ทรัพยากรธรรมชาติ สามารถนำมาใช้สร้างโรงงานพลังงานไฟฟ้า ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อการบริโภคของประชาชน เช่น การนำแร่ธาตุ ถ่านหิน แก็สธรรมชาติ น้ำมันและพลังงานน้ำ
1.2.5 ทรัพยากรธรรมชาติ เช่าป่าไม้ แหล่งน้ำ ทะเล น้ำตก ภูเขา เป็นต้นใช้เป็นที่พักผ่อน และเป็นแหล่งท่องเที่ยว สามารถเป็นรายได้มาพัฒนาประเทศได้
1.2.6 ใช้ในการคมนาคมขนส่ง เช่น ทะเล แม่น้ำ ลำคลอง สามารถใช้ลำเลียงการขนส่งทางวัตถุดิบ สินค้า และการเดินทางสัญจรของประชาชน สนับสนุนการค้าขายเพื่อพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ
1.3 ทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศโดยเน้นให้เห็นถึง ประสิทธิภาพ และคุณค่าของประชากรเป็นหลักการศึกษาประชากร ครอบคลุมไปถึง เพศ อายุ ระดับการศึกษา สภาพการทำงาน ภาวะเจริญพันธุ์ อัตราการเกิด อัตราการตาย และอัตราการย้ายถิ่น เป็นต้น คุณภาพของประชาชน เป็นหน่วยผลิตที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ และพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว
1.4 ผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ถือเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ ที่มีผลต่อการผลิตภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการจึงมีหน้าที่ และบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง
หน้าที่ เป็นผู้ตัดสินใจเลือกการผลิตสินค้าและบริการว่าจะผลิตอะไร จำนวนเท่าไร จะเลือกปัจจัยในในการผลิต เป็นผู้เลือกเทคโนโลยีให้เหมาะสมในการผลิต การขยายตลาดสินค้าและการบริการ เป็นผู้รับภาระความเสี่ยงภัย และความไม่แน่นอนต่างๆที่เกิดขึ้นจากการลงทุน ผู้ประกอบการมีหน้าที่ดังกล่าวเพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.5 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและการบริการเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการจ้างงาน การกระจายรายได้ โครงสร้างตลาด การค้าและการลงทุน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลง เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
2. ปัจจัยทางการเมือง
ปัจจัยทางการเมืองเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ และมีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ แนวความคิดทางการเมือง หรือปรัชญาทางการเมืองมีหลายรูปแบบ แต่ละแบบต่างมีอิทธิพลต่อทางเศรษฐกิจและธุรกิจแตกต่างกัน เช่นระบบการเมืองแบบสังคมนิยม เสรีนิยมหรือ คอมมิวนิสต์ เป็นต้น นอกจากนี้แนวนโยบายเศรษฐกิจย่อมมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ หรือเปลี่ยนแปลงไปได้พายใต้กรอบการเมืองด้วยกันเช่นเสถียรภาพทางการเมือง รูปแบบการปกครอง และการบริหารจัดการอธิบายได้ดังนี้
2.1 เสถียรภาพทางการเมือง ประเทศที่สงบสุข ปราศจากภัยสงคราม ระบบการเมือง
ในประเทศดำเนินไปอย่างเรียบร้อยอย่างต่อเนื่อง ประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมือง จะทำให้ประชาชน นักธุรกิจ นักลงทุน มีความมั่นใจการประกอบอาชีพ รัฐบาลสามารถวางนโยบายและกำหนดมาตรการทุกๆ ด้านในการพัฒนาได้เต็มที่
2.2 รูปแบบการปกครอง มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เช่น ระบบคอมมิวนิสต์ ระบบสังคมนิยม ระบบเสรีนิยม เป็นต้น ระบบการปกครองไม่ว่าระบบใด หากผู้ปกครองประเทศ ขาดความรับผิดชอบ ไม่ซื่อสัตย์ ขาดวิสัยทัศน์ มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ก็ไม่สามารถนำพาประเทศให้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจได้ ดังนั้นในการพัฒนาประเทศต้องเป็นผู้บริหารประเทศต้องมีความตั้งใจจริง มีความสามารถระดมความคิด ความร่วมมือ
ร่วมใจ จากประชาชนในประเทศ เพื่อให้ประเทศประสบสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม
2.3 การบริหารจัดการ ผู้ปกครองประเทศ นอกจากควรมีวิสัยทัศน์แล้ว การวางแผนกลยุทธ์ กำหนดนโยบายแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว การบริหารจัดการบ้านเมืองให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างสังคม และบริหารจัดการให้การเมืองดำเนินไปได้อย่างมีเสถียรภาพ
