.

Jul 2, 2009

สถานการณ์สังคมไทยว่าด้วยปัญหาเยาวชน พ.ศ. 2551

สรุปย่อ

รายงานสถานการณ์สังคมไทยว่าด้วยปัญหาเยาวชน .. 2551:

คนรุ่นใหม่กับการพัฒนา

Thailand Social Monitor on Youth, 2008:

Development and the Next Generation


บทที่ 1: ทำไมรัฐต้องให้ความสำคัญแก่เยาวชน

· เยาวชนในวันนี้คือคนทำงาน พลเมือง และพ่อแม่ในอนาคต คุณภาพของเยาวชนในปัจจุบันคือเครื่องบ่งชี้ที่ดีถึงคุณภาพของกลุ่มคนที่จะมาเป็นแรงสำคัญในการผลักดันประเทศให้เติบโตไปในวันข้างหน้า

· จำนวนประชากรที่อยู่ในวัยเยาวชนของไทยนับวันก็จะยิ่งลดลง อันเนื่องมาจากการที่คนไทยแต่งงานช้าลง และคู่สมรสไม่นิยมที่จะมีบุตรมากเช่นในอดีต ทำให้จำนวนคนหนุ่มสาวที่จะมาเป็นแรงงานและพลังสำคัญของประเทศในอนาคตก็ลดลงตามไปด้วย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการการแข่งขันของประเทศ รัฐจึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการออกมาเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของคนหนุ่มสาว เพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่มีอยู่นั้นเป็นคนรุ่นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ และมีประสิทธิภาพเพียบพร้อมสำหรับการแข่งขันทางเศรษฐกิจของโลกยุคปัจจุบัน

· ปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชนในปัจจุบันนั้น แตกต่างไปจากปัญหาในอดีต ทำให้นโยบายเดิม ๆ ไม่สามารถบรรเทาความรุนแรงหรือแก้ไขปัญหาที่เปลี่ยนไปได้ ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันนี้ เยาวชนมีเพศสัมพันธ์กันเร็วขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสตรี รวมทั้งการติดเชื้อเอชไอวีในหมู่เยาวชนที่มีเพศสัมพันธ์โดยมิได้ป้องกันก็สูงขึ้นด้วย และในภาวะที่สังคมเต็มไปด้วยทางเลือกทั้งที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษเช่นในปัจจุบันนี้ เยาวชนไทยจำนนวนมากก็หันมาประกอบพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ การเสพสุราและของมึนเมา หรือการทานอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเป็นประจำ รวมทั้งมีเยาวชนหลายต่อหลายคนที่หลงใหลได้ปลื้มกับวัตถุต่าง ๆ จนสามารถที่จะทำอะไรได้หลาย ๆ อย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุนั้น แม้ว่าจะต้องนำร่างกายเข้าแลกก็ตาม

· ในขณะที่เยาวชนต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากมายภายใต้สภาวะของสังคมในปัจจุบัน สถาบันครอบครัวซึ่งเคยเป็นเกราะป้องกันอันดียิ่งของเยาวชนในอดีตกลับอ่อนแอลงมาก รวมทั้งสถาบันของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลนโยบายที่เกี่ยวกับเยาวชนด้วย

รูปแบบของนโยบายพัฒนาเยาวชนที่เหมาะสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน

การวิคราะห์ปัจจัยเสี่ยงในหมู่เยาวชนที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาสำคัญ ๆ ของชีวิต

จริงอยู่ที่เยาวชนโดยทั่วไปยังขาดซึ่งประสบการณ์ชีวิตที่จะทำให้พวกเขาสามารถรู้ผิดรู้ถูกได้ด้วยตัวเอง ทำให้อาจตัดสินใจผิดพลาดได้ในบางครั้ง แต่สภาพแวดล้อม สังคม และครอบครัวก็สำคัญยิ่งสำหรับการตัดสินใจของพวกเขา ปัจจัยซึ่งสามารถเพิ่มความเสี่ยงในหมู่เยาวชนได้นั้นก็รวมถึง

· พื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว ซึ่งโดยมากแล้วจะมีอิทธิพลสูงต่อพัฒนาการของเยาวชนแต่ละคน

· สภาพแวดล้อมทั้งในชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ ในโรงเรียนที่เขาเข้าเรียน และในสถานที่ทำงาน

· ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอื่น ๆ เช่น เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค กฎหมายแรงงาน บริการทางสาธารณสุขที่รัฐเป็นผู้จัดหา รวมทั้งนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ

