Mar 31, 2009
ชนชั้นล่างกับการต่อสู้ทางการเมือง
วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าคนรวยไม่กี่คนในประเทศ ได้สร้างความเสียหาย ให้ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง การใช้ความมั่งคั่งที่ตนได้รับจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไปในการลงทุนเพื่อการเก็งกำไร ทั้งในตลาดหลักทรัพย์หรือในตลาดอสังหาริมทรัพย์ จนทำให้ฟองสบู่แตก เกิดความเดือดร้อนแก่คนไทยโดยทั่วไป ที่สำคัญยิ่งคือส่งผลให้สัดส่วนคนจน เพิ่มสูงขึ้นนับจากปี 2543 โดยตัวเลขในปี 2549 ไทยมีจำนวนคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่ระดับ 1,386 บาท/เดือน 9.5 % หรือประมาณ 6.1 ล้านคน โดยกว่า 80 % ของคนจนดังกล่าว อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ
จากการที่เกิดปัญหาด้านการกระจายรายได้ที่ย่ำแย่ลง เนื่องจากค่าสัมประสิทธิ์จีนี่ (Gini Coefficient) ของรายได้ ทั้งประเทศปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.48 ในปี 2531 เป็น 0.51 ในปี 2549 และยังมีการปรับเพิ่มขึ้นในทุกๆ ภาค อีกด้วย โดยดัชนีจีนี่ ถือเป็นตัวบ่งชี้ถึงแนวโน้มการกระจายรายได้ที่แย่ลง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดอยู่ในอันดับการกระจายรายได้ยอดแย่ของไทยและรองลงมาคือภาคเหนือ
หากพิจารณาช่องว่างของรายได้โดยแบ่งกลุ่มประชากรตามระดับรายได้ (Quintile by Income) เรียงลำดับตามรายได้จากน้อยไปหามาก พบว่าเกิดความแตกต่างด้านรายได้สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนรวยสุดกับกลุ่มคนจนสุดนั้น ในช่วงปี 2531-2549 พบว่าความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างประชากรใน 2 กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นสูงมากเหลือเกิน โดยข้อมูลล่าสุด กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่สุด มีรายได้เฉลี่ยเพียง 1,003 บาทต่อเดือน ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้สูงสุดมีรายได้เฉลี่ยสูงถึง 14,693 บาทต่อเดือน โดยกลุ่มคนรวยที่สุดจำนวน 20% มีส่วนแบ่งรายได้รวมกันเกินครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดของรายได้ของประชากรทั้งประเทศอีกด้วย และเมื่อมีการเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำของรายได้สูงที่สุดในกลุ่ม ซึ่งสามารถสะท้อนปัญหาทางด้านการพัฒนาประเทศได้อย่างชัดเจน
การที่ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันเสรีนั้น คนจะได้ผลตอบแทนจากการทำงานตามความสามารถของแต่ละคน ที่ไม่เท่ากันกล่าวคือ คนที่เก่งกว่าหรือฉลาดกว่า ย่อมจะมีความสามารถหารายได้ หรือผลตอบแทนจากการทำงานได้มากกว่าดังนั้นความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ย่อมสามารถเกิดขึ้นได้จริง แต่หากความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนั้นมีเหตุผลหรือสาเหตุที่นอกเหนือไปจากความสามารถเฉพาะบุคคล ทั้งๆที่มีสภาพทางเศรษฐกิจแบบเสรี ดิฉันมองว่าความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนั้นย่อมไม่มีใครรับได้ค่ะ
จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้นสามารถสรุปได้ว่า ภาคเหนือและภาคอีสานเป็นภาคที่สะท้อนลักษณะความเป็นชนชั้นล่างทางเศรษฐกิจของสังคมไทยได้มากที่สุด
ตัวอย่างสะท้อนการต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นล่างของไทยที่ชัดเจน เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เกิดการถืออาวุธของคนในท้องถิ่นทั้งภาคเหนือและภาคอีสานในการต่อสู้กับรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งได้มีการระดมทรัพยากรมายังส่วนกลางคือกรุงเทพมหานคร เช่น