3. ปัจจัยทางสังคม ได้แก่ ค่านิยม ความสัมพันธ์ของบุคคล ครอบครัว ชนชั้นทางสังคม ศาสนาและวัฒนธรรม
ค่านิยมเป็นสิ่งที่คนสนใจที่ปรารถนาที่จะได้ จะเป็น หรือแนวทางการดำเนินชีวิตซึ่งมีค่านิยมหลายแบบเช่น ค่านิยมทางสังคม จิตวิทยา ได้แก่ เชื่อฟังผู้ใหญ่ รักสันโดษ ค่านิยมทางจริยธรรม ที่ เชื่อในศาสนา กฎแห่งกรรม ยึดความเมตตา ค่านิยมทางการเมือง ได้แก่ ยึดหลักการปกครองตามระบบประชาธิปไตย ยึดถือความต้องการของประชาชน ความสัมพันธ์ของบุคคล บุคคลยอมมีสมาชิกภาพ เป็นส่วนหนึ่งของสังคมมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องผูกพันกับกลุ่มที่ตนเองเป็นสมาชิก ครอบครัวถือว่าเป็นสถาบันที่เล็กที่สุด ครอบครัวมีส่วนปลูกฝังค่านิยมให้กับสมาชิกในครอบครัว ให้มีเหตุผล กล้าคิด กล้าตัดสินใจ ซื่อสัตย์ และอื่นๆ จึงถือว่าเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และชนชั้นทางสังคม ศาสนาและวัฒนธรรม ก็ถือว่ามีอิทธิพลต่อบุคคลมากด้วยคำสอนและธรรมเนียมปฏิบัติในศาสนาต่างๆ มีข้อปฏิบัติ และสิ่งปลูกฝังความเชื่อ ค่านิยมให้กับบุคคล เป็นเครื่องกระตุ้น หรือขัดขวางต่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้
โดยสามารถสรุปปัญหาของการพัฒนาประเทศที่ประสบอยู่ในปัจจุบันได้ดังนี้
1. ความไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ความเป็นประชาธิปไตยเป็นรูปแบบใด ต้องดูลักษณะการเมือง การปกครองในประเทศนั้น เช่น“เสรีประชาธิปไตย” เป็นแบบที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ปัจเจกชนทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ “สังคมนิยมประชาธิปไตย”
เป็นแบบที่ให้สิทธิแก่ปัจเจกชนมีสิทธิอิสระเสรีในการเลือกผู้ปกครองตามความต้องการของตน ส่วนทางด้าน
เศรษฐกิจรัฐเข้ามาแทรกแซง เพื่อความเป็นธรรมของผู้ด้อยโอกาส “ประชาธิปไตยนำวิถี” เป็นลักษณะการปกครองที่รัฐควบคุมการเมืองและเศรษฐกิจในสภาพของการเมืองการปกครองของไทยจะต้องเป็นลักษณะเฉพาะ.เนื่องจากเรามีพุทธศาสนาและมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปัจจุบันสภาพที่เป็นอยู่ คือ
- การปกครองในระดับท้องถิ่นยังไม่ได้รับการพัฒนา การบริหารการปกครองยังถูกควบคุมโดยระบบราชการ
วิธีการยังไม่ยอมรับในแนวคิดที่ว่า “ประชาชนเป็นผู้รู้ดีถึงความต้องการ”
- การปกครองยังยึดศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง การบริหารการปกครองชอบใช้วิธีของเผด็จการ เช่น การสั่งปิด
หนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นวิธีการที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย
- การเลือกตั้งยังมีการซื้อสิทธิขายเสียง ประชาชนถูกชี้นำโดยอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจ การเลือกตัวแทนเพื่อไปทำหน้าที่ในการบริหารหรือตรารัฐธรรมนูญยังไม่เกิดจากตัวแทนปวงชนอย่างแท้จริง
*ประชาธิปไตยที่แท้จริงประชาชนจะต้องมีความรู้สึกว่าได้ถูกปกครองน้อยที่สุด
2. การพัฒนาระบบเศรษฐกิจเสรี
ระบบการค้าเสรีเป็นเครื่องมือของรัฐในการเปิดโอกาสให้บุคคลแข่งขันความรู้ความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการ แต่สิ่งที่พบคือในปัจจุบันคือโอกาสความเท่าเทียมของประชาชนไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุน ข้อมูลข่าวสาร การผลิตสินค้าจะตกอยู่กับผู้ที่มีทุนมาก มีโอกาสดี ดังนั้นจะผูกขาดการผลิตสินค้า การตั้งราคาผลสะท้อนเกิดขึ้นที่ผู้บริโภค คือ
ประชาชนส่วนใหญ่ ต้องซื้อในราคาที่กำหนดขณะที่คุณภาพของสินค้าไม่ดีเพียงพอ
3. ปัญหาสังคม
แผนพัฒนาประเทศที่ผ่านมามุ่งเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจให้ความสำคัญน้อยในด้านการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และการศึกษา ปัญหาที่ตามมา คือ ปัญหาโสเภณี การขูดรีดแรงงาน อาชญากรรม
4. ปัญหาการยอมรับจากนานาชาติ
แนวคิดในการลงทุนของประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ยอมรับนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลเผด็จการ* เพราะการลงทุนจะขาดความมั่นคง ดังนั้นการกำหนดบทบาทและท่าทีทางการทูตกับนานาชาติต้องกระทำอย่าง