การวิเคราะห์วิจัยนโยบายเยาวชนที่เหมาะสมผ่านมุมมองสำคัญ 3 มุม

รายงานสถานการณ์สังคมไทย ฉบับนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจาก รายงานการพัฒนาโลกปี 2007: คนรุ่นใหม่กับการพัฒนา ของธนาคารโลก ซึ่งเสนอแนวคิดที่ว่า นโยบายเยาวชนที่เหมาะสมต่อสถานการณ์โลกในปัจจุบันนั้น ควรจะอยู่บนพื้นฐานของสิ่งต่าง ๆ 3 สิ่ง ดังต่อไปนี้

· Expand opportunities: การขยายโอกาสแก่เยาวชนอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาคุณภาพของการศึกษา หรือบริการสาธารณสุข เพื่อให้พวกเขาได้สามารถใช้โอกาสนั้น ๆ ในการสร้างสมทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และส่งเสริมสุขอนามัยของตนเองให้สมบูรณ์ สามารถเป็นกำลังที่สำคัญของชาติได้ในภายหลัง

· Increase capabilities: การเสริมสร้างประสิทธิภาพในการคิดและการตัดสินใจ เพื่อให้เยาวชนสามารถใช้วิจารณญาณของตนเองในการเลือกสรรสิ่งดี ๆ ให้แก่ชีวิตได้ ด้วยการให้ความรู้แก่เยาวชนในเรื่องต่าง ๆ ที่สำคัญต่อพวกเขา และส่งเสริมทักษะในการวิเคราะห์ปัญหา หรือสถานการณ์รอบตัวก่อนที่จะตัดสินใจเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้แก่ชีวิต

· Provide second changes: การให้โอกาสเยาวชนที่ตัดสินใจผิดพลาดได้กลับตัวใหม่ ผ่านโครงการที่มีเป้าหมายเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการบำบัดฟื้นฟูเยาวชนที่ติดยาเสพติด หรือการให้โอกาสเยาวชนได้เข้าฝึกฝนอบรมทักษะและอาชีพ และเข้ารับการศึกษาหลังจากที่ได้ออกจากระบบไปแล้ว เป็นต้น

รายงานของธนาคารโลกฉบับนี้ระบุว่า มุมมองทั้ง 3 มุมนี้ ควรจะเป็นพื้นฐานของการวางโยบายสำหรับพัฒนาทรัพยากรบุคลของประเทศในช่วงอายุ 15-24 ปี เพราะในช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่เยาวชนส่วนใหญ่เริ่มพัฒนาบุคลิกภาพและความคิดของตนเอง รวมทั้งเริ่มสะสมประสบการณ์ที่จะมีผลกระทบเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของเขาเมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงานแล้ว

บทที่ 2: ทำอย่างไรให้หนุ่มสาวไทยมีสุขอนามัยที่สมบูรณ์

· อัตราการเสียชีวิตของเยาวชนไทยในระยะหลังนี้ได้ลดลงมาก เมื่อเทียบกับเมื่อประมาร 3-4 ทศวรรษก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในหมู่เยาวชนไทยในปัจจุบันนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

· สถิติของการเสียชีวิตในหมู่เยาวชนไทยในปี 2547 ชี้ให้เห็นว่า ร้อยละ 76 ของเยาวชนไทยที่เสียชีวิตในปีนั้นเป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 23 เป็นเพศหญิง

· สาเหตุสำคัญที่สุด 3 ประการของการเสียชีวิตในหมู่เยาวชนเพศชายก็คือ อุบัติเหตุบนท้องถนน การติดเชื้อ HIV/AIDS และการฆ่าตัวตาย

· สาเหตุสำคัญที่สุด 3 ประการของการเสียชีวิตในหมู่เยาวชนหญิงนั้นคือการติดเชื้อ HIV/AIDS อุบัติเหตุบนท้องถนน และการฆ่าตัวตาย

· มีการประเมินว่า ร้อยละ 50 ของผู้ได้รับเชื้อ HIV/AIDS ในแต่ละปีนั้นเป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี ในจำนวนนั้น

· สาเหตุสำคัญของการที่มีเยาวชนติดเชื้อ HIV/AIDS ในอัตราที่สูงนั้นมาจากการที่เยาวชนไทยเริ่มมีเพศสัมพันธ์กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ในขณะที่ความรู้ความเข้าใจของเยาวชนเองเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการมีเพศสัมพันธ์โดยมิได้ป้องกันนั้นยังมีจำกัด

· การบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักอนามัย (เช่น อาหารที่มีน้ำตาลสูง อาหารจำพวกฟาสต์ฟู้ด) ก็ทำให้ปัญหาสุขภาพของเยาวชนไทยเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตมาก ปัจจุบันนี้ โอกาสที่เยาวชนไทยจะกลายเป็นคนน้ำหนักเกิน ซึ่งจะเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ มากมายต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือโรคมะเร็ง ก็มีมากขึ้น การสำรวจในปีพ.. 2546 นั้นพบว่า ร้อยละ 22 ของเยาวชนไทยอายุ 20-29 ปี มีปัญหาน้ำหนักเกิน เมื่อเทียบกับร้อยละ 3 ในปี 2529

