.

Jul 7, 2009

แผนกลยุทธ์ ความสำคัญและประเด็นการวางแผน

การจัดทำแผนยุทธศาสตร์

เป็นการนำข้อมูลและความรู้ต่างๆ ที่ได้รับจากการกำหนดทิศทางขององค์กรและการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกและภายในองค์กรมาจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ รวมทั้งระบบการประเมินและคัดเลือกว่ากลยุทธ์ใดที่มีความเหมาะสมกับองค์กรมากที่สุด ในการจัดทำกลยุทธ์นั้นพึงระลึกเสมอว่าการจัดทำกลยุทธ์เป็นการกำหนดแนวทาง วิธีการ และกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรเพื่อช่วยให้องค์กรสามารถบรรลุถึงภารกิจและวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ โดยนำเอาการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทั้งภายนอกและภายในองค์กรมาพิจารณาประกอบ

ภาคธุรกิจกลยุทธ์แบ่งได้ 3 ระดับ ได้แก่

1.กลยุทธ์ระดับองค์กร (Corporate Strategy) ซึ่งจะบ่งบอกถึงกลยุทธ์โดยรวมและทิศทางในการแข่งขันขององค์กรว่าควรจะเข้าสู่หรือออกจากอุตสาหกรรมใด

2. กลยุทธ์ระดับธุรกิจ (Business Strategy) ซึ่งจะบ่งบอกถึงวิธีการที่องค์กรจะใช้ในการแข่งขันในอุตสาหกรรมแต่ละประเภท

3. กลยุทธ์ระดับปฏิบัติการหรือดำเนินงาน (Functional or Operational Strategy) ซึ่งครอบคลุมวิธีการในการแข่งขันและดำเนินงานของหน่วยงานระดับปฏิบัติการต่างๆ

ในส่วนของภาครัฐกลยุทธ์ในหน่วยงานจะถูกแบ่งโดยระดับ (Hierachy) ของกลยุทธ์ เช่น ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ - โครงการ และ กิจกรรม ทั้งนี้อาจรวมถึงนโยบายต่างๆ ซึ่งฝ่ายบริหารได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานเป็นผู้ดำเนินการ

การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ต้องพิจารณาทั้งในภาพกว้างและในทางลึกด้วยเนื่องจากการจัดทำยุทธศาสตร์ไม่ใช่แค่การคิดค้นวิธีการใหม่ๆ เพื่อช่วยให้องค์กรบรรลุถึงวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการวิเคราะห์พิจารณากิจกรรมการเคลื่อนไหวต่างๆ ทางยุทธศาสตร์ทั้งที่ได้ดำเนินการไปแล้วและกำลังดำเนินการอยู่ โดยหากยุทธศาสตร์เหล่านี้ประสบผลสำเร็จและเกิดประโยชน์แก่องค์กร องค์กรก็ควรที่จะใช้ยุทธศาสตร์เหล่านั้นต่อไป เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านยุทธศาสตร์หรือการจัดทำยุทธศาสตร์ใหม่อาจจะก่อให้เกิดผลเสียแก่องค์กรได้

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์หรือการจัดทำยุทธศาสตร์จึงควรเปลี่ยนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่างๆ หรือ เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น

สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารขององค์กรจะต้องคำนึงถึงตลอดเวลา คือด้วยเหตุที่ยุทธศาสตร์ไม่หยุดนิ่ง เป็นกระบวนการที่มีความต่อเนื่องและเป็นกิจกรรมที่ดำเนินอยู่ตลอดเวลา เมื่อกำหนดภารกิจและประเด็นทางยุทธศาสตร์ขององค์กรแล้ว ภารกิจและประเด็นทางยุทธศาสตร์นั้นอาจจะสามารถอยู่ได้เป็นเวลาหลายปีโดยไม่เปลี่ยนแปลง แต่ยุทธศาสตร์หรือวิธีการในการบรรลุภารกิจและวัตถุประสงค์นั้นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์อาจจะเกิดขึ้นได้จากโอกาสใหม่ ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น หรือผู้บริหารมีวิธีการใหม่ๆ ในการทำให้การดำเนินงานที่ดีขึ้น หรือเมื่อมีวิกฤตการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าการจัดการเชิงกลยุทธ์เป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและด้วยเหตุที่การจัดทำยุทธศาสตร์ไม่สามารถครอบคลุมทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นยุทธศาสตร์จึงควรมีความพร้อมและความสามารถที่จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่ไม่ได้คาดคิดล่วงหน้า หรือมีลักษณะของความเป็นพลวัตร (Dynamic) นั่นเอง

*ตัวอย่างการกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจขายและติดตั้งเครื่องเสียงรถยนต์และอุปกรณ์ประดับยนต์