ชาญฉลาด สร้างมโนทัศน์ที่ดีต่อประเทศต่าง ๆ ในโลก
5. ความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ
ในภาวะที่กำลังพัฒนาประชาธิปไตย กองทัพจะต้องประคับประคองการปกครองระบอบประชาธิปไตยรักษาความมั่นคงในประเทศ ขณะที่ทั่วโลกมีการแข่งขันทางเทคโนโลยี โดยเป็นที่ยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศที่เจริญแล้วสามารถดูดเอาทรัพยากรธรรมชาติจากประเทศที่ด้อยพัฒนาดังนั้นโอกาสความเสียเปรียบด้านดุลการค้า และฐานทางเศรษฐกิจของประเทศย่อมจะมีผลกระทบด้านความมั่นคงปลอดภัยของชาติจึงเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประเทศโดยตรง
แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ
แนวโน้มโดยภาพรวมของการพัฒนาเศรษฐกิจจากการคาดหมายของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี 2537 เศรษฐกิจจะขยายตัวสูงร้อยละ 8.2 ปัจจัยที่เป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจเคลื่อนตัวมากจากปัจจัยภายในคือ ประชาชนมีกำลังซื้อสูงมากกว่าปีที่ผ่านมา ในด้านการลงทุนในภาคเอกชนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลได้เน้นการกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาคการส่งสินค้าออกต่างประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรม ผลผลิตทางการเกษตรจะเพิ่มขึ้น ที่กล่าวมาแล้วเป็นภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศไทย
วิธีการในการพัฒนาเศรษฐกิจ
ในอนาคตวิธีการที่จะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยคือ
1.สร้างงานสร้างอาชีพในชนบทเพิ่มรายได้แก่คนในชนบทและเน้นการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
2. กระจายการพัฒนาเมืองศูนย์กลางไปสู่ภูมิภาค การพัฒนาเมืองศูนย์กลางในภูมิภาคทำให้เกิดงาน อาชีพ และรายได้รวมทั้งการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
3. การผลิตภาคเกษตร ต้องให้สอดคล้องกับภาวะการตลาด และการอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าในอนาคต
4. พัฒนาความร่วมมือระหว่างกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ในภูมิภาคอาเซียน APEC (Asian Pacific Economic cooperation) กลุ่มการค้าเสรีอาเซียน AFTA (Asian Free Trade Area) และกลุ่มการค้าเสรีอเมริกาเหนือ NAFTA (North American.Free Trade Area) ภาครัฐจะต้องดำเนินนโยบายให้ชัดเจน.เพื่อผลประโยชน์และการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งการส่งเสริมการผลิตสินค้า เพื่อให้สามารถแข่งขันกับกลุ่มประเทศต่าง ๆ ได้
5. ส่งเสริมการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า
การพัฒนาความสมดุลของสิ่งแวดล้อม
ผลจากแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมามีความไม่สมดุลการพัฒนาเน้นไปในด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงทำให้เกิดปัญหาตามมา โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม จะเห็นว่าทรัพยากรธรรมชาติถูกนำมาใช้ เพื่อให้สนองการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เช่น ป่าไม้ แร่ การนำทรัพยากรมาใช้ ขาดการวางแผนในด้านปริมาณและการทดแทนแนวทางที่จะพัฒนาความสมดุลของสิ่งแวดล้อม การแก้ไขพวกมลพิษต่าง ๆ การตัดไม้ทำลายป่าดำเนินการดังนี้
- สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
- จัดควบคุมดูแลให้สามารถปฏิบัติตามแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แผนจัดอุทยานแห่งชาติ เขตป่าสงวน
พันธุ์สัตว์ป่า ป่าชายเลน แหล่งปะการัง
- ลดความขัดแย้งของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การทำแผนเขตพื้นที่ทำเกลือสินเธาว์ กำหนดเขตพัฒนา
ทรัพยากรแร่ในเขตป่าสงวน
- จัดตั้งระบบข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การให้เกิดความเสมอภาคในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
เช่น ปรับอัตราการใช้น้ำสำหรับภาคเอกชน และผู้ใช้น้ำในชลประทาน
การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความสัมพันธ์กับสภาพชีวิตของคนไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการ ความหมายของการพัฒนาเทคโนโลย ีคือ การพัฒนา