· พฤติกรรมเสี่ยงที่พบมากขึ้นในหมู่เยาวชนไทยในระยะหลังนั้นก็มีทั้งการเสพสุรา การสูบบุหรี่ การใช้ยาเสพติดประเภทต่าง ๆ และการมีเพศสัมพันธ์โดยที่มิได้ป้องกัน

· สถิติพบว่า เยาวชนชายโดยทั่วไปนั้นเริ่มเสพสุราเมื่ออายุ 11 ปี และเยาวชนหญิงเมื่ออายุ 15 ปี ในขณะเดียวกัน สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยในแต่ละปีนั้นก็มาจากการที่ผู้ขับขี่ยานพาหนะอยู่ในสภาวะมึนเมาจากพิษสุรา (ร้อยละประมาณ 80 ของอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในแต่ละปีนั้น เป็นอุบัติเหตุที่เกิดกับมอเตอร์ไซคล์ และในจำนวนผู้ขี่มอเตอร์ไซคล์ที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทั้งหมดนั้น ร้อยละ 50 เป็นเยาวชน)

· เยาวชนไทยในปัจจุบันนี้มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกระหว่างอายุ 14-18 ปี อย่างไรก็ดี การใช้ถุงยางอนามัยในหมู่เยาวชนที่มีเพศสัมพันธ์กันนั้นกลับอยู่แค่ร้อยละ 10-30 เท่านั้น ซึงนับว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก

· นอกจากการไม่ใช้ถุงยางอนามัยในระหว่างมีเพศสัมพันธ์นั้นจะทำให้เยาวชนเผชิญกับความเสี่ยงจากการติดเชื้อ HIV/AIDS มากขึ้นแล้ว ก็ยังส่งผลให้อัตราการตั้งครรภ์ในหมู่เยาวชนสูงขึ้นอีกด้วยในระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเยาวชนหญิงส่วนใหญ่ไม่ใช้ยาคุมกำเนิด อันจะเห็นได้จากการที่อัตราการตั้งครรภ์ในหมู่วัยรุ่นสตรีอายุ 15-19 ปีนั้น อยู่ที่ร้อยละ 47.3 ในปี 2547 จากที่เคยเป็น 31.8 ในปี 2542

· นอกจากนี้แล้ว จำนวนเยาวชนที่มีส่วนในการก่ออาชญากรรมหรือใช้ความรุนแรงกับผู้อื่น ทำให้ต้องถูกส่งไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนก็ยังสูงขึ้นอีกด้วย

เพราะอะไรเยาวชนจึงเปราะบาง

· เยาวชนมักจะประกอบพฤติกรรมเสี่ยง เพราะแรงจูงใจที่มาจากความเพลิดเพลินชั่วครู่ชั่วยามนั้นมักจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเยาวชนมากกว่าการคำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นต่อพวกเขาในะระยะยาว

· การขาดซึ่งความรู้ความเข้าใจในผลลัพธ์ของพฤติกรรมเสี่ยงนั้น ๆ เนื่องจากไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอ

· หรือหากข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ของพฤติกรรมนั้น ๆ จะมีอยู่อย่างแพร่หลายก็ตาม ปัจจัยภายนอก เช่น แรงกดดันจากเพื่อนฝูง ปัญหาครอบครัวและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะต่อเยาวชน อาจผลักดันให้พวกเขาเดินเข้าหาพฤติกรรมเสี่ยงนั้นได้เช่นกัน

· อิทธิพลจากสื่อและการตลาดที่โน้มน้าวความคิด

· รายได้ของครอบครัวและระดับการศึกษาของเยาวชนทั่วโลกนั้น มีความสำคัญยิ่งต่อสุขอนามัยของเยาวชนเอง

วิธีส่งเสริมสุขอนามัยที่ดีในหมู่เยาวชน

· เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และให้การศึกษาแก่เยาวชนในเรื่องการป้องกันสุขอนามัยของพวกเขาเอง โดยกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ และองค์กรต่าง ๆ ในภาคเอกชน รวมทั้ง NGOs เพื่อให้การเผยแพร่ข้อมูลนั้นเป็นไปอย่างทั่วถึง

· สอดแทรกเรื่องสุขอนามัยที่เยาวชนควรจะรู้ในหลักสูตรการเรียนการสอน โดยเฉพาะเพศศึกษา และความรู้เรื่อง HIV/AIDS เพราะโรงเรียนคือสถานที่ที่เยาวชนโดยมากจะได้รับข้อมูลข่าวสารในเรื่องต่าง ๆ

· สนับสนุนการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมทักษะในการดำเนินชีวิต (life skills training) ให้แก่เยาวชน

· เปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมในโครงการที่ออกแบบมาเพื่อพวกเขา เช่น การรณรงค์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่อง HIV/AIDS ในหมู่เยาวชน รวมทั้งให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการให้การศึกษาในเรื่องต่าง ๆ แก่เยาวชนด้วยกันเอง

บทที่ 3: ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่ออาชีพและการดำรงชีวิต

· ประเทศไทยได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการกระจายการศึกษาให้แก่ประชาชน ดังจะเห็นได้จากสถิติของเด็กไทยที่ได้รับการศึกษาทั้งขั้นพื้นฐาน และในระดับมัธยมศึกษาในแต่ละปี ตัวอย่างเช่น สัดส่วนของเด็กไทยที่ได้รับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เมื่อเทียบกับประชากรที่เป็นเยาวชนทั้งหมดของประเทศนั้น ถือว่าดีมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย เช่น จีน อินโดนีเซีย และอินเดีย[i]

· นอกจากนี้แล้ว อัตราการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของเด็กไทย ซึ่งอยู่ที่ราว ๆ 1 ใน 3 ของเยาวชนอายุ 18-21 ปีในพ.ศ. 2548 นั้น ก็ยังดีกว่าประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว และกัมพูชาอยู่มาก

· ปัญหาของประเทศไทยจึงไม่ได้อยู่ที่การกระจายโอกาสทางการศึกษา แต่อยู่ที่คุณภาพของการเรียนการสอน ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อคุณภาพของบัณฑิตจบใหม่ และรวมถึงคุณภาพของเยาวชนไทยที่จะเติบโตไปเป็นคนทำงาน พลเมืองของสังคม และพ่อแม่ของเยาวชนในอนาคตด้วย

· สรุปย่อของปัญหาด้านการศึกษาของไทยมีดังนี้

1. ทักษะและความรู้ความเข้าใจของเด็กไทยต่อวิชาที่สำคัญ เช่น คณิตศาสตร์และวิทยาศาตร์นั้น อยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว

2. ในปัจจุบันนี้ สถานอุดมศึกษามีเป็นจำนวนมาก และสังคมไทยก็ให้ความสำคัญกับการศึกษาในระดับนี้มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่ตำแหน่งงานโดยมากมักจะกำหนดให้ผู้สมัครจบการศึกษาในระดับนี้ รวมทั้งการที่เยาวชนไทยเข้าเรียนต่อในระดับนี้มากขึ้นกว่าในอดีต ทว่า คุณภาพของบัณฑิตไทยในปัจจุบันนั้นนับว่ายังด้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทักษะทางด้านภาษา และทักษะในการวิเคราะห์ปัญหา (analytical skills) ของเยาวชนไทยนั้น เป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดในหมู่ผู้ประกอบการ

3. คุณภาพของครูผู้สอน

4. การจัดหาแหล่งเงินทุนให้แก่นักเรียนที่ยากจนแต่ต้องการเรียนต่อ

5. ปัญหาคุณภาพของการเรียนการสอนในสถานอาชีวะศึกษา

6. หลักสูตรการสอนที่ไม่ทันต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป รวมทั้งไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะสำหรับการดำรงชีวิต (life skills learning) เท่าที่ควร

7. การเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน หรือผู้ที่ได้รับการศึกษาขั้ต่ำในวัยเยาว์ รวมทั้งผู้ที่ต้องการเพิ่มพูนทักษะความรู้ของตัวเองหลังจากจบการศึกษาแล้ว สามารถกลับเข้าเรียนได้อีก

สรุปย่อเรื่องปัญหาการอาชีวะศึกษา

ในประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ เช่น เยอรมนี อาชีวะศึกษาถือว่าเป็นทางเลือกอีกหนึ่งทางสำหรับเยาวชนที่ต้องการฝึกฝนทักษะทางด้านอาชีพโดยตรง และภาครัฐเปิดโอกาสให้เยาวชนสามารถเข้ารับการศึกษาในสถานอาชีวะศึกษาพร้อม ๆ ไปกับการฝึกงานจริงเพื่อเพิ่มพูนทักษะและส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์จากการทำงานได้ ทำให้บัณฑิตที่จบจากสถานอาชีวะศึกษาในเยอรมนีนั้นสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้

อย่างไรก็ตาม การอาชีวะศึกษาในประเทศไทยนั้นยังไม่ได้รับการสนับสนุนหรือความสนใจเท่าที่ควร ทั้งนี้เพราะสาเหตุหลั ก ๆ 4 ประการ คือ

· หลักสูตรที่เสนอในสถานอาชีวะศึกษาไม่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง

· อุปกรณ์การเรียนการสอนไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน หรือการสอนของครู

· ทางเลือกของนักเรียนที่จบอาชีวะศึกษาไม่ค่อยเปิดกว้างเหมือนนักเรียนที่เลือกเรียนสายสามัญ