*กบฏศึกสามโบก ปี 2438 จ. ขอนแก่น จากการต่อต้านรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีการเก็บภาษีในอัตราที่เท่าๆ กันไม่ว่าคนรวยหรือคนจน
*กบฏผู้มีบูญอีสาน ปี 2444-2445
*กบฏชาวนาในภาคอีสาน ปี 2445
*กบฏชาวบ้านที่เลย ปี 2467
และการต่อสู้ที่โดดเด่นของชนชั้นล่างคือการเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารของคนเดือนตุลาฯ
จะเห็นว่าชนชั้นล่างในภาคเหนือและโดยเฉพาะภาคอีสาน ต่างพร้อมที่จะใช้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นการต่อสู้ทางการเมืองมาโดยตลอด ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการลงคะแนนเลือก ส.ส.รวมถึงการต่อสู้ทางการเมืองภาคประชาชนโดยเน้นที่การเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาเป็นตัวขับเคลื่อนบรรเทาปัญหาความยากจนของตน
“เมื่อคุณรับฟังเพียงแค่เสียงกระซิบ อาจทำให้คุณไม่ได้ยินเสียงกรีดร้องในเวลาต่อมา”
Mar 24, 2009
การปฎิบัติหน้าที่ของสื่อที่ไร้จรรยาบรรณ
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจถึงจรรยาบรรณของสื่ออันได้แก่ หนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์กันก่อน ในที่นี้ดิฉันได้กล่าวถึงจรรยาบรรณสื่อโดย *อ้างอิงจาก “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสื่อมวลชน”เอกสารการสอน สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หน่วยที่ 9-15) ดังนี้
1.จรรยาบรรณหนังสือพิมพ์โดย สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
โดยได้กำหนด “จริยธรรมของสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2510 ไว้ดังนี้
· ความรับผิดชอบ (Responsibility) ได้แก่ ความรับผิดชอบต่อผลประโยชน์อันชอบธรรมของปัจเจกชน สถาบัน ประเทศชาติ ศาสนา และราชบัลลังก์ (ตรงกับหลักพุทธศาสนาคือ กิจญาณ)
· ความมีเสรีภาพ (Freedom) ได้แก่ เสรีภาพที่มีความรับผิดชอบกำกับ (ตรงกับหลักธรรมในพุทธสาสนาคือ ปวารณา หรือ ธรรมาธิปไตย)
· ความเป็นไท (Independence) ได้แก่ ความไม่ตกเป็นทาสของใครทั้งกายและจิตใจ โดยอามิสสินจ้างอื่นใด(ตรงกับหลักธรรมในพุทธศาสนาคือ ความไม่ตกเป็นทาสของอกุศลมูล)
· ความจริงใจ (Sincerity) ได้แก่ ความไม่มีเจตนาบิดเบือน ผิดพลาดต้องรีบแก้ไข (ตรงกับหลักธรรมในพุทธศาสนา คือ สัจจะ)
· ความเที่ยงธรรม (Impartiality) ได้แก่ ความไม่ลำเอียง หรือความไม่เข้าใครออกใคร (ตรงกับหลักธรรมในพุทธศาสนา คือ ความไม่มีอคติ 4 ประการ หมายถึง “ฉันทาคติ” ลำเอียงเพราะรัก“โทสาคติ” ลำเอียงเพราะชัง “ภยาคติ” ลำเอียงเพราะกลัว “โมหาคติ” ลำเอียงเพราะหลง)
· ความมีน้ำใจนักกีฬา (Fair Play) ได้แก่ การปฏิบัติดีงาม ไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เว้นแต่จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ (ตรงกับหลักธรรมในพุทธศาสนา คือ สุปฏิบัติ)
· ความมีมารยาท (Decency) ได้แก่ การใช้ภาษาและภาพที่ไม่หยาบโลนและลามกอนาจาร หรือส่อไปในทางดังกล่าว (ตรงกับหลักพุทธศาสนาคือ โสเจยยะ หรืออาจารย์สมบัติ)
นอกจาก “จริยธรรมของสามาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” แล้ว ยังกำหนด “จรรยาบรรณหนังสือพิมพ์” ไว้อีก 7 ข้อ คือ
· การส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ เป็นภารกิจอันมีความสำคัญเหนืออื่นใดสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์