กำลังความสามารถทางเทคโนโลยีให้สูงขึ้นจนถึงระดับสามารถพึ่งตนเองได้
แนวทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทยจะต้องดำเนินการดังนี้
- ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับงานเทคโนโลยีที่เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศชาติ เช่นการศึกษาเทคโนโลยีในการพัฒนาพันธุ์พืชทางการเกษตร หรือพันธุ์สัตว์เศรษฐกิจ
- พัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือจะต้องมีแผนในการพัฒนาคนให้มีความรู้ ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยผลิตนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ
- ต้องมีการร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- พัฒนาความพร้อมของชุมชนให้สามารถใช้ผลวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและการเกษตรได้อย่างเหมาะสม
- การรับเทคโนโลยีใหม่ต้องกลมกลืนเทคโนโลยีเก่า คือชุมชนจะต้องมีพื้นฐานความรู้ในเรื่องนั้นด้วย เช่นเทคโนโลยีในการผลิตซีเมนต์บล็อกในการก่อสร้าง ผู้ที่จะรับเทคโนโลยีจะต้องมีพื้นฐานในเรื่องนี้เป็นอย่างดี
การพัฒนาจิตใจและพฤติกรรม
การพัฒนาจะต้องให้มีความสมดุลตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกิดความไม่สมดุลในระยะที่ผ่านมา จะเน้นด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่วนด้านสังคมและจิตใจและพฤติกรรมไม่เด่นชัด การพัฒนาความเจริญทางวัตถุต้องควบคู่กับความเจริญด้านจิตใจ ยิ่งความเจริญทางเทคโนโลยีมากเท่าไร สังคมสับสนมากขึ้น ภาวะทางด้านจิตใจจะสับสนมากขึ้น
แนวทางการพัฒนาจิตใจและพฤติกรรมมีดังนี้
- ส่งเสริมให้บ้าน วัด โรงเรียน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรม มีบทบาทในการพัฒนาจิตใจมากขึ้น
- ส่ง เสริม และให้ความสำคัญต่อสถาบันครอบครัว ให้มีบทบาทในการสร้างความรักความอบอุ่น รวมทั้งการปลูกฝังพฤติกรรมอันดีงามแก่สมาชิกในครอบครัว
- จัดสวัสดิการสำหรับผู้ด้อยโอกาส ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ทางเศรษฐกิจ เช่น การจัดสวัสดิการสงเคราะห์ การให้ทุนอุดหนุน การช่วยเหลือให้แก่ผู้ทุพพลภาพ รวมทั้งการสร้างโอกาสแก่ชีวิตสำหรับบุคคลเหล่านั้น
- ประสานงานระหว่างรัฐกับชุมชน จัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ในรูปแบบการสาธารณสุข การประชาสัมพันธ์ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาด้านความเป็นอยู่
การพัฒนาชนบท
ปี 2524 รัฐบาลได้กำหนดนโยบายการพัฒนาชนบทให้ยึดถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน โดยเน้นการทำงานร่วมกัน ระหว่าง 4 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย
และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
หลักการสำคัญในการพัฒนาชนบท
การพัฒนาชนบทคือการเพิ่มขีดความสามารถของประชาชนในการ “ช่วยเหลือตนเอง” และ “การมีส่วนร่วม” ในการพัฒนาหมู่บ้านตนเอง โดยเน้นหลักการ ดังนี้
- ให้ความสำคัญพื้นที่ยากจนเป็นหลัก
- พัฒนาการกินอยู่ รวมทั้งการให้บริการพื้นฐานแก่ประชาชนในเขตยากจน เช่น ด้านสาธารณสุข การศึกษา
- พัฒนาให้ประชาชนรู้จัก “การพึ่งตนเอง”
- ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
แนวทางการพัฒนาชนบท...เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดช่องว่างของความแตกต่าง ระหว่างชนบท
กับในเมือง การพัฒนาชนบทมีแนวทางดังนี้
- พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในชนบทจะต้องให้ความรู้ ให้การศึกษาฝึกอบรม วิชาชีพเฉพาะ โดยเน้นด้านเฉพาะ
บุคคล กลุ่มคน... และความสัมพันธ์ของกลุ่มในชนบท เป็นการพัฒนาที่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาคุณภาพ
ชีวิตให้ดีขึ้น
- การพัฒนาระบบบริหารการพัฒนาชนบท การพัฒนาชนบทจะได้ผลจะต้องพัฒนาแบบบริหารการพัฒนาชนบท
โดยเน้นระบบความร่วมมือกันทุกหน่วยงาน ทุกระดับให้ประสานกัน เช่น จากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และจัด “ระบบการทำงานที่เสริมสร้าง” การช่วยเหลือตนเอง
- พัฒนาระบบสื่อสารเพื่อการพัฒนาชนบท ... หลักสำคัญในการพัฒนาการสื่อสารเพื่อการพัฒนาชนบท คือ การให้ข่าวสารที่ถูกต้องและการสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้น
โดยสามารถสรุปแนวทางการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนได้ดังนี้
จากบริบทแห่งการเปลี่ยนแปลงในกระแสโลกาภิวัตน์ที่รวดเร็วและสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่เหมาะสม โดยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างของระบบต่างๆ ภายในประเทศให้มีศักยภาพ แข่งขันได้ในกระแสโลกาภิวัตน์ และสร้างฐานความรู้ให้เป็นภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างรู้เท่าทัน ควบคู่ไปกับการกระจายการพัฒนาที่เป็นธรรม และเสริมสร้างความเท่าเทียมกันของกลุ่มคนในสังคม และความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น พร้อมทั้งฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้คงความ สมบูรณ์เป็นรากฐานการพัฒนาที่มั่นคง และเป็นฐานการดำรงวิถีชีวิตของชุมชนและสังคมไทย ตลอดจนการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศทุกระดับ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่มั่นคงและยั่งยืน สามารถดำรงอยู่ในประชาคมโลก ได้อย่างมีเกียรติภูมิและมีศักดิ์ศรี โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญดังต่อไปนี้
1. ยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพคนและสังคมไทยสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับ
1.1 การพัฒนาคนให้มีคุณธรรมนำความรู้ เกิดภูมิคุ้มกัน โดยพัฒนาจิตใจควบคู่กับการพัฒนาการเรียนรู้ของคนทุกกลุ่มทุกวัยตลอดชีวิต เริ่มตั้งแต่วัยเด็กให้มีความรู้พื้นฐานเข้มแข็ง มีทักษะชีวิต พัฒนาสมรรถนะ ทักษะของกำลังแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการ พร้อมก้าวสู่โลกของการทำงานและการแข่งขันอย่างมีคุณภาพ สร้างและพัฒนากำลังคนที่เป็นเลิศโดยเฉพาะในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและองค์ ความรู้ ส่งเสริมให้คนไทยเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จัดการองค์ความรู้ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้สมัยใหม่ตั้งแต่ระดับ ชุมชนถึงประเทศ สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
1.2 การเสริมสร้างสุขภาวะคนไทยให้มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ เน้นการพัฒนาระบบสุขภาพอย่างครบวงจร มุ่งการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน การฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ เสริมสร้างคนไทยให้มีความมั่นคงทางอาหารและการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ลด ละ เลิกพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ
1.3 การเสริมสร้างคนไทยให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข มุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคนในสังคมบนฐานของความมีเหตุมีผล ดำรงชีวิตอย่างมั่นคงทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน พัฒนาระบบการคุ้มครองทางเศรษฐกิจและสังคมที่หลากหลายและครอบคลุมทั่วถึง สร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน ส่งเสริมการดำรงชีวิตที่มีความปลอดภัย น่าอยู่ บนพื้นฐานของความยุติธรรมในสังคม เสริมสร้างกระบวนการยุติธรรมแบบบูรณาการและการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ควบคู่กับการเสริมสร้างจิตสำนึกด้านสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง และความตระหนักถึงคุณค่าและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพื่อลดความขัดแย้ง
2. ยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและสังคมให้เป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศ ให้ความสำคัญกับ
2.1 การบริหารจัดการกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง ด้วยการส่งเสริมการรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำในรูปแบบที่หลากหลาย และจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตามความพร้อมของชุมชน มีกระบวนการจัดการองค์ความรู้และระบบการเรียนรู้ของชุมชนอย่างเป็นขั้นตอน มีเครือข่ายการเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกชุมชน มีกระบวนการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถ พัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนในการนำไปสู่การพึ่งตนเอง รวมทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชนพร้อมเผชิญการเปลี่ยนแปลง