· ภาพลักษณ์ในทางลบของอาชีวะศึกษาในสายตาของสังคม

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังพยายามที่จะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในการเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ปัญหาเรื่องคุณภาพและจำนวนนักเรียนในระดับอาชีวะศ฿กษานับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนขีดความสามารถของไทย จากการสำรวจพบว่า นอกจากนักเรียนและครูผู้สอนในสถาบันอาชีวะศึกษาจะไม่พึงพอใจกับคุณภาพของการเรียนรู้ในระดับนี้แล้ว ผู้ประกอบการในภาคเอกชนยังมีความเห็นด้วยว่า การอาชีวะศึกษาของไทยนั้นไม่สามารถผลิตแรงงานที่ตอบสนอลความต้องการของอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง

บทที่ 4: ส่งเสริมการก้าวจากวัยเรียนสู่วัยทำงาน

สรุปประเด็นและปัญหาแรงงานที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน

· เด็กไทยจำนวนมากเริ่มต้นทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย ถึงแม้กฎหมายจะห้ามเด็กอายุต่ำว่า 15 ปีทำงานก็ตาม การเริ่มทำงานตั้งแต่อายุยังน้อยนี้ เท่ากับเป็นการตัดโอกาสทางการศึกษาของเด็กไปด้วย

· สภาวะในตลาดแรงงานของไทยนั้นค่อนข้างที่จะสนับสนุนแรงงานนอกระบบ จากการสำรวจพบว่า ร้อยละ 68 ของแรงงานไทยเป็นแรงงานนอกระบบ (ผู้ทำงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองหรือหลักประกันทางสังคม เนื่องจากสภาพของงานที่เกี่ยวข้อง เช่นงานอิสระ งานเหมาช่วง งานระยะสั้นหรือตามฤดูกาล งานรับจ้างทั่วไปตามบ้านและธุรกิจขนาดเล็ก งานในภาคเกษตรหรือประมง เป็นต้น)

· มีแรงงานไทยที่อยู่ในช่วงอายุ 18-21 ปีทั้งหมดจำนวน 1,500,000 คน อย่างน้อย 2 ใน 3 ของจำนวนนี้เป็นแรงงานนอกระบบ

· ในขณะที่จำนวนเยาวชนไทยที่อยู่ในภาคเกษตรลดลง จำนวนเยาวชนที่เป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมก็เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี แรงงานในวัยนี้โดยมากจะเป็นแรงงานที่มีทักษะต่ำถึงปานกลาง และประกอบอาชีพที่ไม่จำเป็นต้องมีการศึกษาสูง ทำให้ค่าจ้างแรงงานในวัยนี้โดยรวมจัดว่าอยู่ในขั้นต่ำเช่นเดียวกัน (การสำรวจพบว่า ร้อยละ 18-38 ของแรงงานที่เป็นเยาวชนนี้ได้รับค่าจ้างที่น้อยกว่าอัตราแรงงานขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด)

· หลังจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ซึ่งส่งผลให้มีการปิดกิจการเป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบการของไทยก็หันมาเข้มงวดมากขึ้นต่อการจ้างงานแบบถาวร และการให้หลักประกันที่เหมาะสมต่อลูกจ้าง ทำให้แรงงานไทยโดยรวมได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะแรงงานที่เป็นเยาวชน[ii]

· ในอดีตนั้น ภาคอุตสาหกรรมไทยมีความต้องการแรงงานจากชนบทค่อนข้างสูง เพราะการผลิตของไทยเป็นการผลิตที่อาศัยแรงงานเป็นหลัก ทว่าในปัจจุบันนี้ สภาพเศรษฐกิจของโลกได้เปลี่ยนไปอย่างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งมีผลมาจากการปฏิวัติทางด้านเทคโนโลยี ทำให้วิถีชีวิตและการทำงานของคนในปัจจุบัน รวมทั้งการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปด้วย เศรษฐกิจก้าวเข้าสู่การเป็นเศรษฐกิจฐานความรู้ (knowledge-based economy) มากขึ้น ทำให้มีการคาดหมายว่า ความต้องการแรงงานที่มีทักษะต่ำในอนาคตนั้นจะลดลงตามไปด้วย

· ประเทศไทยเองนั้น จากที่เคยเป็นประเทศซึ่งได้เปรียบประเทศอื่น ๆ ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพราะอัตราค่าจ้างแรงงานต่ำ ในปัจจุบันนี้ก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศอื่น ๆ ที่มีแรงงานถูกกว่า เช่น จีน ทำให้รัฐบาลไทยต้องหันมาส่งเสริมการเพิ่มคุณค่าของผลผลิตมากขึ้น แทนที่จะพึ่งการผลิตสินค้าซึ่งอาศัยแรงงานสูงเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ทักษะของแรงงานไทยจึงนับว่าสำคัญมากต่อการเจริญเติบโตของประเทศในอนาคต การที่ระบบการศึกษาไทยยังไม่สามารถผลิตแรงงานที่มีทักษะสูง ตอบสนองความต้องการของตลาด ดังที่ระบุไว้ในบทที่แล้วนั้น จึงนับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาขีดความสามารถของไทยสำหรับการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจโลกที่นับวันก็จะเข้มข้นขึ้น