· การเสนอข่าว ภาพ หรือการแสดงความคิดเห็น ต้องเป็นไปด้วยความสุภาพ สุจริต ปราศจากความมุ่งหวังในประโยชน์ส่วนตนหรืออามิสสินจ้างใดๆ
· การเสนอข่าวต้องเสนอแต่ความจริง พึงละเว้นการต่อเติมเสริมแต่ง หากปรากฏว่าข่าวใดๆไม่ตรงต่อความจริงต้องรีบแก้ไขโดยเร็ว
· การที่จะให้ได้ข่าว ภาพ หรือข้อมูลอย่างใดๆมาเป็นของตน ต้องใช้วิธีการที่สุภาพและซื่อสัตย์
· ต้องเคารพต่อความไว้วางใจที่ได้รับมอบหมายจากการปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพของตน
· ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยถือเอาสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์ส่วนตน หรือหมู่คณะโดยมิชอบ
· ต้องไม่กระทำการใดๆอันเป็นการบั่นทอนเกียรติคุณของวิชาชีพหรือความสามัคคีของเพื่อนร่วมวิชาชีพ
2. จรรยาบรรณสื่อวิทยุและโทรทัศน์ โดยสมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
โดยได้ตราประมวลจรรยาบรรณวิชาชีพนักจัดรายวิทยุและโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม2538 แบ่งเป็น 5 หมวด คือ หมวดทั่วไป หมวดจรรยาบรรณในการเสนอข่าว หมวดจรรยาบรรณในการแสดงความเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์ หมวดจรรยาบรรณในการประกาศโฆษณา หมวดความประพฤติ ในที่นี้จะยกหมวดว่าด้วยการเสนอข่าว มาเป็นหลักในการพิจารณาคือ
· ไม่เสนอข่าวและภาพซึ่งรู้อยู่แก่ใจว่าเป็นเท็จ ไม่ว่าลักษณะใดๆ
· ไม่เสนอข่าวและภาพซึ่งทำให้ประชาชนเสียขวัญ เกิดการแตกแยกกระทบกระเทือนความมั่นคงแห่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างประเทศ
· ไม่เสนอข่าวและภาพลามกอนาจาร ซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
· ไม่เสนอข่าวลือและภาพไร้สาระ ชวนให้หลงเชื่องมงาย
· ไม่สอดแทรกความเห็นใดๆของตนลงไปในข่าว
· ในกรณีคัดลอกข้อความจากหนังสือพิมพ์ หรือหนังสืออื่น ต้องแจ้งให้ทราบถึงแหล่งที่มาของข้อความนั้น
· ภาษาที่ใช้ในการเสนอข่าวและการบรรยายภาพต้องสุภาพ ปราศจากความหมายในเชิงเหยียดหยาม กระทบกระเทียบ เปรียบเปรย เสียดสี
· ไม่ใช้การเสนอข่าวและภาพเป็นไปในทางโฆษณาตนเอง
· ไม่เสนอข่าวและภาพซึ่งขัดกับสาธารณประโยชน์ของประชาชนและสังคมประเทศชาติ
· ไม่เสนอข่าวและภาพซ้ำเติม ระบายสี บุคคล องค์กร สถาบัน ซึ่งตกเป็นข่าว
· ไม่เสนอข่าวและภาพ ในเชิงดูหมิ่นเหยียดหยามลัทธิความเชื่อศาสนาใดๆ
· พึงให้ความเคารพต่อสิทธิของบุคคล องค์กร และสถาบันอื่นตามกฎหมาย
· พึงรับผิดและแก้ไขโดยเปิดเผยและไม่ชักช้าถ้าเกิดความเสียหายแก่บุคคล องค์กร หรือสถาบัน ในการเสนอข่าวผิดพลาด คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
· พึงละเว้นจากการรับอามิสสินจ้างใดๆ ให้ทำหรือละเว้นการกระทำเกี่ยวกับการเสนอข่าวตรงไปตรงมา
หลักจริยธรรมหรือจรรยาบรรณขององค์กรสื่อที่ยกมาข้างต้นนั้น ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของสื่อแต่ต้องเป็นไปโดยเคารพกฎระเบียบและไม่ละเมิดผู้อื่น ทั้งยังกำหนดให้สื่อยึดถือประโยชน์แห่งสาธารณะเป็นหลัก มีความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ให้เกียรติแก่ผู้อื่น เป็นที่น่าสังเกตว่าหลักจริยธรรมของสมาคมหนังสือพิมพ์ที่ออกมาเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว (พ.ศ.2510) และจรรยาบรรณวิชาชีพนักจัดรายวิทยุและโทรทัศน์ ที่ตราออกมาเมื่อ 13 ปีก่อน (พ.ศ.2538) ยังคงเป็นสิ่งที่สื่อโดยทั่วไปคำนึงถึงและให้ความสำคัญกันอยู่หรือไม่ หรือคิดไปว่าข้อกำหนดเหล่านั้นได้ถูกเปลี่ยนไปโดยนวัตกรรมใหม่ๆ ของสื่อเกิดขึ้นมากมายในปัจจุบันไปแล้ว?