2.2 การสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจชุมชน ด้วยการบูรณาการกระบวนการผลิตบนฐานศักยภาพ และความเข้มแข็งของชุมชนอย่างสมดุล เน้นการผลิตเพื่อการบริโภคอย่างพอเพียงภายในชุมชน สนับสนุนให้ชุมชนมีการรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์ กลุ่มอาชีพ สนับสนุนการนำภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้ในการสร้างสรรค์คุณค่าของ สินค้าและบริการและสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการลงทุนสร้างอาชีพและราย ได้ที่มีการจัดสรรประโยชน์อย่างเป็นธรรมแก่ชุมชน ส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างเครือข่ายองค์กรชุมชนกับองค์กรปกครองส่วนท้อง ถิ่น รวมทั้งสร้างระบบบ่มเพาะวิสาหกิจชุมชนควบคู่กับการพัฒนาความรู้ด้านการ จัดการ การตลาด และทักษะในการประกอบอาชีพ
2.3 การเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการอยู่ร่วมกันกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง แวดล้อมอย่างสันติและเกื้อกูล ด้วยการส่งเสริมสิทธิชุมชนและกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสงวนอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา ใช้ประโยชน์และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ รวมทั้งการสร้างกลไกในการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใน ท้องถิ่น
3. ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน ให้ความสำคัญกับ
3.1 การปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพและคุณค่าของสินค้าและบริการบนฐาน ความรู้และความเป็นไทย โดยปรับโครงสร้างภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการที่ใช้กระบวนการพัฒนาคลัสเตอร์และห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งเครือข่ายชุมชนบนรากฐานของความรู้สมัยใหม่ ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมไทย และความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างสินค้าที่มีคุณภาพและมูลค่าสูง มีตราสินค้าเป็นที่ยอมรับของตลาด รวมทั้งสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ ตลอดจนการบริหารองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ การปฏิรูปองค์กร การปรับปรุงกฎระเบียบ และพัฒนาระบบมาตรฐานในด้านต่างๆ รวมทั้งการดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศให้สนับสนุนการปรับโครงสร้างการ ผลิต และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
3.2 การสร้างภูมิคุ้มกันของระบบเศรษฐกิจ โดยการบริหารเศรษฐกิจส่วนรวมอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรักษาเสถียรภาพทาง เศรษฐกิจให้มั่นคงและสนับสนุนการปรับโครงสร้างการผลิตโดยการระดมทุนไปสู่ภาค การผลิตที่มีประสิทธิภาพ พัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพบนหลักการบริหารจัดการ ที่ดี เพื่อให้การใช้ทรัพยากรเกิดประสิทธิภาพและสวัสดิการสูงสุดแก่ประเทศการส่ง เสริมการออมอย่างเป็นระบบเพื่อเป็นแหล่งระดมทุนและเป็นหลักประกันในชีวิตของ ประชาชน และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกเพื่อ ลดการพึ่งพิงการนำเข้าพลังงานและประหยัดเงินตราต่างประเทศ
3.3 การสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและการกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนา อย่างเป็นธรรม โดยส่งเสริมการแข่งขันการประกอบธุรกิจในระบบอย่างเสรี เป็นธรรม และป้องกันการผูกขาด กระจายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ภูมิภาคอย่างสมดุลและเป็นธรรม ให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง เพียงพอ และสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพและความครอบคลุมของการให้บริการของระบบการเงินฐานรากให้ สามารถสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการพัฒนาองค์กรการเงินชุมชนให้เข้มแข็ง รวมทั้งดำเนินนโยบายการคลังเพื่อส่งเสริมการกระจายรายได้ โดยกระจายอำนาจการจัดเก็บภาษี การจัดทำงบประมาณและการเบิกจ่าย และการก่อหนี้ภายใต้กรอบการรักษาวินัยทางการคลังสู่ท้องถิ่น