· การที่เยาวชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการประกอบธุรกิจ (access to credit) ได้นั้น เป็นอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้เยาวชนที่มีทักษะทางด้านธุรกิจและต้องการมีกิจการของตนเอง ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้

· เยาวชนนั้นต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการตกงานมากกว่าผู้ใหญ่ทั้งในภาวะปกติ และภาวะที่เศรษฐกิจหดตัว

นโยบายที่จะเอื้อต่อการพัฒนาทักษะและประสิทธิภาพของแรงงานเยาวชน

· รัฐจำเป็นที่จะต้องมียุทธศาตร์ในการพัฒนาแรงงานเยาวชน ทั้งในระดับเศรษฐกิจจุลภาคและมหภาค

· องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของยุทธศาสตร์นี้คือการสนับสนุนให้เยาวชนวัย 15-18 ปีให้อยู่ในระบบการศึกษาแทนที่จะออกมาทำงาน ด้วยการออกมาตรการด้านกฏหมายที่ลดแรงจูงใจของผู้ประกอบการในการจ้างงานเยาวชนในวัยนี้ นอกจากนี้แล้ว การสร้างงานนอกภาคเกษตรตามต่างจังหวัดและในชนบท ก็จะช่วยลดปัญหาการว่างงานของเยาวชนได้

· การพัฒนาทักษะของเยาวชนไทยให้สามาถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้นั้น นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งทั้งต่อการขยายโอกาสในการทำงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัวของเยาวชนไทย และต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยโดยรวม ดังนั้น รัฐจึงควรที่จะพัฒนาโรงเรียนให้เป็นมากกว่าสถานศึกษา แต่เป็นกลไกสำคัญของรัฐในการส่งเสริมพัฒนาความรู้และทักษะของเยาวชนผ่านการเรียนการสอน เพื่อให้เยาวชนของไทยนั้นมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับความต้องการของระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป และมีทักษะในการคิด การวิเคราะห์ปัญหาที่ทำให้เขาสามารถเติบโตเป็นพลเมืองดีของสังคมได้ในอนาคต และรัฐควรขยายทางเลือกในการศึกษาให้ตอบสนองความต้องการของเยาวชนให้มากขึ้นด้วย

· นอกจากนี้แล้ว รัฐควรจะออกแบบหลักสูตรการศึกษาให้สนับสนุนการฝึกฝนทักษะและเพิ่มพูนประสบการณ์ในการทำงานระหว่างที่กำลังศึกษามากขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้แรงงานเยาวชนที่มีทักษะต่ำ ได้เข้ารับการอบรมฝึกฝนเพื่อเพิ่มพูนทักษะในการทำงานของตน ในส่วนนี้ รัฐสามารถทำได้โดยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนซึ่งมีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น

บทที่ 5: กรอบนโยบายและกฎระเบียบที่เหมาะสมแก่การพัฒนาเยาวชน

· ก่อนที่เราจะพิจารณายุทธศาสตร์ใดใดก็ตามนั้น เราต้องยอมรับก่อนว่า ไม่มียุทธศาสตร์ใดในปัจจุบันที่สามารถแก้ไขปัญหาของทุกประเทศได้ ดังนั้น แต่ละประเทศจึงต้องเลือกสรรนโยบายที่สอดคล้องต่อความต้องการของเยาวชน และสภาพสังคม รวมทั้งสถานการณ์ของประเทศในปัจจุบันเอง

· รายงานการพัฒนาโลกปี 2007: คนรุ่นใหม่กับการพัฒนา ได้ระบุไว้ว่า สาเหตุหลักที่ทำให้นโยบายเยาวชนที่ผ่านมานั้นไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรมาจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ดังนี้

1. การขาดการประสานงานที่ดีระหว่างนโยบายแต่ละนโยบาย และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

2. การที่เยาวชนโดยมากยังไม่ได้รับโอกาสให้มีส่วนร่วมในการวางหรือดำเนินนโยบายนั้น ๆ [iii]

3. การขาดตัวอย่างของนโยบายและโครงการที่ประสบความสำเร็จ[iv]