สื่อสารมวลชนนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อพลวัตด้านต่างๆ ในสังคมมาโดยตลอด นับตั้งแต่หนังสือพิมพ์ถือกำเนิดขึ้นจนกระทั่งมีการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ก็ยิ่งทำให้บทบาทของสื่อสารมวลชนแพร่กระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้นประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ในหลากหลายรูปแบบและยอมรับสื่อต่างๆเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวันสื่อสารมวลชนจึงกลายเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญยิ่งทั้งในแง่ของการให้ข้อมูลข่าวสารและการโน้มนำสังคมในด้านต่างๆ จนได้รับการยอมรับว่าสื่อมวลชนเป็นดัง “ฐานันดรที่สี่” (The Fourth Estate) ต่อจากพระมหากษัตริย์ ศาสนจักร และรัฐสภา
Edward S.Herman and Robert W.McChesney
(The Global Media the new missionaries of corporate capitalism)
จากคำกล่าวของนักวิพากษ์สื่อชาวอเมริกัน Herman และ McChesney ที่ได้กล่าวถึงการพัฒนาการของสื่อวิทยุ-โทรทัศน์เพื่อบริการสาธารณะและชุมชนที่กำลังเติบโตว่า เป็นความหวังที่โดดเด่นที่สุดท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์และธุรกิจเติบโตขึ้นทุกวัน แม้จะเป็นที่ยอมรับถึงความจำเป็นในการมีสื่อสาธารณะเพื่อรักษาสมดุลของระบบสื่อสารมวลชน แต่มุมมองในแง่ของลักษณะเฉพาะและ บทบาทของสื่อนั้นยังคงมีหลายมุมมองที่แตกต่างกันออกไปโดยสิ้นเชิง
หากเปรียบสถานการณ์ประเทศไทยมักมีเหตุการณ์หลายอย่างคล้าย 14 ตุลา , ตุลา 19และ พฤษภาทมิฬดังเช่นเมื่อถึงเวลาที่ประเทศชาติกำลังเผชิญวิกฤตอยู่นั้น มักมีสื่อมวลจำนวนหนึ่งยอมอยู่ใต้อำนาจมืด ไม่ว่าจะเป็นการบิดเบือนข้อมูล หรือบางคนที่คิดว่าตนเองมีจริยธรรมมาก เลือกที่ไม่ออกข่าวฝ่ายตรงข้ามนักเล่าข่าวหรือนักอ่านข่าวบางคน สอดแทรกความเห็นส่วนตัวของตนทั้งๆที่ไม่ใช่รายการเสวนาหรือแลกเปลี่ยนความเห็น เหนี่ยวนำให้ผู้ชมเห็นคล้อยตาม สำหรับสื่อที่ยังคงเป็นหลักในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ยังคงเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ เนื่องจากสามารถกระจายข่าวสารในการเข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุด ถึงแม้ในปัจจุบันจะเกิดสื่อทางเลือกขึ้นมากมายก็ตาม ดังนั้นสื่อกระแสหลักจึงยังมีอิทธิพลต่อผู้รับข่าวสารอยู่เช่นเดิมแต่อิทธิพลของสื่อกระแสหลักดังกล่าว กำลังถูกท้าทายจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ได้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆแก่สื่อเป็นอันมาก โดยเฉพาะในด้านเทคนิคที่เครื่องมือเครื่องใช้ได้รับการพัฒนาให้มีความสะดวกสบายในการใช้งาน ราคาถูกลง ประสิทธิภาพดีขึ้น ดังนั้นการเป็นเจ้าของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุมื่อพิจารณาถึงการลงทุนทางสื่อด้วยแล้ว จะเห็นว่าสามารถทำได้ง่ายขึ้น ดังนั้นจึงเกิดสื่อในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์หรือโทรทัศน์เกิดขึ้นใหม่จำนวนมาก อันเป็นผลจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่ทำให้เกิดนวัตกรรมของสื่อรูปแบบใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกันก็ได้มีคำถามที่เกิดขึ้น ท่ามกลางการเกิดใหม่ของสื่อตามเงื่อนไขนวัตกรรมเหล่านี้ นั่นคือทำไมพฤติกรรมของสื่อจึงได้มีความเบี่ยงเบนจากจรรยาบรรณและหลักการของสื่อเพิ่มขึ้นหรือเกิดขึ้นบ่อยมากขึ้น หรือคือเหตุผลแห่งนวัตกรรมด้านพฤติกรรมของสื่อ ที่มีผลมาจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งเป็นคำตอบที่หน้าค้นหาไม่น้อยในสถานการณ์ที่บ้านเมืองกำลังเกิดการแตกแยกทางความคิดทางการเมืองของคนจำนวนหนึ่ง และคำถามต่อมาที่เราควรช่วยกันพิจารณาก็คือ จะต้องแก้ไขนวัตกรรมพฤติกรรมของสื่อให้เข้ากับจรรยาบรรณและจริยธรรม หรือต้องสร้างนวัตกรรมทางจริยธรรมและจรรยาบรรณให้เข้ากับนวัตกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรมพฤติกรรมของสื่อในยุคปัจจุบัน และใครจะเป็นผู้ดำเนินการ?