4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพและการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับ
4.1 การรักษาฐานทรัพยากรและความสมดุลของระบบนิเวศ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ โดยพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสร้างองค์ความรู้ ส่งเสริมสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ตลอดจนพัฒนาระบบการจัดการร่วมเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ โดยให้ความสำคัญกับการกำหนดเขต และการจัดการเชิงพื้นที่ภายใต้การจัดทำข้อตกลงกับชุมชนท้องถิ่นในการดูแล ทรัพยากรธรรมชาติหลัก ได้แก่ ดิน น้ำ ป่าไม้ ทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ทรัพยากรแร่ รวมถึงการมีมาตรการหยุดใช้ทรัพยากรที่สำคัญที่ถูกทำลายสูงเป็นการชั่วคราว และการสร้างกลไกแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี รวมทั้งการพัฒนาระบบการจัดการและการป้องกันภัยพิบัติ
4.2 การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการปรับแบบแผนการผลิตและพฤติกรรมการบริโภคไปสู่การผลิตและการบริโภคที่ ยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบต่อฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดนโยบายสาธารณะ และใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ทั้งด้านการเงินและการคลัง รวมทั้งการสร้างตลาดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการเพื่อลดมลพิษและควบคุมกิจกรรมที่จะ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต โดยผลักดันให้เกิดระบบประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ระบบประเมินผลกระทบทางสังคมและสุขภาพในโครงการพัฒนาของรัฐ หรือที่รัฐอนุมัติให้เอกชนดำเนินการ ควบคู่กับการยกระดับขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนในการ บริหารจัดการสิ่งแวดล้อมตลอดจนมีกลไกกำหนดจุดยืนต่อพันธกรณีและข้อตกลง ระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม
4.3 การพัฒนาคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางสำคัญ เริ่มจากการจัดการองค์ความรู้และสร้างภูมิคุ้มกัน การคุ้มครองทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพจากการคุกคามภายนอก โดยเฉพาะจากพันธกรณีระหว่างประเทศ สร้างระบบการคุ้มครองสิทธิชุมชน และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม ส่งเสริมการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพในการสร้างความมั่นคงของภาคเศรษฐกิจ ท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถและสร้างนวัตกรรมจากทรัพยากรชีวภาพที่เป็น เอกลักษณ์ของประเทศ
5.ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการประเทศ มุ่งเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคมอย่างยั่งยืนโดยให้ความสำคัญกับ
5.1 การเสริมสร้าง และพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลให้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำเนิน ชีวิตในสังคมไทย โดยสร้างกระบวนการเรียนรู้ ปลูกฝังจิตสำนึก ค่านิยมวัฒนธรรมประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลแก่เยาวชน และประชาชนทุกระดับ อย่างต่อเนื่องจริงจัง พร้อมทั้งพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ในสังคมทุกระดับเพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม ตลอดจนวางรากฐานกระบวนการประชาธิปไตยโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และเพิ่มประสิทธิภาพกลไกและกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการเมืองให้ เข้มแข็งและเป็นอิสระมากขึ้น