ยุทธศาสตร์การพัฒนาเยาวชนในประเทศไทย

· การพัฒนาเยาวชนนั้น ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

· นับตั้งแต่ภาครัฐเริ่มสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาการของเยาวชนในปีพ.ศ. 2508 เป็นต้นมา นโยบายและกฎระเบียบของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นระยะ ๆ พัฒนาการทางการเมืองของไทยในอดีตเองก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางบทบาทและสถานภาพของสถาบันที่มีส่วนเกี่ยวข้องในนโยบายนี้ด้วย

· ปัจจุบัน หน่วยงานที่รับผิดชอบนโยบายเยาวชนในภาครัฐคือสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (กระทรวงพ.ม.) ภายในสำนักงานนี้ก็ประกอบไปด้วยสำนักงานส่งเสริมและพิทักษ์เยาวชน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลนโยบายเยาวชนโดยรวม อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องงบประมาณและประสิทธิภาพในการประสานงานในภาครัฐ อันเนื่องมาจากกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของสำนักงาน ก็เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประสิทธิภาพของสำนักงานนี้

· แผนพัฒนาเยาวชนในปัจจุบัน มีเป้าหมายหลักคร่าว ๆ คือ สนับสนุนให้ครอบครัวมีบทบาทมากขึ้นในการช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเยาวชน; สนับสนุนสถาบันหลักอื่น ๆ ให้มีบทบาทและมีการประสานงานกันมากขึ้น เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะของเยาวชน; สนับสนุนการให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ให้บริการแก่เยาวชน ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ให้สามารถทำหน้าที่นั้นได้โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติและด้วยความโปร่งใส; สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนให้เป็นไปอย่างทันต่อเหตุการณ์; สนับสนุนการสอดส่องและประเมินนโยบายเยาวชนที่เป็นระบบ มีดัชนีสำหรับวัดผลที่ได้จากการดำเนินงาน; สนับสนุนให้เยาวชนเพิ่มพูนทักษะของตนเองในการคิด วิเคราะห์วิจัยปัญหา ประพฤติตัวดี มีความรับผิดชอบ และสามารถปรับปรุงตนเองให้เข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปได้; และสนับสนุนให้เยาวชนทุกเพศทุกวัยใส่ใจกับบริการที่เขาสมควรจะได้รับ และมีบทบาทมากขึ้นในการเรียกร้องให้ภาครัฐพัฒนาทั้งคุณภาพและปริมาณของบริการต่าง ๆ เป็นต้น

สิ่งซึ่งท้าทายนโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวกับเยาวชนในประเทศไทย

· การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ส่งผลให้นโยบายเยาวชนขาดความต่อเนื่อง หน่วยงานหลัก ๆ ที่มีส่วนในการวางหรือดำเนินนโยบายนั้นขาดการประสานงานที่ดี นโยบายต่าง ๆ ไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติ หรือถ่ายทอดเป็นโครงการซึ่งจะทำให้นโยบายนั้น ๆ บรรลุผล

· ความจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบที่ใช้สอดส่องประสิทธิภาพหรือประเมินผลของนโยบายเยาวชน และความสามารถในการปรับปรุงนโยบายที่ดำเนินไปแล้วให้สอดคล้องแก่ความเป็นจริงได้

· การสนับสนุนให้เยาวชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการวางนโยบายที่จะมีผลกระทบต่อพวกเขาโดยตรง ผ่านเวทีต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนแสดงความคิดเห็น ในประเทศไทย การทำเช่นนี้ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในสังคม ทำให้ผู้ใหญ่โดยมากมักจะมองว่าเป็นแนวคิดแบบตะวันตก

สรุป

· เยาวชนเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ รัฐจำเป็นที่จะต้องวางนโยบายพัฒนาเยาวชนควบคู่ไปกับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

· ประเทศไทย ซึ่งกำลังพยายามที่จะก้าวเข้าสู่สถานภาพของเศรษฐกิจฐานความรู้ กำลังประสบปัญหาในการพัฒนาคุณภาพของเยาวชนให้สามารถเป็นแรงสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศตามเป้าหมาย สิ่งที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่งคือ ทำอย่างไรรัฐจึงจะสามารถ

(1) ขยายโอกาสให้แก่เยาวชนอย่างทั่วถึง

(2) เสริมสร้างประสิทธิภาพในการคิดและการตัดสินใจ

(3) ให้โอกาสเยาวชนที่ตัดสินใจผิดพลาดได้กลับตัวใหม่ หรือสามารถกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่จะช่วยพัฒนาทักษะและความสามารถของเขาได้

· รัฐจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลและดำเนินนโยบายเยาวชน รวมทั้งหน่วยงานในภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสมควรที่จะสนับสนุนให้เยาวชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการวางและดำเนินนโยบายเหล่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่า สิ่งที่รัฐทำนั้นจะตอบสนองต่อความต้องการของเยาวชนอย่างแท้จริง