-กลยุทธ์ระดับองค์กร

กิจการมีความแข็งแกร่งทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลาง คือ มีชื่อร้านที่เป็นที่รู้จัก และผู้บริหารมีความรู้ และความเชี่ยวชาญในธุรกิจเป็นอย่างดี รวมถึงอุตสาหกรรมยังมีอัตราการเติบโตสูงเนื่องจากตลาดรถยนต์ยังมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง กิจการจึงเลือกใช้กลยุทธ์การขยายตัวในแนวราบ และเกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม (Concentration via horizontal integration) คือ การขยายตัวไปทำกิจการในสาขาที่ 2เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น

-กลยุทธ์ระดับธุรกิจ

กิจการจะใช้กลยุทธ์มุ่งเน้นการสร้างความแตกต่างของคุณภาพในการให้บริการ (Focused differentiation) โดยจะมุ่งเน้นลูกค้าเฉพาะกลุ่ม คือ กลุ่มลูกค้าโชว์รูม และลูกค้าขาจรบางส่วนในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดนนทบุรี รวมถึงการนำเสนอบริการที่มีคุณภาพที่โดดเด่นกว่าคู่แข่งขัน อาทิ การออกแบบติดตั้งชุดเครื่องเสียงให้กับลูกค้าเฉพาะราย

-กลยุทธ์ระดับปฎิบัติการ

กลยุทธ์ด้านการตลาด

ในส่วนของการตลาดกิจการจะใช้การตลาดเชิงรุก ควบคู่กับนโยบายการจำหน่ายสินค้า และการให้บริการที่มีคุณภาพ รวมถึงการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด กับกลุ่มลูกค้าของกิจการทั้ง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นลูกค้าโชว์รูม และกลุ่มที่เป็นลูกค้าทั่วไป ซึ่งสำหรับโครงการใหม่ของกิจการ กลุ่มลูกค้าหลักของโครงการจะเป็นลูกค้าโชว์รูม ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายหลักของการขยายตัวทางธุรกิจของกิจการ โดยในส่วนของลูกค้าโชว์รูม กิจการจะเน้นการตลาดทางตรงเข้าไปยังกลุ่มลูกค้า รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้ากลุ่มนี้ โดยการจัดการส่งเสริมการขายร่วมกัน และด้านลูกค้าทั่วไปนั้น กิจการจะมุ่งเน้นการส่งมอบการบริการที่มีคุณภาพ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความประทับใจ และบอกต่อแบบปากต่อปาก ร่วมกับการทำการสื่อสารทางการตลาดแบบครบวงจรอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับชื่อกิจการทั้ง 2 สาขา

กลยุทธ์ด้านการจัดการ

ในส่วนของการจัดการของกิจการนั้นเป็นแบบเจ้าของคนเดียว ซึ่งโครงการนี้เป็นการขยายตัวไปรองรับความต้องการใหม่ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ทั้งนี้โดยจะเป็นผู้ดูแลในฐานะผู้จัดการทั่วไปของกิจการทั้ง 2 สาขาในช่วงแรก และภายหลังจากที่กิจการดำเนินานไปได้ด้วยตัวเอง ก็จะให้น้องสาวซึ่งเป็นผู้ดูแลกิจการ สาขาเดิมรับผิดชอบการบริหารในสาขาเดิม โดยตนจะเข้ามาบริหารงานในสาขาใหม่เอง

ทั้งนี้ การจัดหาทรัพยากรบุคคลของโครงการใหม่นั้น จะเน้นการจ้างช่างเทคนิคและอุปกรณ์ รวมถึง พนักงานบัญชีที่มีประสบการณ์การทำงาน เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และเวลาในการฝึกอบรมมากนัก โดยมีการจ่ายเงินเดือน และให้สิ่งจูงใจที่เหมาะสม อาทิ สวัสดิการด้านประกันสังคม คอมมิชชันจากการขาย

กลยุทธ์ด้านกระบวนการในการให้บริการ

การที่จะทำให้กิจการบรรลุเป้าหมายของโครงการใหม่นั้น กิจการมีนโยบายที่จะมุ่งเน้นคุณภาพในการให้บริการ โดยหัวหน้าช่างจะเป็นผู้เข้าไปควบคุมดูแลการติดตั้งทุกครั้งเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ทั้งนี้ในส่วนของกระบวนการทำงานนั้นจะมีการออกแบบแผนงานไว้ล่วงหน้า เพื่อให้เกิดความเป็นมาตรฐานในการให้บริการ และสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กลยุทธ์ด้านการเงิน

การลงทุนในโครงการใหม่ของกิจการนั้น กิจการจะขอสนับสนุนเงินลงทุนจากสถาบันทางการเงิน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 8 ล้านบาท โดยจะขอกู้เป็นเงินกู้ระยะยาว และมีนโยบายการจ่ายคืนเงินต้น และดอกเบี้ยเป็นรายเดือน จำนวน 60 งวด (5 ปี) ทั้งนี้จะใช้ที่ดินของตนเองใน อ.เมือง จ.นนทบุรี เป็นหลักประกันเงินกู้

No comments:

Post a Comment

Total Pageviews