5.2 เสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนให้สามารถเข้าร่วมในการบริหารจัดการ ประเทศ โดยส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวและรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันให้ เข้มแข็ง ส่งเสริมให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม และร่วมในกระบวนการบริหารจัดการประเทศให้เกิดความเป็นธรรมและความโปร่งใสใน การพัฒนาประเทศ เสริมสร้างความเข้มแข็ง และสร้างเครือข่ายการทำงานของกลไกตรวจสอบภาคประชาชน เพื่อติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจของภาครัฐได้อย่างเข้มแข็งมีประสิทธิภาพ
5.3 สร้างภาคราชการที่มีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล เน้นการบริการแทนการกำกับควบคุม และทำงานร่วมกับหุ้นส่วนการพัฒนา เน้นการพัฒนาประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการปฏิบัติภารกิจด้วยการปรับบทบาท โครงสร้างและกลไกการบริหารจัดการภาครัฐและรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย ลดการบังคับควบคุม คำนึงถึงความต้องการของประชาชนและทำงานร่วมกับหุ้นส่วนการพัฒนา เพิ่มบทบาทภาคเอกชนในกิจการของรัฐและรัฐวิสาหกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและ คุณภาพการให้บริการสาธารณะ และลดภาระการลงทุนของภาครัฐ ตลอดจนพัฒนากลไกการกำกับดูแลที่เข้มแข็งเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม โปร่งใส โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและคุ้มครองผู้ใช้บริการ โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการปลูกฝังจิตสำนึกข้าราชการให้เห็นความสำคัญและยึด มั่นในหลักธรรมาภิบาล และยึด/ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างเคร่งครัด
5.4 การกระจายอำนาจการบริหารจัดการประเทศสู่ภูมิภาค ท้องถิ่น และชุมชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพัฒนาศักยภาพ และกระจายอำนาจการตัดสินใจให้ท้องถิ่นมีบทบาทสามารถรับผิดชอบในการบริหารจัด บริการสาธารณะ ตลอดจนแก้ไขปัญหาที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และสามารถสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
5.5 ส่งเสริมภาคธุรกิจเอกชนให้เกิดความเข้มแข็ง สุจริต และมีธรรมาภิบาล โดยมีมาตรการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจเอกชนทั้งที่จดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ และธุรกิจเอกชนทั่วไปเป็น “บรรษัทภิบาล” เพิ่มมากขึ้น สร้างจิตสำนึกในการประกอบธุรกิจอย่างซื่อสัตย์ ยุติธรรมต่อผู้บริโภค และเป็นธรรมกับธุรกิจคู่แข่ง พร้อมทั้งยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม แบ่งบันผลประโยชน์คืนสู่สาธารณะ ตลอดจนสนับสนุนสถาบันวิชาชีพธุรกิจประเภทต่างๆ ให้มีบทบาทในการสร้างธรรมาภิบาลแก่ภาคธุรกิจมากขึ้น
5.6 การปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบ และขั้นตอน กระบวนการเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสร้างความสมดุลในการจัดสรร ประโยชน์จากการพัฒนา ด้วยการเปิดโอกาสให้ภาคีและกลุ่มต่างๆ มีส่วนร่วมในการเสนอแนะและตรากฎหมายเพื่อประสานประโยชน์ของภาคส่วนต่างๆ ให้เสมอภาคและมีความสมดุล โดยการปฏิรูปกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ลดการใช้ดุลพินิจของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งของกลไกการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการขนาดเล็กและผู้ประกอบการใหม่
5.7 การรักษาและเสริมสร้างความมั่นคงเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการประเทศสู่ ดุลยภาพและความยั่งยืน โดยการพัฒนาศักยภาพ บทบาท และภารกิจของหน่วยงานด้านการป้องกันประเทศ ความมั่นคง และการรักษาความสงบเรียบร้อย ให้มีประสิทธิภาพมีความพร้อมในการป้องกันประเทศและตอบสนองต่อภัยคุกคามในทุก รูปแบบสถานการณ์ได้ฉับไว พร้อมทั้งผนึกพลังร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ดำเนินการป้องกันและพัฒนาประเทศให้สามารถพิทักษ์รักษาเอกราช สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์ของชาติ และการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งสามารถสร้างความมั่นคงของประชาชนและสังคมให้มีความอยู่รอดปลอดภัยโดย ยึดหลักธรรมาภิบาลในทุกระดับ