ข้อเสนอแนะเรื่องทิศทางของนโยบายเยาวชนในประเทศไทย

การขยายโอกาส

การเสริมสร้างประสิทธิภาพในการคิดและการตัดสินใจ

การให้โอกาสแก้ตัว

การส่งเสริมสุขอนามัยของเยาวชน

- ส่งเสริมประสิทธิภาพของการบังคับใช้กม.ห้ามโฆษณาสุรา ยาสูบ และการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้บริโภคสินค้าเหล่านี้ รวมทั้งการห้ามบริโภคสินค้าเหล่านี้ในที่สาธารณะ

- ทำให้เครื่องมือและกลไกสำหรับเยาวชนใช้เพื่อป้องกันตัวเองมีแพร่หลายมากขึ้น

- ทำให้ทางเลือกที่เกี่ยวกับการบำรุงรักษาสุขอนามัยของเยาวชนนั้นมีราคาถูกลง ด้วยการลดภาษีหรืออุดหนุนจากรัฐ และทำให้ราคาของสิ่งที่เป็นโทษต่อสุขภาพนั้นสูงขึ้นด้วยการขึ้นภาษี

ใช้สิ่งเหล่านี้ในการเผยแพร่ข้อมูลที่จะช่วยให้เยาวชนสามารถตัดสินใจเลือกสิ่งดี ๆ ใก้แก่ตนเอง

- โรงเรียนและโครงการในแต่ละชุมชน

- โครงการประเภเพื่อนเตือนเพื่อน ส่งเสริมให้เยาวชนให้ความรู้แก่เยาวชนด้วยกันเอง

- ใช้สื่อในการเผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูล

- โครงการที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อให้สามารถเผยแพร่ข้อมูลได้อย่างทั่วถึง

- สรรค์สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรในสถานพินิจและคุ้มครอง รวมทั้งสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติด เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่เยาวชน

เรียนรู้เพื่ออาชีพและการดำรงชีวิต

- ส่งเสริมให้เยาวชนทุกคนได้รับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอุดมศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

- พัฒนาคุณภาพของการศึกษาทั้งในระบบสามัญและอุดมศึกษาให้ตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจ

- ช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งโดยตรงและค่าเสียโอกาส เพื่อให้เยาวชนสามารถเข้ารับการศึกษาในระดับมัธยมปลายและอุดมศึกษาได้

- สอดส่องคุณภาพและพัฒนาประสิทธิภาพของการศึกษานอกโรงเรียนให้เป็นกลไกสำคัญในการให้โอกาสแก่เยาวชนที่ต้องออกจากการเรียนกลางคันสามารถกลับเข้าเรียนใหม่ได้

จากวัยเรียนสู่วัยทำงาน

- พัฒนาระบบข้อมูลของตลาดแรงงาน

- ลดการใช้แรงงานเด็กด้วยการกำจัดอุปสงค์ และอุปทาน (ผ่านกลไกเช่น การสร้างแรงจูงใจทางการเงินให้พ่อแม่ส่งลูกเข้าโรงเรียน หรือ conditional cash transfer)

- ส่งเสริมให้เยาวชนเป็นเจ้าของกิจการเองได้

- สนับสนุนให้เยาวชนในชนบทที่ไม่ได้เรียนหนังสือให้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรม

- สนับสนุนบทบาทของสถานศึกษาในการเป็นตัวเชื่อมระหว่างเยาวชนกับตลาดแรงงาน

- สนับสนุนการเสริมสร้างทักษะและการเรียนรู้งานให้แก่เยาวชน

- สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้หลากหลายและสอดคล้องต่อความต้องการของทั้งเยาวชนและตลาดแรงงานในปัจจุบัน

- ประเมินผลและปรับปรุงหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

- นำตัวอย่างที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าได้ผลมาใช้เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนที่ไม่มีงานทำสามารถกลับเข้ามาในตลาดแรงงานได้อีก

[i] สถิติจาก OECD พ.ศ. 2548

[ii] เพราะเยาวชนโดยมากมีกำลังต่อรองและประสบการณ์ในการทำงานน้อยกว่าผู้ใหญ่

[iii] จากการสำรวจพบว่า ในบรรดาประเทศสมาชิกของสหประชาชาติทั้งหมดนั้น เพียงแค่ร้อยละ 30 เท่านั้นที่มีนโยบายเพื่อพัฒนาเยาวชนในระดับประเทศ ในจำนวนนี้ 1ใน 3 เท่านั้นที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการร่างและดำเนินนโยบาย

[iv] โครงการที่เกี่ยวกับเยาวชนในประเทศกำลังพัฒนาส่วนมากจะขาดกระบวนการสอดส่องและประเมินประสิทธิภาพในการปฏิบัติ ทำให้ไม่สามารถวัดผลได้

Source: The World Bank

No comments:

Post a Comment

Total Pageviews