การที่ปัจจุบันภายใต้กระแสสังคมของประเทศไทยที่กำลังครุกรุ่นไปด้วยมุมมองทางการเมืองที่ไม่อาจสามารถปฎิเสธได้เลยว่ามีการจัดแบ่งกันเป็นขั้วเป็นฝ่าย สื่อนับว่ามีอิทธิพลอย่างสูงในการเป็นตัวเร่งปฎิกิริยา ในการแตกตอนแห่งความคิดพิจารณาของผู้บริโภคสื่อเหล่านี้ ปรากฏชัดเจนว่ามีอยู่จริงที่มีกลุ่มสื่อจำนวนหนึ่งที่เรียกได้ว่ากลุ่มสื่อที่นิยมความรุนแรง ทำหน้าที่ปลุกปั่นให้ประชาชนเกลียดชังกัน แตกแยกเป็นหมู่เหล่า คนไทยลุกฮือขึ้นมาต่อต้านกันเองกลางเมือง ทำให้สื่อ นักวิชาการ เอ็นจีโอ นักการเมืองบางกลุ่มหรือ ผู้นิยมความรุนแรงได้สะใจกันเป็นจำนวนไม่น้อย
ตัวอย่างในอดีตที่เห็นได้ชัดเจนกรณีเหตุการณ์ก่อน 6 ตุลาคม 2519 คือระยะเวลาปี พ.ศ.2517-2519 นั่นคือ ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ใหม่ๆ บทบาทนักศึกษาปัญญาชนอยู่ในฐานะผู้นำสังคมไทยสูงมาก แต่ระยะเวลานั้นเป็นระยะเวลาร่วมสมัยกับสงครามปลดปล่อยอินโดจีน โดยพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายและกระแสสังคมนิยมโลก ขึ้นสู่กระแสสูงเมื่อนักศึกษา ปัญญาชน บางส่วนรับกระแสสังคมนิยมโลกเข้ามาเป็นแนวศึกษาใหม่ แสดงออกโดยการจัดนิทรรศการประเทศสังคมนิยม และการต่อต้านจักรพรรดินิยมสำคัญในยุคนั้นที่ก้าวเข้ามามีบทบาทในดินแดนแถบนี้ คือ สหรัฐอเมริกา ทำให้ความกลัวแผ่ทั่วไปในกลุ่มชนชั้นสูง และผู้มีฐานะมั่งคั่งและหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งกลัวทฤษฎีโดมิโน กลัวไทยเป็นโดมิโนที่จะต้องล้มเป็นตัวต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสามประเทศอินโดจีนสามารถเอาชนะสหรัฐอเมริกาที่ส่งกองทัพเข้ามาปราบปรามเต็มที่ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด
ความขัดแย้งทางความคิดและความหวาดกลัวจึงขึ้นสู่กระแสสูงมาก ทำให้กระบวนการจัดตั้งการต่อสู้มีหลายรูปแบบ สื่อชนิดต่างๆ จึงเข้ามาร่วมส่วนในความขัดแย้ง โดยมีบทบาทที่เป็นนัยสำคัญ ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กระบวนการทำลายนักศึกษาปัญญาชนที่เป็นหัวหอกเหตุการณ์14 ตุลาคม 2516 จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเรื่องที่เกิดขึ้นในโครงการช่วยเหลือชาวนาชาวไร่ที่ทบวงมหาวิทยาลัยจัดร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรี โดยในยุคนั้นเป็นยุคที่ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และ ดร.เกษม สุวรรณกุล เป็นรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัย
เหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นการร้องทุกข์ของบรรดาชาวนาที่ถูกนายทุนเงินกู้นอกระบบให้กู้โดยเซ็นชื่อหรือประทับนิ้วหัวแม่มือบนกระดาษเปล่า ทำให้กลายเป็นสัญญาเงินกู้เท็จ เพราะนายทุนเงินกู้ไปเติมตัวเลขหนี้สินตามใจชอบ สิบเท่าร้อยเท่า ทำให้ชาวนาต้องสูญเสียที่ดิน และกลายเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวอย่างน่าอเนจอนาถ โดยคิดไม่ถึงว่ามนุษย์ด้วยกันจะกระทำกันอย่างได้ถึงเพียงนี้
ในเวลาต่อมา มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับพากันประโคมข่าวว่า นักศึกษาบุกไปพร้อมด้วยระเบิด และปืน เพื่อต้องการก่อความวุ่นวาย วินาศกรรมที่อำเภอท่าตะโก ทั้งที่ในความจริงนักศึกษาชุดนั้น ต้องคอยหลบหนีการประทุษร้ายต่อชีวิต โดยการนอนค้างคืนตามศาลาวัด โดยไม่ให้ใครทราบล่วงหน้าและต้องทำการเปลี่ยนสถานที่ทุกคืน หลังจากนั้นกลุ่มนักศึกษาอื่นๆ ที่ไปทำงานคล้ายกันในจังหวัดอื่นๆ ก็ถูกหนังสือพิมพ์ฉบับในยุคนั้นกล่าวหาแบบเดียวกัน ประสงค์ให้ผู้อ่านเกลียดชังกลุ่มนักศึกษาเหล่านั้นทั้งหมด
ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นตามมาติดๆคือ ประเทศได้เข้าสู่กองเพลิงแห่งความพินาศและแตกแยก การใช้สื่อวิทยุปลุกระดมคนให้บุกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการกล่าวหาว่าละครที่แสดงถึงการผูกคอพนักงานรัฐวิสาหกิจ 2 คนที่จังหวัดนครปฐม เป็นการแสดงที่หมิ่นพระบรมวงศานุวงศ์ เพราะมีการทำให้ภาพถ่ายในหนังสือพิมพ์บางฉบับใกล้เคียงกับภาพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งต่อมาประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่านี่เป็นการแต่งเรื่องขึ้นทั้งสิ้น
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยต้องมีกฎหมายห้ามมิให้คนกลุ่มเดียวกันเป็นเจ้าของสื่อหลายแขนง เช่นห้ามมิให้เป็นเจ้าของสื่อหนังสือพิมพ์ (สิ่งพิมพ์) ไปพร้อมๆ กับเป็นเจ้าของสื่อวิทยุโทรทัศน์ คือทำหนังสือพิมพ์ไปพร้อมๆ กับทำโทรทัศน์วิทยุ และสื่ออื่นๆ เพื่อขจัดการครอบงำสื่อโดยกลุ่มคนชุดเดียวกัน ตามแบบอารยประเทศ โดยไม่ได้ห้ามเฉพาะนักการเมืองเกี่ยวข้องกับสื่อแต่เพียงอย่างเดียวต้องยอมรับว่าทุกวันนี้บ้านเมืองเราอยู่ได้ส่วนหนึ่งนั้นก็เพราะสื่อซึ่งมีบทบาทและชี้นำทางสังคมการเมืองการปกครองว่าจะไปทางทิศทางไหนและก็เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบประชาธิปไตยซึ่งสื่อเองก็ทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชน แต่สิ่งหนึ่งที่มีและเหมือนกันนั้นก็คือจรรยาบรรณในวิชาชีพนั้นก็คือการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นความจริงและเสนอทั้งสองด้าน แต่ขณะนี้ปรากฎว่ามีตัวแปรที่เข้ามาทำให้สื่อได้เปลี่ยนไป มีการนำเสนอข่าวและข้อมูลอยู่ด้านเดียวโดยเฉพาะเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมาเห็นได้ว่าสื่อเปลี่ยนแปลงในการนำเสนอ เนื่องจากมีปัจจัยบางอย่างเข้ามาเป็นตัวกำหนดสื่อ จึงทำให้สื่อขาดความเป็นอิสระโดยเฉพาะสื่อของภาครัฐ โดยบ้านเมืองใดก็ตามถ้าสื่อไม่มีเสรีภาพ ประชาชนจะได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียวตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ ดังนั้นเราจึงควรเรียกร้องเสรีภาพในการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร เพื่อนำข้อมูลนั้นมาตีแผ่จากนั้นการตัดสินใจจะเป็นเรื่องต่อไปของประชาชนเอง
โดยการกล่าวถึงบทบาทของสื่อที่มีอิทธิพลต่อสังคมโดยพิจาณาถึงจรรยาบรรณของสื่อ อาจใช้แนวคิดและทฤษฎีดังต่อไปนี้เพื่อช่วยในการอธิบาย
เป็นทฤษฎีที่ศึกษาถึงสื่อที่ถ่ายทอดผ่านทาง Internet เพื่อมุ่งเน้นตอบคำถามในเรื่องปฏิสัมพันธ์ของสื่อที่มีต่อสังคมโดยส่วนใหญ่เน้นวิเคราะห์บทบาท (role) ผลกระทบ (impact) และการแสดงออก (performance) ของสื่อต่อสาธารณะ จากตัวอย่างได้มีการพิจารณาถึง การสร้างความหมายในเรื่องเพศของสังคม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่สะท้อนการนำเสนอของสื่อ ซึ่งแสดงถึงผลกระทบของสื่อที่มีต่อสังคม ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ระดับกลุ่ม และสังคม
โดยในระยะเวลาต่อมานั้น แนวทางการศึกษาสื่อกับสังคมได้ถูกปรับเปลี่ยนเรื่อยมา ซึ่งเป็นผลจากกระแสความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยปฏิสัมพันธ์ทางสังคมนั้นประกอบด้วยแนวทางต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.1 แนวทางที่เน้น อิทธิพลของสื่อ แนวคิดนี้มองว่า ผู้รับสารมีลักษณะตั้งรับ (passive) จึงสามารถถูกชักชวนหรือโน้มน้าวใจจากสื่อได้ง่าย เป็นการมองว่าสื่อทำอะไรกับผู้รับสาร (what media do to the people) ผู้รับสารถูกมองในฐานะของ ผู้บริโภคสื่อ (media consumer) มากกว่าจะมองเป็นชุมชนผู้รับสาร (audience community) จึงอยู่ในฐานะที่ไร้อำนาจต่อรอง และมักถูกมองว่าเป็น ‘cultural dupe’ คือถูกชักจูงได้ง่าย และไม่แยกแยะระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกแห่งความหมายที่สื่อประกอบสร้าง
1.2 แนวทางที่เน้น บทบาทของสังคมและประชาชน แนวคิดนี้เชื่อในเรื่องของบทบาทของประชาชนหรือผู้รับสาร (active audience) ว่าสามารถเลือกสรรรับ หรือปฏิเสธ สิ่งที่สื่อนำเสนอได้ตามแต่บริบทของปัจเจกบุคคล จึงเน้นศึกษาผู้รับสารในลักษณะของปัจเจกบุคคล (individual) โดยที่ปัจจัยเชิงสังคม วัฒนธรรมและบริบทแวดล้อมอื่น ๆ ก็ยังคงมีส่วนต่อการตัดสินใจเลือกรับสื่อของปัจเจกบุคคลด้วยเช่นกัน
1.3 แนวทางที่เน้นความสัมพันธ์ของการเข้ารหัส-ถอดรหัส แนวคิดนี้เชื่อว่าการสื่อสารจะมีประสิทธิภาพหรือก่อให้เกิดผลกระทบที่มีพลังได้นั้นต้องประกอบกันระหว่าง 2 องค์ประกอบคือ
1.3.1 ความสามารถในการสื่อความหมาย
1.3.2 ความสามารถในการรับการตีความหรือการถอดรหัส
โดยมีหลักสำคัญของแบบจำลองคือ การวางระดับของ 3 องค์ประกอบในระนาบเดียวกันและต้องสัมพันธ์กัน ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 3 ได้แก่
1.4 แนวทางวิพากษ์วัฒนธรรมอุตสาหกรรม แนวคิดนี้สื่อถูกนิยามว่ามีธรรมชาติของวัฒนธรรมอุตสาหกรรม (the culture industry) ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตที่สร้างขึ้นมาภายใต้มายาภาพอันหลอกลวงว่ามุ่งประโยชน์ต่อสังคม แต่อันที่จริงแล้วเป็นไปเพื่อผลทางธุรกิจและการแสวงหากำไรสูงสุดเท่านั้น ทำให้ศิลปะลดทอนลงมาเป็นงานพาณิชย์ศิลป์ ทำให้วัฒนธรรมกลายเป็นสินค้า (commodification) และทำให้คุณภาพของสินค้าและวัฒนธรรมมีมาตรฐานเดียวกันหมด (standardisation)
1.5 แนวทางวิเคราะห์สื่อในวัฒนธรรมยุคหลังสมัยใหม่ แนวคิดของทฤษฎีหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) มีหลักอยู่ที่การปฏิเสธความเป็นสากล (universal)ความเหนือกว่าของอภิมหาปรัชญา (grand narrative) และวิธีคิดแบบเป็นเส้นตรงตามหลักวิทยาศาสตร์แต่เชื่อในเรื่องของระบบคิดแบบแยกย่อย ความไร้ระเบียบของทฤษฎีเชิงสังคม รวมทั้งให้ความสนใจกับเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกและมิติทางศาสนาและจิตวิญญาณซึ่งได้ถูกละเลยไปในยุคแห่งความรู้แจ้ง (Enlightenment) การวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ของสื่อมวลชนกับสังคมตามแนวคิดของทฤษฎีหลังสมัยใหม่ จึงเป็นการใช้มุมมองที่สนใจที่รูปแบบและวิธีการของการแสดงออก (form & performance) มากกว่าบทบาทหรือปรัชญาของสื่อนั้น ๆ
Innis เป็นนักวิชาการที่ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งเมืองโตรอนโตประเทศแคนาดา, เป็นนักคิดท่านแรกในกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่สนใจพลังการผลิตด้านเทคโนโลยีทางการสื่อสารในช่วงแรก ๆ โดยผลงานของ Innis ที่เริ่มเขียนผลงานสำคัญ ๆ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น หนังสือชื่อ Empire and Communications (1950) และ The Bias of Communication (1952)” ได้ให้รายละเอียดไว้น่าสนใจ
แนวคิดสำคัญของ Innis ที่เกี่ยวข้องกับพลังในการผลิตด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร อันเป็นผลมาจากพลังในการผลิตด้านเทคโนโลยีการสื่อสารของมนุษย์นั้นโดยแนวคิดสำคัญได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างอารยธรรมของสังคมกับแบบวิถีของการสื่อสาร ที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เช่น
1.เมื่อมีการเปลี่ยนเทคโนโลยีการบันทึกจากแผ่นหิน มาเป็นการบันทึกบนกระดาษปาปิรุส อำนาจทางการเมืองและการปกครองก็ได้เปลี่ยนมือจากกษัตริย์มาเป็นกลุ่มพระและนักบวช
2. ในกรณีของสังคมกรีก เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารยังเป็นระบบปากต่อปาก ผสมกับระบบตัวเขียนที่ยังไม่มีมาตรฐานแน่นอน และใช้การคัดลอกทำให้พระและนักบวชสามารถผูกขาดระบบการอบรมบ่มเพาะสมาชิกในสังคมได้ แต่เมื่อเกิดระบบการพิมพ์จากกลุ่มสื่อมวลชน การผูกขาดนี้ก็ล่มสลายไป
เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารเกิดการเปลี่ยนแปลงปฏิวัติอีกครั้งหนึ่งจากการเขียนมาเป็นการพิมพ์ เทคนิคการพิมพ์ได้ส่งผลสะเทือนให้เกิดการท้าทายอำนาจของระบบราชการจากศูนย์กลางแบบจักรวรรดิ์ เทคโนโลยีแบบใหม่ได้โค่นล้มความคิดเรื่องจักรวรรดิ์ และสร้างแนวคิดใหม่เรื่องชาติ การส่งเสริมสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิปัจเจกนิยม เพราะเมื่อมีการพิมพ์ทุกคนก็มีโอกาสจะได้เป็นเจ้าของหนังสือต่าง ๆ ด้วยตนเองได้แล้ว
สำหรับแนวคิดในเรื่องของมิติของการเปลี่ยนแปลง Innis ให้ความสนใจเรื่องมิติของเวลา(time) และมิติของพื้นที่ (space) โดยเสนอว่ารูปแบบเทคโนโลยีการสื่อสารในแต่ละยุคจะเน้นหนักด้านเวลาและพื้นที่แตกต่างกัน เช่น รูปแบบเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคกรีกจะเน้นความยั่งยืนยาวนานของกาลเวลา แต่ในยุคของโรมันจะเน้นการแผ่ขยายพื้นที่มากกว่า แต่ถ้าเราพูดถึงในแง่ของการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า เราอาจจะเห็นได้ถึงความอัศจรรย์ของคัมภีร์ไบเบิลที่แม้ว่าจะผ่านกาลเวลาไปนานเท่าใด แต่ข้อความเชื่อ ถ้อยคำทุกคำ ในคัมภีร์ไบเบิล ยังเป็นข้อคำสอนให้กับชาวคริสต์ได้ทุกยุคทุกสมัย โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปมากนัก โดยที่ชาวคริสต์สามารถเข้าใจได้ในความหมายเดียวกัน นอกจากนี้เรื่องของพื้นที่ คัมภีร์ไบเบิลเองก็มีการแปลออกไปหลายภาษา มีชาวคริสต์ที่เชื่อถ้อยคำในคัมภีร์ไบเบิลกระจายอยู่ทั่วโลก
ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่สื่อมวลชนทุกคนควรหันกลับมาวิเคราะห์ตัวเอง โดยตระหนักถึงการทำงานเพื่อจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอย่างแท้จริง ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตรอบด้าน ไม่ว่าจะวิกฤตการเมืองในบ้าน วิกฤตจากพิษเศรษฐกิจโลกที่กำลังก่อตัวและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและบอบช้ำในขณะนี้ ฉะนั้นความรับผิดชอบต่อการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนควรจะต้องเกิดขึ้นมากที่เป็นอยู่อย่างทวีคูณ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเสนอข่าวแห่งการใส่สี ยั่วยุเหล่านั้น ได้ก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรง ด้วยรอยร้าวของคนในชาติ อย่างที่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้เลยว่าเมื่อไหร่ และอะไรจะเป็นตัวประสานให้ความรักและความสามัคคีที่คนในชาติเคยมีร่วมกันกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีก.